ผู้เขียน หัวข้อ: ฟ้องหมื่นรายรุกฟลัดเวย์ "ปู"เอาจริงแผน"โกร่ง" ไฟเขียวกรมชลฯลุย  (อ่าน 1246 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
"ยิ่งลักษณ์" เอาจริงแก้ปัญหาน้ำท่วมรอบสอง ลั่นเอาตำแหน่งนายกฯการันตี ท่วมน้อยกว่าปีที่แล้ว สั่งกางโรดแมปเตรียมรับมือน้ำท่วมรอบใหม่ เร่งสร้าง-เสริมแนวคันดินทุกจุด งัดไม้แข็งลงดาบสั่งฟ้องพวกก่อสร้างอาคาร-ทำการเกษตรกีดขวางทางน้ำ ด้านกรมชลประทานไล่ฟ้องผู้บุกรุกแนวฟลัดเวย์-พื้นที่แก้มลิง 10,000 ราย "ชัชวาล" รองอธิบดีกรมชลฯ ชี้แก้ยากเพราะส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงนักการเมืองตั้งแต่ระดับชาติถึงท้องถิ่น เตรียมชงรัฐบาลทำเป็นวาระแห่งชาติ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำในปี 2555 ไว้อย่างรัดกุมและการันตีจะเร่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนและภาคประชาชนช่วยกันจัดการน้ำทุกช่องทาง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์วางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นศูนย์กลางวางแผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐเห็นปัญหา มีบทเรียน จึงขอย้ำให้ความมั่นใจจะทำปีนี้ให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

เบื้องต้นก่อนน้ำจะมาปีนี้ได้ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเร่งสร้างแนวคันป้องกันน้ำให้แข็งแรงทุกพื้นที่ทุกจุด ควบคู่กับเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขนาดใหญ่หรืออาคารสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กีดขวางทางน้ำ ทั้งเขตพื้นที่อาศัยซึ่งเป็นบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร โดยจะส่งเจ้าหน้าที่และตัวแทนเข้าไปเจรจากับเจ้าของพื้นที่ทุกแห่ง แนวทาง คือ จะหารือเพื่อสรุปแนวทางการทำงานช่วยดูแลป้องกันร่วมกัน โดยรัฐบาลพร้อมจะเยียวยาหรือจ่ายชดเชยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ต้องนำพื้นที่มาเป็นจุดรับน้ำ แทนที่จะปล่อยให้ท่วมขังเป็นเวลานานซ้ำรอยเหมือนปี 2554

แผนงานคร่าว ๆ ตอนนี้ กยน.และรัฐบาลเห็นพ้องที่จะกันพื้นที่บางส่วนไว้เป็นจุดรับน้ำ และขอบางส่วนเปิดทางเพื่อระบายน้ำที่จะไหลบ่าลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด หากวันนี้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมรับสถานการณ์น้ำ เมื่อถึงเวลาก็จะได้แก้ปัญหาได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงกำชับหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เตรียมอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำให้พร้อม เพื่อนำมาใช้ทันท่วงที พร้อมทั้งขอยืนยันในฐานะนายกรัฐมนตรีจะดูแลน้ำปีนี้ให้ท่วมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วทุกอย่างคงจะไม่สามารถทำให้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมหายไปได้ 100% เพียงแต่จะใช้ทุกวิธีเพื่อทำให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุด

นายกฯยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยินดีและพร้อมสนับสนุนเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในโอกาสครบรอบ 35 ปี จัดทำโครงการฟื้นฟูขุดลอกคูคลอง โดยทางกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาเป็นตัวแทนรัฐบาลช่วยดูแลโครงการนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้จัดทำแผนกำหนดพื้นที่คูคลอง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจะกลับมาขอความร่วมมือจากเอกชนและภาคประชาชนร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป

นายชัชวาล ปัญญาวาทีนันท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่แต่ละปีก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ นอกจากกรมชลประทานจะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวรับมือภัยน้ำท่วมซึ่งนับวันสถานการณ์ ยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ในส่วนของกรมชลประทานเองได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานทำการสำรวจและหาทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ชลประทานโดยเร่งด่วน

สำหรับพื้นที่เป้าหมายหลักที่จะดำเนินการจะเน้นไปที่พื้นที่ซึ่งเป็นเขตเส้นทางระบายน้ำ หรือ Flood way ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคกลางซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรุนแรง ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีผู้บุกรุกเขตเส้นทางระบายน้ำของกรมชลประทานทั่วประเทศมากกว่า 10,000 ราย ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินด้วยการฟ้องร้องตามข้อเท็จจริงต่อไป

นายชัชวาลกล่าวว่า กรมชลประทานดำเนินการเป็นประจำตลอดทุกปี แต่ยอมรับว่า ในบางพื้นที่ติดปัญหาเรื่องมวลชน เนื่องจากผู้บุกรุกส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรค การเมืองและนักการเมืองทั้งระดับ ท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา แม้กว่ากระบวนการทางกฎหมายจะสิ้นสุดคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร นอกจากนี้กรมชลประทาน จะเสนอให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยอาจต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ

ขณะเดียวกันตนได้แจ้งหนังสือเวียนเป็นการภายในถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถือปฏิบัติในเรื่องการฟ้องร้องบุกรุกที่ดินเขตเส้นทางระบายน้ำ ซึ่งกรมชลประทานเคยมีข้อพิพาทกับผู้บุกรุกและชนะคดี มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2538 ที่ผ่านมา และศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาตัดสินให้คู่ความ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาททั้ง 3 ศาล ส่งผลให้ที่ดินที่มีปัญหาซึ่งอยู่ติดกับเขตชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตรที่คู่พิพาทครอบครองและปลูกสร้างห้องแถว บ้าน และตลาดสด เป็นของแผ่นดิน โดยคำพิพากษาระบุว่า ที่ดินที่ตกเป็นของทางราชการแล้ว แม้เอกชนจะครอบครองนานเท่าใดก็ไม่ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่รับน้ำและที่ดินในเขตเส้นทางระบายน้ำซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทานที่มีผู้บุกรุกกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ กระจายอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีทั้งการบุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารและ สิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่พาณิชย กรรม เกษตรกรรม ส่วนนี้จะเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด หากบุกรุกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะดำเนินการฟ้องร้องขับไล่ ขณะที่พื้นที่ทางน้ำหลากที่ชาวบ้านครอบครองโดยถูกต้องตามกฎหมาย หากมีความจำเป็นต้องใช้เป็นพื้นที่ทางน้ำหลากหรือฟลัดเวย หรือแก้มลิงก็จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้ตามความเหมาะสม ซึ่งแนวทางดังกล่าว กยน.ได้หารือเบื้องต้นกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเส้นทางระบายน้ำสำคัญที่กรมชลประทานสั่งการให้สำนักงานชลประทานซึ่งกระจาย อยู่ทั่วประเทศดูแลเป็นพิเศษส่วนใหญ่จะอยู่ในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากรุนแรง แถบภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคกลาง ตั้งแต่ จ.พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร รวมทั้งบางทำเลในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดยเฉพาะพื้นที่โครงการลุ่มต่ำหรือพื้นที่นาลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติ ในเขตลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีประมาณ 13 จุด คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3,129 ตร.กม. แยกเป็นพื้นที่นาลุ่มในภาคเหนือตอนล่าง 5 จุด อีก 8 จุดเป็นพื้นที่นาลุ่มในภาคกลาง อาทิ พื้นที่นาลุ่มต่ำตะพานหิน-บางมูลนาค-โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร ขนาดความจุรับน้ำ 240 ล้าน ลบ.ม., พื้นที่ลุ่มต่ำพิจิตร-โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ความจุรับน้ำ 145 ล้าน ลบ.ม., บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ความจุรับน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม., ชุมแสง-เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ความจุ 238 ล้าน ลบ.ม., บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 233 ล้าน ลบ.ม.

ทุ่งภูเขาทอง-บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ความจุ 249 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งดอนพุด-มหาราช จ.ลพบุรี ความจุ 157 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งผักไห่-ป่าโมก จ.พระนครศรีอยุธยา 125 ล้าน ลบ.ม., ทุ่งผักไห่-บางยี่หน จ.พระนครศรี อยุธยา ความจุ 257 ล้าน ลบ.ม.,ทุ่งไชโย-บ้านแพรก จ.อ่างทอง 259 ล้าน ลบ.ม., อ่างทองตะวันตก จ.อ่างทอง ความจุ 186 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น

พื้นที่ลุ่มต่ำหรือแก้มลิงธรรมชาติอาทิ ทุ่งเชียงราก ในพื้นที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี, ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ในพื้นที่ อ.บ้านหมี่, ทุ่งท่าวุ้ง พื้นที่ อ.เมือง, จ.ลพบุรี, ทุ่งบางกุ่ม พื้นที่ อ.บางปะหัน, ทุ่งบางบาล อ.บางบาล อ.เสนา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา อ.ดอนพุด จ.สระบุรี

ประชาชาติธุรกิจ 12 มกราคม พ.ศ. 2555