ผู้เขียน หัวข้อ: ตัดแค้นจึงปลดทุกข์ : เซียวฮื้อยี้  (อ่าน 1969 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ตัดแค้นจึงปลดทุกข์ : เซียวฮื้อยี้
« เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2010, 06:56:24 »
หลังจากที่ผมเขียนติดต่อกันถึงเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ตามมาด้วย “อุ้ยเซียวป้อ” ซึ่งเป็นผลงานของ “กิมย้ง” โดยที่ก่อนหน้านั้น ก็ได้เคยเขียนถึง “มังกรทลายฟ้า” ซึ่งเป็นผลงานของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้เช่นกัน ย้อนไปก่อนหน้านั้นอีก ผมได้เขียนถึงนิยายจีนกำลังภายในของ “โกวเล้ง” เรื่อง “ราชายุทธจักร” เมื่อจบ 4 เรื่องที่ว่ามานี้ ก็ได้โอกาสที่จะเขียนเรื่องราวที่โปรดปรานอีกเรื่องในหมวดหมู่นิยายจีนกำลังภายใน นั่นก็คือ “เซียวฮื้อยี้”
       
       ถามว่า ทำไม ผมจึงกล่าวท้าวความถึง 4 เรื่องนิยายจีนกำลังภายในที่เขียนในคอลัมน์นี้ก่อนหน้า คำตอบก็คือ ในความคิดส่วนตัวของผมนั้น ผมรู้สึกว่า เรื่อง “เซียวฮื้อยี้” ที่จะพูดถึงนี้ มีส่วนผสมที่กลมกล่อมจากเรื่องที่กล่าวมาทั้งสี่มากลมกลืนกัน
       
       ที่ว่าเช่นนี้ไม่ได้จะกล่าวหาว่า “โกวเล้ง” ลอกเลียนนิยายจีนกำลังภายในสามเรื่องของ “กิมย้ง” นะครับ แต่เมื่อผมอ่าน “เซียวฮื้อยี้” แล้ว ผมรู้สึกว่า เปรียบได้กับอาหารที่จัดจ้าน รสชาติเป็นเลิศ ขณะเดียวกันระหว่างที่ลิ้นรับรู้ชิมรส ก็ออกจะรู้สึกถึงรสบางอย่างที่คุ้นเคย ที่พูดนี่เป็นความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งจะขยายความต่อให้ฟังหลังจากนี้
       
       ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้พูดถึงการลอกเลียนแบบนะครับ เพราะผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครเขียนก่อนใคร แต่เข้าใจว่านิยายจีนกำลังภายในยุคเจิดจรัสช่วง 50-60 นั้น ล้วนแต่มีรูปแบบมาตรฐานของแนวทางที่คล้ายคลึงกัน แต่แตกหน่อผลิใบไปตามสไตล์ใครสไตล์มัน
       
       จริงๆ แล้ว “เซียวฮื้อยี้” เป็นหนึ่งในนิยายจีนกำลังภายในที่ผมชอบมากเรื่องหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาเนิ่นนานกว่าจะเขียนก็เพราะตั้งใจว่าจะเขียนถึงสี่เรื่องข้าง ต้นให้ครบเสียก่อน พอจบ “อุ้ยเซียวป้อ” ก็ได้ที ที่ผมจะเขียนถึงเรื่องโปรดของผมเรื่องนี้
       
       “เซียวฮื้อยี้” จริงๆ เป็นฉายา ส่วนชื่อจริงของเขาซึ่งเรามักจะไม่เรียกขานกัน มีว่า “กังฮื้อ” เรื่องราวของ”เซียวฮื้อยี้” นั้น มีสเน่ห์ มีสีสัน ครบเครื่อง และจัดจ้าน ราวกับรสชาติของอาหารถิ่นเสฉวนที่เขาชอบรับประทาน นอกจากนี้ ตัวตนของลูกปลาน้อยผู้นี้ ยังมีกลิ่นอายของบุคลิกลักษณะแห่ง “วีรบุรุษ” อีกต่างหาก
       
       กล่าวได้ว่า หากจะยกตัวอย่าง “พระเอก” ที่มีองค์ประกอบครบด้านจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องต่างๆ ที่ผมได้อ่าน ผมคงหยิบเอา “เซียวฮื้อยี้” ขึ้นมาเป็นรายชื่อแรกๆ
       
       ก่อนหน้านี้ผมเขียนถึง “อุ้ยเซียวป้อ” พระเอกหนุ่มที่ถูกวางคาแรกเตอร์ให้มีลักษณะ “antihero” พระเอก หนุ่มในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องสุดท้ายของ “กิมย้ง” นั้น อาจจะเรียกได้ว่า “กิมย้ง” ได้ “ปล่อยของ” ออกมาไว้ลายบรรณพิภพนิยายจีนกำลังภายในด้วยตัวเองที่กลอกกลิ้ง เจ้าเล่ห์ มากราคะ แถมยังไม่เหมือนพระเอกในนิยายจีนกำลังภายในอื่นเพราะด้อยวรยุทธ
       
       เรื่อง “อุ้ยเซียวป้อ” นั้น ซือแป๋ด้านการอ่านและทำความเข้าใจนิยายจีนกำลังภายในของผม “สนธิ ลิ้มทองกุล” กล่าวว่า “อุ้ยเซียวป้อเรื่องนี้ ใครที่ชอบก็จะพูดว่าสุดยอด ส่วนใครที่ไม่ชอบ แม้แต่จะอ่านให้จบก็ยังไม่กระทำ” ซึ่งผมเห็นตรงตามนั้น
       
       ในขณะที่ “เซียวฮื้อยี้” ลูกปลาน้อยนั้น ส่วนตัวผม ถือว่า มีบุคลิกลักษณะที่คล้ายกับ “อุ้ยเซียวป้อ” มากมาย โดยเฉพาะในส่วนของความเจ้าเล่ห์ มากมารยา เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม แต่พฤติกรรมของ “เซียวฮื้อยี้” ที่กระทำเรื่องใด ล้วนแต่อ่านแล้วรู้สึกถึงอารมณ์ที่ว่า “เล่ห์ที่ไม่ไร้คุณธรรม” เวลาออกอาการมารยากลอกกลิ้งก็กลับรู้สึกน่ารัก และอดเอาใจช่วยไม่ได้
       
       เรียกว่า “เซียวฮื้อยี้” นั้น เป็นพระเอกที่มีสเน่ห์ของ “ตัวร้ายใฝ่คุณธรรม” ก็พอจะพูดได้ ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะเราจะรู้สึกว่า “เซียวฮื้อยี้” จะใช้เล่ห์เพื่อเอาชีวิตรอด ในขณะที่ “อุ้ยเซียวป้อ” จะมีลักษณะใช้เล่ห์เพื่อแสวงประโยชน์
       
       ข้อสรุปของผมก็คือ “เซียวฮื้อยี้” มีความคล้ายคลึงสูงกับ “อุ้ยเซียวป้อ” แต่มีความเป็นพระเอกในมาตรฐานนิยายจีนกำลังภายในมากกว่า
       
       “เซียวฮื้อยี้” นั้นยังมีรูปแบบพระเอกมาตรฐานของนิยายจีนกำลังภายในคลาสิกอีกจุดหนึ่ง คือเป็นลูกกำพร้า โดย “กังปัง” พ่อของ “เซียวฮื้อยี้” ลอบรักกับคนในสังกัด “วังตอนต่อบุปฝา” ของสองเจ๊ม่วย “ประมุขวังจันทร์เพ็ญ” และ “ประมุขวังเอ็นดูดาว” ในที่สุดก็ถูกไล่ล่าสังหารโดยประมุขวังสองเจ๊ม่วย โดยที่เพื่อนร่วมน้ำสาบานของ “กังปัง” อย่าง “อี้น้ำเทียน” เดินทางมาช่วยไม่ทัน เพราะถูกคนสนิทของ “กังปัง” หักหลัง ซึ่งคนสนิทนั้นก็คือ “กังคิ้ม” ที่ต่อมาปลอมแปลงตัวหนีคดีกลายเป็น “กังเปียกเฮาะ” ที่มีชื่อถือคุณธรรม(จอมปลอม)ในยุทธจักรภายหลังจากที่ “อี้น้ำเทียน” หายตัวไป
       
       อันว่าลีลาของ “กังเปียกเฮาะ” นี้ก็เป็นสไตล์ของ “วิญญูชนจอมปลอม” เฉกเช่น “งักปุกคุ้ง” ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ของ “กิมย้ง” และ “ฉ้าเง็กกวน” ในเรื่อง “ราชายุทธจักร” ของ “โกวเล้ง” เอง
       
       จะว่าไปแล้ว การมีตัวร้ายสไตล์ “วิญญูชนจอมปลอม” นี้ ก็มีส่วนที่ทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนั้น มีความสนุกสนานที่จะให้พระเอกจัดการกับความชั่วที่แยบยลแฝงเร้นได้อย่างถึง รส (ส่วนถ้าสไตล์ “วิญญูชนจอมปลอม” นี้มาสิงร่างนักการเมืองเมื่อใด คงไม่สนุกเท่าไร)
       
       “อี้น้ำเทียน” นั้น เพราะตามล่า “กังคิ้ม” จึงโดนหลอกเข้าไปในหุบเขาคนโฉด ซึ่งรวมดาวคนโฉดที่หนีคดีเข้าไปรวมตัวกันอยู่ในหุบเขาแห่งหนึ่ง (ฟังดูก็มีกลิ่นคล้ายๆ หมู่ตึกภูตพรายในเรื่อง “เล็กเซียวหงส์” ของ “โกวเล้ง” เอง) ส่วน “เซียวฮื้อยี้” ที่ยังเป็นเบบี้ที่ “อี้น้ำเทียน” อุ้มติดไปด้วย ก็เลยถูกเลี้ยงดูอุ้มชู โดยบรรดาคนโฉดชั่วในหุบเขาแห่งนั้น เนื่องจาก “อี้น้ำเทียน” ถูกเล่ห์กลจัดการจนปางตายและกลายเป็น “กระปุกยา” ให้กับจอมยุทธหมอ “บ้วนชุนลิ้ว”
       
       ชีวประวัติความเป็นมาเป็นไปของ “เซียวฮื้อยี้” ยิ่งเร้าใจด้วยสาเหตุที่ถูกบรรดาคนโฉดชั่วห้าคนในหุบเขาเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ โดยมุ่งหมายให้กลายเป็นคนเลวไปอาละวาดปั่นป่วนยุทธภพ แถมยังมีความลับดำมืดซ้ำซ้อนก็คือ เป้าหมายของการเติบใหญ่ของ “เซียวฮื้อยี้” ที่ถูกวางแผนโดยสองเจ๊ม่วยแห่ง “วังตอนต่อบุปผา” ให้โตมาเพื่อฆ่าฟันกับพี่น้องฝาแฝดของตัวเองคือ “ฮวยบ้อข่วย” ซึ่งสองเจ๊ม่วยรับไปเลี้ยงดู เพื่อหวังสร้างโศกนาฎกรรมให้พี่น้องฆ่ากัน เพื่อจะได้สะใจล้างแค้น “กังปัง” ที่บังอาจไปรักกับบริวารของตนเอง โดยไม่แยแสสองเจ๊ม่วยที่สวยสูงศักดิ์
       
       “เซียวฮื้อยี้” จึงเป็นตัวละครที่เด่นเร้าใจ เนื่องจากเงื่อนปมของคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายแต่กลับกลายเป็นคนดี มีคุณธรรม ถือเป็นคาแรกเตอร์ของพระเอกที่มีความขัดแย้งกัน และจะต้องเลือกหนทางที่ถูกต้อง “เซียวฮื้อยี้” จึงเป็นพระเอกนิยายจีนกำลังภายในที่น่าพิสมัยและเอาใจช่วย
       
       ว่าไปแล้ว การมีตัวละคร “ฝาแฝด” ที่เป็นรูปแบบ สองวัยเยาว์ที่เกิดมาพร้อมกัน แต่ถูกแยกกันไปในต่างสภาพแวดล้อมนี้ หลายคนก็คงคุ้นๆ กับพี่น้องฝาแฝดตระกูล “เจี๊ยะ” ในเรื่อง “มังกรทลายฟ้า” ที่คนหนึ่งถูกเอาไปเลี้ยงอย่างดิบดีแต่กลายเป็นคนเลวเพราะถูกตามใจ ส่วนอีกคนถูกเลี้ยงอย่างขอทานน้อยถูกเรียกขานเป็นลูกสำส่อน แต่กลับกลายเป็นผู้ทรงคุณธรรม “เจี๊ยะพั่วเทียน” แห่ง “พรรคสุขนิรันดร์”
       
       รูปแบบการสอนใจจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่ว่า ชาติตระกูลและการเลี้ยงดูที่ต่ำต้อยก็อาจจะเติบโตเป็น “ผู้กล้าทรงคุณธรรม” โดยวางโครงรูปแบบในภาพของ สองเยาว์วัยที่คนหนึ่งถูกเลี้ยงดูอย่างดีแต่กลายเป็นคนชั่ว ส่วนที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนชั่วในสภาพแวดล้อมที่ต้อยต่ำเตี้ยติดดินก็อาจจะเติบ โตเป็นคนดีได้ รูปแบบเช่นนี้ เราก็คุ้นเคยจาก “ก๊วยเจ๋ง” กับ “เอี้ยคัง” ในมหากาพย์สุดยอดนิยายจีนกำลังภายใน “มังกรหยก”
       
       แนวทางการเขียนเช่นนี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นการสอนใจให้เราตระหนักว่า ชาติกำเนิดหรือแม้กระทั่งการศึกษาที่สูงเลอเลิศนั้น ไม่ใช่ตัวกำหนดให้ใครเป็นคนดี หรือเป็นคนที่สังคมยกย่องเชิดชู แต่การประพฤติปฏิบัติตนระหว่างเส้นทางการใช้ชีวิตต่างหากเล่า ที่จะระบุว่า ผู้ใดจะได้รับการยกย่องให้เป็น “คนดีมีคุณธรรม”
       
       เมื่อพูดถึง “มังกรทลายฟ้า” ตำนานแห่งการไปกินข้าวต้มเดือนสิบสองที่ “เกาะวีรบุรุษ” หรือ “เกาะนิรนาม” ที่เหล่าผู้อาวุโสที่หายไปจากบู๊ลิ้มจนคนเกือบลืมชื่อเสียงเรียงนามต่างหลง ไหลในวิทยายุทธไปหมกตัวกันอยู่ในเกาะร้าง ในเรื่อง “เซียวฮื้อยี้” ในช่วงท้ายเรื่อง ก็มี “บรรดาจอมยุทธอาวุโสติดเกาะ” เช่นนี้ปรากฏตัวขึ้นเช่นเดียวกัน
       
       แก่นแกนของเรื่อง “เซียวฮื้อยี้” นั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องราวที่เกิดจากปมปัญหาของการสั่งสม “ความแค้น” และไม่สามารถ “ตัดแค้น”
       
       ตอนหนึ่งที่ “เซียวฮื้อยี้” พบกับ “เจ้าเสนอผลไม้” หรือ “วานร” หนึ่งในโฉดชั่วสิบสองนักษัตร กับ “ซิมคิงฮ้ง” อีกหนึ่งคนชั่วในยุทธภพ ทั้งสองถูกกักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งร่วมกัน ต่างดำรงความแค้นต่อกัน “เซียวฮื้อยี้” ถึงกับกล่าวว่า “คำว่าแค้น มีพลานุภาพยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าเพียงทราบว่า แค้นสามารถทำให้ผู้คนตกตาย คิดไม่ถึงว่าความแค้นก็สามารถทำให้ผู้คนมีชีวิตอยู่สืบไป นี่กลับเป็นเรื่องราวที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน”
       
       ผมมีความคิดว่า ชั่วชีวิตคนหนึ่ง สิ่งที่ควรตระหนักคำนึงก็คือ การสะสมแค้นนั้น มิใช่เปรียบได้กับสะสมเงินตรา แค้นนั้นไม่มีธนาคารให้เอาไปฝาก แค้นนั้นต่างต้องเก็บไว้กับตัวเอง มักหมมสะสมในใจ ความแค้นที่ทับซ้อนย่อมสร้างทุกข์ที่แสนสาหัส และดอกผลที่งอกเงยจากความแค้น ก็ผลิบานในใจบุคคลผู้สะสมแค้น ทบทุกข์ถมพันทวี
       
       บทสนทนาระหว่าง “ตั้งซิงแซ” ที่คือ “ประมุขวังจันทร์เพ็ญ” ปลอมตัวมา กับ “เซียวฮื้อยี้” ก็บอกเล่าให้ถึงสัจธรรมบางอย่าง
       ตั้งซิงแซตวาดถามว่า
       “เจ้าไม่แค้นมันหรือ”
       เซียวฮื้อยี้ย้อนถามว่า
       
       “ข้าพเจ้าไยต้องแค้นมัน”
       
       ตั้งซิงแซกล่าวว่า
       
       “ทั้งนี้เพราะญาติอาวุโสมันฆ่าบิดามารดาเจ้า”
       
       เซียวฮื้อยี้กล่าวว่า
       
       “ขณะที่บิดามารดาข้าพเจ้าเสียชีวิต เกรงว่ามันยังไม่ถือกำเนิดเกิดมา การกระทำของซือแป๋มัน มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับมัน ซือแป๋มันรับประทานข้าว หรือสามารถใช้ให้มันถ่ายอุจาระแทน”
       
       คำพูดเช่นนี้ของ “เซียวฮื้อยี้” อาจถูกมองว่าไร้ความกตัญญู ไม่ยอมล้างแค้นแทนบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ อันเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันตามแนวทางยุทธจักรบู๊ลิ้ม ในยุทธภพถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า “ล้างแค้นสิบปีไม่สาย” สิ่งที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรตามมาตรฐานครรลองยุทธภพจริงหรือ “เซียวฮื้อยี้” คงจะตั้งข้อสงสัยในเรื่องนั้น
       
       อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า “เซียวฮื้อยี้” มีความเป็นพระเอกมากที่สุดก็คือยอมที่จะ “ตัดแค้น” ในท้ายสุด “เซียวฮื้อยี้” ก็ยอมปลดปล่อย “กังเปียกเฮาะ” ที่ถูกทำลายสิ้นซึ่งวิทยายุทธไป ทิ้งโอกาสการ “ล้างแค้น” ให้กับบิดามารดาบังเกิดเกล้า
       
       “ล้างแค้น” แท้จริงแล้วมิใช่เป็นการ “พบสุข”
       
       “ตัดแค้น” ต่างหากเล่า จึงเป็นการ “ปลดทุกข์” ที่แท้จริง

(ASTVผู้จัดการรายวัน---27 พฤศจิกายน 2553)