ผู้เขียน หัวข้อ: นครแห่งอนาคต-(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1299 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมืองหลวงแห่งใหม่ของคาซัคสถานไม่เคยขาดแคลนอาคารรูปทรงแปลกตาไว้อวดผู้มาเยือน บางแห่งได้รับการขนานนามจากคนท้องถิ่นด้วยชื่อเล่นที่ฟังดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย เช่น ตึกกล้วย  (อาคารสำนักงานสีเหลืองสด) ถังเบียร์ทั้งเจ็ด (หมู่อพาร์ตเมนต์)  และไฟแช็ก (กระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร) กระนั้นก็มีสิ่งก่อสร้างแห่งหนึ่งนั่นคืออนุสรณ์สถานแห่งชาติชื่อว่า  ไบเตเรค (Baiterek) กลับไม่มีชื่อเล่นเหมือนอาคารอื่นๆ  สืบเนื่องจากรูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนสิ่งใดเลย อย่างน้อยก็บนโลกใบนี้

ไบเตเรคในภาษาคาซัค  หมายถึง   “ต้นป็อปลาร์สูงตระหง่าน”   หอคอยสูง 97   เมตรแห่งนี้เสริมความแข็งแรงด้วยโครงเหล็กกล้าสีขาวโดยรอบ ส่วนยอดเป็นลูกแก้วขนาดใหญ่ฉาบสีทองอร่าม ป้ายจารึกที่ฐานหอคอยระบุว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้สะท้อนตำนานพื้นบ้านของชาวคาซัคเรื่องซัมรุค (Samruk) นกศักดิ์สิทธิ์ที่วางไข่สีทองหรือพระอาทิตย์ เป็นประจำทุกปีเหนือเรือนยอดไม้แห่งชีวิตขนาดมหึมา ส่วนผู้ออกแบบนั้นเล่าคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ช่างเหล็กผู้กลายเป็นบุรุษแกร่งที่ปกครองประเทศนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 เล่ากันว่าเขาร่างแนวคิดเบื้องต้นไว้คร่าวๆบนกระดาษเช็ดปาก

เฉกเช่นซาร์ปีเตอร์มหาราชสมัยศตวรรษที่สิบแปดทรงเลือกที่ลุ่มน้ำขังเหนือชายฝั่งทะเลบอลติก และประกาศศักดาที่ไม่อาจลบเลือนไว้ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ศูนย์กลางอำนาจการปกครองแห่งจักรวรรดิโซเวียต นาซาร์บาเยฟเองก็เลือกปักธงชาติคาซัคสถานที่เพิ่งได้รับเอกราชเหนือดินแดนอันห่างไกล โดยไม่นำพาว่าอัลมาตี เมืองหลวงเก่าจะมีอากาศเย็นสบายและน่าอยู่ ในช่วงปลายปี 1997 รัฐบาลได้ย้ายเมืองหลวงอย่างเป็นทางการไปยังเมืองอัคโมลาอันหนาวเหน็บและลมแรง    ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือเกือบ   1,000 กิโลเมตร   บนทุ่งหญ้าสเตปป์ไร้ต้นไม้ในแถบเอเชียกลาง   ต่อมาเมืองอัคโมลาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นอัสตานา  (คำในภาษาคาซัคหมายถึง “เมืองหลวง”) การเปลี่ยนแปลงที่มีการเฉลิมฉลองกันทุกวันที 6 กรกฎาคมในชื่อวันอัสตานา (Astana Day) ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของประธานาธิบดีนาซาร์บาเยฟเช่นกัน   

คนจำนวนมากงุนงงกับการตัดสินใจครั้งนี้ อัคโมลาเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1830   ในฐานะป้อมปราการยุคซาร์ ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นชุมทางรถไฟ และเป็นที่รู้จักในยุคโซเวียตว่า เซลิโนกราด ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต ตั้งเป้าเปลี่ยนภูมิภาคแถบนี้ให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจักรวรรดิโซเวียต อย่างไรก็ตามพอถึงทศวรรษ 1990 เมืองนี้กลับประสบความยากลำบาก และคนส่วนใหญ่ก็รู้แต่เพียงว่า ในฤดูหนาวอุณหภูมิที่นี่อาจลดต่ำถึง -51 องศาเซลเซียส พอถึงฤดูร้อนฝูงยุงก็ชุกชุม แถมยังมีลมกระโชกแรงหอบฝุ่นจากไร่นาเสื่อมโทรมจนตลบไปทั่ว

นาซาร์บาเยฟให้เหตุผลหลายข้อในการย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตี หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับเทือกเขาเทียนชาน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตและขยายตัวของเมือง  กระนั้น  ภูมิรัฐศาสตร์ก็มีบทบาทอยู่ไม่น้อย ว่ากันว่าแรงกระตุ้นของนาซาร์บาเยฟมาจากความหวาดระแวงต่อแผนการอันทะเยอทะยานของรัสเซียในแถบตอนเหนือของคาซัคสถาน แต่ไม่ว่าอย่างไร จะมีใครสักกี่คนที่กล้าหรือสามารถท้าทายอำนาจของผู้นำเผด็จการที่ยังได้รับความนิยมจากการส่งเสริมเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลฉ้อฉลและละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพื่อสร้างนครในฝัน นาซาร์บาเยฟขอความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุนชาวต่างชาติที่กระตือรือร้นจะทำธุรกิจกับคาซัคสถาน หนึ่งในนั้นคือรัฐกาตาร์แห่งอ่าวเปอร์เซียซึ่งยินดีให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการก่อสร้างมัสยิดที่รองรับศาสนิกชนได้ถึง 7,000 คน นอกจากนี้  นาซาร์บาเยฟยังเชื้อเชิญบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่นจากทั่วโลก อาทิ คิโชะ คุโระกะวะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ และนอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ

บางทีสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการชื่นชมอาณาจักรแห่งความทะเยอทะยานและอัตตาของนาซาร์บาเยฟ เห็นจะไม่พ้นห้องชมวิวบนยอดหอคอยไบเตเรค ท่ามกลางทัศนียภาพที่มองเห็นได้ 360 องศาและบาร์เสิร์ฟเบียร์ตุรกีเย็นฉ่ำ คือแท่นมาลาไคต์สีเขียวที่รองรับแผ่นทองคำหนัก 2 กิโลกรัม มีรอยฝ่ามือขวาของประธานาธิบดีประทับอยู่ตรงกลาง

มีนาคม 2555