ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ประกาศ ปี 60 ปีแห่งผักผลไม้ปลอดภัย อย.ชี้ มี กม.คุมใช้สารเคมี ผักผลไม้สด  (อ่าน 554 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
 สธ. ประกาศปี 2560 เป็น “ปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย” ร่วม ก.เกษตรฯ - สสส. ดูแลตั้งแต่ปลูกถึงบริโภค พร้อมแนะวิธีล้างผักอย่างง่าย ช่วยลดการปนเปื้อน อย. เผย มี กม. คุมการใช้สารเคมี “ผักผลไม้สด” คัดและแบ่งบรรจุ
       
       วันนี้ (23 ม.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัย โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการบริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม เป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ หัวใจขาดเลือด ร้อยละ 31 เส้นเลือดในสมองตีบ ร้อยละ 19 ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ร้อยละ 19 มะเร็งปอด ร้อยละ 12 มะเร็งลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 2 เป็นต้น แต่จากการสำรวจสุขภาพประชาชน ครั้งที่ 5 ปี 2557 - 2558 ใน 21 จังหวัด พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รับประทานผักและผลไม้อย่างเพียงพอ
       
       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะที่ผลการคัดกรองความเสี่ยงได้ทำการเจาะเลือดกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้สัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555 - 2559 อยู่ที่ร้อยละ 33 และในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 37 จะเห็นได้ว่า เกษตรกรมีความเสี่ยง และไม่ปลอดภัยจากการสัมผัสสารเคมีสูงขึ้น เนื่องจากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้มากขึ้นทำให้ผักผลไม้ที่ขายในท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นด้วย
       
       “สธ. ร่วมกับกระทรวงเกษตรสหกรณ์ และ สสส. บูรณาการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตผักและผลไม้สดปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมและลดปริมาณการใช้สารเคมีจากผู้ผลิตต้นทาง กลางน้ำ สธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีมาตรการทางกฎหมาย โดยการปรับจำนวนรายการและค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ให้ครอบคลุมและสอดคล้องมาตรฐานสากล พัฒนา และยกระดับให้สถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สดมีระบบประกันคุณภาพ รวมถึงการบ่งชี้รุ่นการผลิต เพื่อการตามสอบย้อนกลับ ส่วนปลายทาง ร่วมกับ สสส. ประสานเครือข่ายผู้ผลิต และสื่อสารองค์ความรู้ให้ผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงผักและผลไม้สดที่มีคุณภาพและความปลอดภัย” รมว.สธ. กล่าว
       
       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับผู้บริโภคสามารถลดการตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้อย่างง่าย ด้วยการล้างน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสม สะดวกที่ผู้บริโภคสามารถปฏิบัติได้ทุกสถานที่ โดยแกะกลีบ ใบ ตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก หรือเคาะดินออกจากราก ก่อนนำไปล้างใช้ความแรงของน้ำพอประมาณ คลี่ใบผัก แล้วถูไปมาบนผิวใบของผัก ผลไม้ นานประมาณ 2 นาที วิธีการนี้จะช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 25 - 65 นอกจากนี้ ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือผู้บริโภค ที่ซื้อผักมาในปริมาณที่มากการใช้น้ำไหลก็อาจสิ้นเปลือง สามารถใช้ทางเลือกอื่นที่เหมาะสม ได้แก่ 1. ล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิงโซดา โดยผสมผงฟูครึ่งช้อนโต๊ะกับน้ำ 10 ลิตร แช่ผักผลไม้ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 95 และ 2. ล้างด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดสารเคมีได้ร้อยละ 60 - 84 ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ล้างไข่พยาธิในผักสดได้อีกด้วย โดยปริมาณสารพิษตกค้างที่ลดลงจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีและปริมาณผัก ผลไม้ในแต่ละครั้งของการล้าง
       
       ด้าน นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการความปลอดภัยผักและผลไม้สด ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ต.ห้วยแก้ว กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ว่า อย. ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาผักหรือผลไม้สดบางชนิด และการแสดงฉลาก โดยกำหนดให้ผักและผลไม้สดบางชนิดที่ผ่านกระบวนการคัดและบรรจุต้องมาจากแหล่งเพาะปลูกที่มีการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ปลอดภัยและต้องมีการแสดงฉลาก รวมถึงการบ่งชี้รุ่นการผลิตเพื่อการตามสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผักและผลไม้ที่มีคุณภาพปลอดภัย
       
       “ทุกสถานที่ผลิตผักและผลไม้สดที่มีการคัดและบรรจุ ก่อนออกจำหน่ายต้องได้คุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัย สามารถตามสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน อย่าง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก เป็นแหล่งพัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม ผักผลไม้ และกาแฟ ให้เป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎร นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง ซึ่งผลผลิตของเกษตรกร นำรายได้มาสู่ครัวเรือน พึ่งตนเองได้ เกิดความเข้มแข็งในชุมชน คุณภาพชีวิตในด้านสังคม การศึกษา และการสาธารณสุข ดีขึ้น” นพ.วันชัย กล่าว
       
       นพ.วันชัย กล่าวว่า ที่สำคัญ ผักและผลไม้สดของมูลนิธิโครงการหลวงได้รับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยในระดับมาตรฐาน และยังส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดจากการมีศูนย์การรักษาพืชของมูลนิธิฯ และห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สดที่มีคุณภาพ ซึ่งได้ช่วยตอกย้ำถึงความมั่นใจกับผู้บริโภคก่อนที่สินค้าจะจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด

โดย MGR Online       23 มกราคม 2560