ผู้เขียน หัวข้อ: วัยโจ๋เจอคู่รักซาดิสต์ ทำร้ายร่างกาย 74% จี้ พม.แก้ปัญหารุนแรง  (อ่าน 745 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
 เปิดสถิติความรุนแรงคู่รักวัยรุ่น พบทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว ตั้งครรภ์ไม่พร้อม นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนและทวีความรุนแรง จี้ พม. ทำงานเร่งด่วนเชิงรุกแก้ปัญหา
   
        วันนี้ (17 พ.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย เครือข่ายสตรี นักเรียน นักศึกษาจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เพื่อเรียกร้องให้ พม. กำหนดกลไกป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น พร้อมทั้งขอให้ทำงานเชิงรุก และเปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษาหลากหลาย
       
       นายจะเด็จ กล่าวว่า มูลนิธิฯร่วมกับเครือข่ายเยาวชนฯได้ลงพื้นที่สำรวจ “สถานการณ์ความรุนแรงในคู่รักวัยรุ่น” โดยสำรวจเยาวชนหญิงอายุระหว่าง 17 - 25 ปี จำนวน 1,204 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเผชิญสถานการณ์ความรุนแรงจากคู่รัก อาทิ ทำลายข้าวของ 75% ทำร้ายร่างกาย 74% กักขังหน่วงเหนี่ยว 71.6% การตั้งครรภ์ไม่พร้อม 68.8% เป็นต้น และจากการสอบถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา พบว่า ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงจากคู่รักต้องการขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 เพียง 29.1% ขณะที่ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่าง เสนอให้ พม. มีช่องทางการให้คำปรึกษาหลากหลายช่องทาง 22.6% สถานศึกษามีศูนย์ให้คำปรึกษาที่เข้าใจ/เข้าถึงได้ง่าย 22.4% เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตมีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที 21.9% หน่วยงานราชการควรสนับสนุนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น 17.1% และจัดทำหลักสูตรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา 16%
       
       นายจะเด็จ กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่ปี 2542 กำหนดให้เดือน พ.ย. เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง มูลนิธิฯจึงร่วมกับเครือข่ายเยาวชนฯเก็บรวบรวมสถานการณ์ปัญหาและมีข้อเสนอดังนี้

1. สายด่วน 1300 ได้เป็นที่รู้จักของประชาชน ควรมีระบบรองรับในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว เร่งด่วน ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ รวมถึงควรมีบุคลากรที่เป็นข้าราชการประจำ โดยอยู่ในโครงสร้างของสำนักปลัดกระทรวง ให้เป็นองค์กรหลักซึ่งสามารถบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประสบปัญหา อีกทั้งควรจัดระบบการให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
       
2. สนับสนุนเครือข่ายเยาวชนฯให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือกันเองในระดับเบื้องต้นในการเผชิญปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นการทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในสถานบันการศึกษาและนอกสถาบันการศึกษา และ

3. ควรบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรทักษะชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่น โดยเน้นประเด็นการเคารพสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมถึงการจัดระบบการแนะแนวในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา เพื่อให้มีกลไกการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือกับนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาความรุนแรงของคู่รักในวัยรุ่นอย่างเข้าใจและเป็นมิตร

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 พฤศจิกายน 2557