ผู้เขียน หัวข้อ: 3 รพ.ชุมชนอุตรดิตถ์ขาดทุนยับ เหตุงบบัตรทองไม่พอ โอดรัดเข็มขัดเกินกำลังแล้ว  (อ่าน 512 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
3 รพ.ชุมชนอุตรดิตถ์ ย่ำแย่หนัก ขาดทุนยับ เหตุได้รับงบบัตรทองตามรายหัวประชากรน้อย พบ “รพ.บ้านโคก - รพ.ฟากท่า” เน้นทำงานป้องกันโรคได้ดี จนผู้ป่วยนอก - ใน ใช้บริการน้อยยิ่งได้งบตามผลงานต่ำ ขณะที่ “รพ.น้ำปาด” มีผลงานบริการมากจนงบไม่เพียงพอ โอดรัดเข็มขัดเกินกว่ากำลังแล้ว ยันปรับกลไกจัดสรรงบบัตรทองมาถูกทาง
       
       นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านโคก โรงพยาบาลฟากท่า และโรงพยาบาลน้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กตามแนวชายแดนไทย-ลาว เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการให้ประชาชน เนื่องจากประสบปัญหาวิกฤตทางระบบการเงินการคลัง จากจำนวนประชากรในความรับผิดชอบน้อย ว่า การบริหารระบบการเงินการคลังขณะนี้ กระทบทำให้โรงพยาบาลบางแห่ง เกิดวิกฤตสถานะการเงินติดลบต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ประชากรในพื้นที่รับผิดชอบน้อย ในพื้นที่พิเศษ พื้นที่ชายแดน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขอปรับปรุงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งสามารถจัดบริการได้ อย่างน้อยเบื้องต้นควรมีเงินเพียงพอที่จะทำงานได้เลย ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องเงินไม่พอจัดบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด
       
       “จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง แม้จะมีปัญหาวิกฤตการเงิน จากประชากรน้อย เช่น โรงพยาบาลบ้านโคก มีประชากรในความรับผิดชอบ 14,000 กว่าคน แต่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยจัดบริการเชิงรุกไปในพื้นที่ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ร้อยละ 90 เป็นภูเขา การเดินทางมาโรงพยาบาลยากลำบาก และบริการที่ให้แก่ประชาชน จะทำให้ปริมาณคนป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลลดลง ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ได้ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะให้บริการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งแก้ไข” ปลัด สธ. กล่าว
       
       ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ กล่าวว่า สาเหตุโรงพยาบาลทั้ง 3 โรงพยาบาล เกิดวิกฤตการเงินรุนแรงเรื้อรังซ้ำซาก สามารถเป็นตัวแทนของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาจำนวน 105 โรงพยาบาลในขณะนี้ กล่าวคือ ปัญหาประชากรน้อย โดยในโรงพยาบาลบ้านโคกและโรงพยาบาลฟากท่า ซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 2 หมื่นคน รายได้จากกองทุนที่จัดให้ในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งให้บริการผู้ป่วยนอกเป็นหลักนั้น จัดสรรให้ตามหัวประชากรเมื่อหักต้นทุนประสิทธิภาพพบว่าไม่เพียงพอเป็นชั้นแรก โรงพยาบาลได้ปรับประสิทธิภาพไปมุ่งเน้นบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากขึ้น จนผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในน้อยอย่างเห็นได้ชัด แต่เหมือนถูกลงโทษเพราะทำให้ได้รับงบบริการตามผลงานผู้ป่วยนอกผู้ป่วยในน้อยลงอีกชั้นหนึ่ง ในขณะที่โรงพยาบาลน้ำปาดเป็นโรงพยาบาลที่พัฒนาบริการอย่างมีประสิทธิภาพทุกดัชนี มีผลงานบริการสูงมากทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก แต่งบหลักประกันสุขภาพกลับไม่เพียงพอ เข้าลักษณะให้บริการมากยิ่งขาดทุน ทั้งนี้ พบว่าโรงพยาบาลทั้ง 3 โรงพยาบาลมีมาตรการรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเกินกำลังแล้ว
       
       นพ.บัญชา กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ไขที่ สธ. เสนอการบริหารงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมาถูกทางมา เพราะสอดคล้องกับปัญหาโรงพยาบาลที่มีวิกฤตในขณะนี้ โดยไม่ใช่การของบประมาณเพิ่ม แต่ต้องใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่าด้วยบริการที่ดีขึ้น โดยปรับการบริหารจัดการที่แทนจะแยกเป็นโรงพยาบาลเดี่ยวๆ ให้ร่วมกันจัดแผนบริการประชาชนเบ็ดเสร็จเป็นเครือข่ายระดับเขต ซึ่งจะทำให้สามารถลดการต้นทุนจากการจัดบริการที่ซ้ำซ้อน ลดการแข่งแย่งเงินกันเองตามเกณฑ์ผลงานที่ สปสช.กำหนดโดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ต้องปฏิรูปจากกลไกการเงินนำบริการ ให้เป็นกลไกการเงินสนับสนุนบริการ ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลในประเทศไทย ดังตัวอย่าง 3 โรงพยาบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ลงศึกษาในครั้งนี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 ธันวาคม 2557