ผู้เขียน หัวข้อ: "ช้างเผือก" สัตว์ยอดเรือธง​สะกิดกระแสอนุรักษ์  (อ่าน 993 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
ข่าวการพบช้างเผือกกำลังอยู่ในกระแส แม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจะเข้าตำราคชลักษณ์หรือไม่ แต่หากช้างเผือกเป็นสัตว์พิเศษเป็นไปได้ไหมที่กลายจะเป็นยอดเป็นเรือธงชักนำทางการจัดการความรู้และการมีส่วนร่วมของสังคมให้การอนุรักษ์ช้างป่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น?
       
       ช้างเผือกเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตและความเชื่อของคนไทย ในพุทธศาสนาช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญและกำเนิดอันบริสุทธิ์เพราะพระนางสิริมหามายาทรงสุบินถึงช้างเผือกก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงประสูติ ในคติฮินดูช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์คู่บารมีของกษัตราธิราช ความเชื่อเหล่านี้ทำให้ช้างเผือกเป็นเสมือนตัวแทนพระราชอำนาจของกษัตริย์ในดินแดนสุพรรณภูมิมาตั้งแต่โบราณ
       
       ตามพรบ.รักษาช้างป่า พ.ศ.2464 ซึ่งตราในสมัยร. 6 ไม่ได้ทรงระบุชื่อ “ช้างเผือก” แต่ทรงเรียกช้างที่มีลักษณะพิเศษว่า ช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด และช้างเนียม ซึ่งมีลักษณะหรือคชลักษณ์ต่างกันไป แต่ในทางชีววิทยา ช้างสีประหลาด หรือช้างเผือกถือเป็นความพิเศษด้านพันธุกรรมที่เกิดจากอัลลีลด้อยหรือยีนส์ด้อยที่ส่งผลให้ไม่มีเอมไซน์เมลาโนไซท์ ไทโรซิเนส (melamocyte tyrosinase) ไปเปลี่ยนสารไทโรซินให้กลายเป็นเมลานินหรือขาดการสร้างเม็ดสี เรียกว่าการเกิดภาวะผิวเผือก (Albinism)
       
       หากเกิดภาวะเผือกแบบสมบูรณ์ (Complete Albinism) ช้างตัวนั้นจะมีผิวขาวอมชมพู มีเส้นขนและเล็บขาว และไม่มีเม็ดสีในม่านตาจนสะท้อนมาเห็นเป็นตาสีแดงทับทิม (เหมือนหนูและกระต่ายในห้องทดลอง) แต่ช้างเผือกส่วนใหญ่ที่พบในไทย พม่า และศรีลังกามักเป็นช้างเผือกแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete Albinism) จึงมักมีสีตัวที่อ่อนกว่าช้างทั่วไป เล็บขาว ขนขาว และมีม่านตาเป็นสีฟ้าหรือสีเทาเพราะม่านตายังพอจะมีเม็ดสีกรองแสงไว้บ้าง
       
       การเกิดสีเผือกในสัตว์บางครั้งอาจจะไม่ได้เกิดจากยีนส์เผือกเพียงอย่างเดียว ในวาฬเพชฆาตที่ถูกนำมาจัดแสดงตัวหนึ่งเป็นโรค Chediak-Higashi Syndrome คล้ายในคนทำให้ผิวเปลี่ยนสีขาวโพลนทั้งตัวโดนไม่ทราบสาเหตุและรักษาไม่หาย
       
       ว่ากันว่าสัดส่วนของสัตว์เผือกที่เกิดจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติอาจจะมีสัดส่วนให้เห็นมากสุดราว 1 % ของประชากร สอดคล้องกับทฤษฏีสมดุลประชากรที่ระบุว่าอัลลีลด้อยหรือยีนส์ด้อยที่ควบคุมลักษณะหนึ่งๆ จะมีการถ่ายโอนไปมาระหว่างประชากรและจะเริ่มเห็นการแสดงออกเพิ่มขึ้นหากมีประชากรลดน้อยลง หรือถูกจำกัดพื้นที่อาศัย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเกิดผสมเลือดชิด (inbreeding)
       
       อีกนัยหนึ่งก็อาจสื่อถึงสัญญาณอันตรายต่อความหลากหลายของยีนในประชากร โดยสัตว์เผือกเองก็มักมีปัญหาในการดำรงชีวิต เช่น ไม่สามารถพรางตัวได้ หรือมักมีโรคเกี่ยวดวงตาและผิวหนังที่มีเม็ดสีเพื่อกรองแสงน้อย ทำให้มีอายุสั้นหรือรอดจากผู้ล่าได้ยาก แต่ในทางกลับกันหากพวกมันหรือพ่อแม่ที่มียีนด้อยแฝงอยู่ ยังรักษาชีวิตให้อยู่รอดได้ หรือมีเสน่ห์พอจะหาคู่ผลิตลูกหลาน ลักษณะด้อยนั้นก็จะยังคงปรากฏให้พบเห็นปะปนในประชากรส่วนใหญ่ เช่น วาฬหลังคร่อมในออสเตรเลียซึ่งมีวาฬสีเผือก 10-15 ตัวจากประชากรราว 15,000 ตัว
       
       ช้างเผือกก็อาจจะเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มักจะพบว่ามีช้างโตเต็มวัยและลูกช้างเผือกเกิดในธรรมชาติมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งอาจจะเป็นสัญลักษณ์ทั้งสองด้านคือประชากรช้างในบางกลุ่มอาจจะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ จนเกิดช้างเผือกซึ่งเป็นลักษณะด้อยมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือในกลุ่มประชากรนั้นยอมรับช้างเผือกเท่าเทียมกับช้างปกติจึงยังสามารถสืบสายพันธุ์สีประหลาดของตนเองได้
       
       เนื่องจากประชากรช้างกลุ่มใหญ่ที่ถูกแยกออกจากกันไป จากการตั้งรกรากของคนในสุพรรณภูมิต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงทำให้ลักษณะการเกิดช้างเผือกอาจจะมีความแปรผันเฉพาะตัวตามกลุ่มประชากร ทำให้ตำราคชลักษณ์ของไทย พม่า และลาวจึงมองช้างเผือกแตกต่างกันไปด้วย

ช้างเผือกในพม่า ตอนนี้ที่ออกสื่ออย่างเปิดเผยมี 8 ช้าง อยู่ที่ย่างกุ้ง 3 ช้าง และเนปิตอร์ 5 ช้าง

       แม้บางคนจะมองว่าช้างเผือกเป็นเพียงสัตว์ที่มีเม็ดสีผิดปกติแต่ช้างเผือกก็ของสูงค่าเป็นที่ต้องการมาแต่โบราณ และศาสตร์ของการเลี้ยงดูช้างเผือกก็ถือเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมในชาวเอเชียเท่านั้น เพราะช้างเผือกเคยทำให้ฝรั่งเข็ดขยาดอย่างหนักมาตั้งแต่สมัย ศตวรรษที่ 15 เมื่อโปรตุเกตนำช้างเผือกจากสยามและอินเดียขึ้นเรือรอนแรมไปถวายกษัตริย์และสมเด็จพระสังคราช แต่ถึงมีค่าเพียงใดด้วยที่ฝรั่งไม่รู้วิธีเลี้ยงทำให้สุดท้ายก็รักษาช้างเผือกไว้ไม่ได้
       
       แม้ภายหลังที่อังกฤษตีพม่าสำเร็จแล้วนำช้างเผือกพร้อมควาญไปโชว์ตัวในสวนสัตว์ลอนดอนก็เลี้ยงได้ไม่นานเพราะอากาศหนาว จนเกิดสำนวนฝรั่งเชิงประชดประชันว่า “white elephant” คือ “ของมีค่าแต่ยากเกินจะดูแลรักษาจนเหมือนของที่ไม่มีประโยชน์ต่อการลงทุน” แต่ในปัจจุบันแม้แต่ในสายตาฝรั่ง ช้างเผือกก็ยังเป็นของแปลก หายาก และที่สำคัญคือมีทั้งคุณค่าและมูลค่าในตนเอง
       
       การจัดการช้างเผือกที่พบในธรรมชาติมีความแตกต่างกัน ตามความเชื่อและกฏหมายของแต่ละประเทศ ในประเทศไทยตาม พรบ.รักษาช้างป่า พ.ศ.2464 ได้ระบุให้ผู้พบเห็นช้างสำคัญ หรือช้างสีประหลาดที่จับได้หรือตกลูกให้เป็นสมบัติของแผ่นดินห้ามมิให้โอนกรรมสิทธิ์ แม้จะมีพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 มาบังคับใช้เกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองสัตว์ป่าเพิ่มเติม ก็ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิม
       
       ส่วนในประเทศพม่าได้มีการรวบรวมช้างเผือกในธรรมชาติครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาและช้างเผือกส่วนมากมักคล้องได้จากกลุ่มประชากรใกล้พรมแดนบังคลาเทศในรัฐยะไข่ และตอนนี้ถูกรักษาไว้ในกรุงเนปิตอร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความก้าวหน้าและโชคดีของพม่ายุคใหม่ มีหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และดูเหมือนรัฐบาลพม่าก็วางแผนการขยายพันธุ์ช้างเผือกด้วยเช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตช้างเผือกพม่าอาจมีค่าทางการทูตเหมือนแพนด้าจีนก็เป็นได้
       
       ส่วนในศรีลังกาก็พบช้างเผือกปะปนในฝูงช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติยาลา แต่หากข้ามไปดูประชากรช้างแอฟริกากลับพบช้างเผือกได้ยากกว่าช้างเอเชีย เพราะในสภาพธรรมชาติที่เป็นทุ่งโล่งการเกิดมามีตัวสีขาวสว่างถือเป็นอัตรายล่อตาล่อใจให้สิงโต และหมาไนให้น้ำลายไหลได้ง่ายกว่า แต่ก็มีการรายงานการพบลูกช้างเผือกตัวสีชมพูสดใส 1 ตัวจากกล้องดักถ่ายในบอสซาวาน่า และอีก 1 ตัวในประเทศแอฟริกาใต้
       
       แต่ไม่ว่าจะเป็นช้างป่าหรือช้างสีประหลาดก็มีความเท่าเทียมกันในเรื่องของบทบาททางนิเวศวิทยาที่มีความสามารถในการเบิกนำฝูงสัตว์ให้มีแหล่งอาหารใหม่ๆ การกระจายเมล็ดพันธุ์พืช การเปิดพื้นที่ในทุ่งหรือการเปิดหน้าดินโป่งให้เกิดแหล่งแร่ธาตุเสริมชีวิต จนได้ชื่อว่าเป็น “Umbrella specie” หรือ “ชนิดพันธุ์ผู้เป็นร่มเงา” ให้กับสัตว์อื่นได้พึ่งพิง
       
       เมื่อมองด้วยกรอบคิดด้านการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าถูกจัดเป็น “Flagship species” หรือ “ชนิดพันธุ์เรือธง” ที่ใครๆ ก็ให้ความสนใจ ดังนั้นการพบช้างเผือกในป่าจึงเหมือนกับการพบ “super flagship” หรือ “ยอดเรือธง” ที่น่าจะสามารถนำพาความสนใจให้มองมาที่จุดเดียวได้ไม่ยาก
       
       หรือแม้แต่การจัดการอนุรักษ์แบบใหม่ที่ผสานพฤติกรรมการใช้พื้นที่อาศัย คุณค่าทางการอนุรักษ์ และคุณค่าทางวัฒนธรรมตามกรอบคิดที่เรียกว่า “landscape species” หรือ “ ชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า” ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักมนุษศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน แต่สุดท้ายการใช้ประโยชน์จากความสนใจ และมุมมองของคนในสังคมอาจที่เป็นเรื่องน่าขบคิดเพื่อวิธีการจัดการช้างเผือกและช้างป่าให้ดีที่สุด

       นายปรี๊ดจึงขอสะกิดให้ทุกท่านลองวางใจให้เป็นกลาง ช่วยกันมองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อจัดการ “ช้างพิเศษและผองเพื่อน” อย่างสร้างสรรค์ เผื่อฮีโร่ช้างเผือกจะได้กลายเป็นซูเปอร์ช้าง ขยายผลไปสู่การอนุรักษ์เพื่อนช้างป่าตัวอื่น ๆ ให้ได้ชูงวงร้องดีใจกันได้บ้าง
       
       1.) ช้างเผือกอาจใช้เป็นเรือธงของการศึกษาและวิจัย ในระหว่างที่เรารอลุ้นว่าช้างสีประหลาดที่พบจะมีลักษณะต้องตามคชลักษณ์จนได้ขึ้นเป็นช้างสำคัญหรือไม่ สื่อทุกแขนงและคนทั่วไปแสดงความสนใจช้างเผือกกันอย่างคึกคัก แต่คำถามก็คือเราได้จะใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจ และจัดการองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับช้างเผือก ทั้งในด้านการอนุรักษ์ สังคม วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ได้มากขนาดไหน?
       
       ในชั้นเรียนเด็กไทยรู้หรือไม่ว่าช้างเผือกในทางชีววิทยาและช้างสำคัญตามตำราคชรักษ์ต่างกันตรงไหน? ช้างเผือกมีความสำคัญเพียงไหนในสังคมไทย? หากสนใจเรื่องช้างเผือกเราจะพาลูกหลานไปศึกษา หรือดูของจริงได้จากที่ไหน? หากท่านเองยังตอบคำถามเหล่าได้ยาก...คงต้องย้อนดูแล้วว่าปัจจุบันเราให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการความรู้เรื่องช้างไทยและช้างเผือกอยู่ในระดับไหน และเราจะช่วยกันเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง?
       
       เรื่องการศึกษาและวิจัยอีกเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาความสามารถทางการแพทย์และสัตววิทยาที่เกี่ยวข้องกับช้างเผือกซึ่งอาจเป็นเรือธงชั้นดีในการขับเคลื่อนความรู้และทักษะการดูแลช้างพิเศษของสัตว์แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไทยให้เกิดผลงานระดับแนวหน้าของโลกได้
       
       ทั้งนี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีช้างสำคัญจำนวนหลายช้าง สัตวแพทย์ซึ่งได้ถวายงานดูแลสุขภาพช้างพิเศษเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างเผือกมากที่สุด เช่น โรคเกี่ยวกับตาซึ่งสัตว์เผือกมักมีปัญหาการติดเชื้อหรือตาอักเสบเพราะมีรงควัตุน้อยกว่าปกติ เป็นต้น ความเชี่ยวชาญนี้แม้จนรัฐบาลพม่าก็ยังต้องขอความร่วมมือให้สัตว์แพทย์ไทยไปช่วยดูแลช้างเผือกเป็นครั้งคราว ทั้งในเรื่องสุขภาพ และไปจนการผสมพันธุ์ช้างเผือก
       
       การมองคุณค่าทางการศึกษาจึงอาจไม่ได้หยุดเพียงเรื่องของช้างและวัฒนธรรมแต่ในเรื่องวิทยาศาสตร์และการแพทย์ช้างเผือกก็ถือเป็นแรงขับที่ยอดเยี่ยมได้ หรือแม้แต่ประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันในเรื่องของการอนุรักษ์ช้างเผือกในพื้นที่ธรรมชาติ (In-situ Conservation) หรือการนำมาอนุรักษ์นอกพื้นที่ธรรมชาติ (Ex-situ Conservation) มีข้อดีข้อเสียอย่างไร? หรือการปล่อยให้ช้างเผือกอยู่ตามธรรมชาติและติดตามดูแล จะดีกว่าการนำเข้ารักษาไว้ในส่วนกลางให้พ้นมือพรานทางไหนจะมีผลดีกับช้างมากกว่า?
       
       หากมองในแง่ดี ประเด็นถกเถียงที่หลากหลายอาจไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่อาจแสดงถึงความใส่ใจและสนใจร่วมกัน เพราะนายปรี๊ดเชื่อว่าคนไทยส่วนมากล้วนแต่มองเห็นถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์ช้างพิเศษและประเทศเป็นสำคัญ การถกเถียงให้เกิดประโยชน์จึงน่าจะมีเจ้าภาพที่เป็นกลางช่วยถอดบทเรียนเพื่อนำไปทดลองปฏิบัติจริงตามข้อเสนอของแต่ละฝ่าย
       
       แม้เป็นภาพฝันแต่หากทำได้จริง สังคมไทยก็น่าจะหลุดพ้นจากภาวะของการทุ่มเถียงกันแต่ไม่เกิดประโยชน์ แล้วก็ปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ถอดบทเรียน หรือสร้างสรรค์องค์ความรู้หรือแนวทางใหม่ๆ ให้กับสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย

       2.) ช้างเผือกอาจใช้เป็นเรือธงของการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม จากข่าวล่าสุดที่เปิดเผยตอนนี้ คือ นายสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังต้องลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์คชลักษณ์ของช้างสีประหลาดตัวนี้ ทั้งด้านรูปร่างและอุปนิสัยว่าเหมาะสมจะนำทูลเกล้าถวายหรือไม่ มีการงดบินสำรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อกันช้างเตลิด แต่ใช้การเดินสำรวจภาพพื้นและติดกล้องดักถ่ายภาพแทน ซึ่งอาจให้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี
       
       ด้วยเวลาที่อาจยาวนานจึงมีแนวคิดหลากหลายที่เสนอขึ้นมาเพื่อจัดการดูแลช้างเผือกให้อยู่รอดปลอดภัย ทั้งการที่เร่งให้เจ้าหน้าที่รีบคล้องออกมาเพื่อป้องกันพรานที่กำลังตามล่า บ้างก็เสนอให้ล้อมรั้วขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ข้ามแดนไปเขตอันตราย บางคนอยากให้มีการคุ้มกันแบบแรดขาวถิ่นเหนือซึ่งมีประชากรเหลือไม่ถึง 10 ตัว จนเจ้าหน้าที่ทหารของอูกันดาถึงกับต้องผลัดเวรเฝ้าช้างตลอด 24 ชั่วโมง
       
       อย่างไรก็ตาม หลายคนเริ่มมองถึงปัญหาหากจะเอาอย่างอูกันดาว่า เจ้าหน้าที่จะมีกำลังดูแลพอหรือไม่ อีกทั้งในสภาพป่าที่รกทึบและการเข้าใกล้สัตว์ป่าอาจจะเป็นการรบกวนมากกว่าดูแล บริบทการค้นหาและจัดการช้างเผือกจึงต้องปรับตามบริบทของปัญหาในปัจจุบัน
       
       หากกระโดดข้ามเรื่องการติดตามช้างเผือกแต่มองไกลไปถึงการอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน เพราะหากมีการจัดการที่ดีประชากรช้างที่เหลืออาจได้รับผลดีตามมาด้วย และแน่นอนว่าหากดูแลช้างโขลงนี้ให้ดี ในระยะยาวความเป็นไปได้ที่จะพบช้างเผือกตัวที่สองเกิดขึ้นจากกลุ่มประชากรที่ยีนสีเผือกสะสมอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
       
       พร้อมกัันนี้มีความสำเร็จในการอนุรักษ์ช้างป่าใกล้ตัวที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่มีการจัดการพื้นที่อาศัยภายในป่าของช้าง และเปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนรอบๆ อุทยานและคนเมืองที่สนใจได้มีโอกาสใกล้ชิด ช่วยเหลือช้าง โดยมีกิจกรรมของภาคเอกชนร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชน และนักเรียนที่อาศัยรอบอุทยานและร่วมกันนับการเปลี่ยนแปลงจำนวนช้างป่าในรอบปี
       
       อีกตัวอย่างคือกรณีศึกษาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่สามารถลดความรุนแรงจากความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและช้างป่าให้กลายมาเป็นวิถีที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น และมีหลักสูตรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของชาวบ้านร่วมกับการทำงานของนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้ช้างป่าทุกที่จะมีปัญหา แต่หากตีโจท์ของพื้นที่ให้แตกและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลืองานราชการบ้าง ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดี
       
       นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการจัดการสัตว์พิเศษในสภาพธรรมชาติในระดับโลกที่ชัดเจนก็เกิดขึ้นในหลายที่ เช่น การอนุรักษ์ฝูงวาฬเพชรฆาตซึ่งมีสมาชิกสีเผือก 2-3 ตัวในบริเวณหมู่เกาะคอมมานเดอร์ส ทางตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตกาของรัสเซียก็กระตุ้นในนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์หาทางทางเชื่อมต่อเขตอนุรักษ์เพื่อขยายพื้นที่ดูแลวาฬพิเศษเหล่านี้ให้ใหญ่ขึ้น ส่วนการอนุรักษ์สิงโตขาวในแอฟริกาก็มีรูปแบบการจัดการต่างกันออกไป คือ เป็นการอนุรักษ์แบบกึ่งธรรมชาติ โดยมีการเพาะเลี้ยงลูกสิงโตสายพันธุ์หายากแล้วนำกลับไปปล่อยให้เติบโต แพร่ขยายพันธุ์ในพื้นที่ธรรมชาติอีกครั้ง
       
       อีกตัวอย่างที่น่ารักสำหรับการจัดการอนุรักษ์สัตว์เผือกภาคประชาชน คือ “สมาคมอนุรักษ์กระรอกเผือก หรือ Albino Squirrel Preservation Society” ซึ่งไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริงจังที่ตั้งขึ้นในปี 2001 โดยนักศึกษาใน University of Texas at Austin ซึ่งต้องการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในมหาวิทยาลัย จึงตั้งสมาคมอนุรักษ์กระรอกเผือกซึ่งพบได้ในอเมริกา แคดานา และอังกฤษ
       
       จนปัจจุบันสมาคมดังกล่าวมีสมาชิกมากถึง 700 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น University of Pennsylvania และ University of Cambridge ที่ร่วมทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์กระรอกเผือกให้อยู่ในธรรมชาติได้อย่างสงบสุข เช่น การสำรวจประชากรประจำปี การระดมทุนเพื่อจัดการที่อยู่อาศัย ไปจนถึงถ่ายสารคดีส่งรายการดัง อย่าง animal planet
       
       อาจจะเป็นเรื่องตลกหากมองว่าทำไมนายปรี๊ดถึงกล้านำกระรอกเผือกตัวจ้อยมาเทียบกับพี่ช้างเผือกตัวใหญ่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากอนุรักษ์ภาคประชาชนที่มีเรือธงตัวจิ๋วอย่างเจ้ากระรอกหางฟูยังทำได้ การอนุรักษ์ช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์อาจมีพลังมากกว่าที่คิด แต่ภาครัฐต้องปรับตัวให้เกิดช่องว่างพอที่จะให้ประชาชนได้อาสาแสดงบทบาทบ้าง เพราะบางทีภาพการอนุรักษ์ที่เจ้าหน้าที่ต้องแบกปืน เฝ้าระวังพรานทั้งวันอาจมีแนวร่วมจากคนรุ่นใหม่ ได้แนวคิดดีๆ หรือมีเทคโนโลยีติดตามสัตว์ป่าที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนได้มากขึ้น
       
       ถ้าถามความคิดเห็นส่วนตัวของนายปรี๊ดว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายปรี๊ดของขอบอกในฐานะนักชีววิทยาว่า รู้สึกก็ดีใจที่คนส่วนใหญ่ เข้าใจ เห็นใจ และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับสัตว์ป่า และคนทำงานอนุรักษ์ได้ชัดเจนมากขึ้น แต่นายปรี๊ดหวังให้อย่างน้อยการพบสัตว์พิเศษครั้งนี้น่าจะถือเป็นโอกาสสร้างเรือธงนำพาการจัดการองค์ความรู้ และการอนุรักษ์ช้างป่าจากทั้งภาครัฐและภาคประชาขน เพื่อให้พี่ช้างเค้าได้เดินท่องป่าปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ต้องวิ่งหนีการไล่ล่า หรือแอบออกมาลักขโมยกินพืชผลการเกษตรอย่างน่าอดสูอย่างที่เป็นอยู่ก็พอ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 เมษายน 2556