ผู้เขียน หัวข้อ: 7 ริกเตอร์เมืองไทย:หายนะครั้งใหม่หรือภัยข่าวลือ(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1400 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พวกเขากินอยู่หลับนอนในอาคารเล็กๆ ตรงนั้น ภารกิจแข็งขัน “24 ชั่วโมงต่อวัน และ 365 วันต่อปี” ทีมเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์โยงระยางด้วยสายไฟสับสน หน้าจอผุดภาพแผนภูมิ แผนที่ กราฟ สีสันฉูดฉาด ตัวเลขสารพัน เว็บไซต์ต่างประเทศ และเฟซบุ๊คบนบางจอ คอมพิวเตอร์เหล่านี้เชื่อมต่อสถานีและเครือข่ายเตือนภัยแผ่นดินไหวทั่วโลก

ห้องเล็กติดกันค่อนข้างรกด้วยเอกสาร เจ้าของห้องคือ บุรินทร์ เวชบรรเทิง ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวสักครั้งหนึ่ง คอมพิวเตอร์ในห้องใหญ่จะป่าวเสียงเตือนลั่นอัตโนมัติ สัญชาตญาณเพียงพริบตาจะผลักให้เขาพรวดพราดมาอีกห้อง ประเมินข้อมูล ก่อนสั่งลูกน้องให้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนอย่างไม่รีรอ “แต่ยังถูกด่าเป็นประจำ หาว่าช้าบ้าง ไม่ทันการบ้างครับ”    ผอ.บุรินทร์ บ่น

หลังกำแพงราชการเงียบเชียบ หลายปีก่อนหน้านี้ แทบไม่มีใครสนใจสำนักงานเล็กๆนี้ หน้าที่ของพวกเขาคือ เฝ้าจับตาแผ่นดินไหวทั่วภูมิภาค และเตือนภัยด้วยเครื่องมือและบุคลากร (อันแร้นแค้น) แต่หลังสึนามิทางภาคใต้ในปีนั้น ความสนใจด้านแผ่นดินไหวในไทยจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งทางการเพิ่มงบประมาณ เสริมบุคลากรและเครื่องมือทันสมัย แผ่นดินไหวไม่ใช่ภัยไกลตัวอีกต่อไป และข่าวสารถี่ยิบก็ช่วยปลุกกระแสชนิดแรงไม่มีตก

โลกของเราประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นราวกับจิ๊กซอว์ (แผ่นใหญ่ 7 แผ่น และแผ่นเล็กอีกจำนวนมาก) ลึกลงไปใต้แผ่นจิ๊กซอว์เหล่านี้  คือหินหนืดหลอมเหลวร้อนระอุพร้อมแรงดันมหาศาลที่รอวันผลุดพลุ่งขึ้นมาบนพื้นผิว โดยอาศัยช่องว่างระหว่างรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ด้วยเหตุนี้ แผ่นจิ๊กซอว์จึงเคลื่อนที่ตลอดเวลา พอถึงวันดีคืนดีก็เคลื่อนเข้าปะทะ ชน เบียด ทับ หรือกดกันเอง

ผลการปะทะอาจก่อให้เกิดการคดตัวหรือรอยแตกร้าวมาถึงใจกลางแผ่นจิ๊กซอว์ นักธรณีวิทยาเรียกรอยเหล่านี้ว่า “รอยเลื่อน” วันร้ายคืนร้ายแรงปะทะนี้อาจปลดปล่อยออกมาเหมือนสปริงที่เด้งกลับ  โดยออกมาทางขอบของแผ่นเปลือกโลก (แนวมุดตัว) หรือบริเวณรอยเลื่อน พลังงานมหาศาลนี้จะบันดาลให้เกิดแผ่นดินไหวจนสะเทือนถึงใจกลางแผ่นเปลือกโลก

ความรุนแรงมีหลายระดับขึ้นอยู่กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว  ความตื้น-ลึกของจุดกำเนิด (30 - 50 กิโลเมตรจากผิวดินถือว่าตื้น และยิ่งตื้นจะยิ่งถ่ายทอดพลังงานได้มาก) ปริมาณพลังงานที่ปลดปล่อย  ระยะเวลา และทิศทางการส่งถ่ายพลังงาน บางครั้งแรงสั่นสะเทือนอาจถูกลักษณะทางธรณีดูดซับหายไปราวหยดน้ำกับฟองน้ำ บางครั้งอาจพุ่งออกไปยังทิศทางที่รกร้างผู้คน ทว่าบางครั้งก็บันดาลหายนะซึ่งหมายถึงการเขย่าพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์จนพังพินาศ

ประเทศไทยตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ขนาบด้วยแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ สถิติบ่งชี้ว่าดินแดนแถบนี้ค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ความวิปโยคครั้งรุนแรงล่าสุดบันทึกไว้ในพงศาวดารโยนกนคร เมืองโบราณในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่พินาศพังภินท์ด้วยฤทธิ์แผ่นดินไหวจนสาบสูญ นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดจากอิทธิพลของรอยเลื่อนแม่จัน แต่นั่นก็ผ่านมาแล้วเกือบ 2,000 ปี

เท่าที่สำรวจพบ กรมทรัพยากรธรณีรายงานว่ากลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 กลุ่มรอยเลื่อนตามมาตรฐานสำนักงานธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอส  รอยเลื่อนมีพลังหมายถึงรอยเลื่อนที่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 10,000 ปี

 

รอยเลื่อนมีพลังในไทยส่วนใหญ่ปรากฏตัวในแถบภาคตะวันตกและภาคเหนือ อาทิ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และศรีสวัสดิ์ที่ตกเป็นข่าวดัง รอยเลื่อนแม่จันยาวที่สุดในไทย และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและระนองที่คนปักษ์ใต้สนใจ รอยเลื่อนเหล่านี้ทอดผ่านกระจายตัวตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก จรดภาคใต้

แต่แผ่นดินไหวไม่คำนึงถึงพรมแดน  กลุ่มรอยเลื่อนในพม่า ลาว และจีนตอนใต้จำนวนมากอาจเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวขนาด 7ริกเตอร์ได้สบาย ดร.ปัญญา จารุศิริ จากภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า “เมื่อเทียบกับรอยเลื่อนขนาดยักษ์อย่างซานแอนเดรียสในอเมริกา ต้องบอกว่าในบ้านเราน่ะเด็กๆไปเลยครับ ส่วนตัวผมจึงจับตาแผ่นดินไหวใหญ่นอกประเทศมากกว่า เพราะรอยเลื่อนยาว และโอกาสเกิดแผ่นดินไหวง่ายกว่า”

               

เส้นสายบนแผนที่ดูรุงรังราวกับริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ายายแก่ม่าย เส้นเหล่านี้คือกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังรวมถึงแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรอยเลื่อนหนึ่งพาดผ่านกลางประเทศพม่าและหายไปในทะเลอันดามัน มาตราส่วนระบุว่ารอยเลื่อนนั้นยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร       อยู่ห่างชายแดนไทยกว่า 300 กิโลเมตร ระบุนามว่า “สะกาย” ตามชื่อแม่น้ำและเมืองที่อยู่บริเวณนั้น

เมื่อเทียบกับสะกาย รอยเลื่อนแม่จันซึ่งยาวที่สุดในไทย จะดูสั้นไปถนัดตา สถิติทางธรณีวิทยาบันทึกว่ารอยเลื่อนในพม่านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวระดับ 6 - 8 ริกเตอร์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ถึงตรงนี้ใครหลายคนเริ่มเป็นห่วง หนึ่งในนั้นคือดร.ปัญญา นักวิชาการจากรั้วจามจุรี “ที่เรากังวลคือแผ่นดินไหวระดับตื้นจากรอยเลื่อนนี้ ตรงนั้นหรือ ขนาด 5 หรือ 6 ริกเตอร์สบายมากครับ ที่น่ากลัวกว่านั้น คือพลังงานอาจมาถึงเชียงใหม่หรือกรุงเทพฯได้”

                “เป็นไปได้ไหม…” แทนที่จะยิงคำถามที่พอจะเดาคำตอบได้ ผมกลับชวนคุยเรื่องผลกระทบที่อาจตามมา “ผมสงสัยว่าแผ่นดินไหวตรงนั้นจะกระทบรอยเลื่อนเล็กๆของเราไหม คำตอบของผมคือเป็นไปได้ จำสึนามิทางใต้ได้ไหมครับ หลังจากครั้งนั้น รอยเลื่อนระนองกับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยก็มีปัญหา อย่างน้อยตอนนี้แรงดันน้ำใต้ดินก็เปลี่ยนไป น้ำไปกัดเซาะโพรงหินปูน ผลหรือครับ ก็หลุมยุบกับโพรงหินปูนเต็มไปหมดไงครับ”          ดร.ปัญญาสาธยาย

การถ่ายทอดพลังงานแผ่นดินไหวเปรียบเสมือนการเคาะระฆัง  เสียงกังสดาลของมันอาจแหวกผ่านอากาศไปแค่หลักสิบเมตร หรือไกลเป็นกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับแรงของผู้เคาะระฆัง วิชาวิทยาศาสตร์สมัยประถมสอนเราว่า คลื่นสะเทือนสามารถเดินทางได้ดีในของแข็ง  เพราะเหตุนี้แผ่นดินจึงเป็นพาหะแสนวิเศษ และเป็นคำตอบว่า          เหตุใดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร             เราจึงสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้

 

ทว่าแผ่นดินไหวมิได้คร่าชีวิตมนุษย์โดยตรง บทเรียนจากแผ่นดินไหวคือ อาคารบ้านเรือนของเราไม่แข็งแรงพอ และถูกทำลายลงโดยแรงสะเทือน จากนั้นอิฐหินดินเหล็กนับตันๆ ก็กรูเกรียวร่วงลงมาทับร่างผู้เคราะห์ร้ายสิ่งที่วิศวกรโครงสร้างสนใจและให้ความสำคัญคือ  แรงสะเทือนไม่ว่าจะ 5 หรือ 7 ริกเตอร์จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อเดินทางมาถึงสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งปลูกสร้างของพวกเขารับได้มากน้อยเพียงใด

โดยทั่วไปแล้ว อาคารสูง (ส่วนใหญ่) สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีในระดับหนึ่ง  ด้วยการออกแบบอย่างพิถีพิถัน  โครงสร้างตอกเสาลึกลงไปใต้ดิน และคำนึงถึงการเอนตัวจากแรงลมพัด แม้จะรับรู้แรงสะเทือนได้ก่อนเพื่อน (เนื่องจากโมเมนตัมสูง)

แต่นักวิชาการกลับเป็นห่วงสิ่งปลูกสร้างจำพวกทาวน์เฮ้าส์  สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก และอาคารบางประเภทที่ก่อสร้างด้วยมาตรฐานตึกแถว อีกจำพวกหนึ่งคืออาคารเก่าแก่หรือโบราณสถาน โครงสร้างยวบยาบร้าวระบมง่ายและอาจรับแรงสะเทือนรุนแรงไม่ไหว

รัฐบาลมีแผนรับมืออย่างไร ความพยายามล่าสุดคือกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหว ปรับปรุงใหม่เมื่อ ปี พ.ศ. 2550 เนื้อหาควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่า 15 เมตรขึ้นไป รวมถึงอาคารสาธารณะจำพวกโรงเรียน โรงมหรสพ โรงแรม โรงพยาบาล และอาคารเก็บวัตถุอันตราย ครอบคลุมจังหวัดทางภาคเหนือ ตะวันตก และพื้นที่ดินอ่อนอย่างกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และนนทบุรี

                แต่กฎกระทรวงยังมีช่องโหว่  นอกจากจะไม่ครอบคลุมอาคารขนาดเล็ก และอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี พ.ศ. 2549 แล้ว ข้อบังคับนี้ยังเจาะจงนิยามเพียง “อาคาร” โดยไม่รวมถึงอุโมงค์ สะพาน เขื่อน ตอม่อ และโครงสร้างประดิษฐ์อื่นๆ

 

เช้าวันนั้นที่อันดามัน 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 พวกเราหลายคนยังหลับใหล  คลื่นน้ำยักษ์สูงกว่า 30 เมตรถาโถมเข้าสู่ฝั่ง จากนั้นพวกเราก็ไม่ตื่นอีกเลย เรานิยามปรากฏการณ์นั้นว่า “สึนามิ”

แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ที่ความลึกราว 30 กิโลเมตรใต้พื้นสมุทรนอกชายฝั่งตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย  ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาในรูปคลื่นยักษ์  มันเคลื่อนตัวไปทุกทิศทางด้วยความเร็วพอๆกับเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต เมื่อเดินทางมาถึงชายฝั่ง ระดับความลึกและภูมิประเทศของท้องน้ำแถบนั้นจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของคลื่น มันอาจสูงนับสิบเมตร หรือสลายพลังงานไประหว่างทาง แต่หากทุกอย่างประจวบเหมาะ คลื่นน้ำจะม้วนตัวเข้ากระแทกกระทั้นชายฝั่งและกวาดกินทุกอย่างที่ขวางหน้า

หลังสึนามิปีนั้น แวดวงธรณีวิทยาของไทยเบนความสนใจไปยังแนวมุดตัวอันดามัน รอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดีย–ออสเตรเลีย และยูเรเชียมากขึ้น       แต่นี่ไม่ใช่สึนามิครั้งแรกในแถบนี้         การสำรวจตะกอนสึนามิโบราณบนเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ภายใต้การนำของ ดร.มนตรี ชูวงศ์จากภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสำรวจจากต่างประเทศ เผยว่า เมื่อราว 600 ปีก่อน เคยเกิดสึนามิที่ชายฝั่งแถบนี้มาแล้ว เป็นไปได้ว่าสึนามิคือแขกประจำของภูมิภาคนี้

แล้วสึนามิในอ่าวไทยเล่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด นักธรณีวิทยาจับตาแผ่นดินไหวทางฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ และเป็นไปได้ว่าอาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน  ทว่าลักษณะทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยที่แตกต่างจากฝั่งอันดามันอาจส่งผลให้พิบัติภัยไม่รุนแรงอย่างที่    (คนขายข่าวต้องการ) คาด      ประการแรกคือไทยอยู่ในเขตที่คลื่นจะเดินทางมาถึงช้า และมีเวียดนามเป็นปราการด่านแรก  ประการที่สองคือระดับความลึกของอ่าวไทยซึ่งเฉลี่ยเพียง 45 เมตร ทำให้การก่อตัวของเกลียวคลื่นยักษ์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากพื้นทะเลดูดซับพลังงานคลื่นยักษ์ไปจนหมด และเมื่อเดินทางมาถึงฝั่งขนาดความสูงอาจลดลงเหลือเพียง        1-3 เมตรเท่านั้น ถึงตอนนั้นก็ไม่สมศักดิ์ศรีคำว่า “ยักษ์” อีกต่อไป

 

ขั้วความคิดเรื่องแผ่นดินไหวในไทยที่แตกต่างกันคือ ความเป็นไปได้ของผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากหรือน้อย เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้  ในประเทศหรือนอกประเทศ กระนั้นเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง พ่อค้าข่าวจะตีข่าวนี้ให้เราฟัง บนเฟซบุ๊คจะถกกันเรื่องนี้  นักวิชาการจะจัดสัมนา และพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ควรจะต้องใช้ตัวอักษรใหญ่พอสมควร นักวิชาการหลายคนเห็นตรงกันว่า  ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าเราสามารถการันตีได้หรือไม่ โอกาสแม้จะถือว่าน้อย แต่ก็เกิดขึ้นได้เสมอ เราตื่นตัวได้ แต่ไม่ควรตื่นกลัว   ที่สำคัญคือการก่อสร้างอาคารต่างหากที่ควรเคร่งครัดตามกฎหมาย

                ขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์กำลังวิ่งตามให้ทันแผ่นดินไหว นักธรณีวิทยาขุดร่องสำรวจเพื่อสำรวจรอยเลื่อนหาอายุของแผ่นดินไหวโบราณเพื่อพยากรณ์ว่าแผ่นดินไหวจะกลับมาอีกครั้งเมื่อใด พวกเขาจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของบ่อน้ำพุร้อน ติดตั้ง GPS วัดอัตราการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมของสัตว์ วิศวกรออกแบบโครงสร้างและเลือกใช้ข้อต่อรับแรงสั่นสะเทือน ศูนย์เตือนภัยเชื่อมต่อเครือข่ายกับดาวเทียมและทุ่นระดับน้ำกลางทะเล และหน่วยป้องกันภัยต่างๆก็พยายามสอนให้คนไทยเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหว

                กระนั้นแผ่นดินไหวก็ยังคงลึกลับ และวิทยาการของเรายังคงห่างไกลจากธรรมชาติอีกหลายขุม

ตุลาคม 2554