ผู้เขียน หัวข้อ: ปริศนาแห่งภพภูมิของชาวมายา-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 994 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เผยความลี้ลับและความเกี่ยวโยงอันน่าอัศจรรย์ของดวงอาทิตย์ หลุมยุบ พีระมิด ปฏิทินและความเชื่อเรื่องภพภูมิของชาวมายาโบราณ

               ริมทุ่งข้าวโพดเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้ซากปรักนครชีเชนอิตซาของชาวมายาโบราณ เสียงใครคนหนึ่งดังก้องขึ้นมาถึงปากหลุมว่า “เห็นแล้ว! เห็นแล้ว! มีอยู่จริงๆด้วย!”

               กีเยร์โม เด อันดา นักโบราณคดีใต้น้ำ ชะโงกอยู่เหนือปากหลุม “มีอะไรอยู่จริงๆหรือ อาร์ตูโร” อาร์ตูโร มอนเตโร เพื่อนนักโบราณคดีที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ ตะโกนขึ้นมาอีกครั้งว่า “แสงอาทิตย์ที่โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้าไงล่ะ มีจริงๆด้วย! ลงมาดูเร็ว!”

               สิ่งที่เด อันดา รอให้มอนเตโรฟันธงคือเรื่องที่ว่า หลุมยุบหรือเซโนเต (cenote) ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาแดดและ เครื่องบอกเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายาโบราณในวันที่ 23 พฤษภาคม และ 19 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้า (zenith sun) จริงหรือไม่ ในสองวันนี้ ดวงอาทิตย์จะอยู่ในแนวตั้งฉากเหนือศีรษะพอดี จึงไม่เกิดเงา หลุมยุบแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบันไดหลักของเอลกัสตีโย พีระมิดศูนย์กลางอันขึ้นชื่อของนครชีเชนอิตซา และอยู่ภายในรัศมีเขตเมืองของนครลึกลับแห่งนี้ด้วย

               เมื่อหลายร้อยปีก่อน จริงหรือที่เหล่านักบวชชาวมายาเฝ้ารออยู่ ณ หลุมยุบแห่งนี้เพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ที่โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้า พวกเขามาที่นี่ยามฝนแล้งเพื่อถวายเครื่องเซ่นสรวง และหวนกลับมาแสดงความขอบคุณเมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลได้มากมายใช่หรือไม่ ชาวมายาเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้คือที่ที่ดวงอาทิตย์บรรจบกับสายน้ำและบันดาลให้เกิดชีวิตกระนั้นหรือ คำถามเหล่านี้และคำถามอื่นๆเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ระหว่างชาวมายากับทวยเทพที่นับถือ นครศักดิ์สิทธิ์ และปฏิทินที่เที่ยงตรงของพวกเขา  คือสิ่งที่นักโบราณคดีทั้งสองกำลังหาคำตอบ

               ใต้ปากหลุมยุบแคบๆ ผนังกลับแผ่กว้างจนดูคล้ายโดมขนาดมหึมา ปากทางลงขนาดเล็กที่ปรับแต่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าน่าจะเป็นการจำลองจักรวาลสี่มุมของชาวมายา  ลำแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านปากทางลงมาเต้นระริกราวกับเปลวไฟอยู่บนลวดลายละเอียดอ่อนของหินย้อยรายรอบ  ขอบน้ำที่ต้องแสงอาทิตย์ดูสว่างวาบขึ้นมา ใต้ผิวน้ำที่เคยมืดมิดกลับกลายเป็นผืนน้ำใสกระจ่างสีฟ้าอมเขียว แสงอาทิตย์ส่องลงมาเกือบเป็นแนวตั้งฉากจนพอจะนึกภาพออกว่า  ในช่วงที่ดวงอาทิตย์โคจรถึงจุดจอมฟ้าเมื่อวานนี้ ลำแสงจะต้องพุ่งตรงลงสู่แผ่นน้ำเป็นแน่ ต่อให้ไม่ใช่ชาวมายาก็อดอัศจรรย์ใจกับปรากฏการณ์นี้ไม่ได้

               ตามคติความเชื่อของชาวมายาโบราณแห่งคาบสมุทรยูกาตาน นักโบราณคดีทราบกันมานานแล้วว่า ชาวมายาถือว่าเถื่อนถ้ำและหลุมยุบคือประตูสู่ภพภูมิอื่นอันเป็นที่สถิตของพิรุณเทพผู้ประทานชีวิต แต่พวกเขาเพิ่งเข้าใจผลของ คติความเชื่อดังกล่าวที่มีต่อสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง

               เมื่อปี 2010 เด อันดา ผู้ผ่านการดำน้ำในหลุมยุบมาแล้วกว่าสิบแห่ง  เริ่มสำรวจหลุมยุบออลตุน ขณะสำรวจ ผนังหลุมยุบลึกลงไปไม่กี่เมตรจากผิวน้ำ เด อันดาโผล่ขึ้นมาจากแอ่งเล็กๆแล้วคลำเจอชะง่อนหินอยู่เหนือศีรษะ เขารู้สึกแปลกใจที่หิ้งหินตามธรรมชาตินี้มีเครื่องเซ่นสรวงวางอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกะโหลกมนุษย์ เครื่องปั้นดินเผา กะโหลกสุนัข กระดูกกวาง หรือมีดสองคมซึ่งอาจใช้ในพิธีบูชายัญ ทั้งหมดวางอยู่อย่างเป็นระเบียบมาหลายร้อยปีแล้ว แสงไฟฉายคาดศีรษะของเขาส่องตรงลงไปในความลึกของหลุมยุบ เผยให้เห็นเสาหักๆ รูปสลักเสือจากัวร์ในร่างมนุษย์ และรูปสลักคล้ายมนุษย์ศิลาตัวเล็กๆที่พบในวิหารแห่งนักรบที่นครชีเชนอิตซา เห็นได้ชัดว่า หลุมยุบแห่งนี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

                ขณะนี้ สามปีให้หลัง เด อันดากับมอนเตโรไม่เพียงค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างดวงอาทิตย์ที่โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้า กับหลุมยุบออลตุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทของดวงอาทิตย์ที่โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้ากับหลุมยุบที่สัมพันธ์กับการจัดวางตำแหน่งและทิศทางของพีระมิดเอลกัสตีโยในนครชีเชนอิตซาอีกด้วย

               ในการคำนวณหรือปรับแต่งปฏิทินให้มีความแม่นยำ ชาวมายาต้องกำหนดวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับศีรษะพอดีในแต่ละปี มอนเตโรกับเด อันดาคาดว่า นักดาราศาสตร์ชาวมายาคงเฝ้ารออยู่ในหลุมยุบออลตุน เพื่อรอเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ ณ จุดจอมฟ้า ซึ่งมีเพียงสองวันในแต่ละปี และเป็นวันที่ลำแสงอาทิตย์ตั้งฉากพุ่งลงสู่ผืนน้ำโดยไม่สะท้อนกลับไปที่เพดาน

               ชาวมายาถือว่าดาราศาสตร์เป็นกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง เด อันดาและมอนเตโรคิดว่า นอกจากออลตุนแล้วยังอาจมีหลุบยุบอื่นๆที่มีส่วนสำคัญในการวางผังเมือง หลุมยุบศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Cenote) อยู่ทางทิศเหนือของพีระมิดเอลกัสตีโย ขณะที่หลุมยุบอีกสองแห่งอยู่ทางทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของพีระมิด ส่วนหลุมยุบออลตุนอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพีระมิดพอดี ทั้งหมดนี้น่าจะประกอบกันเป็นสัณฐานรูปเพชร ซึ่งช่วยให้ชาวอิตซากำหนดได้ว่าจะสร้างนครศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ณ ตำแหน่งใด และจะหันพีระมิดประธานไปทางทิศใด ถ้าผลการศึกษาเพิ่มเติมสนับสนุนแนวคิดนี้ เราก็จะเข้าใจพิกัดสำคัญที่สุดในการวางผังเมืองชีเชนอิตซาโดยรวม

เรื่องโดย อัลมา กีเยร์โมปรีเอโต
สิงหาคม