ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.)  (อ่าน 642 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9799
    • ดูรายละเอียด
ผู้เขียน เขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพราะความกังวลกับ ตรรกะของหัวข้อข่าว manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000046189 ที่ตีพิมพ์ว่า “ส่อปล่อยผีทุจริต สปสช.! คตร.แย้มอ้างหลักรัฐศาสตร์อาจไร้ความผิด” ขอสารภาพว่าถึงแม้ผู้เขียนจะทำวิจัยและนำเสนอข้อมูลการทำงานของ สปสช. ถึงจุดอ่อนในการทำงานของ สปสช. ที่ทำให้เกิดวิกฤติทางสาธารณสุขในปัจจุบันหลายครั้ง ผู้เขียนไม่รู้รายละเอียดเลยว่า สปสช. ถูกฟ้องที่ คตร. เรื่องใด มีความผิดร้ายแรงแค่ไหน ผู้เขียนแค่อยากจะขอเตือนว่า “ไม่มีหลักรัฐศาสตร์สำหรับล้างผิดคนโกง” ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้พิสูจน์แล้วว่าการใช้ หลักรัฐศาสตร์เพื่อล้างผิดคนโกงทำให้เกิดความเสียหายหลายประการ
       
       1.สังคมไทยตกต่ำ ประวัติศาสตร์ของไทย ที่ผ่านมาไม่นานนี้ ได้แก่คดีคุณทักษิณซุกหุ้น สมัยนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างแบบนี้ หลักรัฐศาสตร์ ให้คุณทักษิณพ้นผิด การไม่เคารพกฎหมาย ไม่ทำตามกฎหมายเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ การปัดภาระพ้นตัวจะทำให้ประเทศชาติฉิบหายต่อไปในอนาคตข้างหน้า ไม่แตกต่างจากการปล่อยผีทักษิณ ออกจากกรุคดีซุกหุ้น โดยอ้างหลักรัฐศาสตร์แบบเดียวกัน ผลของการอ้างหลักรัฐศาสตร์ก็มีมาให้เห็นแล้ว กรรมการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนั้นก็เป็นปรมาจารย์รัฐศาสตร์ คนนี้แหละที่พลิกขั้วกลับลำให้ทักษิณบริสุทธิ์พ้นคดีซุกหุ้น และส่งผลให้ชาติเสียหาย เกิดนโยบายประชานิยมที่ง่ายต่อการโกงเช่น โครงการจำนำข้าว จนทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้สินรุงรังมาจนทุกวันนี้ จนถึงกับต้องเอาทรัพย์สินของชาติออกมาขายใช้หนี้ เป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นภาระของรัฐบาล เป็นทุกข์ของชาติตามที่เป็นข่าวทุกวันนี้ นอกจากนั้นคดีนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของค่านิยมที่ว่า “โกงได้แต่ขอให้เกิดประโยชน์” และค่านิยมนี้แหละที่ทำให้สังคมไทยตกต่ำในทุกๆด้าน
       
       2.สังคมไทยเคยไม่ยอมและต่อต้านคนใช้ตรรกะนี้อย่างรุนแรง เห็นได้จาก การต่อสู้ของ มวลมหาประชาชน ก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก “กฎหมายล้างผิดคนโกง” คณะบุคคลที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กำลังจะมีจุดจบทางการเมืองที่ไม่สวยงามนัก ผู้เขียนเกรงว่า ถ้า คตร. ใช้ตรรกะเดียวกัน มีโอกาสที่ คตร. คสช. และรัฐบาลจะมีจุดจบในลักษณะเดียวกัน คตร. เป็นองค์กรทางทหารมีหน้าที่ปราบคนโกงโดยเฉพาะ ถ้า คตร. ไม่กล้าจัดการคนโกง แต่ใช้ตรรกะล้างผิดคนโกง ผู้เขียนเกรงว่าซักวันเมื่อสังคมรับรู้ จะส่งผลเสียที่ร้ายแรงยิ่งกว่า
       
       3.เกิดความแตกแยกในสังคม แบ่งพรรคแบ่งพวก การที่คุณทักษิณจัดตั้ง แก้วสามประการขึ้นมาก็ด้วยความหวังเดียวว่า สังคมไทยจะยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ยอมอ้างหลักรัฐศาสตร์สำหรับล้างผิดคนโกง นั่นเอง
       
       ข้อเสนอ
       
       พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวว่า “เราต้องจัดการคนโกงตามลักษณะแบบทหารม้า คือ รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด” ผู้เขียนเห็นว่า คตร. ควรจัดการคดี สปสช. แบบตรงไปตรงมา ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด โดยดำเนินการแบบ “รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด”
       
       คตร. ไม่ควรกังวลในเรื่องอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ได้แก่
       
       1.ไม่ควรกังวลว่าจะเป็นการล้มองค์กร ขออธิบายว่า การตัดสินของ คตร. ไม่ส่งผลถึงองค์กร แต่จะส่งผลถึงคนทำงานที่โกงหรือผิดกฏหมาย การเปลี่ยนคนทำงาน เปลี่ยนกรรมการ หรือ เลขานุการเป็นเรื่องทำได้ไม่มีใครเสียหาย
       
       2.ไม่ควรกังวลว่า ผู้กระทำผิดมี คุณงามความดีต่อประเทศชาติเลยไม่อยากลงโทษ ขอบอกว่าเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระ เหมือนหลักพุทธศาสนา กรรมดีและกรรมชั่วล้างกันไม่ได้
       
       3.ไม่ควรกังวลว่า คณะทำงาน สปสช. ทำผิดกฎหมายไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผู้เขียนยอมรับว่าผู้ที่ทำงานในระบบราชการของไทยจะพบอุปสรรคมากจากระเบียบที่ลดทอนประสิทธิภาพการทำงาน และหาก คณะทำงาน สปสช. ทำผิดกฎหมายเพราะความหวังดีต่อประเทศชาติจริง ก็มีความจำเป็นที่ คณะทำงาน สปสช. ต้องยอมถูกลงโทษ เช่นเดียวกับ บรรพชนไทย พันท้ายนรสิงห์ ทุกคนได้เรียนรู้ว่าการเสียสละชีวิตของท่านเป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของชาติ และ นำมาสู่สังคมที่เชิดชูคุณธรรมและการยอมรับการปรับปรุงกฎหมาย
       
       4.ไม่ควรกังวลว่าประชาชนที่ได้รับประโยชน์จาก สปสช. จะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย ผู้เขียนโดยส่วนตัวรู้จักผู้ใหญ่ใน สปสช. หลายท่าน ผู้เขียนเชื่อว่า สปสช. คงไม่พยายามทำให้สังคมไทยเกิดความขัดแย้งรอบสองแบบคุณทักษิณ และเชื่อว่า ผู้ใหญ่ใน สปสช. เหล่านั้นยินดีที่จะออกจากตำแหน่งเพื่อให้มีการพัฒนาระบบที่ดีขึ้น ที่สำคัญสังคมไทยจะไม่มีปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาเลย ถ้าสังคมไทยไม่ยอมรับตรรกะ “หลักรัฐศาสตร์สำหรับล้างผิดคนโกง” โดยเด็ดขาด
       
       Great power comes with great responsibility. เมื่อมีอำนาจในมือก็ควรใช้พลังอำนาจนั้นในการทำสิ่งที่ถูกต้องอย่าเพิกเฉยหรือเกรงกลัวต่อสิ่งใด หากโอกาสผ่านไปแล้วจะเสียใจในภายหลัง เฉกเช่น Parker พระเอกเรื่อง Spiderman เป็นไทยเฉยไม่ทำหน้าที่ปราบโจรและสุดท้ายโจรคนนั้นเป็นคนที่หลุดรอดไปฆ่าคุณตาที่เลี้ยง Parker เด็กกำพร้านี้มาจนโต คำพูดของคุณตาของ Parker อยากจะฝากไว้ให้คตร ได้คิดให้รอบคอบเช่นกัน
       
       สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะขอให้ คตร. และองค์กรต่างๆที่มีหน้าที่ใช้ กฎหมายปราบคนโกงใช้กฎหมายอย่างศักดิ์สิทธิเหมือนพระเจ้าเสือ และสามารถดำเนินการได้อย่าง “รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด” ตามคำแนะนำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
       
       
ขอแสดงความนับถือ
       ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
       คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
       และ
       อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
       สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
   
29 พฤษภาคม 2558
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000061025