ผู้เขียน หัวข้อ: "การแก้ปัญหาปลายเหตุ"  (อ่าน 586 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
"การแก้ปัญหาปลายเหตุ"
« เมื่อ: 30 สิงหาคม 2016, 01:21:43 »
 ปัญหาต่างๆทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมักจะมีการพิจารณาแต่ปลายเหตุ ดูว่าทำไมแพทย์จึงช่วยผู้ป่วยไม่ได้แต่ไม่เคยพิจารณาว่าทำไมผู้ป่วยจึงเป็นโรค เรามักจะแก้ตัวว่าผู้ป่วยไม่มีความรู้แต่เรากลับไม่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีความรู้และตระหนักถึงปัญหาจะไม่ได้ไม่เกิดปัญหา เราลองดูตัวอย่างปัญหาสักสี่ราย

รายแรก เด็กชายอายุหนึ่งปีกินน้ำมันมวยเข้าไปหนึ่งช้อนโต๊ะ (ขนาดที่รับประทานสูงกว่าขนาดที่ทำให้ตายสามเท่า) แพทย์ช่วยชีวิตไว้ไม่ได้ การรักษาไม่ถูกต้องถูกทำโทษแต่ไม่มีใครพิจารณาเรื่องการป้องกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีก ทุกคนเน้นเรื่องสอนแพทย์ให้ทราบวิธีการรักษาที่ถูกต้อง แต่ไม่ดูว่าทำไมเด็กอายุหนึ่งปีจึงรับประทานน้ำมันมวยเข้าไปหนึ่งช้อนโต๊ะ ใครเป็นคนป้อน หรือเก็บน้ำมันมวยอย่างไรทำให้เด็กเอาไปกินได้ จะมีวิธีการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในสหรัฐฯแพทย์ต้องแจ้งให้ฝ่ายกฎหมายทราบเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ปกครอง เป็นผลให้ผู้ปกครองจะระมัดระวังมากขึ้น

รายที่สอง บิดามีปอดเป็นจุด และเคยไอเป็นเลือด แพทย์เรียกให้มารับการรักษาแต่ผู้ป่วยไม่มา สามปีต่อมาบุตรของผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคขึ้นสมอง เมื่อได้รับการรักษาแล้วเด็กก็ยังปัญญาอ่อน มีการลงโทษแพทย์ที่ไม่สามารถรักษาให้เด็กเป็นปกติ แต่ไม่มีใครสนใจว่าการที่พ่อไม่รับผิดชอบ ทำให้ลูกป่วย อาจมีคนใกล้ชิดอีกหลายคนติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยรายนี้ คนไทยเห็นว่าเป็นเรื่องปกติเพราะผู้ป่วยไม่มีความรู้เราไม่คิดแก้ไขให้ประชาชนมีความรู้และรับผิดชอบ ถ้าผู้ป่วยไปรับการรักษา แพทย์จะต้องเรียกทุกคนในบ้านหรือสำนักงานมาตรวจเพื่อรับการรักษา ถ้ามีเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยถึงแม้ว่ายังไม่เป็นโรคเราก็ยังต้องให้ยาป้องกันเพราะเด็กถ้าเป็นโรคจะมีอาการรุนแรงถึงตายได้

ในรายนี้เราบอกไม่ได้ว่าเด็กรับเชื้อจากบิดาเมื่อใดเพราะอยู่ด้วยกันถึงสามปีหลังจากบิดาไอเรื้อรังโดยไม่ได้รักษา แต่ถ้าบิดายอมไปรักษาบุตรคงไม่เป็นโรค ในต่างประเทศใครที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคติดต่อแล้วไปติดให้ผู้อื่นโดยไม่ป้องกัน ถือว่ามีความผิด คนที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ เอช ไอ วี ไม่จำเป็นต้องบอกผู้อื่นแต่ถ้าไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่ป้องกัน ถือว่ามีความผิดต้องจ่ายชดเชยให้ผู้ที่รับเชื้อ

รายที่สาม ผู้ป่วยดื่มสุราไปขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ใส่หมวกนิรภัย เกิดอุบัติเหตุมีเลือดออกในสมอง ประเทศไทยรักษาให้ฟรีไม่คิดค่ารักษา แต่ถ้าแพทย์ช่วยเหลือไม่ถูกต้องผู้ป่วยถึงแก่กรรม แพทย์ถูกลงโทษต้องจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ป่วย แต่เราไม่มีการลงโทษผู้ป่วย ในต่างประเทศเขาจะต้องให้ผู้ป่วยต้องจ่ายค่ารักษาด้วยในฐานะที่ทำผิดกฎหมาย คนข้ามถนนในที่ห้ามข้ามถูกรถชน ประเทศไทยลงโทษคนขับรถฐานประมาทแต่ไม่ดูสาเหตุว่าถ้าไม่ข้ามในทางที่ห้ามข้าม อุบัติเหตุคงไม่เกิด คนไทยขาดวินัยเพราะยกประโยชน์ให้คนที่ด้อยกว่าทำผิดกฎหมายได้

รายที่สี่ มารดาตั้งครรภ์ รับประทานอาหารโดยไม่ควบคุมน้ำหนัก ทำให้เด็กในครรภ์ตัวใหญ่เกินกว่าที่จะคลอดทางช่องคลอดได้ บางทีแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนจะผ่าเอาเด็กออกก็ไม่ยอมเพราะกลัวเสียเงินมาก ในโรงพยาบาลชุมชนแพทย์ไม่กล้าผ่าเพราะไม่มีวิสัญญีแพทย์ ถ้ามีปัญหาแพทย์ถูกลงโทษ บางครั้งผ่าไม่ทันเพราะผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้า ปากมดลูกเปิดหัวเด็กออกมาแล้วแต่ติดไหล่ ถ้าแพทย์ไม่รีบช่วยเอาเด็กออก เด็กอาจจะตายหรือกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อน เมื่อแพทย์พยายามดึงออกมาโดยเร็วเพื่อช่วยเด็กก็อาจไปเป็นอันตรายต่อเส้นประสาทใต้รักแร้ทำให้แขนไม่มีแรง หรือกระดูกไหปลาร้าหัก แพทย์ต้องจ่ายชดเชยให้ผู้ป่วยทุกราย ไม่มีใครเอาเรื่องแม่ที่ไม่ยอมคุมน้ำหนักทำให้เกิดปัญหาทั้งที่ปัญหาเริ่มต้นอยู่ที่มารดาไม่คุมน้ำหนักตามที่แพทย์แนะนำ

อาจถึงเวลาที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตน ไม่ใช่โยนปัญหาที่ตนทำไปให้แพทย์อ้างแต่ว่าไม่ทราบ ทำอย่างไรให้ประชาชนสนใจดูแลสุขภาพของตนเองมีความรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีผลต่อสุขภาพของตนและผู้อื่น ประเทศไทยไม่มีการลงโทษให้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาในประเทศไทยคงแก้ไม่ได้


ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา