ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 ก.ย.2556  (อ่าน 843 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9786
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 1-7 ก.ย.2556
« เมื่อ: 06 ตุลาคม 2013, 21:47:12 »
 1. “นิคม” ปิดปากอภิปรายแก้ รธน.มาตรา 5 “สภาผัวเมีย” รวบรัดลงมติ ด้าน “ปชป.” ซัด เลว-ระยำ-บัดซบ พร้อมยื่นถอดถอน!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ได้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ซึ่งค้างอยู่ที่มาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขโดยเปิดช่องให้บุพการี สามีภรรยา และบุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ รวมทั้งให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี ก็ลงสมัคร ส.ว.ได้เช่นกัน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็น “สภาผัวเมีย” ทำงานเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถแทรกแซงวุฒิสภาในการตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2540
       
       ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมวันดังกล่าว ภาคเช้าเป็นไปด้วยความวุ่นวาย หลัง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอที่ประชุมให้เปลี่ยนวาระการประชุมเป็นการพิจารณาปัญหาของชาวสวนยาง แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่อนุญาต ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประท้วงเป็นระยะๆ นายสมศักดิ์จึงเรียกตำรวจรัฐสภากว่า 20 นายเข้าคุมตัวนายวัชระออกจากห้องประชุม แต่นายวัชระขัดขืน จึงมีการฉุดกระชากกัน กระทั่งนายวัชระล้มลง ส่งผลให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ รีบเข้าไปช่วยนายวัชระ แต่ก็มีการยื้อยุดกัน เมื่อเหตุการณ์ชุลมุนมากขึ้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนจึงเข้าไปช่วยนำตัวนายวัชระออกจากวงล้อมตำรวจ สุดท้ายนายสมศักดิ์ ยอมให้ที่ประชุมหารือเรื่องความเดือดร้อนของม็อบยางเป็นเวลา 30 นาที
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าจะมีการพิจารณามาตรา 5 มีข่าวว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากอาจมีการทบทวนประเด็นที่ให้บุพการี สามีภรรยา และบุตรของ ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ เนื่องจากมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยเชื่อว่ากรรมาธิการเสียงข้างมากจะยอมทบทวนมาตรา 5 จริง ซึ่งก็เป็นดังที่พรรคประชาธิปัตย์คาด เพราะเอาเข้าจริง กรรมาธิการเสียงข้างมากก็ยืนยันไม่มีการทบทวน
       
       ไม่เท่านั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากยังชิงปิดการอภิปรายมาตรา 5 ด้วย หลังนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติขอปิดอภิปราย โดยอ้างว่า อภิปรายกันมาพอแล้ว ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยจึงลุกขึ้นคัดค้าน เพราะมีผู้ที่จะอภิปราย 57 คน แต่เพิ่งอภิปรายไปได้แค่ 7 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน จึงลุกขึ้นชี้แจงว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยว่าไม่สามารถเสนอญัตติปิดการอภิปรายได้ แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เดินหน้าให้ลงมติท่ามกลางการตะโกนประท้วงของฝ่ายค้าน ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วย 316 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง จากนั้นนายนิคมรีบสั่งปิดประชุมทันที
       
       ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวสร้างความสับสนเป็นอย่างมาก เพราะสื่อบางสำนักรายงานว่านั่นคือการลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แล้ว ขณะที่สื่อบางสำนักรายงานว่า นั่นเป็นเพียงการลงมติว่าเห็นด้วยกับการปิดอภิปรายหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่การลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แต่อย่างใด ซึ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ยืนยันเช่นกันว่า การลงมติดังกล่าวเป็นลงมติเกี่ยวกับการปิดอภิปราย แต่ทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาล รวมทั้งนายนิคม ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า นั่นเป็นการลงมติเห็นชอบมาตรา 5 แล้ว
       
       ต่อมา เมื่อมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณามาตรา 6 ในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นมาตราที่มีการแก้ไขโดยเปิดช่องให้ ส.ว.ดำรงตำแหน่งได้หลายสมัยติดต่อกัน ไม่ต้องเว้นวรรคดังที่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุ ปรากฏว่า ช่วงแรก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอหารือกรณีนายนิคมรวบรัดให้มีการปิดอภิปรายเมื่อคืนวันที่ 4 ก.ย. พร้อมขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา พิจารณาว่าการปิดอภิปรายสามารถทำได้หรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์เคยวินิจฉัยไว้ว่าทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิการอภิปราย ด้านนายสมศักดิ์อ้างว่า เมื่อนายนิคมวินิจฉัยไปแล้ว ก็ถือว่าจบไปแล้ว ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิด ผิดถูกมีช่องทางอื่น นายสมศักดิ์ ยังถือโอกาสพูดเปิดใจด้วยทำนองว่า ตนทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่ได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณตามที่ถูกกล่าวหา
       
       ด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเข้าชื่อยื่นถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่งฐานปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งปกติการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต้องยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แต่ครั้งนี้ได้มีการยื่นผ่าน นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 โดย นพ.อนันต์ บอกว่า จะตรวจสอบคำร้องว่าถูกต้องหรือไม่ภายใน 15 วัน ก่อนส่งให้ ป.ป.ช.สืบสวนต่อไป
       
       นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ออกแถลงการณ์ประณามการทำหน้าที่ของนายนิคม 3 ข้อ 1.มีพฤติกรรมเร่งรีบรวบรัดตัดตอนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ 2.มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่เร่งรีบรวบรัด เพราะหากรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ทันก่อนเดือน มี.ค.2557 จะทำให้ ส.ว.ชุดนี้ รวมทั้งนายนิคม ลงสมัครรับเลือกได้อีกครั้ง และ 3.มีพฤติกรรมในการรับใช้ฝ่ายบริหาร ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงการทำหน้าที่ของนายนิคมว่า นายนิคมสมควรได้รับคำประณามจากสังคมด้วยคำ 3 คำ คือ เลว ระยำ บัดซบ เพราะเป็นตัวอย่าง ส.ว.เลือกตั้งที่เลวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเมื่อแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ประเทศจะได้ ส.ว.เลือกตั้งไม่ต่างจากนายนิคม
       
       เป็นที่น่าสังกตว่า ในการประชุมพิจารณามาตรา 6 ได้มีการชิงปิดอภิปรายซ้ำรอยมาตรา 5 อีก โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เสนอญัตติปิดอภิปราย ท่ามกลางความไม่พอใจของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลุกขึ้นประท้วงอย่างหนัก ขณะที่นายนิคมพยายามไกล่เกลี่ยให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยถอนญัตติปิดอภิปราย เพราะกลัวจะถูกถอดถอนอีก แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งมี ส.ว.เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ จึงได้มีการลงมติ ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปราย 314 ต่อ 7 เสียง จากนั้นจึงได้มีการลงมติมาตรา 6 ซึ่งเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ 314 ต่อ 3 เสียง พร้อมนัดประชุมพิจารณามาตรา 7 ต่อในวันที่ 7 ก.ย.
       
       ทั้งนี้ การประชุมในวันที่ 7 ก.ย. ไม่สามารถพิจารณามาตรา 7 ได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จึงต้องสั่งปิดประชุม และนัดประชุมใหม่ในวันที่ 9 ก.ย. เวลา 14.00น.
       
       2. รัฐบาล จัดฉาก อ้างม็อบยางพอใจ กก.ละ 90 ด้านแกนนำม็อบ ลั่น ต้อง 95 นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง 14 ก.ย.!

       ความคืบหน้าการชุมนุมของชาวสวนยางพาราภาคใต้ที่ปิดถนนบริเวณสี่แยกควรหนองหงษ์ และแยกบ้านตูล อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งปิดเส้นทางรถไฟ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่ 120 บาท/กก. เศษยาง 60 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน 7 บาท/กก. หากไม่สนองตอบข้อเรียกร้อง จะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.ขณะที่นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยัน ให้ 120 บาทไม่ได้ แต่จะช่วยสนับสนุนค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางน้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งผู้ชุมนุมไม่พอใจการช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว
       
       ปรากฏว่า เมื่อถึงวันยกระดับการชุมนุม ได้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในหลายจุดหลายจังหวัดภาคใต้ เช่น ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ,จ.กระบี่ ,จ.ตรัง ,จ.ชุมพร ,จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ร้อนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ก่อนส่ง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปเจรจาที่ จ.สุราษฏร์ธานี หากไม่คืบหน้า ให้ชวนแกนนำผู้ชุมนุมขึ้นมาหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ กทม.
       
       แต่ปรากฏว่า การเจรจาทั้งที่สุราษฎร์ธานีและที่ กทม. ไม่สามารถตกลงกันได้ แม้ฝ่ายเกษตรกรจะยอมลดข้อเรียกร้องลง โดยเสนอทางเลือกให้รัฐบาล 2 ทาง คือ 1.ให้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างจากราคาตลาดให้เป็น กก.ละ 100 บาท โดยโอนผ่านบัญชีที่รัฐบาลมีอยู่ หรือ 2.ให้รัฐบาลประกันราคายางในราคา กก.ละ 100 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่เกษตรกรเคยเสนอที่ กก.ละ 120 บาท แต่นายกิตติรัตน์ก็รับไม่ได้ การเจรจาจึงล้มเหลว
       
       จากนั้นผู้ชุมนุมที่สงขลาได้ออกแถลงการณ์ หากรัฐบาลไม่เหลียวแล จะยกระดับด้วยการปิดตลาดกลางยางพารา โดยจะให้เวลา 10 วันก่อนยกระดับการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการปิดถนนเพชรเกษมฝั่งขาขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลจึงใช้โล่ดันเพื่อให้ผู้ชุมนุมเปิดทาง กระทั่งเกิดการปะทะกัน จนมีผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมด้วย แต่ภายหลังตำรวจอ้างว่าไม่ได้ใช้ พร้อมกันนี้ ตำรวจยังได้จับกุมแกนนำผู้ชุมนุม 12 คน(ชาย 8 หญิง 4)ไปคุมตัวไว้ที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า ต.ห้วยทราย จ.ประจวบคีรีขันธ์
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของชาวสวนยาง ก่อนมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหายางพารา โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยืนยันด้วยว่า “รัฐบาลดูแลเกษตรกรทุกประเภทโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ เรียนว่าการดูแลชาวนาที่ปลูกข้าว จะไม่เหมือนกับเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะการปลูกข้าวนั้น 1 ปี ปลูก 1 ครั้ง ซึ่งต้องมีการลงทุนสูง แต่การดูแลการปลูกยาง รัฐดูแลตั้งแต่ต้นมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่รูปแบบการดูแลไม่เหมือนกัน”
       
       ด้านนิตยสารไทม์รายงานว่า การประท้วงของเกษตรกรชาวสวนยาง สะท้อนข้อกล่าวหาต่อนโยบายประชานิยมภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างชาติระบุว่า รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมที่รัฐบาลให้การรับประกันราคาข้าวของประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นฐานเสียง แต่กลับละเลยเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งอยู่ในพื้นที่ซึ่งรู้กันว่าส่วนใหญ่เป็นพวกเสื้อเหลือง
       
       ทั้งนี้ หลัง พล.ต.อ.ประชา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปเจรจากับแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนเกษตรกรร่วมหารือกว่า 30 คน โดยฝ่ายเกษตรกรยืนยันขอให้รัฐบาลช่วยที่ กก.ละ 100 บาท แต่ฝ่าย พล.ต.อ.ประชา เสนอที่ กก.ละ 90 บาท ภายหลังฝ่ายเกษตรกรจึงขอให้พบกันครึ่งทางที่ กก.ละ 95 บาท แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ พล.ต.อ.ประชา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนราคายางที่ กก.ละ 90 บาท และจะดำเนินการให้มีผลภายใน 10 วัน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ พล.ต.อ.ประชา กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมที่ก้าวหน้า จ.สงขลา ได้ตะโกนแทรกขึ้นมาว่า รัฐบาลสรุปแบบนี้ไม่ได้ แกนนำส่วนใหญ่ยอมให้ที่ กก.ละ 95 บาทแล้ว รัฐบาลไม่ยอมอีก ชิงสรุปปิดประชุม รับไม่ได้ เครือข่ายแต่ละจังหวัดจะเคลื่อนไหวแน่นอน จ.สงขลาจะปิดประเทศ โดยเฉพาะด่านสะเดา หรือที่ส่งสินค้าออกนอกประเทศ จะให้เวลารัฐบาล 7 วัน เหตุการณ์จะเลวร้ายกว่านี้
       
       ด้านนายอำนวย ยุติธรรม แกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรในกลุ่มประมาณ 15 คน ได้เปิดแถลงข่าวยืนยันว่า การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว เพราะรัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา “พวกเราจะชี้แจงให้เกษตรกรที่ไม่เห็นด้วย ให้ไปร่วมชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เวลา 14.00น. ณ หน้าที่ว่าการอำเภอทุกที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ ส่วนราคายางก็ขอกลับไปที่เดิมที่ กก.ละ 100 บาท และคนที่จะต้องมาเจรจาครั้งต่อไปต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น”
       
       3. ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อยื่นศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 ขัด รธน. เหตุหั่นงบ “ศาล-องค์กรอิสระ” ยับ!

       เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พร้อมด้วย ส.ส.และ ส.ว.จำนวน 114 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา โดยยื่นผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มาตรา 27 สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลปกครอง และมาตรา 28 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปดและวรรคเก้า ที่ระบุว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
       
       ทั้งนี้ นายวิรัตน์ ชี้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้เสนอของบประมาณจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท แต่ ครม.ปรับลดกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท คงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอแปรญัตติเพิ่มในชั้นกรรมาธิการในวงเงิน 4.1 พันล้านบาท แต่กรรมาธิการกลับไม่เชิญสำนักงานศาลฯ มาร่วมหารือ ขณะที่ศาลปกครองเสนอของบ 2.9 พันล้านบาท แต่ ครม.ปรับลดกว่า 890 ล้านบาท คงเหลือ 2 พันล้านบาท โดยศาลปกครองได้ขอแปรญัตติเพิ่มในชั้นกรรมาธิการ แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.ที่เสนอของบ 2.3 พันล้านบาท แต่ถูกปรับลด ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริหารองค์กร
       
       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา บอกว่า ปกติแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ถ้าประธานรัฐสภารีบส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฯ ก็คงพิจารณาโดยเร็ว ไม่น่าจะเกิดความล่าช้า แต่จะทำให้เกิดการตรวจสอบตามหลักนิติธรรม และหากศาลฯ เห็นพ้องตามคำร้องของสมาชิกรัฐสภา จะไม่ส่งผลถึงขนาดทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทั้งฉบับต้องตกไป แต่ต้องแก้ไขมาตรา 27 และ 28 ให้ถูกต้อง
       
       ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พูดถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า เมื่อมีคนไปร้องศาลฯ ก็ไม่สามารถนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ เพราะต้องรอความเห็นของศาลฯ ก่อน อย่างไรก็ตามนายวราเทพ ยืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่น่าห่วงมากนัก เพราะเมื่อหลายปีก่อนเคยเกิดกรณีลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งแม้จะทำให้ไม่สามารถนำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 มาใช้ได้ทันกำหนด แต่สามารถนำร่างเดิมมาใช้ได้ แม้จะกระทบต่อการดำเนินนโยบายบางเรื่องก็ตาม
       
       4. อัยการ สั่งฟ้อง “บอล” กับพวก ฐานปล้นฆ่า “เอกยุทธ” 8 ข้อหาหนัก โทษถึงขั้นประหารฯ เมิน ข้อสงสัยจ้างวานฆ่า บอก ไม่อยู่ในสำนวน!

       เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ได้แถลงความคืบหน้าคดีฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกคนตามความเห็นของพนักงานสอบสวน โดยสั่งฟ้องนายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง ,นายสุทธิพงษ์ หรือเบิ้ม พิมพิสาร ,นายชวลิต หรือเชาว์ วุ่นชุม และนายทิวากร หรือทิว เกื้อทอง ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในความผิด 8 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ 3.ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด และให้ทำเอกสารสิทธิ์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและมีอาวุธฯ
       
       4.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 5.ร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย 6.ร่วมกันนำอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผลสมควร 7.ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนอนุญาตให้ผู้อื่นมีและใช้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 8.ร่วมกันนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมืองฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแห่งพฤติการณ์ และไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 ,289(4) (7) ,309 ,310 ,340 ,340ตรี ,371 ,83 ,91 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2556 มาตรา 4 ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พ.ย.2541 ข้อ 14 ,15 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 ,8ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ต.ค. พ.ศ.2519 ข้อ 3 ,6 ,7 และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 1,941,970 บาทแก่ผู้เสียหาย
       
       นอกจากนี้อัยการยังได้สั่งฟ้อง จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง และนางจิตอำไพ เพ็งด้วง บิดามารดานายสันติภาพ จำเลยที่ 5-6 ด้วย ฐานร่วมกันรับของโจร(ที่ได้จากการทำความผิดปล้นทรัพย์) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง
       
       ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ย้ำด้วยว่า อัยการได้สั่งฟ้องตามข้อเท็จจริงในสำนวนตามที่พนักงานสอบสวนส่งให้ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และคำรับสารภาพของผู้ต้องหา ประกอบกับพยานแวดล้อมอื่นที่เชื่อมโยงกัน ปรากฏเพียงเท่านี้ ยืนยันว่าไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ส่วนที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ อดีตทนายความนายเอกยุทธได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีผู้จ้างวานอยู่เบื้องหลังนั้น ไม่มีปรากฏในสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งมา ในสำนวนมีแค่ประเด็นปล้นฆ่าชิงทรัพย์เท่านั้น ส่วนหนังสือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสภาพศพว่า ไม่ใช่การประสงค์ต่อทรัพย์ และได้ยื่นถึงนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดก่อนหน้านี้ จากการพิจารณาเห็นว่า เป็นเพียงหลักฐานนอกสำนวน ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคดี แต่ทางอัยการจะส่งหนังสือของ กสม.ให้พนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรเพิ่มเติมเพื่อสั่งฟ้องในคดีอื่นอีกหรือไม่
       
       ส่วนที่นายสันติภาพจะกลับคำให้การในชั้นศาลหรือไม่นั้น ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ บอกว่า เป็นสิทธิที่จำเลยสามารถจะให้การอย่างไรก็ได้ แต่ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก พร้อมยืนยัน ฮาร์ดดิสก์ที่สูญหายไปนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในคดี และว่า คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนามีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต โดยคดีนี้อัยการเตรียมพยานบุคคลไว้นำสืบจำนวน 70 ปาก
       
       ทั้งนี้ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายศุภชัย คงประพันธ์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 6 คนต่อศาลอาญา โดยคำฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำเลยที่ 1-4 ซึ่งมีอาวุธปืนขนาด .38 และมีดไปบริเวณ ซ.ทาวน์อินทาวน์ 21 เขตวังทองหลาง กทม. และร่วมกันปล้นทรัพย์นายเอกยุทธ โดยลักทรัพย์ 9 รายการ อาทิ เงินสด นาฬิกา สร้อยทองคำพร้อมพระเลี่ยมทอง ฯลฯ รวมมูลค่า 6.6 ล้านบาท และจำเลยยังร่วมกันใช้อาวุธจี้บังคับข่มขู่ผู้ตายและใส่กุญแจมือพาขึ้นรถตู้ตระเวนไปที่บ้านพักผู้ตาย 2 แห่งย่านทาวน์อินทาวน์และลาดกระบัง นอกจากนี้ยังทำกล้องวงจรปิดเสียหาย ก่อนที่พวกจำเลยจะบังคับผู้ตายให้ออกเช็คเบิกเงินสด 5 ล้านบาทไปโดยทุจริต จากนั้นใช้กำลังกอดรัดผู้ตาย ด้วยการใช้ท่อนแขน บีบกดบริเวณลำคออย่างรุนแรงและอุดปากอุดจมูก ก่อนใช้เชือกรองเท้ารัดคอผู้ตายจนขาดอากาศหายใจ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า คำฟ้องของอัยการมีจุดที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง กรณีที่ระบุว่า “จำเลยยังร่วมกันใช้อาวุธจี้บังคับข่มขู่ผู้ตายและใส่กุญแจมือพาขึ้นรถตู้ตระเวนไปที่บ้านพักผู้ตาย 2 แห่งย่านทาวน์อินทาวน์และลาดกระบัง” ซึ่งข้อเท็จจริงคือ บ้านนายเอกยุทธอยู่ที่ย่านทาวน์อินทาวน์ ส่วนที่ย่านลาดกระบังนั้น ไม่ใช่บ้านของนายเอกยุทธ แต่เป็นบ้านพี่สาวของนายบอล จำเลยที่ 1
       
       คำฟ้องยังระบุด้วยว่า หลังก่อเหตุ พวกจำเลยได้ร่วมกันนำศพผู้ตายไปฝังที่ไร่นาร้าง จ.พัทลุง เพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ส่วนจำเลยที่ 5-6 ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันรับของโจร เป็นเงินสด 4,242,000 บาทของผู้ตายที่ถูกปล้นไป กระทั่งวันที่ 12 มิ.ย. ตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 1 ,3 และ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 จับกุมได้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ขณะที่จำเลยที่ 5-6 เข้าพบพนักงานสอบสวน โดยได้นำทรัพย์สินของผู้ตายมาคืนจำนวน 4,658,030 บาท และว่า ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1-2 รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จำเลยที่ 3 สารภาพเฉพาะข้อหาเคลื่อนย้ายศพ และร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 4 สารภาพเฉพาะข้อหาเคลื่อนย้ายศพ ส่วนจำเลยที่ 5-6 ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร
       
       ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยที่ 1-4 เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลาง อาทิ โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง ,เชือกผูกรองเท้า ,จอบขุดดิน 2 เล่ม และให้จำเลย ร่วมกันคืนหรือชดใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 6 รายการเป็นเงิน 1,941,970 บาท ด้านศาลได้ประทับรับฟ้อง พร้อมนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 5 ก.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด จำเลยได้ขอให้การในวันตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงนัดสอบคำให้การจำเลยและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ต.ค.เวลา 13.30น.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 กันยายน 2556