ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงเพรียกเพื่อพิทักษ์เหล่าพยัคฆ์-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1392 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เสือโคร่งหรือเสือลายพาดกลอน (Panthera tigris) เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์เสือและแมว แม้แต่ศัพท์ทางชีววิทยาที่ใช้เรียกพวกมันล้วนสื่อถึงความน่าเกรงขาม อาทิ “นักล่าอันดับสูงสุด” (apex predator) “สัตว์ใหญ่ผู้งามสง่า” (charismatic megafauna) และ “สัตว์ป่าที่เป็นร่มเงา” (umbrella species – ศัพท์ทางชีววิทยาเชิงอนุรักษ์หมายถึงชนิดพันธุ์ที่ต้องอาศัยพื้นที่กว้างใหญ่สำหรับดำรงชีวิต การอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ดังกล่าวจึงช่วยอนุรักษ์ชนิดพันธุ์อื่นๆในเวลาเดียวกัน) เสือเป็นสัตว์กินเนื้อที่น่าพรั่นพรึงที่สุดชนิดหนึ่งในโลก กระนั้น เรือนขนสีอำพันสลับกับลายเพลิงสีดำตามขวางก็ทำให้พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่งดงามที่สุดชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาลักษณะทางกายวิภาคของเสือ เริ่มจากกรงเล็บที่อาจยาวได้ถึง 10 เซนติเมตรและสามารถหุบเก็บได้เหมือนแมวบ้าน ฟันตัดที่สามารถบดกระดูกให้แหลกละเอียดได้ และแม้จะวิ่งได้เร็วกว่า 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่สรีระของเสือนั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้พละกำลังมากกว่าความทนทาน มันจึงไม่สามารถรักษาระดับความเร็วได้นาน ขาที่สั้นแต่ทรงพลังช่วยให้เสือพุ่งเข้าชาร์จเพื่อสังหารเหยื่ออันเป็นลักษณะเฉพาะตัวรวมทั้งการกระโจนอันเลื่องลือ นัยน์ตาเสือนั้นเรืองแสงโดยเยื่อจะสะท้อนแสงผ่านจอตา นี่คือความลับที่ทำให้เสือมองเห็นได้ในเวลากลางคืน ส่วนเสียงคำรามของพวกมันอาจดังไปไกลกว่า 1.5 กิโลเมตร ตลอดหลายสัปดาห์ที่ฉันเดินทางไปตามถิ่นอาศัยที่ดีที่สุดของเสือหลายแห่งในทวีปเอเชีย แต่ก็ไม่เคยได้เห็นเสือสักตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตามธรรมชาติแล้วเสือเป็นสัตว์ชอบเก็บตัว มันมีพละกำลังมากพอที่จะสังหารเหยื่อซึ่งหนักกว่ามันถึง 5 เท่า แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเดินผ่านพงหญ้าสูงท่วมหัว ผืนป่า หรือแม้แต่หนองน้ำได้อย่างเงียบกริบจนน่ากลัว คำพูดที่มักได้ยินจากคนที่เคยเห็นหรือรอดชีวิตจากการโจมตีของเสือก็คือ มัน “โผล่มาจากทางไหนก็ไม่รู้” แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราพบเห็นเสือได้ยากยิ่งก็คือ ถิ่นอาศัยในอุดมคติของเสือมีเสืออยู่น้อยมาก ความหายากของพวกมันได้กลายเป็นเหมือนลักษณะติดตัวแต่กำเนิดไม่ต่างจากสีสันและลวดลายอันโดดเด่น มุมมองแบบปล่อยเลยตามเลยที่ว่าเสือจะยังคงเป็นสัตว์ “หายาก” หรือ “เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลหรือยอมรับได้อีกต่อไป ในต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ เสือในธรรมชาติอาจเผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทอม แคปแลน ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรแพนเทอรา (Panthera) ที่มุ่งอนุรักษ์สัตว์วงศ์เสือและแมว กล่าวว่า “เรื่องนี้ก็เหมือนกับการตัดสินใจเวลาอยู่ในห้องฉุกเฉินนั่นแหละครับ เข้าทำนองว่านี่เป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว” ศัตรูของเสือซึ่งเป็นที่รู้กันดีได้แก่ การสูญเสียถิ่นอาศัยที่ซ้ำเติมด้วยจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นและความยากจน ซึ่งนำไปสู่การลักลอบล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อหรืออาหารในธรรมชาติของเสือ และที่น่าพรั่นพรึงที่สุดคือธุรกิจค้าชิ้นส่วนและอวัยวะต่างๆของเสือในตลาดมืดของจีน ส่วนภัยคุกคามที่ไม่ค่อยรู้กันก็คือยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ดำเนินการผิดพลาดมานับสิบๆปีและไม่สามารถปกป้องเสือได้ ปัจจุบัน ประชากรเสือซึ่งกระจายอยู่ใน 13 ประเทศทั่วเอเชียคาดว่ามีอยู่ไม่ถึง 4,000 ตัว แต่นักอนุรักษ์ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีน้อยกว่านั้นหลายร้อยตัว เมื่อนำตัวเลขนี้มาพินิจพิจารณากันอย่างจริงจัง เราจะพบว่าเสียงเตือนระดับโลก เพื่อพิทักษ์เหล่าพยัคฆ์ได้ดังขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1969 และพอถึงต้นทศวรรษ 1980 ก็ประเมินกันว่าจำนวนเสือในธรรมชาติมีอยู่ราว 8,000 ตัว ดังนั้นการออกมาป่าวร้องถึงความกังวลที่มีต่อเสือยาวนานหลายสิบปี ยังไม่ต้องพูดถึงเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐที่บุคคลและองค์กรต่างๆบริจาคด้วยความปรารถนาดี สุดท้ายกลับทำให้เสือราวครึ่งหนึ่งจากประชากรที่อยู่ใน ภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอยู่แล้วล้มตายไป ที่ผ่านมา การแสวงหาหนทางเป็นเรื่องที่ทำได้ยากท่ามกลางยุทธศาสตร์ โครงการ และความริเริ่มมากมายในการอนุรักษ์เสือซึ่งต่างแข่งกันเพื่อเป็นจุดสนใจและดึงดูดเงินทุน มหินทรา ชเรสทา อดีตผู้อำนวยการกองทุนพิทักษ์เสือ (Save the Tiger Fund) กล่าวว่า “องค์กรอนุรักษ์เสือที่มีอยู่ทั้งหมดใช้เงินรวมกันราวปีละห้าถึงหกล้านดอลลาร์สหรัฐ หลายกรณีบรรดาเอ็นจีโอกับรัฐบาลประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือก็มักทะเลาะกันเอง แผนการอนุรักษ์ระยะยาวต้องให้ความสำคัญกับทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับถิ่นอาศัยของเสือ ทั้งประชากรวัยเจริญพันธุ์หลัก เขตหวงห้ามที่ต้องรักษาไว้ถึงที่สุด ฉนวนหรือเส้นทางสำหรับสัตว์ป่า และชุมชนมนุษย์ที่อยู่รอบๆ ในโลกแห่งอุดมคตินั้น ภารกิจทุกด้านที่กล่าวมาต้องได้รับทุนสนับสนุน แต่ในความเป็นจริง องค์กรหลายแห่งต่างใช้กลยุทธ์แตกต่างกันในการทำงานแต่ละส่วน เมื่อเวลาเหลือน้อยลงทุกที เราจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆอย่างจริงจัง อัลลัส คาแรนท์ นักชีววิทยาด้านเสือที่ได้รับการนับถือที่สุดคนหนึ่งจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (World Conservation Society; WCS) กล่าวว่า “นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ผมสังเกตเห็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของภารกิจอนุรักษ์เสือ” การปรับเปลี่ยนที่มุ่งเน้นไปยังกิจกรรม การอนุรักษ์เสือ เช่น การพัฒนาเชิงนิเวศและโครงการทางสังคมต่างๆ ได้ผันเม็ดเงินและทรัพยากรไปจากภารกิจสำคัญที่สุดอย่างการปกป้องประชากรเสือวัยเจริญพันธุ์ “ถ้าภารกิจหลัดนี้ล้มเหลว เราคงลงเอยด้วยการมีถิ่นอาศัยของเสือ แต่กลับไม่มีพวกมันหลงเหลืออยู่เลย” คาแรนท์ทิ้งท้าย ประสบการณ์และความล้มเหลวหลายสิบปีอาจนำไปสู่ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์เสือที่ช่วยให้พื้นที่หรือถิ่นอาศัยต่างๆ เพิ่มจำนวนเสือได้ด้วยตัวเองหากดำเนินการตามแผนอย่างถูกต้อง สิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ คือการลาดตระเวน และเฝ้าติดตามอย่างไม่ระย่อและเป็นระบบ ทั้งจำนวนเสือและสัตว์ที่เป็นเหยื่อของพวกมัน ในแหล่งอาศัยที่ประเมินแล้วว่า มีประชากรเสือหลักซึ่งสามารถอนุรักษ์ไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ประชากรเสือเพศเมียวัยเจริญพันธุ์เพียง 5-6 ตัวอาจเพิ่มขึ้นได้ ความเป็นไปได้ที่ฉุดเสือขึ้นจากปากเหวไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ในอนาคตอันใกล้เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวตามธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยมของพวกมันเองด้วย เสือไม่จู้จี้กับอาหารการกินหรือที่อยู่อาศัย หรือต้องพึ่งพาระบบนิเวศเฉพาะอย่างแพนด้า เคยมีรายงานการพบร่องรอยของเสือบนที่สูง กว่า 4,000 เมตรในภูฏาน ความสูงระดับนี้ถือว่าคาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกับถิ่นอาศัยของเสือดาวหิมะเลยทีเดียว ขณะที่เหล่าพยัคฆ์ซึ่งอาศัยตามหนองน้ำเค็มใกล้ป่าชายเลนในบังกลาเทศและป่าซุนดาร์บันในอินเดียก็เป็นนักว่ายน้ำที่ทรงพลังและเรียนรู้ที่จะกินสัตว์ทะเลเป็นอาหาร นอกจากนี้เสือยังขยายพันธุ์ได้ดีหากโอกาสอำนวย โดยเฉลี่ยเสือเพศเมียสามารถเลี้ยงลูกได้ 6 ถึง 8 ตัวตลอดอายุขัยนาน 10 ถึง 12 ปี ซึ่งจะช่วยให้ประชากรเสือเพิ่มขึ้นได้ ในตอนนี้ภารกิจที่ไม่อาจต่อรองได้ คือการรักษาชีวิตเสือที่หลงเหลือยู่เพียงน้อยนิดเอาไว้ให้ได้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ประเทศซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเสือ 13 ประเทศเข้าร่วมการประชุมเสือโลกที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย และให้ปฏิญญาร่วมกันว่าจะ “ร่วมต่อสู้เพื่อเพิ่มประชากรเสือในธรรมชาติให้ได้อีกเท่าตัวภายในปี 2022” ก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม ปี 2010 แม่เสือและลูกน้อยสองตัวถูกวางยาในห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นเหยื่อรายแรกของการลักลอบล่าสัตว์ในรอบสี่ปี เหตุการณ์ ครั้งนั้นกระตุ้นให้รัฐบาลไทยตั้งรางวัลนำจับถึง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบหนึ่งแสนบาท ในเดือนเดียวกันนั้นเอง เสือวัยเยาว์สองตัวถูกวางยาในอุทยานแห่งชาติรานฏัมโบร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือของชาวบ้านที่สูญเสียแพะไปเพราะถูกเสือทำร้าย ขณะที่ในเวลาต่อมาลูกเสือสองตัวลืมตาดูโลก และที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหุบเขาฮูกอง ประเทศพม่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์จับภาพเสือเพศผู้ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนไว้ได้ ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การต่อสู้เพื่ออนุรักษ์เสืออาจประสบความสำเร็จได้ แต่ทุกฝ่ายต้องมีความมุ่งมั่นและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ลำพังความแน่วแน่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์อาจยังไม่เพียงพอ หากต้องอาศัยความทุ่มเทชนิดไม่มีอะไรต้องเสียอีกแล้ว

มกราคม 2555