ผู้เขียน หัวข้อ: แก้ค่ายาแพงแค่ปลายเหตุ จี้มีโครงสร้างราคายา  (อ่าน 562 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9799
    • ดูรายละเอียด
กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ชี้ทางออกแก้ค่ายาแพง ห้ามขายเกินราคากล่อง ซื้อที่ร้านยาเองได้ แค่ปลายเหตุ ไม่ได้จัดการต้นเหตุที่ทำให้ค่ายาแพง จี้ คกก. พัฒนาระบบยาแห่งชาติ พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ต่อ ครม. ระบุมีเรื่องโครงสร้างราคายา เป็นแนวทางกำกับราคายาเหมาะสม
       
       วันนี้ (15 มิ.ย.) น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาแพง หาทางออกโดยกำหนดห้ามขายยาเกินราคาหน้ากล่อง และออกใบเสร็จค่ายาแยกระหว่างค่ายาจริงๆ และค่าบริหารจัดการให้เห็นชัดเจน โดยผู้ป่วยสามารถขอใบสั่งยาไปซื้อยาเองที่ร้านขายยาได้ ว่า กระบวนการทั้งหมดไม่ได้เข้าไปจัดการเรื่องการกำหนดราคายาที่เหมาะสมเลย และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้จัดการกับต้นเหตุที่ปล่อยให้มีการกำหนดราคายาไม่เหมาะสมเป็นธรรม นั่นก็คือ เรื่องโครงสร้างราคายา ที่จะต้องมีการเปิดเผยตอนขึ้นทะเบียนยา และข้อมูลสถานะสิทธิบัตร เพื่อให้เป็นแนวทางในการกำกับและจัดทำราคายาต่อไป
       
       “ที่จริงแล้วบทบาทการแก้ปัญหาราคายาไม่เป็นธรรม เป็นของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มอบให้ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งวันที่ 15 มิ.ย. มีการประชุมครั้งที่ 2 ของปี 2558 กลุ่มคนรักหลักประกันฯ จึงได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายยงยุทธ เรียกร้องให้คณะกรรมการยาฯ พิจารณาเรื่องการจัดทำราคายาที่เหมาะสมเป็นวาระเร่งด่วน และเรียกร้องให้ผลักดันนำร่าง พ.ร.บ.ยา เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเร็ว ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการระบุถึงเรื่องโครงสร้างราคายาอยู่แล้ว ซึ่งขั้นตอนมาติดอยู่ที่ไม่ยอมเสนอให้ ครม. พิจารณา จึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการโดยเร็ว และยืนยันว่า ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องยาแพงที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ และเรื่องนี้มีอยู่ในกฎหมายยาฉบับใหม่” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
       
       น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้เร่งติดตามผลจากการทำบันทึกข้อตกลงส่งเสริมจริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความตระหนัก ซื่อสัตย์ ต่อการใช้ยา โดยเฉพาะแพทย์ผู้สั่งใช้ยา ผู้บริหาร หรือ ผู้มีอำนาจใน รพ. เภสัชกร บริษัทยาและผู้แทนยา เพื่อเป็นการปกป้องประชาชนให้ได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายของรัฐและประชาชน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 มิถุนายน 2558