ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤตเด็กไทยอ้วน รอบ ร.ร.ขายอาหารขยะ ครูแอบขายน้ำอัดลม ข้าวกลางวันผักน้อย  (อ่าน 691 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
 สำรวจร้านอาหารรอบโรงเรียน 4 จังหวัด 4 ภาค พบขายอาหารทำลายสุขภาพ ขนมกรุบกรอบ ของทอด อาหารขยะ ร้านผลไม้มีน้อยถึงแทบไม่มี บางโรงยิ่งหนักครูแอบขายน้ำอัดลมเอง ชี้ โครงการอาหารกลางวันผักน้อย จี้ ยกเครื่องระดับประเทศแก้ปัญหาเด็กอ้วน อบรมโภชนาการครู - คนประกอบอาหาร ขึ้นภาษีอาหารทำลายสุขภาพ
       
       ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เด็กไทยมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น และพบผู้ป่วยเบาหวานในกลุ่มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยอายุ 15 - 16 ปี ก็เริ่มเป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าน้ำหนักเกินกับภาวะอ้วนมีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร ทั้งนี้ จากการสำรวจการขายอาหารรอบโรงเรียนระยะ 100 เมตร ในโรงเรียนทุกระดับของ จ.เชียงใหม่ 100 แห่ง นนทบุรี 54 แห่ง อุบลราชธานี 100 แห่ง และสงขลา 100 แห่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า มีการขายอาหารที่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพ ทั้งขนมกรุบกรอบ ของทอด อาหารขยะ เป็นต้น ส่วนร้านผลไม้ที่ควรจัดให้มีการจำหน่ายมากที่สุด กลับพบว่ามีไม่ถึงร้อยละ 5 บางโรงเรียนไม่พบว่ามีการจำหน่ายเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐมีนโยบายห้ามจำหน่ายน้ำหวาน น้ำอัดลมในโรงเรียน แต่กลับพบว่าครูเป็นคนแอบเอามาขายให้นักเรียนเอง
       
       ดร.กิตติ กล่าวว่า ส่วนโครงการอาหารกลางวัน จากการสังเกตด้วยสายตา พบว่า ผักไม่เพียงพอ บางครั้งไม่มีผลไม้ เพราะอาหารที่ทำทำเป็นหม้อใหญ่ บางวันมีกับข้าวอย่างเดียว หากเงินเหลือก็จะมีกับข้าว 2 อย่างในบางวัน ซึ่งไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่อยากให้มีการวางแผนก่อนจ่ายตลาด ดูว่าทั้งสัปดาห์ นั้นเฉลี่ยแล้วได้สารอาหารครบหรือไม่ หากไม่มีอาหารบางประเภทจะมีอะไรทดแทนได้หรือไม่ นี่คือ หลักการโภชนาการอาหารกลางวันสำหรับเด็ก ดังนั้น อยากให้มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการให้ครู และผู้ประกอบอาหารของโรงเรียน เพราะทุกวันนี้เด็กไม่ยอมรับประทานอาหารของโรงเรียน บางคนที่รับประทานก็บอกว่าไม่อิ่ม ไม่อร่อย ทำให้ต้องไปซื้ออาหารขยะ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มารับประทานข้างโรงเรียนมารับประทาน
       
       “หลายโรงเรียนพยายามแก้ปัญหา แต่จะไปหักดิบโดยการห้ามขายเลยก็ไม่ได้ เรามองว่าควรมีการจัดการในระดับท้องถิ่น ไปถึงระดับประเทศ ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กไม่ได้ เช่น ปัจจุบันมีแนวคิดการเพิ่มภาษีน้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการขึ้นภาษีอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และให้อาหารเพื่อสุขภาพราคาถูกลง เพื่อให้คนหันมาทานอาหารเหล่านี้มากขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น อย่างโรงเรียนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผู้ปกครองรวมตัวกันกดดันจนเปลี่ยนร้านขายลูกชิ้นทอด มาเป็นลูกชิ้นนึ่งแทน และให้มีการขายผลไม้มากขึ้นนี่คือพลัง ดังนั้น อยากให้ผู้ปกครองพิจารณาการขายอาหารรอบ ๆ โรงเรียนก่อนตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียนใด ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในการป้องกันโรคอ้วน น้ำหนักเกิน เพราะถ้าโรงเรียนดูแลเรื่องอาหารไม่ดี ลูกก็จะสะสมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก” ดร.กิตติ กล่าว

 MGR Online       7 มิถุนายน 2559