ผู้เขียน หัวข้อ: อย.ยันไม่ตั้งมาตรฐานโรงงานผลิตยาแผนไทยสูงเพื่อบีบผู้ประกอบการ  (อ่าน 789 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   14 มกราคม 2556 18:30 น.   

   


       อย.โต้ตั้งมาตรฐานโรงงานผลิตยาแผนไทยสูง บีบผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีเงินทุน ชี้อยู่ที่ยาที่ผลิต หากเป็นรายใหญ่ผลิตยาเยอะต้องลงทุนมากเป็นธรรมดา ส่วนรายย่อยจะมีแนวทางส่งเสริมมาตรฐานอย่างเหมาะสม พร้อมเล็งของบส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันสำหรับรายย่อยหลังเปิดเออีซี
       
       นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวร่าง พ.ร.บ.สมุนไพรไม่ได้รับความสนใจ และพาดพิง อย.ตั้งเกณฑ์ไว้สูงต้องตั้งโรงงานตามมาตรฐานจีเอ็มพีทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีเงินทุนดำเนินการนั้น อย.ขอชี้แจงว่า กรณียาแผนไทย อย.ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยเป็นอย่างดี และมีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาเพื่อสามารถจำหน่ายและใช้ในการดูแลสุขภาพโดยมีการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องให้รับกับสถานการณ์และความเป็นยาไทย แต่ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในคุณภาพของยา จึงทำให้ต้องเร่งรัดให้ผู้ผลิตยาแผนไทยทุกระดับพัฒนาการผลิตยาให้ได้มาตรฐานด้านการผลิต และพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสให้ยาไทยในต่างประเทศด้วย

   

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       "แต่การพัฒนามาตรฐานการผลิตยาเข้าสู่ระดับสากล ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นความจริง แต่อยู่ที่ยาที่ทำการผลิต โดยถ้าเป็นโรงงานผลิตยารายใหญ่ ผลิตยาจำนวนมากหลายตำรับ มีขายยาอย่างกว้างขวาง ก็ต้องมีมาตรฐานการผลิตที่มีความน่าเชื่อถือสูงกว่าเพราะถือว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภคกว้างขวาง จึงต้องลงทุนมากกว่า แต่ถ้าเป็นกรณีการผลิตในระดับกลางหรือระดับเล็กที่เป็นการทำยาตามองค์ความรู้แบบการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นยาพื้นๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนหรือก่อให้เกิดอันตราย รัฐก็มีแนวทางที่จะส่งเสริมให้มีมาตรฐานให้เหมาะสมกับการประกอบนั้นๆ ซึ่งคงไม่ใช่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูงเหมือนโรงงานใหญ่ๆ เป็นต้น" เลขาธิการ อย. กล่าว
       
       นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นกังวล คือการที่อุตสาหกรรมผลิตยาแผนไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดแตกต่างกันมาก พิจารณาจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตยาแผนไทยทั้งหมดกว่า 700 ราย จึงมีผู้ผลิตรายเล็กจำนวนหนึ่งที่อาจไม่มีศักยภาพในการแข่งขันหากมีการเข้าสู่ AECในอีก 3 ปีข้างหน้า ในเรื่องดังกล่าว อย.ได้เตรียมการขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาภายนอกมาให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนา สร้างและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร รวมทั้งพัฒนานักบริหารนวัตกรรม นักบริหารการค้า และการลงทุนด้านยา/บริการเภสัชกรรม ระดับกลางและสูง รวมทั้งการพัฒนาระบบ วิธีการ และห้องปฏิบัติการ กระบวนการตรวจสอบ พิสูจน์และควบคุมมาตรฐานยาแผนไทย เพื่อให้เกิดการยอมรับในด้านคุณภาพของยาต่อไป
       
       นพ.บุญชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากการยกระดับคุณภาพการผลิตยาแล้ว อย.ยังเห็นความสำคัญของประสิทธิภาพการรักษาและสรรพคุณทางยา ดังนั้น ในกระบวนการพิจารณาประสิทธิภาพของยา จึงต้องมีความพิถีพิถัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย แล้ว จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและสรรพคุณทางยาจริงตามฉลากยา ซึ่งนอกจากจะสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นกระบวนการคุ้มครอง ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญ มาตรฐานการขึ้นทะเบียนตำรับยาดังกล่าวก็ใช้กับทั้งยาแผนไทยและยาแผนทางเลือกอื่นๆ จากต่างประเทศ เพื่อความโปร่งใสในยุคการเปิดเสรีทางการค้า อย่างไรก็ตาม จากการที่มีความพยายามในการเสนอกฎหมายว่าด้วยยาแผนไทยเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัตินั้น ควรที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ ซึ่ง อย.จะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสมประโยชน์ของผู้บริโภค รวมทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพของยาแผนไทยต่อไป