ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 มี.ค.2558  (อ่าน 980 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 มี.ค.2558
« เมื่อ: 15 มีนาคม 2015, 13:44:54 »
  1. สนช.ปล่อยผี ไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. กรณีแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ!


        เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 38 คน ออกจากตำแหน่ง กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ไม่ชอบ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ กระบวนการลงมติ ได้ให้สมาชิกลงคะแนนลับในคูหา ซึ่งสมาชิกจะได้รับบัตรลงคะแนน 4 ใบ 4 สี ในบัตรแต่ละสีจะมีรายชื่ออดีต ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโดยแยกตามฐานความผิด ซึ่งทุกกลุ่มมีพฤติการณ์เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยกลุ่มแรก บัตรสีฟ้า เป็นอดีต ส.ว.ที่มีร่วมลงมติในวาระ 3 มี 2 คน คือ นางภารดี จงสุทธนามณี อดีต ส.ว.เชียงราย และ พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน อดีต ส.ว.พะเยา
      
        กลุ่มสอง บัตรสีส้ม เป็นอดีต ส.ว.ที่ร่วมลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 มี 22 คน คือ นายประสิทธิ์ โพธสุธน อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี, นายสมชาติ พรรณพัฒน์ อดีต ส.ว.นครปฐม, พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ว.เลย, นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี, นายประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีต ส.ว.มหาสารคาม, นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร, พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ อดีต ส.ว.อุดรธานี, นายภิญโญ สายนุ้ย อดีต ส.ว.กระบี่, นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ว.ปทุมธานี, นายสุเมธ ศรีพงษ์ อดีต ส.ว.นครราชสีมา, พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร, นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีต ส.ว.กาญจนบุรี, นายพีระ มานะทัศน์ อดีต ส.ว.ลำปาง, นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์, นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง อดีต ส.ว.ชลบุรี, นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล อดีต ส.ว.สมุทรสาคร, นายรักพงษ์ ณ อุบล อดีต ส.ว.หนองบัวลำภู, นายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว.อำนาจเจริญ, นายจตุรงค์ ธีระกนก อดีต ส.ว.ร้อยเอ็ด, นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี, นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ อดีต ส.ว.ยโสธร และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีต ส.ว.เชียงใหม่
      
        กลุ่มสาม บัตรสีขาว เป็นอดีต ส.ว.ที่ร่วมลงมติในวาระ 1 และ 3 มี 13 คน คือ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ อดีต ส.ว.ขอนแก่น, นายโสภณ ศรีมาเหล็ก อดีต ส.ว.น่าน, นายต่วน อับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีต ส.ว.ยะลา, พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ อดีต ส.ว.อ่างทอง, นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ อดีต ส.ว.สกลนคร, พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร, นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี, นายสุโข วุฑฒิโชติ อดีต ส.ว.สมุทรปราการ, นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง อดีต ส.ว.บุรีรัมย์, นายสุริยา ปันจอร์ อดีต ส.ว.สตูล, นายถนอม ส่งเสริม อดีต ส.ว.อุบลราชธานี, นายบุญส่ง โควาวิสารัช อดีต ส.ว.แม่ฮ่องสอน และนายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.ลพบุรี และกลุ่มสี่ บัตรสีเขียว เป็นอดีต ส.ว.ที่ร่วมลงมติในวาระ 2 มี 1 คน คือ นายวิทยา อินาลา อดีต ส.ว.นครพนม
      
        ทั้งนี้ การจะถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ต้องใช้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ทั้งหมด หรือ 132 จาก 220 คน ซึ่งผลการลงมติปรากฎว่า สนช.มีมติไม่ถอดถอน 38 อดีต ส.ว. เนื่องจากเสียงถอดถอนมีไม่ถึง 132 เสียง ซึ่งประธาน สนช. จะแจ้งผลการลงมติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหา และ 38 อดีต ส.ว.ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทราบต่อไป
      
       2. ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 250 อดีต ส.ส.แก้ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ เตรียมส่ง สนช.ถอดถอน พร้อมฟันอาญา “อุดมเดช-คมเดช-นริศร” สลับร่าง รธน.-เสียบบัตรแทนกัน!


        เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยผลประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาความเห็นขององค์คณะไต่สวน กรณีถอดถอนอดีต ส.ส. 250 คน จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยมิชอบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดอดีต ส.ส. 250 คน โดยแบ่งผู้ถูกกล่าวหาออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก 239 คน มีพฤติการณ์ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. รวมทั้งได้ร่วมพิจารณาและลงมติในวาระที่ 1 , 2 และ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง
      
       กลุ่มที่สอง มีผู้ถูกกล่าวหา 1 คน ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ซึ่งแม้จะไม่ได้มีมติรับหลักการในวาระ 1 แต่ได้พิจารณาในวาระ 2 และลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในวาระ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า มีมูลความผิดฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กลุ่มที่สาม มีผู้ถูกกล่าวหา 10 ราย ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. รวมทั้งได้ร่วมพิจารณาและลงมติในวาระ 1 แม้จะไม่ได้ร่วมพิจารณาในวาระ 2 แต่ก็ได้ลงมติในวาระ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า มีมูลความผิดฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีมติรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการถอดถอนต่อไปภายใน 15 วัน
      
        นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาอดีต ส.ส. 3 คน ในความผิดทางอาญาด้วย ได้แก่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์ว่าสลับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนของมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอีก 2 ราย คือนายคมเดช ไชยศิวามงคล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีพฤติการณ์เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน จึงมีมติให้แยกเรื่องนี้ไปดำเนินการทางอาญาต่อไป
      
       ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จากการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏพฤติการณ์ว่า มีส่วนร่วมกระผิดทางอาญา โดยการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. จึงให้ดำเนินการไต่สวนต่อไป
      
        เลขาธิการ ป.ป.ช. เผยด้วยว่า มีอดีต ส.ส. อีก 2 คน (นายยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา) ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ซึ่งแม้จะร่วมพิจารณาและลงมติในวาระ 1 แต่ไม่ได้ลงมติในวาระ 2 และ 3 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป ขณะเดียวกันยังมีอดีต ส.ส. อีก 3 ราย ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. รวมทั้งได้ลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 (1) วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากทั้ง 3 คนเสียชีวิตแล้ว จึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบ
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาอดีต ส.ส. 250 คน ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดครั้งนี้ มี พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) รวมอยู่ด้วย
      
       3. รวบแก๊งบึ้มศาลอาญา พบเป็นแนวร่วมเสื้อแดง-ทำเป็นขบวนการ วางแผนก่อเหตุทั่ว ปท. พบสมุดบันทึกมีชื่อ “ชัยสิทธิ์-คำรณวิทย์”!


        เมื่อคืนวันที่ 7 มี.ค. เวลาประมาณ 20.00 น. ได้มีคนร้ายเป็นชาย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก จากนั้นได้ปาระเบิดเข้าไปยังศาลอาญา โดยระเบิดตกบริเวณลานจอดรถ โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นคนร้ายได้พยายามหลบหนี แต่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการข่าวก่อนหน้านี้และซุ่มดูอยู่ รีบไล่ตาม จนเกิดการปะทะกันเล็กน้อย เนื่องจากคนร้ายมีอาวุธปืนและยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ ก่อนถูกจับกุมในที่สุด
      
        ด้าน พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด(อีโอดี) เผยว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบกระเดื่องระเบิด RGD5 รหัส 57 ซึ่งเป็นระเบิดชนิดเดียวกับที่ปาใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่ถนนบรรทัดทอง โดยครั้งนั้น เป็นระเบิด RGD5 เลขรหัส 48
      
        สำหรับคนร้าย 2 คนที่เจ้าหน้าที่จับได้ ทราบชื่อคือ นายยุทธนา เย็นภิญโญ อายุ 34 ปี ชาว จ.ปทุมธานี เป็นคนปาระเบิด โดยมีรายงานว่า นายยุทธนาเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ มีแนวคิดทางการเมืองสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง ก่อนจะรู้จักกลุ่มเสื้อแดงหัวรุนแรงในเฟซบุ๊กและพัฒนามาติดต่อกันทางไลน์ ส่วนอีกรายคือ นายมหาหิน ขุนทอง อายุ 34 ปี ชาว จ.ยโสธร เป็นคนขี่รถจักรยานยนต์ ด้านตำรวจได้นำตัวคนร้ายทั้งสองมาซักถามต่อหน้าสื่อมวลชน โดยนายมหาหิน บอกว่า ได้รับการว่าจ้างจากนางเดียร์ ซึ่งเข้าใจว่าอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ให้ก่อเหตุระเบิดที่ศาลอาญา เพื่อให้องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ในไทย ส่วนระเบิดรับมาจากคนชื่อ ใหญ่ พัทยา จากพื้นที่ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้ค่าจ้าง 20,000 บาท นายมหาหิน ยังบอกด้วยว่า ทางแกนนำกลุ่มที่นัดหมายกันทางไลน์ได้นัดประชุมในวันที่ 10 มี.ค. เพื่อวางแผนก่อเหตุป่วนทั่วทุกภาคในวันที่ 15 มี.ค.ด้วย
      
        ทั้งนี้ จากการสอบขยายผล เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม น.ส.ณัฎฐ์พัชร์ อ่อนมิ่ง ภรรยาของนายมหาหิน และ น.ส.ธัชพรรณ ปกครอง ภรรยาของนายยุทธนา ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในขบวนการ นอกจากนี้ยังได้หลักฐานที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากการตรวจค้นบ้านพักผู้ต้องหา ทั้งโทรศัพท์มือถือ สมุดบันทึก โดยในโทรศัพท์นายมหาหินมีข้อความไลน์คุยกับ น.ส.ณัฏฐพัชร์ ภรรยาถึงขั้นตอนในการก่อเหตุ หากสำเร็จจะมีบุคคลชื่อ “ใหญ่ พัทยา” นำเงินมาให้จุดละ 2 หมื่นบาท ขณะที่สมุดจดบันทึก มีชื่อเขียนด้วยปากกาว่า "ท่านชัยสิทธิ์ ชินวัตร" และ "ท่านคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" พร้อมเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งนายมหาหิน ยอมรับว่า ภรรยาเคยทำงานกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นอกจากนี้ยังมีรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์สมาชิกในกลุ่มเสื้อแดงและเครือข่ายกลุ่มฮาร์ดคอร์ด้วย รวมทั้งมีผ้าพันคอเขียนว่าอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ของกลุ่มคนเสื้อแดง และเอกสารที่เชื่อมโยงไปยังผู้สั่งการ และผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง
      
        ซึ่งต่อมา ตำรวจได้ทยอยขอศาลทหารออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้นับสิบราย ได้แก่ นายมหาหิน ขุนทอง ,นายยุทธนา เย็นภิญโญ ,น.ส.ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง ภรรยานายมหาหิน ,น.ส.ธัชพรรณ ปกครอง ภรรยานายยุทธนา ,นายณเรศ อินทรโสภา เจ้าของร้านหมูปิ้งนมสด จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมวางแผนก่อเหตุ ,นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน ผู้ร่วมประชุมวางแผน ,นายวิชัย อยู่สุข หรือตั้ม ผู้ร่วมประชุมวางแผน ,นายชาญวิทย์ จริยานุกูล ผู้ร่วมประชุมวางแผน ,นายวิระศักดิ์ โตวังจร หรือใหญ่ พัทยา ผู้ร่วมประชุมวางแผนและผู้จัดหาระเบิด โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายรายแล้ว รวมทั้ง น.ส.สุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ ผู้ว่าจ้างให้ปาระเบิด ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ จ.มุกดาหาร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกหลายราย
      
        ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงเมื่อวันที่ 13 มี.ค.ว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับที่ก่อเหตุระเบิดที่ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสยามและหน้าห้างสยามพารากอน แต่แยกกันกระทำความผิด เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญต่างกัน ทั้งนี้ วันเดียวกัน ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่หน้าศาลอาญาแล้ว
      
        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดถึงเหตุปาระเบิดใส่ศาลอาญาว่า เจ้าหน้าที่เฝ้าดูทุกวัน ขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนยังฝากความหวังไว้กับนายกฯ ได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ถามแบบนี้ไม่สร้างสรรค์ ไปลงอุโมงค์เถอะ ผมมั่นใจว่าทำได้ และผมจะไม่ยอมคนเลว และทุกวันนี้ก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ถ้ายอม เลิกไปนานแล้ว นี่ไม่ยอม”
      
        ด้าน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังมีชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ในสมุดบันทึกของผู้ต้องหาปาระเบิดใส่ศาลอาญา ก็ได้เปิดแถลงข่าว(9 มี.ค.) โดยพูดทำนองยอมรับว่าเคยให้เงินผู้ต้องหาใช้ เพราะใครเดือดร้อน มาหาตน ตนก็ช่วยไปตามอัตภาพ บางคนมาขอเงิน มาขอกินข้าว ก็ให้ไป พล.อ.ชัยสิทธิ์ ยังขู่ด้วยว่า ใครก็ตามอย่าลากตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น ใครทำให้ตนเสียหาย จะฟ้องร้องทั้งหมด
      
        ขณะที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ในสมุดบันทึกของผู้ต้องหาด้วย ก็ขู่ฟ้องคนที่พาดพิงให้ตนเสียหายเช่นกัน โดยยืนยันว่า ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ตั้งแต่เกษียณ ก็มุ่งหน้ารักษาคนป่วย ไม่เคยไปมาหาสู่ใครเลย
      
        ด้านแกนนำ นปช.และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงต่างพร้อมใจกันออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุปาระเบิดใส่ศาลอาญาเช่นกัน โดยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ อีสาน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตประธานผู้ก่อตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ(อพปช.) ซึ่งผู้ต้องหามีผ้าพันคอ อพปช.ด้วยนั้น นายสุภรณ์ ยืนยันว่า ตนได้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว และประกาศยุบ อพปช.ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2557 หากใครแอบอ้างชื่อ อพปช. ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
      
    

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 มี.ค.2558 (ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 15 มีนาคม 2015, 13:45:10 »
  4. “บิ๊กตู่” เด้ง “นพ.ณรงค์” ปลัด สธ.ไปช่วยราชการสำนักนายกฯ อ้าง ไม่สนองนโยบาย รบ.-รมว.สธ. ด้าน ขรก.แห่ค้าน ขณะที่เจ้าตัวเชื่อ ผลจากจี้สอบบอร์ด สปสช.!


        เมื่อวันที่ 11 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ลงนามคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกฯ พร้อมให้เหตุผลว่า เพื่อให้การสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวการปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่สำนักนายกฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 5 มี.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
       
        ทั้งนี้ หลัง นพ.ณรงค์ ถูกย้ายและตั้งคณะกรรมการสอบสวน ได้เกิดกระแสต่อต้านในหมู่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก โดยในสังคมออนไลน์ มีการส่งต่อข้อความ “ขอปลัดคืนมา ไม่เอา รมต. การเมืองรังแกข้าราชการประจำ”
       
        ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข ชี้ว่า คำสั่งตั้งกรรมการสอบ นพ.ณรงค์ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม แทนที่จะสอบปลัด สธ. ควรไปสอบสวนเอาผิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะดีกว่า เพราะบริหารงานส่งผลต่อโรงพยาบาล ทำให้ขาดทุนมากมาย แต่กลับมาสอบปลัด สธ.และสั่งย้ายอีก “การกระทำครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยประชาชนจะเสียประโยชน์ เนื่องจาก นพ.ณรงค์เป็นผู้ที่เดินหน้านโยบายเขตสุขภาพในการจัดบริการร่วมเพื่อประชาชน ที่สำคัญส่งผลต่อขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขแน่”
       
        พญ.ประชุมพร ย้ำด้วยว่า นพ.ณรงค์เป็นเหมือนตัวแทนข้าราชการที่กล้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ก่อนจะมีการปฏิรูปรัฐบาล จนเกิดรัฐบาลยุคนี้ เรียกว่าเป็นปลัดคนเดียวที่กล้าออกมาแสดงออก ดังนั้นในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข ได้หารือกับเครือข่ายโรงพยาบาลทุกระดับ นัดไปให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 12 มี.ค. และจะนำปี๊บคลุมหัวเรียกร้องธรรมาภิบาลให้คน สธ.
       
        ด้านนายสาคร ตาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย เผยว่า เครือข่ายชมรมวิชาชีพสาธารณสุข 58 ชมรมในประชาคมสาธารณสุขประมาณ 1,000 คน จะสวมชุดเครื่องแบบวิชาชีพไป สธ.ในวันที่ 12 มี.ค.เช่นกัน เพื่อคัดค้านการปลด นพ.ณรงค์ พร้อมเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ข้าราชการที่ดีต้องมีที่ยืน
       
        ขณะที่ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี แฉว่า หลังจากบุคลากรทางการแพทย์นัดไปให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ ในวันที่ 12 มี.ค. ปรากฏว่า ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 11 มี.ค. ผู้ว่าราชการจังหวัดเกือบทุกจังหวัดโทรศัพท์ขอความร่วมมือผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ให้เดินทางไปชุมนุมที่ สธ. ซึ่งบางจังหวัดยืนยันมาตามนัดหมาย แต่มาได้แต่ตัว ส่วนป้ายผ้า รวมถึงปี๊บที่จะนำมาเป็นสัญลักษณ์ ถูกด่านสกัดยึดไว้หมด
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเช้าวันที่ 12 มี.ค. ระหว่างที่ นพ.ณรงค์ เดินทางเข้ากระทรวงฯ เพื่อรับหนังสือคำสั่งที่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีบุคลากรสาธารณสุข ทั้งจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ประชาคมสาธารณสุข หมออนามัย รวมทั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านสาธารณสุข พร้อมใจกันสวมเครื่องแบบประจำวิชาชีพ ชุดข้าราชการสีกากี และบางส่วนใส่ชุดดำไปรอให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ จำนวนมาก พร้อมชูป้ายข้อความต่างๆ เช่น “ถ้าประเทศไม่มีธรรมาภิบาล ข้าราชการและประชาชนจะอยู่อย่างไร” , “ตรวจสอบกองทุนแสนล้านบาท กลัวเจออะไร ต้องย้ายปลัด สธ.” ฯลฯ
       
        ด้าน นพ.ณรงค์ ได้กล่าวเปิดใจต่อข้าราชการที่มาให้กำลังใจว่า ยังเป็นปลัดกระทรวงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนเหตุผลที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ทำตามนโยบายรัฐบาลนั้น นพ.ณรงค์ ยืนยันว่า ตนได้ทำตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะข้อ 5.2 ที่เขียนว่า จัดให้มีกลไกการดูแลสุขภาพในระดับเขต โดยไม่ให้กระจุกตัวที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลชุดนี้ พร้อมถามว่า ใครกันแน่ที่ไม่ทำตามนโยบายรัฐบาล
       
       นพ.ณรงค์ ยังเชื่อด้วยว่า เหตุที่ตนถูกย้ายน่าจะมาจากเรื่องที่ตนขอให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องของกองทุน สปสช.มากกว่า “ก่อนหน้านี้ ผมเคยแจ้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ว่า มีการใช้งบประมาณที่จัดสรรไปให้มูลนิธิต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการหรือโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ สธ.ที่เป็นประธานบอร์ด สปสช.ต้องเอาข้อมูลที่รับฟังมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ความถูกต้อง ไม่ใช่มาตอบว่าถูกต้องหมดแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ตรวจสอบ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะกองทุน สปสช.เป็นเงินภาษีของประชาชนกว่าแสนล้านบาท หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผมน่าจะถูกย้ายเพราะเรื่องนี้ เพราะไปโดนกล่องหัวใจของคนบางกลุ่มที่คิดว่าอำนาจการเงินจะเดินนำการบริหารจัดการ โดยทิ้งหัวใจของความเป็นมนุษย์ไปหมดแล้ว”
       
       นพ.ณรงค์ ยังแฉด้วยว่า นอกจากเรื่องการใช้งบประมาณ สปสช.อย่างไม่ถูกต้องแล้ว ยังมีเรื่องทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งที่เป็นอำนาจของปลัดกระทรวง เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด การแต่งตั้งรองปลัดกระทรวง หรือแม้แต่การแต่งตั้งผู้ตรวจราชการที่ขณะนี้ก็ยังตั้งไม่ได้
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้า นพ.ณรงค์ จะถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกฯ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นายประสงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) เผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการบริหารงานของคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เรื่องการบริหารเงินกองทุน 30 บาท รักษาทุกโรค เนื่องจากการบริหารงานคณะกรรมการ สปสช.ไม่โปร่งใส อาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ขัดต่อระเบียบ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ ป.ป.ท.เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประเด็นที่มีการร้องให้ ป.ป.ท.สอบ สปสช.มี 5 ประเด็น คือ 1.คณะกรรมการ สปสช.บางรายมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรคไปใช้ด้านต่างๆ โดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือนำเงินกองทุนไปให้มูลนิธิ และมีคณะกรรมการ สปสช.บางรายเป็นประธานมูลนิธิ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่สามารถรับเงินจาก สปสช.ได้ 2.คณะกรรมการ สปสช.นำเงินไปใช้ในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่สามารถรับเงินจากกองทุนได้ 3.คณะกรรมการ สปสช.จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ในลักษณะผูกขาด โดยที่โรงพยาบาลของรัฐไม่ได้เป็นผู้กำหนด 4.มีการตกแต่งบัญชีเพื่อให้เข้าใจว่า สปสช.บริหารเงินกองทุนที่ได้รับการจัดสรรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือใช้งบประมาณหมด ทั้งที่มีการซิกแซก โดยโอนงบประมาณไปให้โรงพยาบาลต่างๆ 250 โรงพยาบาล กว่า 2,000 ล้านบาท และเมื่อได้รับงบประมาณใหม่ จะมีการเรียกเงินที่โอนไปแล้วคืนโดยอ้างว่าโอนผิด 5.มีการขึ้นเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการหรือเลขาธิการ สปสช. โดยไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และให้ค่าตอบแทนเบี้ยประชุมแก่คณะอนุกรรมการเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
       
       ซึ่ง นพ.ณรงค์ เคยขอให้ นพ.รัชตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช.ตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องของ สปสช.เช่นกัน แต่ นพ.ณรงค์ บอกว่า นพ.รัชตะ ไม่ตรวจสอบและอ้างว่า สปสช.ใช้งบประมาณถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุนี้ บุคคลากรด้านสาธารณสุข รวมทั้ง นพ.ณรงค์ จึงมองว่า สาเหตุที่ถูกย้ายน่าจะมาจากความพยายามให้มีการตรวจสอบการใช้งบกองทุน 30 บาทของ สปสช. ซึ่งแทนที่รัฐบาลจะสั่งให้มีการตรวจสอบ สปสช. กลับสั่งตรวจสอบ นพ.ณรงค์ และสั่งย้ายดังกล่าว
       
       5. “บิ๊กตู่” สั่งชะลอเก็บภาษีบ้านและที่ดินแล้ว ยันไม่ใช่เพราะสังคมกดดัน แต่หวั่นกระทบ ปชช. ด้าน “สมหมาย” รอจังหวะชงใหม่!


        เมื่อวันที่ 12 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลชุดต่างๆ 5 คณะ หลังประชุม ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ชะลอการดำเนินการเรื่องโครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมในระยะยาว โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา ยืนยันว่า เหตุที่รัฐบาลชะลอเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะทนแรงกดดันของสังคมไม่ไหว แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว และรัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน และว่า ในสัปดาห์หน้า ทางกระทรวงการคลังจะไม่นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.
       
        ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังคงจะโยนหินถามทาง พอโยนไปคงโดนหินเขวี้ยงกลับมา ก็ต้องไปคิดปรับปรุงใหม่แล้วมาเสนอ ครม. และ ครม.จะมีข้อเสนอแนะอะไรอีก ก่อนจะไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยังอีกหลายเดือน
       
        ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ยังดีที่เป็นการชะลอ ไม่ใช่การยกเลิก ทำให้มีโอกาสเสนอกฎหมายนี้ได้ใหม่เมื่อทุกอย่างนิ่งแล้ว และว่า ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายนี้ จะพยายามเสนอภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ สามารถทำอะไรในสิ่งที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำไม่ได้ นายสมหมาย ย้ำด้วยว่า กฎหมายนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้คนในสังคม และเป็นการปรับปรุงภาษีที่ดินให้ทันสมัยสอดคล้องกับประเทศอื่นทั่วโลก และว่า ตามหลักสูตรใหม่ล่าสุดที่คิดไว้ ผู้ที่มีบ้าน 2 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียงปีละ 500 บาท ถือว่าต่ำมาก ส่วนคนสูงอายุวัยเกษียณเกิน 60 ปี หากอาศัยอยู่ในบ้านนั้นเกินกว่า 15 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีอีก 50% ถ้ามีบ้าน 2 ล้านบาท ก็เสียเพียง 250 บาท ถือว่าต่ำมาก น่าจะเป็นอัตราที่รับได้ “ยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปภาษีของประเทศ”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจสั่งชะลอเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายในทางไม่เห็นด้วย เช่น นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะภาระภาษีจะถูกผลักสู่ประชาชนทุกระดับชั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยยกตัวอย่าง นอกจากคนชั้นกลาง ที่สะสมเงินจนซื้อบ้านหลังเล็กๆ ได้ จะต้องเสียภาษีแล้ว คนที่เช่าบ้านอยู่ หากบ้านที่เช่าต้องเสียภาษี ผู้เช่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเช่าหรือไม่ เช่นเดียวกับการเช่าที่ดินเพื่อการอื่น แม้แต่ค่าเช่าสวน ค่าเช่านา ,คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หอพักต่างๆ เมื่อเจ้าของมีภาระต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น จะมีการเพิ่มค่าเช่าจากผู้เช่าหรือไม่ ,ผู้เช่าสถานที่ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ หรือศูนย์การค้า จะถูกเพิ่มค่าเช่าสถานที่จากผู้ให้เช่า ทำให้ต้องผลักภาระภาษีไปในราคาสินค้าสู่ผู้บริโภค ฯลฯ
       
       6. ศาล พิพากษาจำคุกพ่อ-แม่ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ คนละ 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นเบื้องสูง!


        เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดสอบคำให้การคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องนางวันทนีย์ สุวะดี อายุ 66 ปี และนายอภิรุจ สุวะดี อายุ 72 ปี มารดาและบิดาของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานแจ้งความเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญา
       
       เหตุเกิดเมื่อปี 2546 น.ส.แสงระวี (สงวนนามสกุล) ได้แอบอ้างว่ารู้จักกับนายอภิรุจ จำเลยที่ 2 ต่อมาชาวบ้านในเขตตำบลและอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ต่างพากันลือทำนองว่า น.ส.แสงระวีมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข่าวจึงเกิดความไม่พอใจ น.ส.แสงระวี ต่อมาวันที่ 19 ธ.ค. 2546 จำเลยทั้งสองได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปนำตัว น.ส.แสงระวี รวมทั้งบิดา มารดา และญาติมาพบจำเลยทั้งสองที่บ้านพักในจังหวัดราชบุรี แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเบื้องสูง จนทำให้ น.ส.แสงระวี และครอบครัวเกิดความเกรงกลัว จากนั้นจำเลยทั้งสองได้ให้ตำรวจนำตัว น.ส.แสงระวีไปดำเนินคดีฐานฉ้อโกง ด้วยความเกรงกลัว น.ส.แสงระวี จึงจำยอมให้การรับสารภาพ ไม่กล้าโต้แย้ง และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 24 เดือน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อข่มขู่และกลั่นแกล้งผู้อื่นและเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อองค์รัชทายาท ต่อมาวันที่ 9 ก.พ. 2558 พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาหลังจำเลยทั้งสองเข้ามอบตัว โดยในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ ก่อนเปลี่ยนเป็นรับสารภาพในภายหลัง
       
        ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดที่ศาลนัด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวนายอภิรุจ จำเลยที่ 2 มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเบิกตัวนางวันทนีย์ จำเลยที่ 1 มาจากทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อสอบคำให้การ ต่อมาศาลได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองเข้าใจและสอบถามจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งจำเลยทั้งสองรับสารภาพและไม่ต้องการทนายความ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง ลงโทษฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้จำคุกจำเลยคนละ 5 ปี แต่จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวจำเลยทั้งสองขึ้นรถตู้ของเรือนจำกลับไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางทันที




ASTVผู้จัดการออนไลน์    14 มีนาคม 2558