ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ต.ค.2555  (อ่าน 913 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ต.ค.2555
« เมื่อ: 28 ตุลาคม 2012, 23:43:52 »
 1. สังคมสวดยับ ประมูล 3 จีส่อฮั้ว ด้าน “กทค.” ไม่สน เดินหน้าให้ใบอนุญาต ขณะที่รองปลัดคลัง จี้ กสทช.ทบทวน -ภาค ปชช.เข้าชื่อถอดถอน!

       ความคืบหน้าเรื่องการประมูล 3 จี หลังนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3 จี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กำหนดจัดให้มีการประมูลในวันที่ 16 ต.ค. จนกว่า กสทช.จะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ เพราะเงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่ กสทช.ประกาศออกมา ยังไม่ชัดเจน ทั้งเรื่องคุณภาพการให้บริการ ค่าบริการ การคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และการนำเงินประมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ศาลปกครองได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายอนุภาพ โดยให้เหตุผลว่า นายอนุภาพยังไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง และว่า การละเมิดสิทธิของนายอนุภาพในฐานะประชาชนทั่วไป จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการประมูล 3 จี และผู้ชนะการประมูลประกอบกิจการบกพร่องในเรื่องพื้นที่ คุณภาพ หรือค่าบริการที่สูงเกินไป และ กสทช.ละเลยไม่ดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงการคาดคะเนของนายอนุภาพ ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
       
       นอกจากนี้ ศาลฯ ยังเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดให้ กสทช.เป็นองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม หากบุคคลใดเห็นว่า กสทช.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ สามารถร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริง และให้ความเห็นเสนอแนะต่อ กสทช.เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากนี้ หากผู้ตรวจการแผ่นดินพบเห็นการกระทำทางปกครองที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองได้ทันที เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำที่อาจเป็นเหตุให้ประโยชน์สาธารณะต้องเสียไป ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิและหน้าที่ฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนก่อน
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 6 ราย ได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง พร้อมขอให้ศาลฯ พิพากษายกเลิกการจัดประมูล 3 จี โดยชี้ว่า การประมูล 3 จีครั้งนี้ มีจุดอ่อนไม่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งยังเสี่ยงต่อการทำผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล นอกจากนี้การตั้งราคาประมูลขั้นต่ำไว้ที่ 4,500 ล้านบาทต่อคลื่นความถี่ 5 เมกะเฮิรตซ์ ก็ต่ำกว่าราคาที่คณะวิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยเสนอไว้ที่ 6,440 ล้านบาท ทำให้ประเทศเสียหายขาดรายได้ไปถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากนายสุริยะใสแล้ว ยังมีนายพงศ์ฐิติ พงษ์ศิลามณี อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที และพวกรวม 3 คน ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปครองเช่นกัน โดยขอให้ศาลสั่งชะลอการประมูล 3 จี เพราะบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ล้วนเป็นบริษัทที่มีสัมปทานทางธุรกิจกับ บมจ.ทีโอที และมีข้อพิพาทเรื่องการโอนทรัพย์สินในกิจการโทรคมนาคมกันอยู่ หากให้ประมูล 3 จี อาจมีการถ่ายเททรัพย์สินภายในสัญญาสัมปทานให้บริการ 2 จี ไปเป็นทรัพย์สินของเอกชนที่จะให้บริการ 3 จี ในอนาคต ซึ่งจะเป็นเพิ่มการผูกขาดการให้บริการโดยบริษัทเอกชน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
       
       ด้าน กสทช.ไม่สนว่าจะมีใครร้องศาลปกครองบ้าง โดยได้เดินหน้าประมูล 3 จีตามกำหนดในวันที่ 16 ต.ค. ที่สำนักงาน กสทช. ทั้งนี้ ในการประมูล 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ได้แบ่งการประมูลออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 45 เมกะเฮิรตซ์ ราคาตั้งต้นที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถประมูลค่าคลื่นสูงสุดได้เพียง 3 สล็อตหรือ 15 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ซึ่งหลังเปิดประมูลตั้งแต่ 10.00น.และสิ้นสุดลงในเวลา 16.00น. ผลปรากฏว่า การประมูลสล็อตที่มีการเสนอราคาสูงสุดมูลค่า 4,950 ล้านบาท มี 2 สล็อต ประมูลโดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก ในเครือเอไอเอส ส่วนสล็อตที่รองลงมามูลค่าเพียงแค่ 4,725 ล้านบาท ประมูลโดยเครือเอไอเอสเช่นกัน ส่วนที่เหลืออีก 6 สล็อต ล้วนจบที่ราคาตั้งต้นคือ 4,500 ล้านบาท ประมูลโดยบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือบริษัท ทรูฯ
       
       ทั้งนี้ หลังรู้ผลว่า ราคาที่ประมูลเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นแค่ 2.78% ปรากฏว่า ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า การประมูลอาจขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยศึกษามูลค่าการตลาดที่แท้จริงของคลื่น 3 จี พบว่า อยู่ที่ 6,440 ล้านบาท หากรวม 9 สล็อต จะอยู่ที่ 57,960 ล้านบาท แต่ กสทช.กลับตั้งราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้ที่ 4,500 ล้านบาท และได้รายได้จากการประมูลเข้ารัฐเพียงแค่ 41,625 ล้านบาท
       
       ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกมาชี้ว่า การประมูล 3 จีครั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายเหมือนได้ลาภลอยจากส่วนต่างของราคาประมูลที่หายไป 16,335 ล้านบาท ยังไม่รวมประโยชน์ที่จะได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท นายสมเกียรติ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผลการประมูล 3 จีที่ออกมา ตอกย้ำว่าการประมูลมีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ และยังชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการ คือ 1.การจำกัดคลื่นความถี่ให้ผู้ประกอบการสามารถถือครองได้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน และการกำหนดราคาประมูลขั้นต้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
       
       ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม ได้ออกมาชี้แจงทำนองว่า กสทช.เน้นให้มีการประมูลคลื่นที่มีอยู่ออกไปให้หมด เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งคลื่นไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้งาน พร้อมอ้างว่า ถ้าสามารถจัดสรรคลื่นออกไปได้หมด กสทช.ก็ไม่สามารถกำกับราคาได้ ต้องให้กลไกลตลาดเป็นตัวตัดสิน
       
       ทั้งนี้ หลังประชุม 3 จีได้ 2 วัน(18 ต.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เพื่อรับรองผลการประมูลการให้ใบอนุญาต 3 จี โดยบรรยากาศการประชุมค่อนข้างตึงเครียด เพราะมีการโต้ตอบกันระหว่างกรรมการที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการประมูล 3 จี ก่อนจะมีมติ 4 ต่อ 1 รับรองผลการประมูล 3 จี โดย 1 เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย คือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่มองว่าการประมูล 3 จีครั้งนี้ส่อฮั้วประมูล
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียง กสทช.บางคนจะมองว่าการประมูล 3 จีครั้งนี้ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ทางรองปลัดกระทรวงการคลัง น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็เห็นว่าการประมูล 3 จีครั้งนี้อาจเข้าข่ายฮั้วเช่นกัน เพราะการประมูลไม่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างแท้จริง และว่า การประมูลแบบอี-ออคชั่น สินค้าต้องมีน้อยกว่าคนประมูล และต้องมีการสู้ราคากันจริง แต่การประมูล 3 จีครั้งนี้ จำนวนของกับจำนวนรายที่สู้มีเท่ากัน จึงเกิดคำถามว่ามีการสู้ราคากันจริงหรือไม่
       
       น.ส.สุภา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การให้ผู้ชนะประมูลได้รับประโยชน์จากการให้บริการต่อเนื่อง 15 ปี หากการจัดสรรคลื่นนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสมหรือเข้าลักษณะสมยอมราคา จะทำให้รัฐและประเทศเสียรายได้มหาศาล และกรรมการ กสทช.อาจต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ น.ส.สุภา ได้ทำหนังสือท้วงติงเกี่ยวกับการประมูล 3 จีไปยัง พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.เพื่อให้ทบทวน เพราะไม่ควรนำทรัพย์สินของประเทศไปเลหลัง พร้อมยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ด้วย เพราะเห็นว่า หาก กสทช.ยังเดินหน้าเรื่อง 3 จีต่อไป อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ฮั้วได้
       
       ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. ได้ออกมาโต้ น.ส.สุภา โดยยืนยันว่า กสทช.ดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่รัฐ และว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง นายฐากร ยังจี้ให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการสอบวินัย น.ส.สุภาด้วย ฐานทำให้ กสทช.ได้รับความเสียหาย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังคณะกรรมการ กทค.ประชุมรับรองผลการประมูล 3 จีแล้ว ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมารับหนังสือแจ้งอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ 19 ต.ค. โดย กสทช.กำหนดว่า หลังรับแจ้ง ผู้ประกอบการต้องชำระเงิน 50% ของราคาประมูล รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ให้ กสทช.ภายใน 90 วัน แต่ปรากฏว่า ทางเอไอเอสรีบนำเช็คเงินสด 50% ของราคาประมูล หรือประมาณ 7,814 ล้านบาทมาจ่ายให้ กสทช.ทันทีตั้งแต่วันแรกที่ได้รับแจ้งผล
       
       ทั้งนี้ หลัง กสทช.เมินเสียงท้วงติงเรื่องฮั้วประมูล 3 จี ปรากฏว่า ภาคประชาชนนำโดยนายสุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้าชื่อยื่นถอดถอน 11 กสทช.ต่อประธานวุฒิสภาแล้ว ขณะที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ออกมาเตือน กสทช.ว่า หากไม่ทบทวนการประมูล 3 จี จะมีการเข้าชื่อ ส.ส.ร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้มีมติถอดถอน กสทช.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งต่อไป
       
       2. 68 ส.ว. ยื่นเรื่อง ปธ.วุฒิฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยขายข้าวจีทูจีเข้าข่าย ม.190 หรือไม่ ด้าน “บุญทรง” รีบยัน ไม่เกี่ยว!

       เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา พร้อมด้วย ส.ว.67 คน ได้ยื่นหนังสือถึงนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) จำนวน 7.32 ล้านตัน มูลค่า 114,000 ล้านบาท เข้าข่ายสัญญาตามรัฐรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะต้องชี้แจงและขอความเห็นจากรัฐสภาหรือไม่ โดยให้เหตุผลประกอบการพิจารณาว่าสัญญาขายข้าวน่าจะเข้าข่ายมาตรา 190 เพราะการขายข้าวดังกล่าวกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาชดเชยส่วนที่ขาดทุนเป็นเงิน 44,000 ล้านบาท ,การขายข้าวดังกล่าวมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งทำลายเศรษฐกิจข้าวส่งออกของไทย ทำลายการลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง เพราะผลการขาดทุนจากการขายข้าว ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเกินกว่ากำหนด ทำให้เกิดวิกฤตการคลัง
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เผยว่า เรื่องดังกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง
       
       ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รีบออกมายืนยันว่า เรื่องข้าวไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 แน่นอน เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เหมือนกองทัพ เวลาสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 เป็นการทำการค้าปกติ และว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ได้รับการยืนยันว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190
       
       ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ได้ออกมาแฉว่า รัฐบาลไม่มีการส่งออกข้าวในลักษณะจีทูจี แต่เป็นการอ้างสัญญาจีทูจีลอยๆ หรือจีทูจีสีขาว เพื่อเปิดช่องให้เอกชนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเป็นนายหน้าตั้งโต๊ะรับหัวคิว มีตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ 3 ตัว เป็นคนรับติดต่อกับบริษัทค้าข้าว และจ่ายหัวคิวให้นักการเมือง พร้อมท้าให้กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสัญญาจีทูจี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถระบุได้ชัดเจน จึงขอเรียกการส่งออกข้าวของรัฐบาลว่า การส่งออกดัมมี่
       
       ส่วนการทุจริตจำนำข้าวนั้น ปรากฏว่า ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตำรวจภูธรภาค 3 ได้ตรวจพบทุจริต 2 คดี คดีแรกที่ จ.นครราชสีมา พื้นที่ สภ.จอหอ พบข้าวที่รับจำนำหายไปกว่า 1 หมื่นตัน มูลค่า กว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินคดีกับโรงสีธัญญรุ่งเรืองชัย (ประเทศไทย) จำกัด และสรุปสำนวนสั่งฟ้องไปยังอัยการจังหวัดแล้ว ส่วนอีกรายอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นการสวมสิทธิ์ใช้ชื่อของเกษตรกร 460 คน เพื่อขอออกใบประทวน โดยมีการแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.หนองกี่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวน
       
       3. “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” จำเลยคดีฉ้อโกง-ยักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซี เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็ง!

       เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 ต.ค. นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ(บีบีซี) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีทุจริตยักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซี ได้เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะที่มีอายุ 63 ปี โดยญาติได้จัดพิธีศพที่ศาลาเจ้าจอม วัดธาตุทอง
       
       ทั้งนี้ นายเกริกเกียรตินับเป็นจำเลยคนสำคัญในคดียักยอกทรัพย์บีบีซี ที่สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤติการเงินในประเทศไทยเมื่อปี 2540 โดยนายเกริกเกียรติถูกฟ้องหลายคดี คดีสำคัญๆ ที่ศาลพิพากษาแล้ว ได้แก่ กรณีที่นายเกริกเกียรติกับพวก ทำสัญญาแลกเปลี่ยนพันธบัตรกับไฟแนนซ์ต่างประเทศ ทำให้แบงก์บีบีซีเสียหายกว่า 1.2 พันล้านบาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.54 ให้จำคุกนายเกริกเกียรติ 20 ปี และปรับเป็นเงิน 1.1 พันล้านบาท โดยวันดังกล่าว นายเกริกเกียรติเดินทางมาฟังคำพิพากษาในสภาพอิดโรยจากโรคมะเร็ง นอกจากนี้ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2553 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนจำคุกนายเกริกเกียรติ 20 ปี และปรับเป็นเงินกว่า 472 ล้านดอลลาร์ กรณีทุจริตโอน-ขายหุ้นบีบีซี
       
       อนึ่ง นายเกริกเกียรติ เป็นบุตรชายของนายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ กับนางอินทิรา ชาลีจันทร์ จบปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาการเงินจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวฝ่ายมารดา ในปี พ.ศ.2529 ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายสาขา กระทั่งได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในเวลาต่อมา โดยมีนายราเกซ สักเสนา นักการเงินชาวอินเดีย เป็นที่ปรึกษา ช่วงปี 2536-2538 แบงก์บีบีซีภายใต้การนำของนายราเกซ ได้ทำธุรกรรมทางการเงินแบบพิสดาร ทั้งการปล่อยกู้ให้นักลงทุนที่ต้องการเทคโอเวอร์กิจการในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำไปขายทำกำไร และการปล่อยสินเชื่อให้กิจการต่างชาติ โดยหารายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมการเงิน กระทั่งเกิดหนี้เสียและถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
       
       ต่อมาวันที่ 18 มี.ค. 2539 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ายึดกิจการแบงก์บีบีซี และสั่งปิดกิจการ พร้อมฟ้องศาลดำเนินคดีนายเกริกเกียรติและนายราเกซ ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ รวมทั้งสิ้น 17 คดี มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติ เป็นเวลา 20 ปี และปรับเป็นเงิน 3.1 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2552
       
       4. สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาสวรรคตแล้ว ขณะที่ชาวเขมรไม่พอใจ “นักข่าวช่อง 3” อ้าง ไม่เคารพพระบรมฉายาลักษณ์!             
       
       สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค.เวลา 02.00น. สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้สวรรคตแล้วที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะมีพระชนมายุ 89 พรรษา หลังพระองค์ทรงมีพระอาการประชวรหลายโรคมานาน อาทิ มะเร็งลำไส้ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(15 ต.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนี แห่งกัมพูชา ความว่า “หม่อมฉันและพระราชินีเศร้าสลดใจอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า สมเด็จพระนโรดมสีหนุ แห่งกัมพูชา สวรรคต หม่อมฉันและพระราชินี ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังฝ่าพระบาทและพระราชวงศ์ ตลอดจนประชาชนชาวกัมพูชา ในการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศและประชาชนในครั้งนี้”
       
       ต่อมาวันที่ 17 ต.ค. ได้มีการเคลื่อนพระศพสมเด็จพระนโรดม สีหนุ จากกรุงปักกิ่งกลับไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ท่ามกลางบรรยากาศเศร้าสลดของชาวเขมรนับแสนคนที่ออกมารอถวายความเคารพพระศพตลอดสองข้างทางที่ขบวนพระศพจะเคลื่อนผ่าน
       
       อย่างไรก็ตาม ได้เกิดปัญหาระหว่างการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวหญิงของไทยคนหนึ่ง จนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนชาวกัมพูชา หลังรายการข่าว 3 มิติของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ส่ง น.ส.ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวภาคสนาม ให้ไปรายงานข่าวการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 16-17 ต.ค. หลังจากนั้นได้มีชาวกัมพูชาจำนวนมากโพสต์รูปการรายงานข่าวของ น.ส.ฐปนีย์ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งในภาพ น.ส.ฐปนีย์กำลังรายงานข่าวอยู่หน้าพระราชวังจตุรมุขมงคล โดยมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งมีภาพคล้ายพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อยู่ใกล้เท้าของ น.ส.ฐปนีย์ โดยชาวกัมพูชาได้เขียนข้อความต่อว่า น.ส.ฐปนีย์ว่าไม่ให้ความเคารพสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
       
       ด้าน น.ส.ฐปนีย์ ได้ชี้แจงโดยยอมรับว่า ตนได้วางหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นกับสมุดจดข่าวและโทรศัพท์มือถือไว้ข้างๆ บริเวณที่ยืนรายงานข่าว แต่ภาพบนเฟซบุ๊กดูเหมือนว่าตนกำลังเหยียบหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวที่มีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เหยียบ อาจจะเป็นมุมกล้องหรือมีการตัดต่อ พร้อมแสดงความเสียใจที่มีภาพแบบนี้ออกมา ยอมรับว่าเพราะความรีบเร่ง ทำให้เกิดความไม่เหมาะสมขึ้น และว่า หลังเกิดภาพดังกล่าว ตนได้ไปขอพระราชทานอภัยโทษที่พระราชวังจตุรมุขมงคลแล้ว
       
       ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นเช่นกัน รวมทั้งขอพระราชทานอภัยโทษพระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนชาวกัมพูชา ส่วน น.ส.ฐปนีย์ และทีมข่าว 3 มิติ ได้นำกรวยดอกไม้ไปกราบขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย พร้อมยื่นแถลงการณ์ผ่านเอกอัครราชทูตกัมพูชา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและขออภัยต่อรัฐบาลและประชาชนชาวกัมพูชา
       
       แต่ชาวกัมพูชาได้เกิดความไม่พอใจอีก เมื่อเห็นภาพที่ น.ส.ฐปนีย์ไม่ถอดรองเท้าขณะกราบขออภัยโทษ ซึ่ง น.ส.ฐปนีย์ ได้ชี้แจงว่า ทุกคนทั้งเจ้าหน้าที่สถานทูต รัฐมนตรี ก็ไม่มีใครถอดรองเท้าเช่นกัน ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา นายฮอ นัม ฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้ประสานมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้ น.ส.ฐปนีย์เขียนจดหมายส่วนตัวถึงประชาชนชาวกัมพูชาเพื่ออธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่ง น.ส.ฐปนีย์ ได้ดำเนินการแล้ว
       
       ด้านรัฐบาลกัมพูชา ได้พยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการออกแถลงการณ์ว่า ภาพไม่เหมาะสมที่ปรากฏบนเฟซบุ๊กนั้น เป็นการกระทำของบุคคลที่มีอคติ ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ และว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยได้โทรศัพท์พูดคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชาแล้ว ยืนยันทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจกันดี
       
       ขณะที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ออกมาเตือนผู้ที่กดไลค์ กดแชร์ภาพที่มีการตัดต่อกรณี น.ส.ฐปนีย์ วางพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนโรดม สีหนุ บนพื้นว่า ไม่ว่าจะรู้เท่าถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นเบื้องสูง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 ตุลาคม 2555