แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - khunpou

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
16
 จดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนทุกคน ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จากสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
20 ตุลาคม 2553
เรื่อง ขอให้ประชาชนช่วยแจ้งให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ออกจากวาระการพิจารณาของสภาฯ
เรียน พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านผ่านสส.ทุกคน
   ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับประชาชนทุกท่านว่า     การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (Healthcare services) นั้น มีความแตกต่างจากการบริการอื่นๆอย่างไร?
   การบริการอื่นๆโดยทั่วไปเช่นการค้าขาย การโรงแรม การท่องเที่ยว การให้บริการด้านการศึกษา การขนส่ง ฯลฯนั้น ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ สามารถเลือกที่จะไปรับบริการหรือเลือกจะให้บริการหรือไม่ก็ได้ แต่การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิเลือกว่า จะไปรับบริการหรือไม่ก็ได้ แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ไม่มีสิทธิที่จะเลือกรักษาหรือไม่รักษาผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่ชอบโรงพยาบาลนี้ ไม่ชอบหมอคนนี้ ก็สามารถที่จะเลือกไม่ไปรับบริการก็ได้
   แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยได้ จะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยร้ายแรงรุมเร้ากี่ชนิด จะบาดเจ็บยับเยินแค่ไหน จะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่ แพทย์ไม่มีโอกาสเลือก ต้องพยายามทุ่มเทความรู้ทางการแพทย์(วิทยาศาสตร์) และเลือกเทคนิคและวิธีการ(ศิลปศาสตร์) ที่เหมาะสมและดีที่สุด  เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยของตนทุกคน ที่ถูกส่งมาขอความช่วยเหลือต่อหน้าต่อตา ให้กลับคงมีชีวิตและสุขภาพดีดังเดิม
  แต่การรักษาความเจ็บป่วยนั้น แม้แพทย์จะใช้ศาสตร์และศิลป์ที่คิดว่าดีที่สุดอย่างไรก็ตาม อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยนั้น อาจจะกลับคืนดีดังเดิมไม่ได้ เพราะมีคำกล่าวเตือนใจบุคลากรทางการแพทย์เสมอว่า “Medicine is a science of probability and an art of uncertainty” แปลว่า วิชาการแพทย์นั้น เป็นวิทยาศาสตร์ของความน่าจะเป็น (เป็นไปได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้) และเป็นศิลปะศาสตร์แห่งความไม่แน่นอน” หมายความว่า เมื่อหมอเลือกทำการรักษาตามตำราที่ได้เรียนมาแล้ว ก็อาจจะได้ผลดีหรือไม่ก็ได้ และวิธีการที่รักษานั้นก็อาจได้ผลไม่แน่นอนตามที่คาดหมายไว้ก็ได้ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ป่วยอาจจะมีอาการใหม่คือโรคแทรกซ้อน หรืออาการอันไม่พึงประสงค์จากยา หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือเป็นความรุนแรงลุกลามของโรคเอง ที่เลวร้ายทรุดลงไปกว่าเดิม ประกอบกับขีดจำกัดของยา วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยทุกชนิดให้หายกลับดีดังเดิมได้  หรือเป็นเพราะสภาพอวัยวะต่างๆของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ละเพศ และแต่ละวัย ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียก็ได้หรือศิลปะศาสตร์ของผู้รักษาเองที่ยังมิได้มีทักษะและความเชี่ยวชาญมากพอในการรักษาในแต่ละกรณีเฉพาะเป็นรายๆไป จึงทำให้อาการผู้ป่วยไม่ฟื้นคืนกลับมา
แต่อย่างไรก็ตามหมอทุกคนก็ได้รับการปลูกฝังจากครูอาจารย์เสมอว่า “First of all, do no harm” หมายความว่า สิ่งสำคัญที่สุดสิ่งแรกในการรักษาผู้ป่วยก็คือ อย่าทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย
  นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้วข้างต้นที่ทำให้ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดผลร้ายนั้น ยังมี สาเหตุสำคัญที่อาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยบางคน ที่อาจไม่ฟื้นจากโรคนั้น ได้แก่การที่ผู้ป่วย ไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำหรือข้อห้ามของแพทย์ เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูง หมอห้ามกินอาหารเค็ม ให้ลดเกลือ ลดน้ำหนัก ลดความเครียด งดดื่มเหล้า ห้ามสูบบุหรี่ และให้กินยาตามสั่ง แต่ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองแตก เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตถาวร
  ถ้ายังไม่มีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ผู้ป่วยที่ไปหาหมอแล้วอาการไม่ดีขึ้นนั้น ก็อาจจะยอมรับฟังการอธิบายของหมอว่า ทำไมจึงเกิดผลอันร้ายแรงต่ออาการของตนหรือญาติ แต่ถ้ามีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แล้ว ผู้ป่วยหรือญาติก็คงนำเรื่องไปร้องเรียน ฟ้องร้อง ฟ้องศาล ได้ 6 ขั้นตอน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์นั้น ต้องส่งคำชี้แจงในการรักษา รวมทั้งต้องไปให้การต่อคณะอนุกรรมการและกรรมการ ถ้าไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 46  และยังต้องถูกเรียกเก็บเงินล่วงหน้า เอาไปให้คณะกรรมการตามพ.ร.บ. สั่งจ่ายได้ตามอำเภอใจที่กำหนดเอาเอง
  ครั้นหมอบอกว่า จะเลือกรักษาผู้ป่วยที่ดูว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายและการร้องเรียน ประชาชนก็กล่าวหาว่าหมอไม่มีจรรยาบรรณ หรือใช้อารมณ์ข่มขู่ เอาประชาชนคนป่วยเป็นตัวประกัน
   ขอให้ผู้อ่านที่เป็นประชาชน ลองสมมติว่าตัวเองเป็นหมอ ต้องตกอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แบบที่กำลังจะเข้าสภาอยู่นี้ ท่านจะอยากเลือกรักษาผู้ป่วยหรือไม่?  หรือจะยอมรักษาผู้ป่วยทุกคนในจำนวนมากๆเหมือนเดิม โดยไม่ป้องกันความเสียหายต่อผู้ป่วย(โดยการส่งผู้ป่วยต่อไปรักษากับหมอคนอื่นและโรงพยาบาลอื่นที่อาจจะเก่งและมีอุปกรณ์การแพทย์หรือเทคโนโลยีทันสมัยและดีกว่าเรา)แลป้องกันความเสี่ยงต่อการจะติดคุกติดตารางของตนเอง
   ในปัจจุบันนี้นอกจากหมอจะไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยแล้ว หมอยังพยายามช่วยเหลือประชาชนจนสุดความสามารถทุกวิถีทาง ประชาชนป่วยมาก/ป่วยน้อย อาการหนัก/เบา ฉุกเฉิน/เร่งด่วนหรือไม่  เมื่อมาหาหมอแล้ว หมอก็พยายามตรวจรักษาให้ครบทุกคน แม้ว่าจะขาดแคลนหมอ แต่หมอหนึ่งคนก็ยอมตรวจรักษาผู้ป่วยวันละ100-200 คน ไม่มีเตียงนอน หมอก็พยายามหาเตียงเสริม เตียงแทรก หาที่ตั้งตามระเบียง หน้าห้องน้ำ หน้าบันได หน้าประตู ปูเสื่อให้นอน ฯลฯ เพื่อจะให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการดูแลรักษาเต็มที่เท่าที่จะทำได้ โดยที่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมิได้ลงมือแก้ไขปัญหาเหล่านี้แต่อย่างใด แต่หมอทั้งหลายต่างก็พยายามทำงาน เพื่อให้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพ ไม่เป็นสองรองใครในภาวะที่ขาดแคลนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนความผิดพลาด/เสียหายก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และก็มีกลไกในการตรวจสอบ/ ช่วยเหลือ/เยียวยาอยู่แล้ว หลายทาง เช่นมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกลไกอื่นๆที่หลายๆโรงพยาบาลก็ช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว รวมทั้งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา
 แต่ตอนนี้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พยายามผลักดันจะให้สภารับหลักการในการออกมาออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ที่สื่อมวลชนหลายฉบับเรียกว่ากฎหมาย “มีดหมอ”  แปลว่าอะไร? แปลว่าเป็นกฎหมาย “เชือดหมอ” ทั้งๆที่หมอส่วนมากพยายามดูแลรักษาผู้ป่วยจนเต็มที่ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และมอบเวลาให้ประชาชนถึงสัปดาห์ละ 80-120ชั่วโมง มีหมอบางคนต้องอญุ่ประจำโรงพยาบาลชุมชนคนเดียว ต้องช่วยดูแลรักษาประชาชน 20,000-30,000 คนทุกวันตลอดปีมาหลายสิบปีแล้ว
    ในทางตรงกันข้าม การบริการอื่นๆ เช่น การบริการด้านการศึกษา การขนส่งคมนาคม การเสริมสวย การประกอบอาหาร การขายสินค้าฯลฯ ทั้งผู้ที่จะไปรับบริการและผู้จัดให้บริการต่างก็มีสิทธิเสมอกัน ในการที่จะเลือกไปรับบริการและหรือให้บริการหรือไม่ก็ได้  และการบริการบางอย่างนั้น ผู้ให้บริการสามารถเลือกผู้รับบริการของตนและปฏิเสธไม่ให้บริการใครก็ได้ที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่ผู้ให้บริการกำหนด รวมทั้งสามารถจำกัดจำนวนผู้ที่จะไปรับบริการได้ด้วย ถ้าจำนวนบุคคลที่จะให้บริการมีขีดจำกัดแค่ไหน ก็จะปิดไม่รับผู้มาขอรับบริการทันที 
   ยกตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือบริการด้านการศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสามารถกำหนดคุณสมบัติและสอบคัดเลือกเอาคนเก่งคนดี มีคุณสมบัติตามที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต้องการ เข้ารับการศึกษาเล่าเรียน ตามจำนวนที่ครูอาจารย์จะสอนได้หรือตามจำนวนที่จะมีที่นั่งให้เรียนเท่านั้น และถ้าคนที่ได้รับคัดเลือกแล้วนั้นปฏิบัติตนไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ทำตัวเกเร หรือสอบไม่ได้ ก็ต้องถูกผู้ให้บริการคือครูอาจารย์ลงโทษให้ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไป ทั้งๆที่ครูอาจารย์นั้นเองก็อาจะเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อให้เกิดความบกพร่องในการให้การศึกษาด้วย แต่ก็ไม่เห็นมีประชาชนคนไหน ไปขอให้รัฐบาลออกกฎหมายมาเอาผิดครูบาอาจารย์และโรงเรียนว่าเลือกปฏิบัติและทำให้เกิดความเสียหายแก่อนาคตบุตรหลานของตนบ้าง
 ฉะนั้น ถ้าประชาชนยังอยากจะให้หมอทำงานตรวจรักษาผู้ป่วย โดยไม่เลือกปฏิบัติ เหมือนเดิม ช่วยเหลือเกื้อกูลเหมือนเดิม ตามวัฒนธรรมไทยที่โอบอ้อมเอื้ออารีต่อกันเหมือนเดิม ประชาชนต้องช่วยหมอ โดยขอให้ประชาชนและสส.ที่เป็นผู้แทนอันชอบด้วยกฎหมายของประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน ไปทำความเข้าใจกับรัฐบาล  ขอให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ออกจากสภาฯ เพราะประชานนั้น มีสิทธิที่จะเลือกให้หมอรักษาหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่หมอไม่มีสิทธิเลือกผู้ป่วย พยายามช่วยเหลือผู้ป่วยของตนทุกวิถีทางที่จะช่วยได้ และเมื่อเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ โรคแทรกซ้อน พิการ/ตาย แล้ว บ้านเมืองนี้ก็มีกลไกในการช่วยเหลือเยียวยา โดยไม่เพ่งโทษใคร จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และรัฐบาลก็ควรเลิกทำตัวอยู่เหนือปัญหา ยื่นแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมแก่ประชาชน 65 ล้านคนของประเทศ มิใช่เลือกคุ้มครองเฉพาะคน 48 ล้านคนเท่านั้น
  การออกกฎหมายของบ้านเมืองนั้น ย่อมต้องมุ่งหวังที่จะขจัดคนพาลและอภิบาลคนดี แต่พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....นี้ จะขจัดหมอดีออกกจากระบบดูแลรักษาประชาชน แต่ส่งเสริมคนพาลให้มาทำหน้าที่ควบคุมคนดี จนทนอยู่ทำงานเพื่อประชาชนได้
  ขอฝากความหวังดีต่อระบบบริการสาธารณสุข ประชาชนและประเทศชาติไว้ ในความรับผิดชอบของประชาชนทุกท่าน
ด้วยความรักและปรารถนาดีอย่างจริงใจ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
รองประธาน พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุลนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ พอ.นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต เทคนิกการแพทย์วัฒโนทัย ไทยถาวร เภสัชกรหญิงพัชรี ศิริศักดิ์
เลขาธิการ นพ.วรวุฒิ นรสิงห์
สมาชิก
   

17
ทำไมรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขยันผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย?
แต่กลับเพิกเฉยกับการแก้ไขสารพันปัญหาที่ดำรงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข?
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
   ในปัจจุบันข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขมี 2 เรื่องใหญ่ๆ คือข่าวโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนจนบางแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งแพทย์หลายคนมีความอึดอัดคับข้องใจ ในมาตรการของกรมบัญชีกลาง ที่บังคับให้แพทย์สั่งใช้ยาบางอย่างเท่านั้น เพื่อประหยัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ และมาตรการของสปสช.ในการบังคับเวชปฏิบัติของแพทย์
  จากการสัมมนาเรื่องแปดปีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งจัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ได้รับฟังความเห็นประกอบกับเอกสารของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้แสดงอย่างชัดเจนแล้วว่า โรงพยาบาลของรัฐบาลขาดทุน กระแสเงินสดติดลบเป็นจำนวน505 แห่งจากจำนวนโรงพยาบาล807 แห่ง คิดเป็นจำนวนโรงพยาบาลขาดทุนจำนวน 62% โดยมีโรงพยาบาลขาดทุนจนขาดสภาพคล่องทางการเงิน 175 แห่ง จนไม่มีเงินจ่ายค่ายาและบริษัทยาจะไม่ส่งยาให้ก็มี
 คณะกรรมการจัดงานสัมมนาได้สรุปปัญหาของการดำเนินงานแปดปีภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพดังนี้
1.งบประมาณรายหัวที่โรงพยาบาลได้รับไม่เพียงพอต่อการดำเนินการรักษาพยาบาลประชาชน
2.มาตรฐานงานคุณภาพบริการทางการแพทย์และศักยภาพงานบริการลดลง
3.ประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้น เพราะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในการจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพ และฟ้องร้องมากขึ้น
4. บุคลากรสาธารณสุขทำงานด้วยความเครียดและหวาดผวา เพราะกลัวจะถูกฟ้องร้อง จึงให้การตรวจรักษาเกินความจำเป็น (defensive medicine) ไม่กล้ารักษาผู้ป่วยอาการหนักหรือยุ่งยากซับซ้อน แต่ส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลระดับสูงมากขึ้น
   แต่แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะรีบเร่งหาทางดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่เห็นจะทำอะไรให้เป็นรูปธรรม ทำให้ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขถูกหยิบยกมากล่าวถึงอีกในระยะนี้ รัฐมนตรีก็โบ้ยให้ปลัดและสปสช.แก้ปัญหา (จากข่าวในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 กย. 2553 หน้า 11)  แต่ก็ยังไม่เห็นข่าวว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะรีบเร่งมีมาตรการแก้ปัญหาแต่อย่างใด  แต่ยังซ้ำเติมปัญหาข้อที่ 4 คือจะออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ให้ได้ ด้วยวิธีการต่างๆเท่าที่จะคิดได้ ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆทุกวัน ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากบุคลากรสาธารณสุขที่ได้ทำประชาพิจารณ์ใน 25 จังหวัดแล้ว พบว่า บุคลากรสาธารณสุขต่างก็ไม่เห็นด้วย 100 % และเรา(สผพท.)ได้ขอร้องให้รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสธ.ทำประชาพิจารณ์ในหมู่ประชาชน เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ก่อนจะดำเนินการใดๆในการออกพ.ร.บ.ให้มีผลใช้บังคับ
  แต่ทั้งรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ และปลัดไพจิตร วราชิต ก็มิได้นำพา ที่จะทำตามคำขอร้องของพวกเราผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาประชาชน
  จึงน่าสงสัยว่า ทำไมทั้งสองคนจึงขยันผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองฯอย่างสุดตัว แต่เมินเฉยในการแก้ปัญหา ทั้ง 4 ข้อข้างต้น อันจะช่วยให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขสามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรมีเวลาทำงานตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
แต่ทั้งสองคนยินดีที่จะรอให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหาย พิการ ตายเสียก่อน แล้วให้มาขอเงินชดเชยตามร่างพ.ร.บ.ที่คนทั้งสองกำลังใช้ความพยายามสูงสุดผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
   จึงมีคำถามต่อสาธารณชนว่า สมควรไว้วางใจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงยังอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงที่ต้องรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพประชาชนหรือไม่?



18
โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนเพราะอะไร
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย อพทยสภา

  ปัจจุบันมีข่าวแพร่หลายเรื่องโรงพยาบาลของรัฐบาลขาดทุนหลายแห่ง ยกตัวอย่างการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์วันที่ 30 กันยายน 2553หน้า A 6ว่า “จุรินทร์โบ้ยปลัด-สปสช.แก้โรงพยาบาลเจ๊ง”  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 30 กย.53 หน้า 11 ลงข่าวว่า รพ.สธ. 467 แห่งเสี่ยงขาดทุน   และมีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้นรุนแรง 175 แห่ง และมีภาวะขาดทุน(รายรับน้อยกว่ารายจ่าย) 505 แห่ง ส่วนไตรมาส 2 ของปี 2553 มีโรงพยาบาล 191 แห่งที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินชนิดที่ไม่มีเงินบำรุงไว้จ่ายเงินเดือนและเงินทำงานล่วงเวลาแก่ลูกจ้างชั่วคราว โรงพยาบาลอีก 467 แห่งอยู่ในสภาวะขาดทุนคือรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และมีแนวโน้มว่าจะขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรงในอนาคต และมีโรงพยาบาลบางแห่งไม่มีเงินจ่ายค่ายา จนบริษัทยาไม่ยอมส่งยามาให้อีกแล้ว

ทำไมโรงพยาบาลจึงขาดทุน? ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ มีรายได้น้อย แต่รายจ่ายมาก

ทำไมจึงมีรายได้น้อย? ก็เพราะได้รับงบประมาณจากระบบหลักประกันสุขภาพน้อยไป ไม่คุ้มกับรายจ่ายที่ใช้ในการรักษาประชาชน โดยงบเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.รับมาจากรัฐบาลนั้น ตกมาถึงมือโรงพยาบาลไม่ถึงครึ่ง เพราะต้องหักเงินเดือนบุคลากร และสปสช.เอาไปจัดสรรทำโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ของสปสช.ตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดต่อไปว่า สปสช.ทำผิดกฎหมายและรัฐมนตรีสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ใช้อำนาจของตนตามกฎหมาย ที่จะดูแลกำกับให้สปสช.ดำเนินการให้ถูกต้องตามหน้าที่ของสำนักงาน

สาเหตุที่โรงพยาบาลขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้น เนื่องจากการจ่ายงบประมาณจากสปสช.มายังโรงพยาบาลนั้น มีการจ่ายเป็นงวดๆและไม่ได้จ่ายตามค่าเหมาจ่ายรายหัวตามเม็ดเงินจริงที่สปสช.ได้รับมาจากเงินงบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ เงินเหมาจ่ายรายหัวจากรัฐบาลนั้น มาถึงโรงพยาบาลเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมา ทั้งนี้สปสช.จะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลในไตรมาสแรกเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น แต่เลขาธิการสปสช.บอกว่า ปีนี้จะจ่ายให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยในงวดแรกจะจ่ายให้โรงพยาบาลร้อยละ 50ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

   ในขณะที่นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่าการที่รพ.สธ.ขาดทุนเพิ่มเป็นเพราะรพ.จ่ายค่าตอบแทนหมอเพิ่มขึ้น ฉะนั้น รัฐบาลควรตั้งงบประมาณมาจ่ายค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างหากแยกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวในการรักษาพยาบาล ซึ่งต้องมาดูต่อไปว่า คำกล่าวนี้เป็นความจริงหรือไม่

  ถ้าเรามาอ่านพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 มาตรา26 (5) ได้บัญญัติไว้ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ “จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามที่คณะกรรมการกำหนดให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 46”

 ถ้าไปดูตามมาตรา 46 จะเห็นว่าได้บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจ่ายเงินตามมาตรา 18(13) ก่อน กล่าวคือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องจัดประชุมเพื่อให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการละผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี

   แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เคยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการสาธารณสุขเลย ตรงกันข้ามสปสช.ใช้เงินเป็นอำนาจในการ “สั่ง” ให้โรงพยาบาลทำการรักษาผู้ป่วยอย่างไรบ้าง เช่นสปสช.จะพิจารณาออกระเบียบการบริหารกองทุนเอง และกำหนดให้โรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้ให้บริการปฏิบัติตามระเบียบที่ทางสำนักงานเป็นผู้กำหนดใหม่ทุกปี ทั้งนี้สปสช.มิได้จัดการประชุมรับฟังปัญหาอุปสรรคและความไม่เพียงพอของงบประมาณที่โรงพยาบาลต้องใช้จ่ายในการให้บริการแก่ประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น เรียกว่าสปสช.กำหนดอัตราการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขตามอำเภอใจมิได้รับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในโรงพยาบาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ถ้าโรงพยาบาลไหนไม่ทำตามระเบียบของสปสช. สปสช.ก็จะไม่ส่งเงินมาให้ หรือถ้าโรงพยาบาลไหนส่งรายงานช้า สปสช.ก็จะหักเงินที่ควรจะส่งเพื่อเป็นการลงโทษ ทั้งๆที่โรงพยาบาลอาจมีภารกิจมากมาย ในการดูแลรักษาผู้ป่วย จนอาจจะส่งรายงานล่าช้าไปบ้าง

 ส่งวนงบประมาณทั้งหมดที่สปสช.ได้รับมานั้น เก็บไว้กินดอกเบี้ยหรือเปล่า เงินเป็นแสนๆล้าน คงได้ผลประโยชน์มากมายมหาศาล มีหน่วยงานไหนคอยตรวจสอบบ้าง?

   นอกจากนั้น สปสช.ยังได้ทำผิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการ “กันเงิน” เหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.ควรจะจ่ายตรงให้โรงพยาบาล เอามาบริหารจัดการเอง เช่นจัดซื้อยา จัดซื้อเครื่องมือแพทย์  จัดซื้อวัคซีนและจัดโครงการตรงที่เรียกว่า “Vertical program” การบริหารจัดการโรคเฉพาะ โดยการกำหนดยาและหลักเกณฑ์ในการใช้ยาบางประเภทเท่านั้น เป็นการละเมิดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์ ที่ไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน เพราะถ้าไม่ทำตาม protocol ที่สปสช.กำหนดไว้ โรงพยาบาลก็ไม่สามารถเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช.ได้

    เมื่อโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเริ่มขาดทุนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 หลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับเงินสำหรับการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากสำนักงบประมาณโดยตรง (แม้แต่เงินเดือนข้าราชการส่วนหนึ่งก็ต้องไปแบ่งมาจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลจ่ายให้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) แต่โรงพยาบาลจะได้รับเงินเหล่านี้หลังจากส่งรายงานการรักษาผู้ป่วยไปยังสปสช. แต่เงินที่ได้จากสปสช.นี้เป็นรายรับที่ขาดทุน(น้อยกว่ารายจ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายจริง)  ตามระเบียบที่สปสช.กำหนด ทำให้โรงพยาบาลต้องควักเงินเก่า(เงินบำรุง)ที่ยังเหลืออยู่มาใช้ในการดำเนินการรักษาผู้ป่วย แต่เงินบำรุงที่มีอยู่ก็ร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับจากสปสช.นั้น ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

     ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องหาทางหารายได้เพิ่ม แต่เมื่อไม่สามารถของบประมาณจากสปสช.พิ่มขึ้นได้ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อ “ขึ้นราคา” ค่ายา ค่าห้องพิเศษ ค่าตรวจพิเศษ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าทำบัตร และค่าบริการตรวจรักษาผู้ป่วยอีก 30-100 % (บางอย่างไม่เคยเก็บเงิน ก็เรียกเก็บ เช่นค่าทำบัตรผู้ป่วยและ ค่าบริการทางการแพทย์ เป็นต้น)  โดยมีระเบียบนี้ในปีพ.ศ. 2547 ซึ่งอัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากสปสช.ไม่ได้อยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลจะเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ  เพื่อนำรายได้จากผู้ป่วยส่วนนี้ ไปช่วยลดการขาดทุนสะสมจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

   การ “ขึ้นราคา” ค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาลดังกล่าว จึงทำให้เห็นว่า งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการข้าราชการจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ค่าใช้จ่ายของสวัสดิการข้าราชการนอกจากจะเพิ่มขึ้นเพราะโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขขึ้นราคาค่าบริการทั้งหมดแล้ว การที่แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายของตนแล้ว ยังเป็นเพราะว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งและการรักษาโรคหัวใจและโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนอื่นๆนั้น มียาใหม่ๆที่มีราคาสูงแต่มีคุณภาพในการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในขณะที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และจะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ที่รับรักษาผู้ป่วยที่ใช้สิทธิการรักษาจากสวัสดิการข้าราชการนั้น จะมีรายได้สูงและนำรายได้จากส่วนนี้ มาถัวเฉลี่ยกับการขาดทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพ

  ส่วนจะมีการทุจริตเบิกยาไปขายบ้าง ก็ควรดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย แต่กระทรวงการคลังกลับจะมาลงโทษข้าราชการ โดยการจำกัดการใช้ยา โดยที่ตัวเองก็ไม่มีความรู้ทางการแพทย์

ส่วนผู้ป่วยในระบบประกันสังคมนั้น ถึงแม้จะมีงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวน้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพ แต่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบประกันสังคมนั้น ได้ส่งตรงถึงโรงพยาบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และกลุ่มผู้ประกันตนนั้นอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน จึงไม่ป่วยบ่อยเหมือนกลุ่มเด็กและคนชรา และสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ก็น้อยกว่าสิทธิของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จึงทำให้โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยในกลุ่มประกันสังคมนั้น มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และสามารถนำมาช่วยเหลือการขาดทุนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อีกทางหนึ่ง

 แม้แต่โรงพยาบาลที่สังกัดราชการส่วนกรุงเทพมหานคร เช่นโรงพยาบาลวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งต่างก็ต้องรับงบประมาณจากสปสช.ในการมาจัดบริการให้แก่ประชาชนที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ต่างก็ประสบปัญหาการขาดทุนเช่นเดียวกัน
 ส่วนสปสช.นั้นเล่า มีเงินใช้จ่ายมากมาย ตั้งอัตราเงินเดือนและขึ้นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ตัวเองได้เอง (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า?)  และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกระเบียบให้เลขาธิการสปสช.มีอำนาจจ่ายเงินได้ครั้งละ 1.000 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนโครงการพิเศษต่างๆ เช่นการจัดงบประมาณสนับสนุนให้สมาชิกชมรมแพทย์ชนบทไปดูงานที่แอฟริกาใต้ การจัดงบสนับสนุนให้นักศึกษาโครงการพิเศษสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปดูงานที่สวีเดน โครงการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำ (CMU tract A และ B) รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ไปปฏิบัติงานที่ศูนย์แพทย์ชุมชน ทั้งๆที่แพทย์เหล่านี้มีหน้าที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว รวมทั้งจัดการอบรมต่างๆซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.เช่น การใช้เงินกองทุนโรคเอดส์ในการฝึกอบรมโดยมีเจ้าหน้าที่ของสปสช.เข้ารับการอบรมด้วย

ยังมีโครงการอื่นๆอีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นภาระหน้าที่ของสปสช.ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 แต่สปสช.ก็เลือกที่จะทำ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลได้รับงบประมาณที่ไม่คุ้มทุนที่ต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชน

แต่ทั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการสปสช.ต่างก็ออกมาพูดว่า การเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะหลายๆโรงพยาบาล ต่างก็เอาเงินบำรุงโรงพยาบาลมาจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ รวมทั้งต้องจ่ายเป็นเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่ที่ต้องจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว (บางคนก็ต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวมาเป็น 10-20ปี) เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถเพิ่มตำแหน่งข้าราชการหรือลูกจ้างประจำได้ เพราะการจำกัดตำแหน่งจากกพ. แต่โรงพยาบาลมีภาระงานมาก จึงต้องจ้างบุคลากรมาทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว โดยต้องใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจ่ายค่าจ้าง นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาล ไม่มีเงินเหลือมาช่วยชดเชยเงินที่ขาดดุลจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และบางโรงพยาบาลก็ไม่มีเงินเหลือพอที่จะจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนลูกจ้างเงินบำรุง รวมทั้งจ่ายค่าทำงานนอกเวลาราชการของบุคลากรของโรงพยาบาลอีกด้วย

     และตำแหน่งเลขาธิการสปสช.นั้นได้กำหนดไว้ในมาตรา 35 ว่า ให้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง แต่เลขาธิการสปสช.ได้เคยแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการปปช.หรือไม่?

  นอกจากนั้น สปสช.ยังได้ออกข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการับการรักษาพยาบาลพ.ศ. 2549 โดยข้อ 6 กำหนดอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งได้อ้างว่า เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากมาตรา 41 นี้ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้พิการ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร โดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็รับเป็นเจ้าภาพร่างพ.ร.บ.นี้และเสนอผ่านคณะรัฐมนตรี ที่ส่งร่างพ.ร.บ.นี้ ไปรอเข้าวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มประชาชนและเอ็นจีโอผู้พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้เพื่อจะให้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับให้ได้ ทั้งๆที่จำนวนเงินที่ได้รับจัดสรรตามมาตรา 41นั้น ได้กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว

  จากการสัมมนาเรื่องแปดปีภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยแพทยสภาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553ผู้จัดการสัมมนาได้สรุปข้อเสนอว่า

1.ควรแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยให้สปสช.ลดบทบาทมาเป็นระดับกรมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้ และจะช่วยลดงบประมาณการบริหารสำนักงาน รวมทั้งกำหนดค่าตอบแทนบุคลากรในสปสช.ให้เหมาะสม

2. ระบบการจัดสรรงบประมาณควรมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
2.1 แยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ออกจากงบบริการ
2.2 การจ่ายงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยควรจ่ายตามที่เป็นจริง

3. ควรมีระบบร่วมจ่าย (copayment)  คนจนฟรี คนไม่จนต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการจัดบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสำหรับประชาชนทุกคน โดยที่โรงพยาบาลไม่อยู่ในสภาพขาดทุนและขาดสภาพคล่องเช่นนี้

 และข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนในภาคราชการของแพทยสภา ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ควรแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจากกพ. เพื่อจัดสรรตำแหน่ง เงินเดือน ค่าตอบแทนให้เหมาะกับภาระหน้าที่ ความเสี่ยงภัยจากการติดโรค และความผิดชอบระดับสูง คือรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพประชาชน

19
จดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
9 ตุลาคม 2553
เรื่อง  ขอให้ชะลอการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย ผลการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=455&Itemid=45
    สืบเนื่องจกการที่ดิฉันพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ได้เคยเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และร้องขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงาระดับชาติ เพื่อทำประชาพิจารณ์ฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ว่าเห็นด้วยกับเนื้อหาและหลักการหรือความจำเป็นในการที่จะต้องตราพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไปแก้ไข/เพิ่มเติมพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เพื่อให้สามารถขยายความครอบคลุมในการคุ้มครองประชาชนให้คบถ้วน 65 ล้านคนทั่วประเทศ มิใช่คุ้มครองเฉพาะประชาชน 48 ล้านคนเท่านั้น และอาจแก้ไขให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเพิ่มวงเงินในการช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ท่านนายกฯได้กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบดำเนินการในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง ไม่ต้องมาให้ทางรัฐบาลรับผิดชอบในการทำประชาพิจารณ์ ความนี้เป็นที่ทราบกันดีจากการติดตามข่าวของสื่อสารมวลชนในประเทศ
  มาบัดนี้ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะไม่รับผิดชอบหรือสนับสนุนให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... แล้ว ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขยังพยายามขัดขวางไม่ให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อำนวยความสะดวกในการจัดทำประชาพิจารณ์โดยห้ามใช้อาคารสถานที่และห้องประชุมของโรงพยาบาล จัดการประชุมเพื่อทำความเข้าใจและทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... อีกด้วย เพราะผู้บริหารระดับสสจ.หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางแห่ง ไม่กล้าอนุญาตให้ใช้ห้องประชุมของโรงพยาบาลจัดการประชุม แต่ยอมจ่ายเงินให้ไปจัดที่โรงแรมแทน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะถูกสั่งห้ามจากผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขด้วยหรือไม่
  แต่ถึงแม้พวกเราบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... พวกเราก็ได้เสียสละเวลา กำลังกายและกำลังทรัพย์ของพวกเราเอง ในการไปจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ในหลายๆจังหวัด และยังประสานงานไปยังอีกหลายๆจังหวัด เพื่อจะรับฟังความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ครบทุกจังหวัด เพื่อจะนำผลการประชาพิจารณ์มาเสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนทั่วไป
  อนึ่งผลการทำประชาพิจารณ์ของพวกเรา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมมาจนถึงปัจจุบันนี้ สามารถทำได้แล้ว 25 จังหวัด โดยมีผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ จนถึงระดับหมออนามัยและอสม. ผู้ที่ได้รับฟังรายละเอียดและมีความเข้าใจร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับร่างของรัฐบาลแล้วไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้ทุกคน กล่าวคือไม่เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์
   การที่เรา walk out จากการประชุมร่วมของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็เพราะเราต้องการให้รอฟังการทำประชาพิจารณ์ให้ครบถ้วนตามที่เราได้แจ้งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทราบแล้ว และเราขอร้องท่านนายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลว่า โปรดตักเตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า “อย่าขัดขวาง”การทำประชาพิจารณ์ของข้าราชการใต้บังคับบัญชาของท่าน อันเป็นการขัดขวางการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และขอร้องอีกครั้งหนึ่งให้รัฐบาลชะลอการการนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จนกว่าการทำประชาพิจารณ์ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานทุกจังหวัดจะเสร็จสมบูรณ์ และขอร้องให้รัฐบาลโปรดรับทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....ในหมู่ประชาชนทั่วไปด้วย
ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.



20
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=567&Itemid=45
ประชาพิจารณ์ที่นครปฐม บุคลากร สธ.และ อสม.คับคั่ง ผลไม่เอา พ.ร.บ. 100%

วานนี้(8 ต.ค. 53) สสจ.นครปฐมร่วมกับสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) ได้จัดโครงการเสวนา-ประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..." ขึ้น ณ ห้องสวัสดี โรงแรมริเวอร์ จ.นครปฐม เวลา 13.00 - 16.30 น. โดยทีมวิทยากรประกอบด้วย นพ.สุรินทร์ ทองมา, พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล, พญ.สุธัญญา บรรจงภาค และ อ.สุกฤษฎิ์ กิตติศรีวรพันธุ์ ในงานมีบุคลากรสาธารณสุข อสม. และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมอย่างคับคั่ง จำนวน 600 คน ซึ่งทั้งหมด ลงประชามติ "ไม่เอา พ.ร.บ." 100%

21
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเตี้ยโดยรัฐมนตรีสาธารณสุขและเอ็นจีโอ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธรณสุขแห่งประเทศไทย

(สผพท.)

   สืบเนื่องจากบทความเรื่อง “แพทย์-ผู้ป่วย หันหน้าคุยกันดีกว่า” ของคุณสิรินาฏ ศิริสุนทร ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่5 ตุลาคม 2553 หน้า 11 คอลัมน์ “จับกระแส” เกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล  โดยมีข้อความโดยย่อว่า อยากเห็นแพทย์และผู้ป่วยหันหน้าคุยกัน โดยอ้างว่าฝ่ายผู้ป่วยที่เป็นเครือข่ายประชาชนกล่าวอ้างว่า มีแพทย์กลุ่มไหนบ้างที่คัดค้าน และอ้างว่า “เครือข่ายผู้ป่วยเองยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ทำให้แพทย์มั่นใจในการรักษาเพราะหากมีการผิดพลาด ก็จะมีกลไกรับภาระแทน”

  จะเห็นได้ว่าผู้เขียนบทความจับกระแสคนนี้ ยังไม่ได้อ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาล เพราะถ้าเธออ่านพ.ร.บ.นี้ทุกมาตรา ไม่ใช่อ่านเฉพาะหลักการและเหตุผลในการร่างกฎหมายแล้ว เธอ จะเข้าใจได้เลยว่า พ.ร.บ.นี้ไม่สามารถ “ทำให้แพทย์มั่นใจในการรักษาเพราะหากมีการผิดพลาด ก็จะมีกลไกรับภาระแทน”  อย่างที่เครือข่ายประชาชนกล่าวอ้าง

    ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบผลของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ดังนี้ มีคนอ่านหนังสือพิมพ์อ้างว่า ได้รับผลเสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวที่มีอคติ ใส่ร้ายให้ประชาชนคนหนึ่งให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูถูกเกลียดชังจากคนทั่วไป ผู้เสียหายไม่อยากเสียเวลาไปฟ้องศาล เพราะคิดว่าเสียเวลาค้าความ และกินเวลานานกว่าที่ศาลจะตัดสินคดี และอาจะไม่ชนะคดี ก็เลยพากันตั้งเครือข่ายผู้เสียหายจากการลงข่าวของนักข่าว และไปพยายามผลักดันรัฐบาลให้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของหนังสือพิมพ์ พ.ศ. .... โดยมีการเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหนังสือพิมพ์ฉบับละ 5 บาท(ทุกฉบับ)เข้ากองทุน ถ้าสำนักพิมพ์ไหนไม่จ่ายเงิน ให้คิดเป็นค่าปรับร้อยละ 2 บาทต่อเดือน  และถ้ายังดื้อดึงไม่จ่ายทั้งเงินสมทบและค่าปรับ ก็สามารถฟ้องศาลปกครองให้บังคับให้จ่ายเงิน หรือไปยึดทรัพย์สำนักพิมพ์มาจ่ายเงินนั้นๆ

  นอกจากนั้น ถ้าประชาชนไปร้องเรียนคณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้แล้ว นักข่าวหรือสำนักพิมพ์นั้นต้องทำหนังสือชี้แจงหรือไปให้ปากคำแก่คณะกรรมการ ถ้าขัดขืนไม่ทำตามคำสั่งของคณะกรรมการ จะมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

  ยังมีเขียนไว้ในพ.ร.บ.อีกว่า คณะกรรมการที่จะมาตัดสินว่า นักข่าวนั้นเขียนข่าวบิดเบือนไร้มาตรฐานหรือจรรยาบรรณหรือเปล่า คณะกรรมการนี้ มีผุ้ที่มาจากวิชาชีพสื่อสารมวลชนหรือสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเสียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน และเป็นเอ็นจีโอด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ

 ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในพ.ร.บ.กำหนดไว้ว่า ประชาชนที่อ้างว่าเสียหายนั้น มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการเพื่อขอทั้งค่าช่วยเหลือเบื้องต้นและค่าชดเชยความช่วยเหลือและค่าชดเชยทั้ง 2 คณะ ก็ยังมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้อีกทั้ง ต่อคณะกรรมการ พิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและ คณะกรรมการพิจารณาค่ชดเชยทั้ง 2 คณะ  และถ้าผู้ร้องไม่พอใจจำนวนเงินที่คณะกรรมการพิจารณาจ่ายให้ ก็อาจนำคดีไปฟ้องทั้งศาลแพ่งและศาลอาญาได้อีก

  ถ้าศาลตัดสินให้สำนักพิมพ์หรือนักข่าวจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย กองทุนที่เก็บเงินสำนักพิมพ์ล่วงหน้าไปแล้ว จะจ่ายเงินจากกองทุนตามคำสั่งศาลหรือไม่ก็ได้ (ถ้ากองทุนไม่จ่าย สำนักพิมพ์หรือผู้ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายเอง ทั้งๆที่กองทุนเรียกเก็บเงินล่วงหน้าไปแล้ว)

และถ้าศาลตัดสินว่านักข่าวไม่ได้ทำผิด ไม่ได้ละเมิดผู้ฟ้อง ผู้ฟ้องยังมีสิทธิกลับมาขอเงินค่าเสียหายจากกองทุนได้อีก ท่นผู้อ่านทั้งหลายเคยเห็นกฎหมายฉบับใด ที่เขียน “ให้” แก่ “ประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ฝ่ายเดียว” อย่างนี้บ้าง แต่ถ้าผู้ทำหนังสือพิมพ์หรือนักข่าว ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของคณะกรรมการตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ ท่านมีสิทธิอย่างเดียวในการคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการคือ ต้องไปฟ้องศาลปกครองเป็นช่องทางเดียวเท่านั้น

นอกจากนั้นถ้าสำนักพิมพ์ไหนถูกร้องเรียนและจ่าค่าเสียหายไปแล้ว ได้อบรมสั่งสอนให้นักข่าวปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการเขียนข่าว หรือบรรณาธิการได้สำนึกในความผิดแล้ว พ.ร.บ.ยังอาจจะนำความเห็นของคณะกรรมการไปอ้างต่อศาลให้ปราณีลดโทษจำคุกในคดีอาญาก็ได้ และคณะกรรมการอาจลดหย่อนอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนก็ได้ (ส่วนสำนักพิมพ์ที่ไม่เคยถูกร้องเรียน ยังไม่ต้องจ่ายค่าช่วยเหลือและค่าชดเชย ยังไม่มีโอกาสปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน ยังไม่มีสิทธิ “สำนึก” ในความผิด ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตราเดิมต่อไป ไม่มีสิทธิได้รับส่วนลดเงินจ่ายสมทบเลย

   เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้ว ท่านนักข่าวจะพอเข้าใจสาระของพ.ร.บ.ที่เอ็นจีโอสาธารณสุขและรัฐมนตรีสาธารณสุขกำลังผลักดันจะให้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่หรือไม่ แล้วสำนักพิมพ์และนักข่าวยังจะยอมหันหน้าไปคุยกับผู้ผลักดันกฎหมาย ที่ดูแล้ว เหมือนเป็นการ “ตั้งศาลเตี้ย” เพื่อชำระแค้นใครบางคนที่เป็นนักข่าวหรือไม่

  ยังมีหมัดเด็ดอีก ในมาตรา 50 ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับของรัฐบาลยังกำหนดล็อกสเป็คอย่างโจ๋งครึ่ม ให้เอ็นจีโอด้านสาธารณสุข เป็นกรรมการชุดแรก ในการมา “กำหนดระเบียบต่างๆ” ในการเลือกกรรมการชุดถาวรชุดแรก กำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายเงิน การตัดสิน การจ่ายเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนคณะกรรมการอีก

      ยังมีรายละเอียดอีกมากมายในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  ซึ่งประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะนักข่าวควรไปหามาศึกษาให้เข้าใจทุกตัวอักษร แล้วจะเห็นเจตนา “ตบทรัพย์” และเจตนา “ตั้งศาลเตี้ย” ดังกล่าว

 ฉะนั้น ถ้าจะเกิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการเขียนข่าวของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ ตามที่กล่าวมา ท่านนักข่าวทั้งหลายจะยอม “หันหน้ามาคุยกัน”กับเอ็นจีโอและรัฐมนตรีผู้ผลักดันพ.ร.บ.นี้หรือไม่?

 

 ขอสรุปว่าถ้าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับร่างของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นฉบับหลักในการพิจารณาถ้าร่างนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนแล้ว คงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างที่รมว.สธ.และเอ็นจีโอกล่าวอ้าง เพราะเป็นพ.ร.บ.ตั้ง “ศาลเตี้ย” มาประหารวงการสาธารณสุขให้ล่มสลาย ประชาชนส่วนรวมจะเสียประโยชน์ มีแต่เอ็นจีโอและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากกองทุนมากที่สุด

22
ไม่อยากแก้แค่ม.41 ก็ควรแก้ทั้งฉบับของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
     เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ นร 0503/6536 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ เพื่อให้ประธานสภาฯนำเสนอสภาผู้แทนพิจารณา พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนั้น คือพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยให้โอนภารกิจและงบประมาณทั้งหมดตามมาตรา 41 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปให้คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
  ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งบุคคลต่างๆที่สนับสนุนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ได้ออกมาพูดว่า ไม่สามารถขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุมประชาชน 63 ล้านคนได้ จึงเป็นการกล่าวโดยปราศจากความคิดเห็นบนรากฐานแห่งความเป็นไปได้ของการแก้ไขกฎหมาย
  เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เข้าคู่ไปกับการเสนอพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ย่อมสามารถทำได้ จะขยายความครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกคนของประเทศไทยก็ย่อมทำได้ แต่จะต้องถอนร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนั้น ออกมาจากการรอพิจารณาของสภาผู้แทนเสียก่อน เพื่อมาตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขให้ถี่ถ้วน รอบด้าน รอบคอบ โดยรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ฟังแต่เสียงเอ็นจีโอแค่หมื่นกว่าคน และฟังแต่เสียงรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง(แต่สติปัญญาอาจไม่สูง เพราะถูกบดบังด้วยอวิชชาและความโลภ)ของกระทรวงสาธารณสุข
   และก็ควรถามประชาชนทั้ง 63 ล้านคน ผ่านทางสส.ก็ได้ว่า ประชาชนอยากให้แก้แค่มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืออยากให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. .... ทั้งฉบับเลย ทั้งนี้มีเหตุผลที่ดีมากที่ควรจะแก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ด้วยเหตุผลดังนี้
1.       ทำไมประชาชนไทยทุกคนต่างก็มีเลข13หลักเป็นเลขประจำตัวประชาชนเหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ทำไมรัฐบาลจึงเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เสมอภาคและไม่เท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลเลือกให้สิทธิแก่ประชาชนเพียง 47 ล้านคนเท่านั้น ในการได้รับบริการสาธารณสุขครบวงจร(ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนเกิดโรค รักษาเมื่อเจ็บป่วยและฟื้นฟูสุขภาพ) แต่รัฐบาลทำไมไม่ยอมให้สิทธิเช่นเดียวกันนี้แก่ลูกจ้างเอกชน ที่ต้องจ่ายเงินของตนเองสมทบกับนายจ้างในอัตราส่วนเท่าๆกัน แต่รัฐบาลสมทบเพียง 0.55 เท่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจึงจะได้รับบริการสาธารณสุขเพียงบางส่วนเท่านั้น และรัฐบาลก็ไม่ให้สิทธิแก่ข้าราชการอีกประมาณ 6 ล้านคนเช่นเดียวกัน
2.       สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริหารการเงินล้มเหลว ผู้บริหารมีเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุมในอัตราสูง แต่ไม่สามารถบริหารการใช้งบประมาณให้เหมาะสม ไม่ตรงตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 รัฐบาลควรตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย และความสุจริต โปร่งใสด้วย รวมทั้งตรวจสอบว่า เลขาธิการสปสช.ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ตรวจสอบเนื่องจากดำรงตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการระดับสูงหรือไม่
3.       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่รับผิดชอบในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถบริหารจัดการให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีส่วนประกอบที่เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของการบริหารคือ คน เงิน ของให้เพียงพอและเหมาะสมต่อการบริหารงาน โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดบุคลากรทุกระดับ ขาดงบประมาณ(เป็นหนี้และขาดสภาพคล่องทางการเงิน) ขาดวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลต้องนอนตามระเบียงบ้าง หน้าบันไดบ้าง หน้าห้องส้วมบ้าง โรคระบาดมากมายเช่นไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มีการระบาดเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ต้องทำงานเกินอัตราการทำงานของมนุษย์ปุถุชนที่จะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน
   นับได้ว่ารัฐมนตรีล้มเหลวในการรับผิดชอบบริหารงาน ของกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. แต่แทนที่รัฐมนตรีจะคิดแก้ไขการบริหารจัดการใ นความรับผิดชอบของตนให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เขากลับไม่สนใจที่จะปรับปรุงการบริหารนี้ ดีแต่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ไปขึ้นคัทเอ๊าท์ โฆษณาประชาสัมพันธ์สิ่งที่ไม่ใช่หัวใจของงานของกระทรวงสาธารณสุข และยังไปสนับสนุนแต่การออกกฎหมายมาลงโทษข้าราชการ ทั้งๆที่ข้าราชการได้อดทนทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว ใครทนไม่ไหวก็ลาออกไป แต่คนที่ทนอยู่นี้ รัฐมนตรีก็ไม่เหลียวแลแก้ไข
  เมื่อรัฐบาลไม่อยากแก้แค่มาตรา 41 ก็ขอให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งฉบับ ยุบสปสช.หรือยุบกระทรวงสาธารณสุขไปเสีย เปลืองงบประมาณในการบริหารสำนักงาน เอาเงินบริหารเหล่านี้ มาพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ให้ประชาชนปลอดภัยและบุคลากรแพทย์มีความมั่นใจในการ “เสี่ยง” รักษาผู้ป่วย เพราะการบริการทางการแพทย์นั้น ผลที่ได้รับมันไม่แน่นอน 100% ฉะนั้นเกจิอาจารย์ทางการแพทย์จึงต้องเตือนแพทย์เสมอว่า “First of all,  DO NO HARM” หมายถึงว่า สิ่งแรกในการรักษาผู้ป่วยคือ ต้องระมัดระวังอย่าทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย เพราะในทางการแพทย์นั้น “เป็นวิทยาศาสตร์แห่งความ “เป็นไปได้(หรือเป็นไปไม่ได้ และเป็นศิลปศาสตร์ของความไม่แน่นอน”
MEDICINE IS A SCIENCE OF PROBABILITY AND AN ART OF UNCERTAINTY” 
  แพทย์ จึงต้องวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยแต่ละราย ตามหลักทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  และเลือกวิธีการรักษาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายของตน ตามศิลปศาสตร์การรักษา ที่ได้รับจากครูอาจารย์และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และอาการป่วยไข้กลับคืนดีดังเดิม
แต่ถึงแม้จะ “เลือก” ใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างดีแล้ว ผลที่ได้รับก็อาจจะไม่ดีอย่างที่คิดไว้  จึงสุ่มเสี่ยงต่อ “ผลเสียหาย” ได้  ถ้ามีพ.ร.บ.มาคาดโทษเอาไว้ก่อน แพทย์ก็จะขาดความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกรักษา และกระบวนการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่แพทย์คิดว่าดีกว่า ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ผลเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยทุกคน
     ฉะนั้น เมื่อไม่อยากแก้แค่มาตรา 41 ก็ขอเสนอให้แก้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพพ.ศ. 2545 ทั้งฉบับ และให้รัฐมนตรีพิจารณาตัวเองว่าสมควรจะทำอะไรต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิด และทำลายระบบบริการสาธารณสุขให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งไปกว่านี้

23
ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อ่านได้จากกระทู้ก่อนหน้านี้
http://www.thaihospital.org/board/index.php?topic=669.0        

แถลงการณ์สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

๓๐ กันยายน ๒๕๕๓  

ตามที่รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอแนะของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี" เห็นชอบในหลักการของ พ.ร.บ. และแนะแพทย์ฝ่ายคัดค้าน หาทางออกจากปัญหาพ.ร.บ.ผู้เสียหายทางการแพทย์ด้วยการบริหารจัดการผลกระทบ เมื่อวันที่๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ ดังปรากฏตามสื่อต่างๆนั้น

ตามข้อความว่า “...ทางสภาอาจารย์รามาธิบดีได้จัดทำประชาพิจารณ์ โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนของแพทยสภา แพทยสมาคม ฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เข้าชี้แจงตอบข้อข้องใจของบุคลากรโดยตรง การแสดงความเห็นที่อิสระดังกล่าว ได้นำเข้าเป็นข้อมูลในการประชุมกรรมการบริหาร กรรมการประจำคณะฯ ซึ่งมีมติร่วมกัน เห็นชอบในหลักการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ขอให้มีการทบทวนทำความเข้าใจ และแก้ไข ในบางมาตรา เช่น มาตรา 6(1) และ (2) มาตราที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของสภาวิชาชีพ ที่มาของกองทุน เป็นต้น ...”

สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีคำถามต่อคณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีและประธานสภาอาจารย์รามาธิบดี เกี่ยวกับการออกให้ข่าวและแถลงการณ์ของ รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า

     ๑.รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกแถลงการณ์นี้ในนามของคณะแพทย์โดยความเห็นชอบของคณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี สภาอาจารย์รามาธิบดี และบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีหรือไม่?

     ๒.การทำประชาพิจารณ์ที่กล่าวอ้างนั้น ประชากรของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีได้มีส่วนร่วมหรือไม่อย่างไร?เมื่อไร?ที่ไหน? จำนวนผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์เท่าไร? มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชากรคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีให้ทราบโดยทั่วกันแล้วหรือไม่?อย่างไร?

     ๓.หากไม่เป็นความเห็นชอบหรือมติของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีและสภาอาจารย์รามาธิบดีแล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีและสภาอาจารย์มีความเห็นและวินิจฉัยต่อประเด็นปัญหาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯฉบับที่กำลังเป็นปัญหานี้อย่างไร? และจะดำเนินการอย่างไรต่อการกระทำของรศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี

     ๔.หากเป็นไปโดยความเห็นชอบหรือมติของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีและสภาอาจารย์แล้ว รามาธิบดีพร้อมที่จะนำร่องศึกษาผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ โดยการจำลองกลไกตามร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาดำเนินการหรือไม่ ?
-----------------------------------------------------------------------

24

สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
30 กันยายน 2553
เรื่อง ขอให้คว่ำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขพ.ศ. .... ฉบับรัฐบาล
เรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน
     เนื่องจากขณะนี้ มีร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  6ร่าง (ไม่นับรวมร่างของท่านสส.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะและพวก ที่ได้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกจากระเบียบวาระแล้ว)ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้
      พวกเราที่เป็นบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลรักษาสุขภาพและชีวิตของประชาชนไทยทั้งประเทศ ที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล ที่เสนอเข้าสู่สภาโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี )อย่างละเอียดและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทุกมาตราแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า พ.ร.บ.นี้มีการกล่าวนี้ เขียนวัตถุประสงค์อย่างสวยงามและน่าเชื่อถือว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
    แต่ถ้าไปอ่านรายละเอียดในเนื้อหาครบทุกมาตราแล้ว จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลนี้ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ต่อประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขอย่างแน่นอน พวกเราซึ่งต่างคนต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วย และต้องการให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.นี้ ออกมาทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งฝ่ายประชาชนทั่วไป (ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะที่เป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อ ฉบับของน.ส.สารี อ๋องสมหวังและคณะ) และความเห็นจากบริกรสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้พ.ร.บ.นี้ก่อให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และไม่ทำลายระบบบริการสาธารณสุขให้มากไปกว่านี้
        แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขและนายกรัฐมนตรีก็มิได้นำพา กับการเรียกร้องของพวกเรา กลุ่มบริกรสาธารณสุข แต่เปิดหูฟังเฉพาะพวก NGO สาธารณสุขที่เสนอร่างพ.ร.บ.นี้ฝ่ายเดียว  ที่ต้องการผลักดันให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เพื่อให้สภาฯรับหลักการร่างพ.ร.บ.นี้ โดยอ้างว่า ให้ไปแก้ไขในวาระที่ 2
        แต่พวกเราคือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายส่วน ที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้ และได้มองเห็นผลร้ายที่จะเกิดจากพ.ร.บ.ฉบับร่างของรัฐบาล จึงได้พยายามคัดค้านและเสนอรัฐบาลให้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ มาทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล พวกเราจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท) ขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้เพื่อไม่ให้เกิดการตราพระราชบัญญัติ ที่จะก่อให้เกิดหายนะต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย ทั้งนี้ เราไม่เชื่อว่าการแก้ไขพ.ร.บ.นี้ในวาระที่ 2 จะสามารถแก้ไขพ.ร.บ.นี้ ให้เกิดเป็นผลดีแก่ประชาชนตามที่กลุ่ม NGO และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอ้าง เพราะถ้าดูจากพฤติกรรมของรัฐมนตรีคนนี้แล้ว จะเห็นว่าเราไม่สามารถจะแก้ไขพ.ร.บ.นี้ได้ในวาระที่ 2 ตามที่ NGO และนายจุรินทร์ฯกล่าวอ้าง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
1.   ในการที่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เหล่านี้จากหลายส่วน ที่ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กับคณะกรรมการกฤษฎีกา หลายประเด็น หลายวาระ แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ท้วงติง และมีมติให้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงสาธารณสุขแล้วหลายเรื่องหลายครั้ง (ตามบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องที่ 740-741/2552)  แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็มิได้นำพากับมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ประการใด กลับแก้ไขมติของคณะกรรมการกฤษฎีกากลับคืนไปเหมือนเดิม(คือไม่เชื่อตามมติคณะกรรมการกฤษฎีกา)
2.   แม้แพทยสภาซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ตามบทบัญญัติในพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525ม.6อนุ 6) และมีวัตถุประสงค์ตามม.7 (5)คือให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ) จะได้มีความเห็นขอให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณามาตรฐานการประกอบวิชาชีพ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบตามที่แพทยสภาเสนอ กระทรวงสาธารณสุขก็ไปแก้กลับตามที่ NGO เสนอ
3.   แม้จะมีการท้วงติงจากแพทยสมาคม กพ. กพร. กระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เป็นอนุกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกับกฤษฎีกา ในบันทึกที่ 740-741/2552 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ว่า สามารถขยายมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ครอบคลุมช่วยเหลือประชาชนทุกคนในประเทศไทยได้ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มิได้นำพา
4.   แม้ทางสผพท.และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จะได้ร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลออกมาจากระเบียบวาระการประชุมสภาก่อน โดยขอให้ทำประชาพิจารณ์ในระดับชาติ นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้สนใจที่จะรับฟัง และดำเนินการให้เหมาะสม แต่มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการแทน
5.   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษของแพทยสภา ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาว่า ถ้ามีคนสามารถไปรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขได้ว่า มีคน 80% ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับ
ความเสียหายฯฉบับรัฐบาลแล้ว ก็จะยอมถอนร่างพ.ร.บ.นี้ ออกจากระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
6.   นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้ยืนยันมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ว่า ไม่สามารถขยายความครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ แม้จะมีความเห็นจากนักวิชาการด้านกฎหมายและด้านการแพทย์และสาธารณสุขหลายท่าน รวมทั้งกรรมาธิการสาธารณสุขของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะให้ความเห็นและให้คำแนะนำว่าสามารถทำได้ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ก็มิได้สนใจจะพิจารณาใหม่
7.    สืบเนื่องจากข้อ 5 คณะกรรมการแพทยสภาจึงได้แต่งตั้งกรรมการ 68 คน จาก 9 องค์กรของผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งอสม.และประชาชน ให้แยกย้ายกันไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ และจากประชาชนผู้ที่จะมีผลกระทบจากพ.ร.บ.นี้  เพื่อจะได้นำมติมาเสนอต่อรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่ครบถ้วนและยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ได้สรุปผลทั้งหมดต่อรัฐมนตรีและสาธารณชนท่าวไป
 อนึ่งในการดำเนินการนี้ได้ประมาณหมื่นคนเศษ พบว่า ผู้ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นของพ.ร.บ.นี้ฉบับร่างของรัฐบาล มากกว่า 90% ต่างแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับร่างของรัฐบาล และต้องการให้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกมาจากระเบียบวาระการประชุมสภา
8.   นายจุรินทร์ฯ กลับไม่รอฟังผลการทำประชาพิจารณ์ของแพทยสภา แต่สั่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาพิจารณาพ.ร.บ.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงคือตามใจ NGO เพราะตั้งกรรมการสมานฉันท์ โดยมี NGO และกลุ่มผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มากกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ โดยเลือกที่จะเชิญแพทย์ที่มีแนวโน้มจะยอมทำตามความต้องการของงรัฐมนตรี เช่นโรงเรียนแพทย์รามาฯ และยกเว้น แพทย์ที่แสดงตนคัดค้านพ.ร.บ.นี้ ไม่ให้เป็นกรรมการ ฉะนั้น แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยจึงใช้สิทธิในการเดินออกจากห้องประชุม เพราะเห็นว่าจะประชุมไปก็คงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เนื่องจากเป็นเสียงส่วนน้อยจาการมีอคติของนายจุรินทร์ฯ
9.   การที่นายจุรินทร์และพวก NGO และหมอบางส่วน ต้องการผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่อว่าต้องการมีผลประโยชน์จากการมีส่วนมาบริหารกองทุนที่จะตบทรัพย์จากโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน โดยได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 50 ของพ.ร.บ.คุ้มครองฯฉบับร่างของรัฐบาลให้ NGO มาเป็นกรรมการ 6 ใน 11 คน กรรมการที่เหลือก็คงตั้งมาจากปลัดกระทรวงและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นเด็กใต้บังคับบัญชาที่รัฐมนตรีสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจ จึงเป็นการกำหนดตัวผู้ทำงานร่างระเบียบและกำหนดผู้จะมาเป็นกรรมการถาวรชุดแรกได้เลย เป็นการบ่งชี้ถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ร่างพ.ร.บ.และผู้ผลักดันให้เกิดกฎหมาย ซึ่งก็มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เช่นเป็นผู้ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แล้วก็มาเป็นเลขาธิการ ร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แล้วก็มาเป็นเลขาธิการ ร่างพ.ร.บ.สสส. แล้วก็มาเป็นกรรมการ รวมทั้ง NGO สาธารณสุขแต่ละคน ต่างก็มาเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเหล่านั้นไขว้กันไปมาหลายองค์กร และเชื่อได้ว่า พวกกลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะมาเป็นกรรมการในคณะกรรมการตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ ตามที่กำหนดไว้แล้วในมาตรา50 ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เป็นแน่แท้ เรียกว่า ต้องการได้รับผลประโยชน์จากกองทุนตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ มากกว่าที่จะดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กล่าวอ้าง
10.   สผพท.จึงได้รวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 20,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากกบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และได้เสนอต่อท่านรองประธานรัฐสภาแล้ว เพื่อให้นำร่างพ.ร.บ.ของเราเข้าประกบร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาล เพื่อให้พวกเราประชาชนในกลุ่มนี้ มีสิทธิไปเป็นกรรมาธิการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับนี้ ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม NGO อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
   แต่ทำไมกลุ่ม NGO จึงไม่ต้องการกฎหมายที่ดี เป็นธรรม และจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป แก่บุคลากรสาธารณสุข และงบประมาณแผ่นดินจากเงินภาษีประชาชน จะเห็นได้ว่ากลุ่ม NGO อ้างประชาชนนี้ พยายามกดดันรัฐมนตรีและรัฐบาลทุกวิถีทาง ที่จะให้รีบเร่งนำพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเร่งด่วน ทำไมจะออกกฎหมายทั้งทีจะต้องรีบเร่งกันถึงขนาดไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงอะไร จากบริกรสาธารณสุข  รัฐบาลต้องตอบคำถามพวกเรา ว่า ทำไมต้องรีบเร่งขนาดนี้ รัฐบาลไม่ฟังเสียงพวกเรา ซึ่งมีมากกว่า 10,000 รายชื่อ มากกว่ากลุ่ม NGO ที่เสนอกฎหมาย รัฐบาลอยากจะมีผลประโยชน์จากกองทุนนี้เหมือนกลุ่ม NGO หรือไม่?
  พวกเราเห็นว่ารัฐบาลมีอคติ และเข้าข้าง NGO แต่ไม่ฟังเสียงข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานรักษาสุขภาพและรักษาชีวิตประชาชน  เราจึงต้องร้องเรียนมายังผู้แทนราษฎรทุกท่าน โปรดพิจารณาคำร้องขอของเราว่า

1.   ขอให้ “คว่ำ” ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  ถ้ารัฐบาลยังดันทุรังเอาเข้าพิจารณาใน
สภาผู้แทนตามการกดดันของ NGOสาธารณสุข และขอให้การพิจารณานี้เป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย และถ่ายทอดให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับฟัง เพื่อประชาชนจะได้รับทราบว่า สส.คนไหนบ้างที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ   และรักษาความสามัคคีและสมานฉันท์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง  พวกเราจะได้พิจารณาเลือกตั้งกลับเข้าสภาฯอีกครั้ง เพื่อจะมาทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มอย่างที่รัฐบาลชุดนี้กำลังดำเนินการอยู่
2.   ขอให้รอพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของพวกเราที่ได้เสนอต่อสภาผู้แทนแล้ว
3.   ขอให้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาฯ แทนพวกเราด้วยว่า ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ของกระทรวงสาธารณสุขนั้นขาดทั้งคนทำงาน ขาดเงินงบประมาณในการตรวจรักษาประชาชน จนโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินและมีงบดุลติดลบ ขาดเตียง ขาดยา และขาดเวชภัณฑ์ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งการขาดแคลนเหล่านี้เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ป่วยและบริกรสาธารณสุขมีความเสี่ยงต่อความเสียหาย แต่แทนที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะไม่พยายายามแก้ไขความขาดแคลนเหล่านี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่ประชาชน แต่รัฐมนตรีกลับลอยตัวเหนือปัญหาเหล่านี้ โดยกลับจะออกกฎหมายมาลงโทษแก่บริกรสาธารณสุขฝ่ายเดียว สมควรไว้วางใจให้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่?
ขอแสดงความนับถือ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.



25
               การประชุมสมาชิกแพทยสภา
         เรื่อง ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ....



1 หลักการเหตุผล
ด้วยรัฐบาลได้นำร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ....   เสนอสู่
ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และครม.ได้ส่งร่าง พรบ.นี้เข้าสภาเพื่อให้สภาพิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไปเมื่อ 27 เมษายน 2553 ซึ่งสภาได้บรรจุวาระพิจารณาแล้ว กระทั่งมีแพทย์/ทันตแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร/นักกายภาพบำบัด/นักเทคนิคการแพทย์/บุคลากรสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกสาขา  ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง     ได้ออกมาทัดทาน/ทักท้วง เนื่องจาก ร่าง พรบ.ดังกล่าวหากเป็นกฎหมายแล้ว  จะกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ และกระทบต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์และวิชาชีพสุขภาพอื่นโดยตรง โดยได้เสนอให้รัฐบาลนำร่าง พรบ.ดังกล่าวมาทำประชาพิจารณ์ในผู้ที่เกี่ยวข้อง และในหมู่ประชาชนทั่วไปอันเป็นไปตามหนทางอันจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย  และตามที่กฎหมายบัญญัติไว้   ทั้งนี้เนื่องจากก่อนนี้   รัฐบาลไม่ได้นำร่างพรบ.ที่ เสนอจะมาใช้บังคับมาให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป   ได้มีโอกาสให้ความเห็นแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกันมีคนกลุ่มหนึ่งได้อ้างประชาชน ได้ผลักดัน ร่าง พรบ.นี้อย่างผิดปกติวิสัย โดยไม่มีประชาชนกลุ่มอื่นใดได้แสดงความเห็นสนับสนุนโดยชัดเจน บุคคลเหล่านั้นอ้างตนเป็นผู้เสียหายฯนับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ใช่เป็นประชาชนทั่วไป  แต่ได้อ้างว่าประชาชนทั่วไปต้องการร่าง พรบ.ฉบับนี้  และประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์  ต่อมามีประชาชน กว่า 20,000 คน และ อสม.ออกมาคัดค้านร่าง พรบ.นี้แล้ว  ประกอบกับ แพทย์ ๙ องค์กรที่จัดตั้งตามประกาศของแพทยสภาได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์เบื้องต้นในผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และ สาธารณสุข ในเดือนกันยายน 2553 นี้ กว่า 10 000  คน  พบว่าไม่เห็นชอบกับร่าง พรบ.นี้   
ด้วยแพทยสภามีสมาชิกที่มีฐานะทางนิตินัย เกี่ยวข้องกับ ร่าง พรบ.นี้ หากได้นำออกมาเป็น
กฎหมายบังคับใช้  ประกอบกับมีแพทยสภาสมาชิก จำนวนกว่า 50 คน ตามกฎหมาย ได้เสนอให้แพทยสภา จัดประชุมสมาชิกแพทยสภาในเรื่อง ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ... โดยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พรบ.นี้ และเพื่อจะได้มีมติของสมาชิกแพทยสภาตามกฎหมายร่าง พรบ.นี้ ทั้งนี้ตาม มาตรา 12 อนุ 2 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พศ. 2525 อันมุ่งหมายให้เกิดความสมดุลย์  และความสงบสุขของสังคมแพทย์ และ สังคมประเทศชาติสืบไป

2. วัตถุประสงค์
1. เสนอข้อเท็จจริง และข้อมูล เกี่ยวกับ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ....  แก่   
    สมาชิกแพทยสภา
   2. รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกแพทยสภาต่อร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ....   
3. เพื่อให้ได้ความคิดเห็นของสมาชิกแพทยสภา เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข  รัฐบาล  และรัฐสภา ตาม
    วัตถุประสงค์ของแพทยสภา ในมาตรา 7 อนุ 5 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พศ. 2525






3. วิธีการดำเนินงาน
   1. จัดประชุมสมาชิกแพทยสภา ตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม พศ.2525 มาตรา 12 อนุ 2 
2. ดำเนินการจัดประชุมสมาชิกแพทยสภาตามพื้นที่ เป็น 18  เขตของเขตการสาธารณสุข หรือดำเนินการใน 5 พื้นที่ของประเทศ  ได้แก่ กทม.และปริมณฑล  และ 5ภาคคือ ภาคเหนือ ภาคใต้  ภาคอิสาน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
   
4.สถานที่และวันเวลาจัดประชุม
ครั้งที่ 1 จัดประชุมที่ห้องประชุม ไพจิตรปวะบุตร ในเขต ๑  หรือ พื้นที่ กทม. และปริมณฑล 
         ในวันที่ 5 ตุลาคม 2553
ครั้งต่อไป จัดในเขต ๒ ถึง ๑๘ หรือ ในพื้นที่  5 ภาคตามระบุ  โดยจัดตามเหมาะสมภายในเดือนตุลาคม ถึง     
         พฤศจิกายน 2553 โดยใช้สถานที่ดังนี้
          1. ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่มีคณะด้านการแพทย์ ด้านสุขภาพ และด้านสาธารณสุข
              หรือ  2.ห้องประชุมวิทยาลัยสาธารณสุข
              หรือ  3.ห้องประชุมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

5. งบประมาณ  จากแพทยสภา

6. ผลที่คาดว่าได้รับ
สมาชิกแพทยสภา  ได้ทราบถึงข้อมูล ความเป็นมา และรายละเอียดเนื้อหาร่าง พรบ. และ ได้พิจารณา มีมติของสมาชิกแพทยสภา ต่อร่าง พรบ.นี้ เพื่อ แพทยสภา เสนอรัฐบาล รัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาอันเป็นองค์กรทางกฎหมายด้านแพทย์ของประเทศต่อไป  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและความสงบสุขของสังคมแพทย์และสังคมประเทศชาติโดยรวม

      
กำหนดการและวาระประชุมสมาชิกแพทยสภา
เรื่อง ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ...
ห้องประชุม ไพจิตร ปวะบุตร
วันที่ 5 ตุลาคม 2553
……………………………………………

เวลาประชุม 9.00 – 15.30 น.

วาระการประชุม

วาระที่ 1    ประธานแจ้งเพื่อทราบ  และ สภาพปัญหาของร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ
                         สาธารณสุข พศ. ...  โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

วาระที่ 2    รายงานความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของแพทยสภา เกี่ยวกับ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจาก
                         การรับบริการสาธารณสุข พศ. ...  โดย นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์  เลขาธิการแพทยสภา

วาระที่ 3    สาระสำคัญ และรายละเอียดเนื้อหา ของ  ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการ
                         สาธารณสุข พศ. ... : สถานภาพของร่าง พรบ.นี้ และกิจกรรมของกลุ่มแพทย์เกี่ยวข้องกับ
                         ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ...
           พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา  ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทน
     แพทย์ ของแพทยสภา
                         พญ.อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล  สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฯ
                         พญ. พจนา กองเงิน  ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท.
                         นพ.อุสาห์  พฤฒิจิรวงศ์  สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฯ และ คณะ

วาระที่ 4    ความเห็นของสมาชิกแพทยสภาต่อ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
                         พศ. ...

วาระที่  5   เรื่องเกี่ยวกับแพทย์และแพทยสภาอื่นๆ เช่น กฎหมายที่กระทบกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
                         และระบบการสาธารณสุขของประเทศ










26
โครงการสัมมนาปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์

หลักการและเหตุผล
   เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินงานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีจำนวนประชาชนไปใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่มีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ขาดแคลนงบค่ายา/เครื่องมือที่ใช้ในการบริการประชาชน ทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายในการไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล  และมีการร้องเรียนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น  ประกอบกับยังมีการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ซึ่งมีผู้ร่างทั้งฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข สส. และประชาชน รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับโดยมีวัตถุประสงค์ที่อ้างว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือและชดเชย เมื่อได้รับความเสียหาย และจะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้ปลอดภัยรวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
   ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นมาก มีจำนวนผู้ป่วยต้องรับผิดชอบมากขึ้น และต้องทำงานทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ เพื่อให้บริการประชาชนตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน แต่เงินเดือนและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการนั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ใกล้เคียงกับการทำงานในภาคเอกชนเลย ทำให้แพทย์บางส่วนเลือกที่จะลาออกจากราชการ แต่ทำให้ภาระงานของแพทย์ที่ยังเหลืออยู่มีมากขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เนื่องจากภาระงานมาก แต่ค่าตอบแทนน้อย และยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีกด้วย ด้วยเหตุนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ของแพทยสภา จึงเห็นสมควรจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้
    
วัตถุประสงค์
1.   เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ใน รพศ/รพท
2.   เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ใน รพศ/รพท.และนำข้อสรุปเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
3.   พิจารณาปัญหากฎหมายเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข

กำหนดการสัมมนา      วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2553  ณ  ห้องประชุม 1 ชั้น 2 (ห้องชัยนาทนเรนทร)             
ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ. นนทบุรี

ผู้เข้าร่วมสัมมนา
1.   กรรมการและอนุกรรมการแพทยสภา
2.   ประธานองค์กรแพทย์หรือผู้แทน
3.   ประธานองค์กรพยาบาลหรือผู้แทน
4.   บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ
5.   ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
งบประมาณ จากแพทยสภา   

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.   ได้ความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ เพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพที่ดีมีมาตรฐาน และปลอดภัย
2.   ผู้เข้าสัมมนาสามารถนำความรู้เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายไปทำประชาพิจารณ์ในสถาบันต้นสังกัดทั่วประเทศ
3.   รวบรวมผลการสัมมนาเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
ผู้รับผิดชอบโครงการ   คณะกรรมการแพทยสภา
ผู้เขียนโครงการ/และผู้เสนอโครงการ   คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทน       
                                                    แพทย์ในภาคราชการ
ผู้อนุมัติโครงการ   คณะกรรมการแพทยสภา












โครงการสัมมนาปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์

หลักการและเหตุผล
   เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินงานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มีจำนวนประชาชนไปใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่มีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ขาดแคลนงบค่ายา/เครื่องมือที่ใช้ในการบริการประชาชน ทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายในการไปรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล  และมีการร้องเรียนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น  ประกอบกับยังมีการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... ซึ่งมีผู้ร่างทั้งฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข สส. และประชาชน รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับโดยมีวัตถุประสงค์ที่อ้างว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือและชดเชย เมื่อได้รับความเสียหาย และจะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้ปลอดภัยรวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
   ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นมาก มีจำนวนผู้ป่วยต้องรับผิดชอบมากขึ้น และต้องทำงานทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ เพื่อให้บริการประชาชนตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน แต่เงินเดือนและค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการนั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ใกล้เคียงกับการทำงานในภาคเอกชนเลย ทำให้แพทย์บางส่วนเลือกที่จะลาออกจากราชการ แต่ทำให้ภาระงานของแพทย์ที่ยังเหลืออยู่มีมากขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน เนื่องจากภาระงานมาก แต่ค่าตอบแทนน้อย และยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีกด้วย ด้วยเหตุนี้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทนแพทย์ของแพทยสภา จึงเห็นสมควรจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้
    
วัตถุประสงค์
1.   เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ใน รพศ/รพท
2.   เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ใน รพศ/รพท.และนำข้อสรุปเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
3.   พิจารณาปัญหากฎหมายเกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข

กำหนดการสัมมนา      วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2553  ณ  ห้องประชุม 1 ชั้น 2 (ห้องชัยนาทนเรนทร)             
ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ. นนทบุรี

ผู้เข้าร่วมสัมมนา
1.   กรรมการและอนุกรรมการแพทยสภา
2.   ประธานองค์กรแพทย์หรือผู้แทน
3.   ประธานองค์กรพยาบาลหรือผู้แทน
4.   บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ
5.   ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
งบประมาณ จากแพทยสภา   

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.   ได้ความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ เพื่อให้ประชาชนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพที่ดีมีมาตรฐาน และปลอดภัย
2.   ผู้เข้าสัมมนาสามารถนำความรู้เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายไปทำประชาพิจารณ์ในสถาบันต้นสังกัดทั่วประเทศ
3.   รวบรวมผลการสัมมนาเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
ผู้รับผิดชอบโครงการ   คณะกรรมการแพทยสภา
ผู้เขียนโครงการ/และผู้เสนอโครงการ   คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเงินเดือนและค่าตอบแทน       
                                                    แพทย์ในภาคราชการ
ผู้อนุมัติโครงการ   คณะกรรมการแพทยสภา

กำหนดการสัมมนาเรื่อง ปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์
วันที่ 6 ตุลาคม 2553 ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี
………………………………………………………………………
8.00 -8.30 น.              -   ลงทะเบียน
8.30 - 9.00 น.       -   พิธีเปิด  โดย นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
                                -   กล่าวรายงานโดย นายแพทย์สัมพันธ์  คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา
9.00 - 10.30 น.    -   ปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ของ รพศ./รพท.
             โดย  นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข


10.30 - 10 .45 น.         -   รับประทานอาหารว่าง


10.45 - 12.00 น.         -   แบ่งกลุ่มวิเคราะห์ปัญหาค่าตอบแทนแพทย์ตามสถานะเงินบำรุงและปัญหา
                                    ค่าตอบแทนแพทย์
          โดย แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ และคณะจากสมาพันธ์ รพศ./ รพท.

                                               
12.00 - 13.00 น.    -  รับประทานอาหารกลางวัน


13.00 - 14.30 น.    -  การรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา
                                 
                                  นายแพทย์ธงชัย  ซึงถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 11
            นายแพทย์จรินทร์  โรจน์บวรวิทยา
                                  แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
            นายแพทย์ฐาปนวงศ์  ตั้งอุไรวรรณ

                                                           

14.30 – 15.00 น.       -  สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าตอบแทนและปัญหากฎหมายสาธารณสุข






















27
ความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในการได้รับสิทธิในการดูแลสุขภาพ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ในพ.ศ. 2545 ประเทศไทยได้เกิดระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ได้ให้สิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชนประมาณ 47 ล้านคน ที่ยังต้องจ่ายเงินของตนเองทุกครั้งในการไปตรวจรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐบาล ในขณะที่ประชาชนอีกประมาณ 10 ล้านคน มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลผ่านกองทุนประกันสังคม และประชาชนอีก 6 ล้านคน มีสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลโดยได้รับการคุ้มครองจากระบบสวัสดิการข้าราชการ
  ในยุคแรกของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประชาชน 20 ล้านคนที่ยากจน มีสิทธิไปรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้แก่โรงพยาบาล แต่ประชาชนอีก 27 ล้านคนที่ไม่ยากจน ต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลครั้งละ 30 บาท ในการไปโรงพยาบาล 1 ครั้ง ทำให้รัฐบาลและประชาชนเรียกโครงการนี้ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับบัตรทองในการแสดงตนเพื่อรับสิทธิการรักษาพยาบาลตามโครงการนี้
  ต่อมาในปีพ.ศ. 2547(1) โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับเพิ่มราคาค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ที่จะเรียกเก็บจากผู้ป่วยที่ไปรับการตรวจร่างกายและรับรักษาในโรงพยาบาล สาเหตุจากงบประมาณที่ได้รับจากสปสช.นั้นไม่เพียงพอในการจัดบริการแก่ประชาชน แต่อัตราค่าบริการที่เพิ่มขึ้นนั้น โรงพยาบาลจะเรียกเก็บได้เต็มราคาจากผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคมและผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการและครอบครัวเท่านั้น แต่ประชาชนกลุ่มบัตรทองนั้น สปสช.จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามราคากลางที่สปสช.เป็นฝ่ายกำหนด ซึ่งไม่เท่ากับราคาต้นทุนบวกราคาค่าบริหารจัดการ และค่าซ่อมแซม (maintenance ) อาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ หรือการจัดหาเวชภัณฑ์ต่างๆเพื่อผู้ป่วย  ประกอบกับการพัฒนาเรื่องยาและเทคโยโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้โรงพยาบาลขาดเงินที่จะจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆให้ทันสมัย ส่งผลต่อคุณภาพการบริการผู้ป่วยให้ไม่เหมาะสมตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
   ต่อมาในปีพ.ศ. 2550 นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ได้ประกาศยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท โดยอ้างว่า เสียเวลาลงบัญชี แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนมาโรงพยาบาลมาขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ต้องรับหน้าที่จ่ายเงินเลย จึงมาโรงพยาบาลมากขึ้น (2) ในปีพ.ศ. 2545 มีประชาชนไปโรงพยาบาล 117.5   ล้านครั้งและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนถึง  126.8 ล้านครั้ง  ในปีพ.ศ. 2549 แต่จำนวนประชาชนไปโรงพยาบาลมากขึ้นเป็น  140 ล้านครั้ง ในปีพ.ศ. 2550และเพิ่มเป็น 200 ล้านครั้งในปีพ.ศ. 2552(3)
     ประชาชนที่ถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มบัตรทอง จึงกลายเป็นประชาชนกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่มีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนกลุ่มอื่นในการไปรับการตรวจรักษาโรคจากโรงพยาบาลของรัฐบาล โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเลย แต่ใช้เงินจากภาษีของประชาชนทุกคน ในขณะที่ประชาชนกลุ่มข้าราชการเสียประโยชน์จากการทำงานราชการเงินเดือนน้อย จึงจะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล และประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนนั้น ต้องจ่ายเงินของตนเองทุกเดือนเข้าสมทบกับกองทุน จึงจะได้สิทธิไปรับการรักษาสุขภาพ
   นอกจากประชาชนกลุ่มบัตรทองจะได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่นแล้ว  ยังมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ถ้าได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุข ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุข ให้สามารถร้องขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้
    โดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น มีที่มาจากเงินจำนวน  1 % ของจำนวนเงินงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.ได้รับมาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในปัจจุบัน เงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้มีจำนวนประมาณปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจนมากกว่าปีละ 120,000 ล้านบาทต่อปี
   ส่วนประชาชนอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการและครอบครัว จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองถ้าเกิดความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลแต่อย่างใด นับเป็นการถูกเลือกปฏิบัติให้ “ด้อยโอกาส”กว่าประชาชนกลุ่มบัตรทองอีกอย่างหนึ่ง
   ต่อมามีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเสียหายจากการไปโรงพยาบาล และได้รับความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว แต่เห็นว่าเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากสปสช.นั้นมีจำนวนน้อยเกินไป ไม่สามารถช่วยเหลือให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เนื่องจากสปสช.ได้กำหนดเพดานขั้นสูงสุดของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไว้เพียง 200,000 บาท ทั้งๆที่มีเงินตามมาตรา 41 นั้นมีจำนวนมากมายหลายพันล้านบาท แต่สปสช.จ่ายให้แก่ผู้เสียหายเพียงปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท
   ประชาชนที่รวมตัวเป็นเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จึงได้พยายามที่จะหาทางให้ได้รับเงินเพิ่มขึ้น โดยได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชนคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข หรือที่เรารู้จักกันดีในนามเอ็นจีโอ (NGO) ด้านสาธารณสุข ซึ่งส่วนมากก็เป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว ไปร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคคมช.คือนพ.มงคล ณ สงขลา ซึ่งได้สั่งให้กระทรวงสาธารณสุขไปร่างกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนมาชดเชยผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยที่เลขานุการรัฐมนตรีมงคลก็คือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนผลักดันการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยข้าราชการประจำที่รับผิดชอบในการยกร่างก็คืออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุขในยุคนั้น และผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะในขณะนั้น
    การร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... นั้นจึงเริ่มขึ้นในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาได้มีผู้แทนราษฎรหลายพรรค ตั้งแต่พรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ต่างก็ยื่นร่างพ.ร.บ.นี้เช่นเดียวกับเอ็นจีโอสาธารณสุข และรัฐบาลโดยการยกร่างของกระทรวงสาธารณสุข
        ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะยื่นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารับรองเป็นกฎหมายนั้น รัฐบาลได้ส่งร่างพ.ร.บ.ให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาล คือคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้พิจารณาเป็นองค์คณะ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนองค์กรต่างๆ ต่างก็ได้เสนอข้อคิดเห็น เริ่มจากชื่อพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหาย ว่าก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์ ขอให้แก้เป็น พ.ร.บ.เสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขพ.ศ. ... แทน รวมทั้งเสนอว่า ไม่ควรตั้งกองทุนใหม่ แต่ควรขยายความครอบคลุมของมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ให้ขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มผู้ประกันตน และกลุ่มข้าราชการได้ รวมทั้งแพทยสภา แพทยสมาคม ต่างก็เสนอขอแก้ไข เนื้อหาในมาตราต่างๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขบางอย่างตามที่สภาวิชาชีพเสนอ เช่นในแง่ของสัดส่วนกรรมการที่พิจารณาการจ่ายเงินชดเชย
  แต่เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... นี้ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 740-741/2552 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 นั้น ได้ส่งคืนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มีการแก้ไขใหม่ โดยไม่ได้ทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งชื่อของพ.ร.บ.และสัดส่วนกรรมการ และการตั้งกองทุนใหม่ แต่ได้กำหนดให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน และไม่ขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มข้าราชการ และรมว.สธ.ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ฉบับของกระทรวงสาธารณสุขผ่านความเห็นชอบของครม. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ยื่นร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาลเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และขอให้ประธานสภาส่งเข้าพิจารณาเป็นวาระด่วน
  กระทรวงสาธารณสุขได้อ้างว่ามีการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง โดยมีประชาชนร่วมรับฟังไม่ถึง 500 คน โดยที่บุคลากรสาธารณสุขแทบทั้งหมดซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพ.ร.บ.นี้  ไม่ได้รับทราบเนื้อหาของพ.ร.บ.นี้หรือได้เข้าร่วมทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด แต่เมื่อแพทย์บางคนได้เริ่มอ่านพ.ร.บ.นี้ ก็พบว่า พ.ร.บ.นี้จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น และพ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มภาระรับผิดชอบแก่บุคลากรทางการแพทย์แต่เพียงฝ่ายเดียวเกือบ 100% ที่จะต้องเป็นฝ่าย “ให้ความคุ้มครองประชาชนและมีภาระรับผิด โดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2)”  ในขณะที่ประชาชนผู้เจ็บป่วยนั้นจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิในการร้องเรียน/ฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างมากมายหลายขั้นตอน และยังมีการขยายเวลาการฟ้องร้องไปมากกว่า 10 ปีหลังการรักษา เนื่องจากกำหนดว่าประชาชนฟ้องได้ภายใน 10 ปีหลังจากที่ประชาชน “รับรู้” ถึงความเสียหาย
  บุคลากรทางการแพทย์จึงเริ่มออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นี้ ว่าก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม และจะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่จะมีผลประโยชน์แอบแฝงแก่ผู้เขียนกฎหมายเอ็นจีโอ ที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุน จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ขยายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน
   แต่ในวันที่ 13 กันยายน 2553 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงมติว่า สปสช.จะไม่ขยายความครอบคลุมมาตรา 41 ไปยังประชาชนชทุกคน แต่อ้างว่าการเร่งให้มีการพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะได้ผลดีและรวดเร็วกว่าการขยายมาตรา 41

   ฉะนั้น ประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการจึงเป็นผู้ “ด้อยโอกาส” ที่สุดในสังคมไทย เพราะนอกจากจะไม่ได้รับสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพเท่ากับผู้ที่มีบัตรทองแล้ว ยังไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 อีกด้วย
   สาเหตุที่ประชาชนแต่ละกลุ่ม ไม่ได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการได้รับสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขนั้น เกิดจากการที่สปสช.เลือกปฏิบัติต่อประชาชนกลุ่มต่างๆดังนี้คือ
   1.ประชาชนบัตรทอง ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างครบวงจร เริ่มจากการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจร่างกายก่อนมีอาการเจ็บป่วย เพื่อคัดกรองว่าจะเป็นโรคหรือไม่ ตรวจรักษาเมื่อเจ็บป่วย รวมทั้งได้รับการฟื้นฟูสภาพหลังเจ็บป่วย โดยประชาชนกลุ่มนี้มีประมาณ 47 ล้านคน
   2. ประชาชนกลุ่มข้าราชการ ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ทำงานเอกชน ถ้ามีคุณวุฒิเท่ากัน จึงถือได้ว่า เสียประโยชน์จากการหารายได้เป็นตัวเงิน เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ต่อมารัฐบาลเริ่มกล่าวหาว่า พวกข้าราชการใช้เงินค่ารักษาพยาบาลมากเกินไป จนตกถึงค่าหัวปีละมากกว่า 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นค่ารักษาข้าราชการคนละประมาณ 11,000 บาทต่อคนต่อปี นับว่าสูงกว่าประชาชนบัตรทองที่รัฐบาลจ่ายงบประมาณแก่ประชาชนแค่ 2,400 บาทต่อคนต่อปี
โดยมีการค้นพบว่า มีการทุจริตในการซื้อยาและเบิกจ่ายยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาตัวคนที่ทำผิด มาลงโทษตามกฎหมาย
    3.ประชาชนกลุ่มประกันสังคมเป็นผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากที่สุดก็คือกลุ่มผู้ประกันตน ที่เป็นคนขยันทำงาน ในการไปสมัครทำงานเป็นลูกจ้างของเอกชน เพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว แต่ถูกบังคับด้วยพ.ร.บ.ประกันสังคมให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุนประกันสังคมทุกเดือน เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสิทธิในการรักษาสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น ไม่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจคัดกรองก่อนมีอาการเจ็บป่วย และการรักษาเมื่อเจ็บป่วยนั้น ก็ถูกจำกัดแค่บางโรคเท่านั้น สรุปก็คือกลุ่มผู้ประกันตนส่วนหนึ่งเป็นคนจน เพราะมีรายได้น้อย แต่ต้องจ่ายเงินของตนเองร่วมกับนายจ้างฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนลูกจ้าง ส่วนรัฐบาลจ่ายเพียง 2.75 % โดยที่คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนประกันสังคมนั้น ได้สร้างหลักเกณฑ์กำหนดว่า โรคใดบ้างจึงจะเบิกเงินค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคมได้
   ทำให้ประชาชนกลุ่มประกันสังคมนี้ เป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุดในการได้รับการบริการสุขภาพ คือต้องจ่ายเงินตนเอง แต่กลับได้รับสิทธิน้อยกว่ากลุ่มประชาชนอื่นๆทุกกลุ่ม ไม่ว่าในแง่ของสิทธิในการรับบริการสาธารณสุข หรือในแง่ของการช่วยเหลือเมื่อเกิดความเสียหายในการรักษา
   แต่ในปัจจุบันนี้ ยังมีประชาชนกลุ่มต่างด้าวตามชายแดน ที่ไม่มีบัตรประชาชนไทย ซึ่งมาทำงานรับจ้างโดยไม่ถูกกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องมารักษาโดยไม่มีเงินค่ารักษา ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งตามชายแดนขาดงบประมาณในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ต่างๆในการรักษาประชาชนทั่วไป ทางรัฐบาลจึงได้จัดงบประมาณบัตรทอง สำหรับคนต่างด้าวเหล่านี้ด้วย
   จึงเห็นได้ว่า ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทยในระบบประกันสังคมนั้น ทำให้ประชาชนกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิในการดูแลรักษาสุขภาพน้อยกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆที่เป็นประชาชนไทย ที่ต้องเสียภาษีให้แก่ประเทศชาติ และยังน้อยกว่าประชาชนที่ยังไม่ได้เป็นประชาชนไทย ที่ได้รับสิทธิบัตรทองอีกด้วย โดยนายจ้างของกลุ่มผู้ประกันตน ก็ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าดูแลรักษาสุขภาพให้แก่ลูกจ้างของตนแทนรัฐบาลอีกด้วย
  ตอนนี้ มีข่าวว่า จะมีการรวมกองทุนในการรักษาสุขภาพใน 3 ระบบ เป็นกองทุนเดียวกัน โดยที่ผู้เสนอคือสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข ที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานบริหารกองทุน และเสนอให้นพ.พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุขเป็นเลขาธิการ (3)
    จึงอยากจะเรียกร้องนายกรัฐมนตรีว่า การจะมานั่งเป็นประธานในการรวมกองทุนสุขภาพนั้น จะต้องให้ทีมงานของท่านค้นหาข้อมูลที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ ว่าการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยนั้น ได้ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค และไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนไทยทั้งประเทศอย่างไรบ้าง ไม่ควรจะฟังแต่การายงานของเลขานุการคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง
   การจะรวมกองทุนสวัสดิการข้าราชการกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและกองทุนประกันสังคมนั้น นายกรัฐมนตรีต้องเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ รับรู้ รับฟัง และก็ต้องคิดพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า ควรจะทำอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยทั่วหน้ากัน
    รัฐบาลควรแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการได้รับการประกันสุขภาพให้เหมือนๆกัน ตามหลักความยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอีกเลย
เอกสารอ้างอิง 1.อัตราค่าบริการของสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 ฉบับปรับปรุง ISBN : 974-92516-4-8
                      2.การสำรวจเกี่ยวกับอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2549
                      3.เอกสารประกอบการบรรยายของพอ.(พิเศษ) นพ.กิฎาพล วัฒนกุล กรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสปสช. บรรยายที่จังหวัดสงขลา วันที่ 16 ก.ค. 2553

28
วันที่ 17 กย.53 เวลา 9.00-15.00 น.แพทยสภาจัดประชุมประชาพิจารณ์"วิเคราะห์เจาะลึกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ณห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยมีผู้วิพากษ์ คือ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน์
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
นายแพทย์ชัยวัน เจริญโชคทวี
พญ.พจนา กองเงิน
นายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธ์
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ประชาพิจารณ์โดย
พญ. ประสบศรี อึ้งถาวร
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์
นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธ์
นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล
นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
นพ.โชติศักดิ์ เจนพานิชย์
นพ.สุรินทร์ ทองมา
นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์
ผู้แทนสภาการพยาบาล
ผู้แทนสภาเภสัชกรรม
ผู้แทนสภากายภาพบำบัด
ผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์
ผู้แทนทันตแพทยสภา
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมได้
ติดต่อสอบถามได้ที่ 025901886, 1887 กด 2

29
รายการตรงประเด็น วันที่ 31 สิงหาคม 2553 เวลาประมาณ 22-23 น. ช่อง 11 เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
ผู้ร่วมรายการ 
 
นส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน
 
นพ..วรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พรรคประชาธิปัตย์ และวิปรัฐบาล
 
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)

30
ทัศนะน่าสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูป สธ./การทบทวนการประชุมสภาปฏิรูปการสาธารณสุข ครั้งที่ 1-4
เขียนโดย นินิ   
29 ส.ค. 2010 08:10น.
http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=378&Itemid=45
ข่าวล่า ทบทวน นับตั้งแต่คณะกรรมการปฎิรูปการสาธารณสุข ได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เรียกว่า สภาปฏิรูปการสาธารณสุขไทย อันเป็นงานต่อเนื่องจากการประชุมวันที่ 17 มิถุนายน 2553 และได้จัดให้มีขึ้น เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 กค 2553 ที่แพทยสภา มีการประชุมหารือ แลกเปลี่ยน ข้อมูล โครงสร้างกำลังคน ภาระงาน ของ สาขาเทคนิคการแพทย์ นำเสนอโดย รศ.ยุพา เอื้อวิจิตรอรุณ ทน.วัฒโนทัย ไทยถาวร ทน.ไพบูลย์ เอี่ยมขำ สาขาพยาบาล โดย ดร.ธีรพร สถิรอังกูร สำนักการพยาบาล กรมการแพทย์ สาขาเภสัชกรรม โดย ภกญ.พัชรี ศิริศักดิ์ สาขาเภสัชกรรม สาขาแพทย์ โดย นพ.อรุณ วิททยศุพร พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และ สาขากายภาพบำบัด โดย นส.สาลิน เรืองศรี จะได้ทำการจัดทำข้อมูลเชิงลึกด้านกำลังคนสาธารณสุข เพื่อประกอบการนำเสนอในชั้นกรรมาธิการหลัง ร่าง พรบ.กสธ.เข้าสู่สภาแล้ว ผู้แทนสาขาเทคนิคการแพทย์ กล่าวถึงเทคนิคการแพทย์ที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง มีจำนวนหลายพันคน มีสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง เสนอให้ปฏิรูป จัดตำแหน่ง บรรจุ นักเทคนิคการแพทย์ดังกล่าว โดยเห็นชอบกับการมี ก.สธ. อย่างไรก็ดี ได้นำเสนอปัญหาและการเพิ่มอัตราตำแหน่งเทคนิคการแพทย์ในส่วนคณะกรรมาธิการ รัฐสภาแล้ว และต่อมาได้มีการจัดครั้งที่ 3 ขึ้นที่สภาการพยาบาล และครั้งที่ 4จัดขึ้นที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร รวมความเห็นสำคัญ

1. รศ.ยุพา ฯ แถลงว่า นพ.มงคล ณ สงขลา และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะสช.ได้นำเสนอในขณะนี้ว่า เป็นลูกจ้างก็มีความสุขได้ อาจารย์ไม่เห็นด้วย รศ.ยุพา เห็นเพิ่มเติมว่า การผลิตนักเทคนิคการแพทย์ต้องได้รับการจัดวางนโยบายด้านการผลิตที่มีคุณภาพ ในระดับประเทศ ควรที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันพระบรมราชชนก จะได้ยกเลิกการผลิตพนักงานต่างๆได้แล้ว ทั้งนี้เพื่อความมีมาตรฐานและความสามัคคีในวิชาชีพ

2.ดร.ธีรพร สถิรอังกูร สำนักการพยาบาล กรมการแพทย์ ให้ทัศนะว่าสายการพยาบาล เป็นสายงานที่ขาดแคลนสูงมาก มีพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข จำนวนนับหมื่นที่อยู่ในสภาพไม่มีตำแหน่งบรรจุ ยังคงเป็นลูกจ้าง ทำให้ขาดความมั่นคงของวิชาชีพ และระบบงานด้านการพยาบาลผู้ป่วยในสถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ขรก.และบุคลากร สธ. ควรมุ่งมั่น ทำ ก.สธ. ออกจาก กพ. เห็นว่าเป็นเส้นทางหลักในการพัฒนากำลังคนด้านการพยาบาลได้ แนะให้นับเป็นเป้าหมายสำคัญ จัดวางกระบวนการ และ เตรียมข้อมูลด้านกำลังคนของทุกสาขาให้มีคุณภาพ รับจะประสานกับทีมสาขาต่างๆ เพือ่จัดทำข้อมูลด้านกำลังคน สธ. เน้นหนัก สายการพยาบาล โดยจะประสานกับ สายงานเทคนิคการแพทย์ สายงานแพทย์ สายงานนักกายภาพบำบัด และสายงานเภสัชกร พร้อมรับแบบเข้าชื่อ 50 ชุด เพื่อขยายผลในกลุ่มสาขาการพยาบาลต่อไป

3.ทีมงานสุขภาพ สาขากายภาพบำบัด โดย นส.สาลิน เรืองศรี ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพสิรินธร กรมการแพทย์ แถลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 ว่า วิชาชีพกายภาพบำบัด มีลักษณะงานต้องใช้ดุลพินิจในวิชาชีพ เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพให้ประชาชน ต้องการให้ การประสานสามัคคีในการเข้าชื่อ เสนอ ร่าง พรบ.ก.สธ. เป็นจุดเริ่มสำคัญของความเข้าใจในงานของกันและกันในทุกสาขา เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย และ วิชาชีพกายภาพบำบัด พร้อมทำงานกับ คณะทำงาน ก.สธ. รับแบบ ขก. 1 ไป ทำงานเข้าชื่อ 200 ชุด และ จะพิมพ์เพิ่มต่อ เพื่อให้สาขากายภาพบำบัดได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ปฏิรูป สธ.ร่วมกับวิชาชีพอื่นใน สธ.

4.ทน.ไพบูลย์ เอี่ยมขำ ซึ่งสป. ร่วมกับ ทีมงาน สธ.ราชบุรี รพศ. และ สอ. นำแบบเข้าชื่อ เสนอร่าง พรบ.ก.สธ. ร่าง พรบ.จัดบริการสาธารณด้านสาธารณสุข ร่าง พรบ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้ง 3 ร่าง ครบชุด และมีเอกสารแนบ คือ สำเนาทะเบียนบ้านที่หลายคณะทำงานต้องการอย่างมาก และนับเป็นเรื่องยากของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพราะทั่วไป เข้าใจเพียงว่า มีสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการน่าที่จะใช้ได้แล้ว แต่ กรณีเสนอร่าง กม. ยังไม่เพียงพอ ต้องมีสำเนาทะเบียนบ้านด้วย และ รายงานว่า ขณะนี้ อจ.นพ.ประดิษฐ์ ฯ รพศ.ราชบุรี ได้รับเอกสารเข้าชื่อจาก ชาว สธ.ราชบุรีจำนวนมาก พร้อมส่งแจงนับแล้ว ยืนยันว่าด้านเทคนิคการแพทย์ชนบท ประสงค์ให้แยก เป็นก.สธ. ขณะนี้มีเทคนิคการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานใน สธ.ไม่มีตำแหน่งจำนวนมาก มีฐานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวแบบถาวร

5. พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กล่าวว่า เพื่อให้ก่อประโยชน์กับประชาชนที่จำต้องมีระบบบริการสาธารณสุขยามจำเป็น และที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งระบบบริการนั้นประกอบด้วย บุคลากร งบประมาณ เครื่องมือ และการบริหารจัดการงานบริการสาธารณสุขที่ดี แต่ปัจจุบัน ทั้ง 3 องค์ประกอบกำลังถูกคุกคามให้เสียหายด้วย ปัญหา 1.)กพ.จัดการงานบุคลากรด้าน สธ.อย่างไม่ถูกตามสภาพงาน 2.) งบประมาณด้านสธ.นั้น สปสช.นำไปจัดการอย่างรั่วไหลและไม่สอดรับกับการงานอันจำเป็นและงานคุณภาพ ด้านการบริการ สธ. ทำให้ก.สธ.ขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ขาดเครื่องมือและสิ่งของอันจำเป็นในการทำงาน 3.) มีการจัดการงานด้านสาธารณสุขอย่างซ้ำซ้อน ขาดประสิทธิภาพ สร้างปัญหา และบางงานได้ละเลย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จำเป็นต้องปฎิรูประบบการสาธารณสุขด้วยการแก้ไขโครงสร้างต่างๆด้วยการแก้ไข กฎหมาย จึงมีการจัดทำยกร่าง 3 พรบ.ตามที่กำลังเข้าชื่อแล้ว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กำลังมีปัญหาเร่งด่วนในวงการสาธารณสุข คือกรณีรัฐบาลเสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ... เข้าสู่สภา อย่างรีบด่วน และนักวิเคระห์ พร้อม องค์กรด้านสาธารณสุข ได้ทักท้วงแล้วว่าจะสร้างความล่มสลายต่อระบบบริการสาธารณสุขอย่างรุนแรง และประชาชน ประเทศชาติ จะเสียหายอย่างมาก และได้เข้าชื่อคัดค้านร่าง พรบ.ของรัฐบาล เพื่อให้ถอนร่างนี้ ออกมาประชาพิจารณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน จำเป็นที่ทีมงานต้องเพิ่มงานคัดค้านนี้ หรือ ชะลองาน 3 พรบ.ไว้ก่อน และเน้นงานคัดค้านขอให้รัฐาลถอนร่างพรบ.นี้ออกจากสภา

6. เภสัชกรหญิง พัชรี ศิริศักดิ์ กล่าวว่า สปสช.ได้สร้างระบบงาน ระบบการเงินด้าน สธ.ที่เป็นปัญหากระทบให้ขาดแคลนกำลังคน เนื่องจากเป็นงานที่ต้องมีการคีย์ข้อมูล ไปแลกกับเงินงบที่จะมาทำงาน และหลายงานเป็นงานลักษณะการวิจัยในมนุษย์โดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาทาง จริยธรรมในการวิจัยในมนุษย์ จำเป็นต้องมีการแก้ขโดยเร่งด่วน

7. นพ.อรุณ วิทยศุภร สำนักวิชาการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบการสาธารณสุขของประเทศในขณะนี้ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างการบริการ ควรจัดให้มีกลุ่มภารกิจในการบริการ ลักษณะคล้ายเขตบริการสาธารณสุข มีระบบเกื้อหนุน ส่งต่อ และบริหารจัดการเป็นเขตบริการที่ชัดเจน ไม่ไขว้กัน จะทำให้โครงสร้าง สธ.เข้มแข็งขึ้น และตอบสนองต่อความจำเป็นและคุณภาพงานบริการนี้ให้ประชาชนได้อย่างมคุณภาพ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด เห็นควรยุบ สปสช. และโอนภารกิจงานในการส่งผ่านงบประมาณ ไปยังกองคลัง สป. ซึ่งจะใช้คนทำงานเพียง 4 คน ก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้คนระดับ 1 000 คน เช่นที่ สปสช. กำลังดำเนินการอยู่นี้ และงบ สธ.ขณะนี้ หากจัดการอย่างถูกตอ้ง ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณใดๆ เพียงจัดการให้ถูกต้อง ก็จะมีงบพอที่จะจัดการด้านกำลังคน สธ.ให้มีคุณภาพและปริมาณสอดคล้องกับงานได้ในภารกิจที่ต้องแยกจาก กพ.

 
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( 29 ส.ค. 2010 21:24น. )
   

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6