ผู้เขียน หัวข้อ: สืบสานปณิธานพระป่า(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1400 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
กว่าสิบปีมาแล้วที่ผมได้ลองลิ้มรสชีวิต “สมณเพศ” หลังบรรพชาเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน แม้ใจยังไม่สงบและห่างไกลจากความ “ลิงโลด” ในธรรม  แต่กลับรู้สึกสนุกจนต้องขอ “ต่อวีซ่า” ครองผ้าเหลืองอยู่นานกว่า 7 ปี ครั้นล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม  เมื่อแรงเย้ายวนจากโลกียวิสัยมีพลังเกินต้านทาน  ผมจึงตัดสินใจออกไป “ธุดงค์”      ทางโลก สลัดผ้าเหลืองที่คุ้นเคยมาห่ม “สบง” ลีวายส์  รอนแรมปักกลดกลางป่าไซเบอร์ใต้ “ต้นเฟซบุ๊ก”  การหวนคืนสู่สถานที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนได้เดินทางกลับบ้านอีกครั้ง

ผมเดินทางมาถึงวัดหนองป่าพงในช่วงบ่าย หลังลงจากรถก็พากายย่างไปตามถนนสายเล็กๆ เข้าสู่วัด แม้ต้นไม้จะดูสดชื่นมีชีวิตชีวา ทว่าสภาพดินกลับเปียกแฉะจนเละเป็นตมเป็นผลมาจากสายฝนที่กระหน่ำเมื่อคืน ผมก้าวเดินไปด้วยความยากลำบากและเกือบเซถลา จนหลายครั้งอดนึกสงสัยถึงวัตรปฏิบัติและชีวิตความเป็นอยู่ของพระลูกวัดแห่งนี้

“ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก มันเหมือนนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ ถึงปลาบอกความจริงว่า อยู่ในน้ำเป็นอย่างไร นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา” คือคำตอบของหลวงพ่อชา สุภัทโท อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ฝ่ายแรกคือพระผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความรอบรู้แตกฉานในหลักธรรม นำไปประพฤติปฏิบัติและสั่งสอนผู้อื่นต่อไป ส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามวัดในเมืองหรือหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการแสวงหาความรู้ จึงเรียกพระสงฆ์ฝ่ายนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน          

ส่วนพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ  คือ พระที่นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนไปประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  โดยเน้นหนักที่การฝึกจิตและสมาธิเพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นหนทางนำไปสู่ความหลุดพ้น การฝึกจิตดังกล่าวจำเป็นต้องแสวงหาสถานที่อันเงียบสงบ วิเวก  หลีกเร้นจากการรบกวนของโลกภายนอก หรือเป็น “สัปปายะ” เอื้อเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ  ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ฝ่ายนี้จึงมักเดินทางออกไปสู่ป่าสู่เขา กลายเป็นที่มาของชื่ออรัญวาสี  “พระป่า” หรือพระธุดงค์        

วิจักขณ์ พานิช “โยคีหนุ่ม” ผู้เจนจัดถนัดพุทธศาสนาร่วมสมัย  ตั้งข้อสังเกตว่า "ป่า" ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพื้นที่ที่ไม่ถูกรุกล้ำเข้าไป เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยความคิด ความคาดหวัง และกฏเกณฑ์ทางสังคมใดๆ หากเป้าหมายของพุทธศาสนาคือจิตใจอันหลุดพ้นจากการยึดมั่นทางความคิดทั้งปวง ป่าก็เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพื้นที่อันเป็นอุดมคติในเชิงกายภาพ ซึ่งเอื้อต่อการฝึกฝนจิตใจให้คลี่คลายและหลุดพ้นจากบ่วงรัดรึงทางโลกนั่นเอง


ท่ามกลางความเงียบสงัดราวกับตัดขาดจากโลกภายนอก  ผมค่อยๆเดินไปตามถนนเฉอะแฉะเข้าสู่วัดหนองป่าพง ต้นไม้ใหญ่รกครึ้มต้องสายลมโบกโบยราวกับจะทักทายผู้มาเยือน กลิ่นไอดินชื้นๆลอยอบอวลอยู่ในอากาศ ผมนึกในใจว่า นี่กระมังบรรยากาศ “คลาสสิก” ตามแบบฉบับวัดป่า

วัดป่าแห่งนี้ไม่ต่างจากวัดป่าทั่วไปตรงที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน ส่วนชั้นนอกเป็นเขตฆราวาส และส่วนชั้นในเป็นเขตสังฆาวาส ผมเดินลึกเข้าไปถึงเขตสังฆาวาสซึ่งโดยรอบเป็นกุฏิเสนาสนะ เรือนพำนักของพระซึ่งปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย เป็นเรือนหลังเล็กหลังคามุงกระเบื้อง  แต่ละหลังตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว              

กุศโลบายของการสร้างกุฏิพักอาศัยของพระป่า คือเน้นไม่ให้สะดวกสบายเกินไป  จนทำให้ผู้พำนักคุ้นกับความสบาย หรือที่คำพระบอกว่า "ติดสุข" จนไม่อยากออกไปเผชิญความยากลำบากในการเดินธุดงค์  ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของพระป่า ดังนั้น ข้าวของที่ผมพบในกุฏิของพระป่าหลายรูปจึงมีเพียงกลด เสื่อปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่ม จีวร ตะเกียง เทียนไข และหนังสือ

ค่ำคืนแรกของผมที่วัดหนองป่าพงผ่านไปด้วยดี แม้จะนอนกระสับกระส่ายบนพื้นไม้กระดานแข็งโกกเกก แต่อากาศที่เย็นสบายและความเหนื่อยอ่อนจากการเดินทาง ก็ทำให้ผมผล็อยหลับได้อย่างง่ายดาย ก่อนจะสะดุ้งตื่นตอนตีสามเพราะเสียงระฆัง “แก๊งๆๆ” นี่เป็นสัญญาณปลุกให้พระทุกรูปลุกขึ้นล้างหน้า จัดแจงครองผ้าจีวร และเตรียมสวดมนต์ทำวัตรเช้า จากนั้นจึงได้เวลาจัดเตรียมสถานที่ฉันภัตตาหาร และกวาดลานวัดก่อนออกบิณฑบาต

การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรของภิกษุสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อความเป็น “ผู้อยู่ง่าย” มีเวลาสำหรับทำความเพียร เพื่อเป็น “ผู้ไม่มีอาชีพ” เพราะคำว่า “ภิกษุ” นอกจากจะแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” แล้ว อีกนัยหนึ่งยังหมายถึง “ผู้ขอ” หลวงพ่อชากล่าวถึงการบิณฑบาตว่า “ต้องทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องมองหน้าใคร ก้มมองแค่ทัพพีของเขา กำหนดพุทโธอยู่ในจิตตลอดเวลา นี่จึงได้ชื่อว่า ‘โปรดสัตว์’  ถ้าสำรวมไม่พอ ระวังจะกลายเป็นการไปให้ ‘สัตว์โปรด’ หรือไม่ก็รีบบิณฑบาตเพราะกลัวของจะหมดก่อน อย่างนี้เรียก ‘ไปล่าสัตว์’ เราต้องเอาความมีสติ ความน่าเลื่อมใสศรัทธาไปโปรดชาวบ้าน”

หลังกลับจากบิณฑบาต ก็ได้เวลาฉันอาหารซึ่งเป็นอาหารเพียงมื้อเดียวของวันตามหลักเสขิยธรรม กล่าวคือ  ไม่ว่าจะบิณฑบาตได้เท่าใด  จำต้องฉันแต่พอดี  แม้จะมีอาหารล้นเหลือ  ก็จะไม่ฉันจนอิ่มตื้อ  เพราะจะทำให้ง่วงจนภาวนาไม่ได้ นอกจากระมัดระวังไม่ฉันมากเกินแล้ว ยังต้องระวังการติดรสอาหารอีกด้วย โดยมักหลีกเลี่ยงอาหารที่อร่อย เพราะเกรงว่าจะ "ติดสุข"  และอุบายที่พระป่านำมาใช้เพื่อให้ไม่ติดสุขในรสอาหารนั้น สามารถทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่ เทอาหารทุกอย่างลงไปในบาตร ทั้งคาวหวาน คนให้เข้ากันจนเป็นเมนู “รวมมิตร” ไปจนถึงเทน้ำเปล่าลงไปเพื่อละลายรสอาหารให้เบาบางจางลง สุดท้ายก่อนลงมือฉัน ยังต้องท่องบทสวดพิจารณาอาหารอีกด้วย        


ความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติและปฏิปทาของหลวงปู่มั่น  ถือเป็นต้นกำเนิดของวงการพระป่าในไทย ลูกศิษย์ลูกหาของท่านมากมายล้วนแล้วแต่ได้ชื่อว่า       เป็นผู้มอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา    เป็นนักรบกล้าแห่งกองทัพธรรม พระกรรมฐาน เป็นผู้ประหารกิเลสด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และเชื่อว่าศีลที่บริสุทธิ์จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในการบุกป่าฝ่าดงไปในแดนสัตว์ร้าย และธรรมชาติอันทารุณ รวมไปถึงต้องผจญกับมนุษย์ที่ถูกอวิชชาครอบงำ          

เมื่อพูดถึงเรื่องความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย  พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทโท) ผู้ถือธุดงควัตรปฏิบัติสมณธรรมขั้นอุกฤษฏ์มานานหลายปี เล่าว่า สมัยที่ยังเป็นหนุ่มท่านออกธุดงค์เที่ยวบิณฑบาตได้ปลาส้มมาอย่างเดียว  แต่ไม่แน่ใจว่าสุกดี (พระวินัยบัญญัติห้ามพระฉันเนื้อดิบ)  ท่านต้องยอมทิ้ง บอกว่าฉันข้าวเปล่าๆดีกว่า ไม่กล้าล่วง  ต่อมาเมื่อได้ไปอาศัยกับหลวงตาที่วัดป่าแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเมืองนครพนม มีโยมนำข้าวหมากมาถวาย พระเณรทุกรูปในวัดฉันกันหมด  พระชาเพียงแต่รับประเคนแล้ววางไว้ หลวงตาเห็นก็ถามว่า ไม่ฉันข้าวหมากหรือ พระชาจึงตอบว่า ไม่ฉัน เพราะเห็นว่ามีกลิ่นและรสเหมือนเหล้า จากนั้น ท่านจึงตอบว่า “ถ้าจะให้ผมละเมิดพระวินัย ผมยอมตายก่อน ไม่เสียดายชีวิตเท่าเสียดายพระวินัย”


คืนนี้ลมแรงแต่ไร้ฝนทั้งๆที่ท้องฟ้ามืดมิด  เท้าเปล่าเปลือยข้างหนึ่งก้าวลงสู่ทางเดินเล็กๆ สัมผัสกับความเย็นของพื้นดิน เหมือนกำลังเดินทางเข้าไปในความเปลี่ยววิเวกของป่าใหญ่ มีเพียงแมลงกลางคืนส่งเสียงกรนสนั่นป่า และเสียงเต้นของหัวใจสอดประสานไปพร้อมๆกับจังหวะก้าวเดินจงกรม สำหรับผม ป่ามีอำนาจในการหยิบยื่นความสงบให้จิตใจ  ความเงียบทำให้ความรู้สึกนั้นชัดเจนขึ้น ราวกับได้เดินทางกลับบ้าน กลับมาสู่ข้างใน จากกายมาสู่จิต      
                ผมเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ตอนเย็นย่ำ รู้สึกแปลกแยกกับเมืองที่อาศัยอยู่  ผมจากป่ามาสู่เมือง ที่นี่วุ่นวายสับสน ผู้คนเดินขวักไขว่ไปมา จนเกิดคำถามว่า เราอยู่บนโลกใบเดียวกันหรือเปล่า ผมนั่งอยู่ในแท็กซี่สีชมพู แต่เมื่อเหลือบไปเห็นพวงพระเครื่องที่ห้อยอยู่หน้ารถ จึงได้สติว่า เราอยู่บนโลกใบเดียวกัน    
                ป่ามีอานุภาพกล่อมจิตผมให้สงบได้ง่าย ทว่าในเมืองกลับเป็นเรื่องยาก ผมนึกกังขาว่าธรรมะจะดำรงอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางเมืองใหญ่แบบนี้ พลันจึงนึกถึงคำของพระป่ารูปหนึ่งที่บอกผมว่า “ธรรมะสถิตอยู่ทุกที่ เดินไปข้างหน้าก็ธรรม ข้างหลังก็ธรรม เปิดอินเทอร์เน็ตก็มีธรรม ธรรมทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับว่า ดวงตาเราจะเห็นธรรมและจะลงมือ ‘ทำ’ หรือเปล่า”    
                แท็กซี่จอดหน้าบ้าน ผมรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงแว่วๆ ลอยมาจากที่ไกลๆ      
                “ยินดีต้อนรับสู่วิถีของโลก แต่ในโลกก็มีธรรม”  

พฤศจิกายน 2555
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 พฤศจิกายน 2012, 22:25:57 โดย pani »