ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ชนบทไม่จบ! ซัดปลัด สธ.ต่อ ทำไมไม่ค้านร่วมจ่าย  (อ่าน 529 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9799
    • ดูรายละเอียด
 แพทย์ชนบทไม่จบ! ซัดปลัด สธ. ต่อ เหตุใดไม่ค้านร่วมจ่ายในที่ประชุมเสนอนโยบายต่อ คสช. ยืนยันไม่เห็นด้วยการร่วมจ่าย ชี้นโยบาย “หมอณรงค์” ไม่สามารถสร้างความสุขได้จริง
   
       นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมฯไม่เห็นด้วยกับแนวทางการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ตามสิทธิประโยชน์ต้องไม่มีการร่วมจ่ายในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ในฐานะที่รัฐบาลจัดงบประมาณให้บัตรทองเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ส่วนการรักษานอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ ก็ไม่ขัดข้องว่าเป็นเรื่องที่ยังไงก็ต้องจ่าย เช่น ผู้ป่วยปวดหัวแต่ต้องการให้เอกซเรย์หรือ ซีทีสแกน โดยแพทย์วิเคราะห์ว่าไม่มีข้อบ่งชี้ เป็นต้น ส่วนเรื่องการขอรับบริการพร่ำเพรือ เชื่อว่า มีเปอร์เซ็นต์อยู่จำนวนน้อยจนไม่ควรมีการนำมาพูดถึงมาตรการลงโทษ สำหรับกรณีเอกสารสรุปการประชุมกับ คสช.ว่าเห็นด้วยกับระบบร่วมจ่ายนั้น แม้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่ผู้ที่เสนอก็อยู่ในประชาคมสาธารณสุข เหตุใดจึงไม่มีใครคัดค้าน
       
       “มีหลายประเด็นที่แพทย์ชนบทยังต้องติดตาม และต้องการชี้ประเด็นให้ คสช. เห็นว่า ทัศนคติการเป็นผู้นำและนโยบายของ นพ.ณรงค์ นั้น ยังไม่สามารถคืนความสุขให้ประชาชนได้ และนโยบายหลายอย่างที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นขององค์การเภสัชกรรม การปฏิรูปกระทรวงที่ประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากจากโอนเงินจาก สปสช. ไปไว้ที่เขตบริการสุขภาพ ให้ผู้ตรวจเป็นผู้บริหารงบประมาณ ซึ่งหากถามคนในพื้นที่ร้อยละ 80 ก็คงไม่ไว้ใจกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นผู้กระจายงบประมาณ ซึ่งต่างจากการให้ สปสช. กระจายงบประมาณ ที่จะมีสัดส่วนการรับฟังความเห็นของภาคประชาชน มีขั้นตอนของคณะกรรมการบอร์ด ที่เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอ และเมื่อดูจากงบค่าเสื่อมปี 2556 ก็พบว่า สธ. เองใช้งบอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การใช้งบประมาณล่าช้า และขาดประสิทธิภาพ เป็นต้น ” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
       
       นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่น จากที่ สธ. มีหนังสือสั่งการให้ปรับหลักเกณฑ์งบประมาณของกองทุนสุขภาพตำบลนั้น เห็นได้ว่า การกระจายอำนาจ เป็นส่วนช่วยป้องกันการคอร์รัปชันได้ ซึ่งการให้ท้องถิ่นร่วมจ่ายในกองทุนดังกล่าว เกิดผลดีต่อการทำงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา ถือว่าช่วยลดภาระของบุคลากรแพทย์สาธารณสุขลงได้มาก นอกจากนี้ การที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศไม่ให้บุคลากรในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม หรือ ทำนิติกรรมกับ สปสช. จนกว่าจะมีระเบียบใหม่นั้น ถือเป็นการสร้างความขัดแย้ง และไม่ได้เป็นการปรองดองอย่างที่ คสช. ต้องการแต่อย่างใด

ASTVผู้จัดการออนไลน์   15 กรกฎาคม 2557