ผู้เขียน หัวข้อ: เรียนหมอในเมืองไทย..........ตอบโจทย์ได้จริงหรือ?  (อ่าน 1580 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
เรียนหมอ ก็คงคล้ายกับเรียนสาขาอื่นๆ และก็คงน่าจะมีปัญหาเหมือนกัน เพราะระบบการศึกษาในเมืองไทยตั้งแต่ประถมถึงมัธยมพังพินาศสิ้นมานานแล้ว เยาวชนยึดติดกับการท่องเป็นบ้าเป็นหลัง สอบเอาคะแนน ตอบให้ตรงกับครูสอน ความรู้อื่นๆชั่งมันเพราะไม่ได้ออกสอบ ได้เกรด โล่ เหรียญ สวยหรู ระบบเหล่านี้ ถ้าจะแก้ตั้งแต่พรุ่งนี้ต้องรออีกประมาณ 15-20 ปี จึงจะเงยหน้าลืมตาได้

มาพูดถึงการเรียนหมอ ซึ่งต่อยอดจากระบบที่ด้อยประสิทธิภาพ ยังมีปัญหาอีกร้อยแปด หมอปัจจุบัน (ความจริงคือมนุษย์ในปัจจุบันทุกคน) ควรต้องคิดเป็น วิเคราะห์ หาความรู้ หาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งมีหลากหลายไม่ซ้ำรูปแบบ กลับถูกจับย่นย่อให้เป็นหุ่นยนต์ ทำตามกฎ ในรูปเป็น guideline มีรูปแบบเป็น Algorithms ถ้าคนไข้มีอย่างนี้ทำต่อไปนี้ ถ้าไม่มีอย่างนั้นให้ทำแบบที่สอง และอื่นๆ

การเรียนขั้นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้คิดเป็น แยกแยะกลไกของการเกิดโรค รวมถึงว่ามีพื้นฐานความรู้ในการคิดว่าควรใช้ยาชนิดใด น่าจะตรงเข้ากับตัวโรคได้ดีกว่า กลับถูกละเลย และเป็นปัญหาว่ายาเฮงซวยทะลักทะลายจากต่างประเทศ ยามากหลายเหล่านี้ไม่ช่วยชะลอ แก้ตัวโรคแต่แค่ทุเลาอาการไปวันๆ กลับถูกโหมประโคม โฆษณาจนขายดีติดอันดับ เช่น ยาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

การที่เจาะจงเพิ่มจำนวนปริมาณการผลิตหมอด้วยการลดหลักสูตรจำนวนปี แม้จะได้จำนวนเพิ่ม แต่สร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้กับแพทย์ที่จบใหม่ ที่ต้องเผชิญกับคนไข้หลากหลายมีโรคซับซ้อน รุนแรง เพราะประเทศไทยไม่เคยพุ่งเป้าไปที่การป้องกัน คนไข้เพาะบ่มโรคในตัวนานนับปี จนอวัยวะพัง ไตพัง หัวใจวาย สมองฝ่อ เส้นเลือดตัน ณ เวลานั้นที่แสดงอาการออกมา ซึ่งรักษาอย่างไรก็ไม่มีทางกลับมาคืนดีดังเดิมได้ อีกทั้งยังต้องตรากตรำดูคนไข้ จำนวนมหาศาลกว่าที่จะรับมือได้ และมีอาการหนักกว่าที่เคยเรียนในตำราท่องจำมา มิหนำซ้ำคนไข้ถูกเป่าหูว่าเป็นอะไรก็รักษาได้ จะมีความคาดหวัง และเคียดแค้นหมอ ถ้าเสียชีวิตหรือทุกพลภาพ เป็นที่มาของที่ว่าทำไมหมอปัจจุบันเป็นนักร้อง นักแสดงกันมากขึ้น หรือไม่ก็ให้คู่ชีวิตเลี้ยงดู ตัวเองไปตีกอล์ฟ สบายกว่า

แม้นแก้ระบบการศึกษาแต่ต้นไม่ทันการณ์ขณะนี้ แต่อย่างน้อยการเยียวยาให้ทุเลาในระยะวิกฤตขณะนี้น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยให้หมอมีเกราะความรู้ป้องกันอย่างแน่นหนา เช่น การเรียนหมอควรผ่านปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ เช่น อย่างในอังกฤษ เป็นระยะเวลา 3 ปี และเรียนหมอต่ออีก 5 ปี ความคิดอ่านจะมีเหตุมีผลมากขึ้น และต้องมีโครงการวิทยานิพนธ์เพื่อสอบผ่านจะได้คิดด้วยตัวเองเป็น ทั้งนี้การเรียนหมอในอันดับต่อไปต้องเข้าใจระบบสุขภาพของประเทศว่า เงินก้อนเดียวของชาติต้องแบ่งเฉลี่ยจ่ายให้ทุกคน การเชื่อโฆษณาจะเอายาหรือการรักษาที่อาจดีกว่าบ้างน้อยนิด แต่กินงบประมาณของคนทั้งชาติ เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

การที่ต้องรู้จักธรรมชาติของคนไข้ต้องเริ่มตั้งแต่ปีที่ 1 และทุกปีจนกว่าจะจบ 5 ปี จากนั้นจึงเป็นแพทย์ฝึกหัดต่ออีก2ปี ไม่ใช่เรียนแต่ตำราในห้อง อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ตลอด3 ปี ซึ่งวันดีคืนดีในปีที่4 และ5 และเป็นแพทย์ฝึกหัดในปีที่6 ที่เริ่มต้องเผชิญคนไข้และญาติ ปรับตัวไม่ถูก และแม้กระทั่งเห็นคนไข้เป็น “โรค” ที่ต้องรักษา ไม่ใช่รักษาที่ตัว “คนไข้” หนำซ้ำการเรียนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่ต้องเจอในพื้นที่ และในโรงพยาบาลชุมชน หรือระดับจังหวัด เมื่อต้องออกไปจากโรงเรียนแพทย์ โดยต้องใช้ฝีมือ มีหัวคิดในการแก้ปัญหา พึ่งเทคโนโลยีพร่ำเพรื่ออย่างในโรงเรียนแพทย์ ที่มีการสอนที่ยืดยาด เยิ่นเย้อในการดูคนไข้ไม่ได้

การจะทำการปรับเปลี่ยนได้เช่นนี้อาจทำได้ โดยให้ทุกวันช่วงบ่าย ตั้งแต่ปีแรกไปอยู่ที่คลินิกของหมอทั่วไป ดูวิธีการซักประวัติ การสร้างความสัมพันธ์กับคนไข้ และครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกับความรู้ ที่แม้แต่ช่ำชอง แต่ที่อยู่ตรงหน้าคือ “คน” ซึ่งต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันเริ่มจำกัดผู้ป่วยหน้าใหม่โดยการป้องกันไม่ให้เกิดโรคอย่างเข้มงวด และควบคุมโรคที่ยังเป็นน้อยๆไม่ให้ยกระดับมากขึ้น หวังว่าในอนาคตจำนวนหมอสายพันธ์ใหม่จะเพียงพอกับจำนวนคนไข้

มีเรื่องที่อยากจะบอกเยอะ ที่เขียนมานี้ไม่ใช่จะตี ทำลายผู้มีพระคุณทั้งหลาย ที่เพาะบ่มสร้างระบบขึ้นมา แต่กาลเวลาที่เปลี่ยนไป เราจะปล่อยให้ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของชาติล่มสลายตามระบบการศึกษาประถมและมัธยมไปด้วยหรือครับ


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
www.cueid.org
มติชน 15 มิถุนายน