ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักโรค Aphasia สาเหตุ “บรูซ วิลลิส” อำลาวงการ  (อ่าน 340 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ทำความรู้จักโรค Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ ที่ทำให้พระเอกนักบู๊ บรูซ วิลลิส ต้องยุติงานนักแสดง

วันที่ 31 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีพระเอกนักบู๊ บรูซ วิลลิส ป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย (aphasia) ที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้ภาษา ซึ่งข่าวอาการป่วยดังกล่าวของบรูซ วิลลิส แพร่สะพัดและก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ เนื่องจากเขาเป็นนักแสดงที่มีแฟน ๆ ชื่นชอบอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
“ประชาชาติธุรกิจ” จะพาผู้อ่านไปรู้จักโรคดังกล่าว ว่ามีอาการเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้

Aphasia คืออะไร ?
ข้อมูลจากเว็บไซต์พบแพทย์ เผยว่า Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย

ภาวะดังกล่าวมีอยู่หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ แบบบกพร่องด้านความเข้าใจ แบบบกพร่องด้านการพูด แบบบกพร่องในการพูดทวนซ้ำ แบบบกพร่องทั้งด้านการพูดและการทำความเข้าใจ ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป นอกจากรักษาที่สาเหตุแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการแก้ไขภาวะนี้ด้วยการบำบัดฟื้นฟู การใช้ภาษาและการสื่อสารร่วมด้วย

อาการเป็นอย่างไร
ภาวะ Aphasia ในแต่ละบุคคลจะมีอาการที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหายและระดับความรุนแรงของความเสียหายนั้น ภาวะนี้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อการพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน การเขียน การสื่อสารและการรับสาร เช่น พูดได้แค่ประโยคสั้น ๆ หรือพูดไม่จบประโยค ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคในการพูดหรือการเขียนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ใช้คำไม่เหมาะสม เลือกใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำ พูดคำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่เข้าใจในบทสนทนาของผู้อื่น เป็นต้น

โดยภาวะ Aphasia ในแต่ละรูปแบบจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตาม เช่น

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้ หรือ Wernicke’s Aphasia

กลุ่มอาการนี้เกิดส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย ใช้คำที่ไร้สาระ คำฟุ่มเฟือย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือ Broca Aphasia

กลุ่มอาการนี้เป็นผลมาจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีปัญหาด้านการสื่อสารโดยเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยคหรืออาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด รู้สึกผิดหวังหรือไม่พอใจหากผู้อื่นไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อ มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตในซีกขวา

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Conduction

ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global

กลุ่มอาการนี้เป็นผลจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีอาการของภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน

ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นว่าตนเองมีปัญหาในการใช้หรือการเข้าใจคำพูด การนึกคำ การเขียน และการอ่าน ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

สาเหตุของโรค
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวางจนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด ซึ่งภาวะ Aphasia อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะหรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง

นอกจากนี้ ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะ Aphasia มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด สำหรับภาวะ Aphasia แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

การวินิจฉัย
แพทย์จะตรวจร่างกาย ระบบประสาท การไหลเวียนของโลหิตบริเวณคอ และสังเกตการกลืนอาหารเพื่อทดสอบความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและลำคอ โดยใช้วิธีการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเครื่อง MRI ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นถึงความรุนแรงและจุดที่ได้รับความเสียหายในสมองของผู้ป่วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจทดสอบความสามารถทางการใช้ภาษาเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

การทดสอบการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ เช่น การทดสอบการมีส่วนร่วมในบทสนทนา การอ่าน การเขียน การเรียกชื่อสิ่งของทั่วไป การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ได้อ่านหรือได้ยิน ตอบคำถามด้วยคำว่าใช่และไม่ใช่ และการตอบคำถามทั้งแบบปลายเปิดและปลายปิด
ทดสอบความเข้าใจและการใช้คำศัพท์อย่างถูกต้อง
ทดสอบการทวนคำหรือประโยค การทำตามคำบอก

การรักษา
แพทย์จะรักษาภาวะ Aphasia ด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพทั่วไป ระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา และทักษะทางสังคมก่อนเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การบำบัดดังกล่าวมีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด โดยในขั้นตอนของการบำบัด แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้เมื่อถึงเวลาของตนเอง เข้าใจในข้อผิดพลาดทางการใช้คำและแก้ไขบทสนทนาที่ผิดพลาดนั้นได้

โดยทั่วไป อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ได้ผลดีขึ้นหลังทำการบำบัดติดต่อกัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการบำบัด โดยจากการศึกษาพบว่าการบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุดเมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะ Aphasia แต่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดสอบ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายในสมอง ช่วยในการฟื้นฟูการทำงานของสมอง หรือเป็นยาที่ช่วยทดแทนสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยที่ขาดหรือหมดไป

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะ Aphasia เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย หดหู่ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ

การป้องกัน
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Aphasia สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ
งดการสูบบุหรี่
ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น
ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน

31 มีค 2565
ประชาชาติธุรกิจ

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
พระเอก ดายฮาร์ด บรูซ วิลลิส วัย 67 ปี จำเป็นต้องยุติเส้นทางการแสดงแล้ว หลังจากป่วยเป็นโรค อะเฟเซีย ภาวะสูญเสียความสามารถในการใช้หรือเข้าใจคำพูด เนื่องจากสมองเสียหาย

วันที่ 30 มีนาคม 2565 สำนักข่าว เอพี รายงานแถลงการณ์จากครอบครัวของพระเอกนักบู๊ ซึ่งเผยแพร่ทาง อินสตาแกรม Willis  ว่าไม่นานมานี้ บรูซ วิลลิส ป่วยด้วยโรคอะเฟเซีย (aphasia) ที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้ภาษา

“ด้วยผลจากโรคนี้ และด้วยการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน บรูซกำลังออกจากอาชีพที่มีความหมายกับเขามาก” สมาชิกในครอบครัว บรูซ วิลลิส เขียนถึงแฟนๆ พร้อมระบุว่า

“เราจะฟันฝ่าเรื่องนี้ไปด้วยกันในฐานะครอบครัวที่เข้มแข็ง และอยากให้แฟนๆ ของเขารับทราบ เพราะเรารู้ว่าเขามีความหมายกับพวกคุณเพียงใด และพวกคุณมีความหมายกับเขาเพียงใด อย่างที่บรูซพูดเสมอ ว่า มีชีวิตอยู่อย่างเข้มแข็ง เราจึงตั้งใจจะทำเช่นนั้นด้วยกัน”

สมาชิกครอบครัวที่ร่วมลงนามในการส่งสารถึงแฟนๆ ครั้งนี้ ได้แก่ เอ็มมา เฮมมิง ภรรยาของบรูซ วิลลิส รวมถึง เดมี มัวร์ นักแสดงดังที่เป็นอดีตภรรยา พร้อมด้วยลูกๆ ทั้ง 5 คน ได้แก่ รูเมอร์ สกอต ทอลลูลาห์ เมเบิล และอีฟลีน

สำหรับโรคอะเฟเซีย มักเกิดจากสโตรก หรือการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หรือจากการบาดเจ็บที่สมอง และยังค่อยๆ พัฒนามาจากเนื้องอกที่ค่อยๆ โตอย่างช้าๆ ในสมอง หรืออาจเกิดจากเชื้อโรคที่ทำให้สมองเสื่อมสภาพ วิธีรักษาต้องบำบัดการพูด และเรียนการสื่อสารอื่นที่ไม่ต้องอาศัยการพูด

ข่าวอาการป่วยดังกล่าวของบรูซ วิลลิส แพร่สะพัดและก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์ เนื่องจากเขาเป็นนักแสดงที่มีแฟนๆ ชื่นชอบอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง

ตลอด 4 ทศวรรษที่บรูซ วิลลิสอยู่ในวงการ ผลงานของเขาทำรายได้ในบ็อกซ์ ออฟฟิศทั่วโลกแล้วมากกว่า 5,000 ล้านดอลาร์ หรือราว 165,000 ล้านบาท

Died Hard ผลงานลือลั่นของ บรูซ วิลลิส
ผลงานที่ทำให้แฟนๆ รู้จักและชื่นชอบมาก ได้แก่ Die Hard, Pulp Fiction และ The Sixth Sense เมื่อปีที่แล้ว มีผลงานภาพยนตร์ถึง 8 เรื่อง แต่ไม่ได้ฮือฮามากนัก

และเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีผลงานออกฉายเรื่อง  Gasoline Alley และ A Day to Die ทั้งยังมีภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไปแล้วอีก 6 เรื่อง จะทยอยฉายในปีนี้และปีหน้า เช่น Die Like Lovers, Corrective Measures และ The Wrong Place

31 มีนาคม 2565
https://www.prachachat.net/world-news/news-899265