ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เผยหญิงไทยถูกทำร้ายเฉลี่ยวันละ 34 ราย  (อ่าน 967 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
 “วิทยา” เผย มีผู้หญิง ถูกทำร้ายวันละ 34 ราย ขยายศูนย์พึ่งได้ลงโรงพยาบาลทุกแห่ง
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 มี ค.) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสตรีสากล เพื่อให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการต่อสู้ของสตรี เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค การพัฒนา และสันติภาพ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและการนำไปสู่การทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันของหญิงและชายในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง ตลอดจนสิทธิมนุษยชนของสตรี
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานล่าสุดเมื่อปี 2553 ประเทศไทยมีประชากรผู้หญิง 33.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51 ของประชากรที่มีทั้งหมด 65.9 ล้านคน นโยบายรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้หญิงให้เป็นกลุ่มเป้าหมายพัฒนาเป็นกรณีพิเศษ คือ ผู้หญิง เด็ก คนพิการ คนชรา เรื่องที่น่าห่วงในสังคมไทยขณะนี้ พบว่า ผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกระทำรุนแรงมากขึ้น จากรายงานของศูนย์พึ่งได้ ซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 750 แห่ง ล่าสุด ในปี 2553 มีผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงเข้ารักษาพยาบาลรวม 12,554 ราย เฉลี่ยวันละ 34 ราย หรือกล่าวได้ว่าทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้หญิงถูกกระทำรุนแรง 1 คน พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 25-45 ปี คิดเป็นร้อยละ 46 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 18-25 ปี คิดเป็นร้อยละ 30 ผู้กระทำรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคู่สมรส รองลงมาคือ แฟน สาเหตุอันดับ 1 มาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่นนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาทพบร้อยละ 40 รองลงมาคือใช้สารกระตุ้น เช่น เมาสุรา เสพยาบ้า ร้อยละ 30
       
       นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลน่าสนใจ พบว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 5 เกือบร้อยละ 80 ถูกทำร้ายร่างกาย ผู้กระทำคือผู้ดูแลและญาติพี่น้อง ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่พบได้น้อยที่สุด แต่มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และโดยวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย ผู้สูงอายุไม่ควรถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงประเภทใดก็ตาม
       
       ในการรองรับปัญหาที่กล่าวมา ในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้เปิดบริการศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center : OSCC) ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนที่มีทั่วประเทศทั้งหมด 830 แห่ง เพื่อให้เป็นที่พึ่งแห่งแรกที่ผู้ถูกกระทำรุนแรง เข้าไปรักษาอาการบาดเจ็บทั้งทางกายและจิตใจ เป็นบริการแบบบูรณาการทั้งด้านการแพทย์ กระบวนการยุติธรรม สวัสดิการสังคมในคราวเดียวกัน และปีนี้จะขยายบริการให้การช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ด้วย โดยที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์พึ่งได้ให้บริการใน รพ. 750 แห่ง
       
       ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNEPA) พัฒนาคู่มือการฝึกอบรมเรื่องความรุนแรงต่อสตรีบนพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผลกระทบของความรุนดังกล่าว นอกจากส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หวาดกลัว วิตกกังวลต่อผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำต้องได้รับโทษจากผลการกระทำ ยังมีผลต่อครอบครัว ทำให้ครอบครัวแตกร้าว ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหน่วยทางสังคมอย่างมีประสิทธิภาพได้ และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลมูลค่าสูงถึงปีละเกือบ 40,000 ล้านบาท เช่น ค่าบริการทางการแพทย์ สูญเสียแรงงาน และรายได้ประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 มีนาคม 2555