ผู้เขียน หัวข้อ: “วิทยา” ปลื้มอวดผลงาน 1 ปี เจ็บป่วยฉุกเฉินโดนใจ ปชช.มากสุด  (อ่าน 991 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
“วิทยา” ปลื้ม แถลงผลงาน 1 ปี โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินโดนใจ ปชช.มากสุด ฟุ้งช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก 90.5% เล็งขยายสิทธิผู้ป่วยไตวายครอบคลุม 3 กองทุน ย้ำร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่เรื่องของศักดิ์ศรี แต่ต้องการพัฒนาการบริการ ลดความแออัดของโรงพยาบาล
       
       วันนี้ (7 ก.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลงาน “365 วันกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน” ว่า ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจำนวนทั้งสิ้น 48.5 ล้านคน ผ่านนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งมีการพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่โดดเด่นที่สุด และประชาชนได้รับประโยชน์ในทุกสิทธิ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ 30 บาท กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ภายใต้โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ 2,638 คน อัตรารอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 90.5 โดยเอแบคโพลสำรวจเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 พบว่า ประชาชนให้คะแนนพึงพอใจเป็นอันดับ 1 จาก 19 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล
       
       “จากความสำเร็จในการบูรณาการโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ก้าวต่อไปจะเดินหน้าขยายสิทธิให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกกองทุนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม แม้ย้ายสิทธิก็ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเหมือนเคย รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกกองทุนจะต้องได้รับยาต้านไวรัสฯ ที่ระดับค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะเดินหน้าในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ จะขยายสิทธิเรื่องผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมทุกกองทุนด้วย ซึ่งจะมีการหารืออีกครั้ง ให้ได้ภายในปี 2556” รมว.สาธารณสุข กล่าว
       
       นายวิทยา กล่าวอีกว่า นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ใช่แค่เก็บเพราะต้องการในเรื่องของความมีศักดิ์ศรีเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ประสงค์จ่ายจะไม่มีศักดิ์ศรี มีเหมือนกันหมด แต่หลักๆ ต้องการพัฒนาการบริการมากกว่า ซึ่งตรงนี้ยังช่วยในเรื่องลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วย และยังเพิ่มศักยภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 226 แห่ง และพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ป่าเขาอีก 200 แห่ง ให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพิ่มระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ให้ประชาชนที่ใช้บริการที่ รพ.สต.ได้พบแพทย์เฉพาะทางผ่านระบบคอมพิวเตอร์ กระจายแพทย์ให้บริการที่ รพ.สต.ช่วยประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง และค่าเสียโอกาสได้ 4 เท่า และอีกนโยบายในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา คือ โครงการไข่ใหม่แลกยาเก่า ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นให้ประชาชนใช้ยาทุกชนิดอย่างเหมาะสมด้วย
       
       ด้านนพ.วีรวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท นับเป็นนโยบายที่ดี เพียงแต่ของไทยที่เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน อาจยังไม่พร้อมในสถานพยาบาลบางแห่ง อย่างในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้น อาจมีบางแห่งไม่เรียกเก็บ ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิของเขา อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศการร่วมจ่ายแพร่หลายมาก และมีวิธีที่ซับซ้อนกว่าของไทย อาทิ บรูไน จะเรียกเก็บกับผู้ป่วยประมาณ 25 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นผู้ป่วยโรคง่ายๆ ก็จะเรียกราคาถูก ผู้ป่วยโรคปานกลางก็จะเรียกเก็บอีกระดับ และผู้ป่วยอาการหนัก อาทิ ผ่าตัดสมอง หัวใจ หรือโรคมะเร็ง กลุ่มนี้จะไม่เรียกเก็บเลย เนื่องจากรัฐบาลบูรไนเห็นว่าเป็นโรคที่สามารถทำให้ผู้ป่วยล้มละลายได้ จึงไม่ควรเรียกเก็บ

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2555