ผู้เขียน หัวข้อ: ยกเลิกสสจ.เป็นสปสช.สาขาจังหวัด’ ข้อเสนอวิชาการหรือเกมส์ประลองอำนาจ ?  (อ่าน 573 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ต่อประเด็นที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ออกมาทักท้วงเรื่องการใช้เงินบัญชี 6 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) 15 แห่ง ในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาจังหวัด ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้ฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศที่มีคอนเนคชั่นในการดูแลสุขภาพประชาชนของประเทศ และผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสสจ. ร่อนหนังสือถึงบอร์ด สปสช. ยื่นเงื่อนไขขอให้มียกเลิกการจ่ายเงินตามระเบียบบัญชี 6 และยกเลิกการจ่ายเงินตรงเป็นค่าการทำงานให้กับบุคลากร พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเจรจาหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะต้องยุติการทำธุรกรรมร่วมกัน และยกเลิกการให้นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) ทำหน้าที่เป็นผอ.สปสช.สาขาจังหวัดด้วย เพราะที่ผ่านมาเห็นว่าทำงานซ้ำซ้อนกันอยู่มาก

ลำดับการณ์ต่อมา ฝั่งสปสช.ก็ออกมาแถลงข่าวรับลูก ยอมรับเรื่องบทบาทที่ทับซ้อนกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ และเสนอทิศทางปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพในระยะต่อไป โดยเน้นไปที่ key word สำคัญ คือ การกระจายอำนาจ และความเท่าเทียม ก่อนจะทิ้งท้าย ว่า สปสช.เห็นด้วยกับข้อเสนอสธ.ที่จะไม่ให้สสจ.เป็นสาขาจังหวัดของสปสช.อีก แต่ขอเวลาสักระยะหนึ่งในการดำเนินการ แต่เรื่องทั้งหมดต้องนำเสนอเข้าสู่บอร์ดสปสช.เพื่อการตัดสินใจก่อน

สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ จึงขอโฟกัสไปที่ ประเด็นข้อเสนอของสธ.ที่จะไม่ให้สสจ.ทำหน้าที่สปสช.สาขาจังหวัด ว่ามีข้อดี ข้อเสีย และเหมาะสมหรือสอดคล้อง กับบริบทของสถานการณ์ระบบสาธารณสุขไทยในตอนนี้อย่างไรบ้าง

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา

“ข้อเสนอของสธ.เป็นข้อเสนอที่ผิดพลาด แทนที่ตัวเองจะได้เปรียบ สปสช.กลับได้เปรียบ เพราะสามารถทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรไหนก็ได้ให้มาเป็นผอ.สปสช.จังหวัด...สธ.ตอนที่เสนออาจจะยังไม่รอบคอบ แต่คิดว่าเป็นเกมการเมืองในการยื้ออำนาจ  แทนที่สธ.จะสามารถคุมทุกอย่างได้ คุมสภาพการเงินทุกอย่างได้ อาจจะต้องสูญเสียไปหมด”

ในส่วนของนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า โดยทฤษฎีการแยกผู้ซื้อ กับผู้ให้บริการคิดว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว ซึ่ง สปสช.ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการแทนประชาชนทั้งประเทศ ส่วนสธ.ก็เป็นผู้ให้บริการ ตัวเชื่อมของผู้ซื้อและผู้ให้บริการในระดับเขต ระดับโรงพยาบาลก็จะมีสำนักงานเขตของ สปสช.ซึ่งมี 12 เขต ซึ่งมีโครงสร้างของผู้ตรวจราชการไปนั่งด้วย ส่วนระดับจังหวัดจะมีสำนักงานสาขา นี่เป็น 2 ข้อต่อ ประเด็นสำคัญเข้าใจว่า สธ.เสนอให้ สสจ.ไม่ยอมเป็น สาขาจังหวัด เป็นข้อเสนอหลัก ถามว่าแล้วจะมีอะไรเป็นข้อต่อการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงาน ก็น่าเป็นห่วง ส่วนตัวคิดว่าอาจจะเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้องของเรื่องนี้

คิดว่าทำไม สปสช.ถึงออกมารับเรื่องนี้เร็วมาก?

ถ้าวิเคราะห์แล้วข้อเสนอของสธ.เป็นข้อเสนอที่ผิดพลาด แทนที่ตัวเองจะได้เปรียบ สปสช.กลับได้เปรียบ เพราะสามารถทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรไหนก็ได้ให้มาเป็นผอ.สปสช.จังหวัด เช่น องค์กรเอกชนที่ทำเรื่องหลักประกันสุขภาพบางแห่งมาเป็นตัวแทน หรือมหาวิทยาลัย คณะแพทย์ ก็อาจจะเป็นไปได้ คิดว่าเรื่องนี้ สปสช.จะได้เปรียบเลยรีบตอบรับ สธ.ตอนที่เสนออาจจะยังไม่รอบคอบ แต่คิดว่าเป็นเกมการเมืองในการยื้ออำนาจ  แทนที่สธ.จะสามารถคุมทุกอย่างได้ คุมสภาพการเงินทุกอย่างได้ อาจจะต้องสูญเสียไปหมด

สปสช.บอกว่าจะไปร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหามาก่อน ?

คิดว่าทั้ง สธ. และสปสช.ตัดสินใจกรณีนี้ด้วยความรู้สึก ไม่ได้ใช้ความรู้ ไม่เคยทดลองโมเดล รู้ได้อย่างไรว่าให้ อปท.เป็นคนคุมงบประมาณสุขภาพในระดับจังหวัดแล้วจะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกัน สธ.ก็บอกไม่ให้ สสจ.เป็นผอ.สปสช.จังหวัดแล้ว แต่ข้อเสนอก็ไม่มี ซึ่งทั้งคู่คิดว่าเป็นการตัดสินใจโดยไม่ใช้ฐานข้อมูล ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะว่าอนาคตต้องมาลองผิดลองถูกกันซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นปีหรือ 2 ปีกว่าจะรู้ผล และจะทำให้ระบบรวน

ถ้าไปอยู่ตรงนั้นจริง อนาคตหากอยากเอาเงินกลับมาบริหารเองอาจจะทำได้อยากมากขึ้นหรือไม่ ?

คงไม่ใช่เรื่องดึงเงินกลับ หรือไม่ดึง เพราะจริงๆ การบริหารจัดการการเงินมีกติกาพอสมควร โดยกติกาเดิมค่อนข้างจะชัวร์ แต่ละฝ่ายยอมรับ หากเงินไปอยู่ที่ อปท.แล้วการจะเปลี่ยนกติกาการเงินคงไม่ง่าย ถ้าสิ่งที่เป็นห่วงอาจจะเป็นเรื่องของการที่ว่าเราจะเอาจริงแล้วใช่ไหม ที่จริงหลักคิดก็เป็นหลักคิดที่ดี เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่ว่ามันทำแบบตัดเสื้อโหลทั้งประเทศหรือไม่ ทำไมไม่ทำไปทีละเขต ซึ่งแต่ละสถานบริการมีความพร้อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นทำไมถึงไม่ทำไปทีละส่วน หลายจังหวัดได้งบประมาณไปเพียงพอหรือไม่ สัดส่วนกรรมการระดับจังหวัดถ้ามีอปท.เป็นประธานควรจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนก็มีบทบาทน้อยกว่าโรงพยาบาลจังหวัด มันยังมีเรื่องที่ต้องคิดและตอบหลายเรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าโมเดลนี้จะเป็นโมเดลที่ไม่ดี ทุกโมเดลมีข้อดีข้อเสีย คิดว่าเรื่องนี้ยังต้องมีการปรึกษาหารือด้วยบรรยากาศของความเป็นมิตร ไม่ใช่บรรยากาศเอาชนะคะคานกันเหมือนเป็นศัตรูกัน เพราะทำให้คำตอบที่ได้มาเป็นคำตอบของการชิงอำนาจกันมากกว่า

ในเรื่องการทำงานเชื่อมโยงกันของ 2 องค์กร ผ่านการที่ สสจ. และ ผอ.สปสช.จังหวัด เป็นคนๆ เดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติเป็นการทับซื้อกันมากกว่าหรือไม่ ?

ทับซ้อนกันแน่นอน สสจ. เป็นภาครัฐ เพราะฉะนั้นภาคเอกชนอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ได้ หรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของ สธ. อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินใจของ สสจ.ก็ได้ ถือว่าทับซ้อนอยู่มาก

ถ้าเช่นนั้นจะมีทางออกสำหรับเรื่องนี้อย่างไร ?

อาจจะต้องใช้ระบบบอร์ดให้มากขึ้น ปัจจุบันระดับเขตเป็นบอร์ดอยู่แล้ว แต่ระดับจังหวัดมีอำนาจและมีบทบาทน้อยแม้จะมีบอร์ดจังหวัดอยู่ อาจจะต้องวางกลไกให้บอร์ดมีส่วนร่วมหลากหลาย มีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาเป็นกรรมการมาร่วมกำหนด แต่คงต้องใช้เวลา แต่คิดว่าตอนนี้ไม่เห็นต้องเปลี่ยนอะไร จัดการเรื่องบ้านเมืองให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยมาปฏิรูประบบสาธารณสุข การเปลี่ยนน็อต 5 ตัวคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นไปได้ก็ควรชะลอเรื่องพวกนี้ไว้ก่อน พอเสร็จได้รัฐบาลที่เหมาะสม แล้วมาลงรายละเอียดกัน เราอยากให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนมากกว่านี้ เรื่องนี้ยังรอได้

มองว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ?

ถ้าวิเคราะห์ส่วนตัวเห็นว่าสธ.ชิงอำนาจกลับมายังสธ.ส่วนกลางโดยให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นเสมียน คือ สธ.บอกว่าต้องโอนเงินให้โรงพยาบาลนั้น โรงพยาบาลนี้กี่บาท สปสช.ก็ต้องโอนให้ เป็นแค่เสมียนโอนเงิน แต่แนวคิดเหล่านี้ สปสช.ซึ่งใช้กลไกของบอร์ดเป็นคนอนุมัติ บอร์ดเขาก็ไม่ยอม สธ.ก็พยายามดูว่าตัวเองมีอำนาจในการต่อรองอะไรได้บ้าง เลยกดดันสปสช.ด้วยการไม่ทำงานร่วมกับ สปสช.ทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัด แต่ตอนที่วิธีนี้ออกมคงยังไม่ได้คิด

มีข้อท้วงติงว่า สปสช.เองก็ทำหน้าที่ไม่สมกับการเป็นผู้ซื้อบริการ ?

ไม่รู้สึกเช่นนั้น เพราะโดยภาพรวมแล้ว สปสช.ก็ต้องตั้งกติกาการจัดสรรเงิน เดิมเงินถูกจัดสรรตามอำเภอใจของผู้บริหาร มีกติกาบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น จำนวนประชากร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สปสช.ตั้งกติกาการจัดสรรเงินตามปริมาณงาน นี่คือ P4P อย่างแท้จริง P4P อย่างที่ท่านปลัดต้องการ ดังนั้นคิดว่าระบบที่ถูกวางไว้นั้นเป็นระบบที่รองรับการจัดสรรเงินตามปริมาณงานพอสมควร ค่อนข้างดี จะบอกว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุก็มองได้ แต่ถ้าดูการจัดสรรเงินตามความสามารถในการให้บริการ ใครผ่านข้อกำหนดก็ได้มาก

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา สสจ.จังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำประชาคมสาธารณสุข

“สสจ.ก็ต้องทำหน้าที่เป็น สสจ. แต่บทบาทที่สสจ.เป็นผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เราคิดว่าจะต้องเข้าใจการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ที่เรามองการแยกบทบาทตรงนี้คือที่ระดับเขต แต่การทำงานในระดับพื้นที่นั้นเป็นการบริหารจัดการหน่วยบริการทั้งในส่วนของ คน เงิน ของ”

ด้าน พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา สสจ.จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และ ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เราก็ผสมผสานทั้ง 2 บาทบาทไปด้วยกัน ซึ่งจากการทำงานตรงนี้ก็จะเห็นว่ามีข้อดีอย่าง ข้อเสียอย่าง ที่ผ่านมาเมื่อได้รับมอบหมายเราก็ทำงานอย่างเต็มความสามารถที่เราจะทำได้ จริงๆ ต้องบอกว่าในฐานะที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัดนั้น บทบาทจริงๆ มีความทับซ้อนกันอยู่ ระหว่างการเป็น สสจ. กับ ผอ.สปสช.จังหวัด ข้อดีคือบางครั้งก็สามารถบูรณาการงานในบ้างเรื่องเพื่อจัดการทีเดียว แต่ความชัดเจนของทั้ง 2 บทบาทก็แยกกันไม่ออกว่าบทบาทไหนเป็นบทบาทไหน นี่คือจุดอ่อน ในข้อกำหนดบางอย่างก็ต้องแยกกันให้ชัดเจน 

ทำให้การทำงานยากขึ้นหรือไม่ ?

ที่ผ่านมาเราทำในส่วนที่ได้รับมอบหมายให้ทำทั้ง 2 บทบาทออกจากกัน เราก็ยังสามารถทำได้ แต่วันนี้ถ้าจะยก 2 บทบาทออกจากกัน แล้วเป็นการมอบหมายจากสธ.หรือเป็นข้อตกลงกันเราก็ยังทำได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องมีความชัดเจน แต่บางอย่าง บางเรื่องก็ไม่ต้องทำในฐานะผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เพราะเป็น บทบาทของ สสจ. อยู่แล้ว และในส่วนของบทบาทที่ต้องเป็นผอ.สปสช.สาขาจังหวัด โดยตรงก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน บางบทบาทอาจจะส่งคืนหรือบางบทบาทอาจจะเอาตรงนี้มาอยู่ที่ระดับเขต ต้องคุยกันในรายละเอียดเพื่อให้ได้ทำงานได้ และมีความชัดเจนในบทบาทและภารกิจที่จะไม่ทับซ้อนกัน การทำงานในฐานะ สสจ.เราต้องดูแลทุกคนในจังหวัดอยู่แล้ว

สสจ.ก็ต้องทำหน้าที่เป็น สสจ. แต่บทบาทที่เป็นผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เราคิดว่าจะต้องเข้าใจการแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ที่เรามองการแยกบทบาทตรงนี้คือที่ระดับเขต แต่การทำงานในระดับพื้นที่นั้นเป็นการบริหารจัดการหน่วยบริการทั้งในส่วนของ คน เงิน ของ ในส่วนของ UC ที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ คนและภาระงาน ที่ทางจังหวัดต้องดูแล ในเรื่องของการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ การกำหนดค่าความสำเร็จของงานหรือตัวชี้วัดนั้นให้ทาง สธ.กับ สปสช. ได้คุยกัน เพื่อให้ตอบสนองตัวชี้วัดที่ควรจะมี ควรจะเป็น เพราะว่าตัวชี้วัดของ สปสช.บางตัวก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดภารกิจของ สปสช. เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องคุยกันเรื่องตัวชี้วัด ว่าตัวไหนเป็นภารกิจของใคร และใครจะดูแลรับผิดชอบตรงไหน คิดว่าตรงนี้จะมีความซับซ้อนในเรื่องของการเงินการคลัง ในเรื่องของการจัดการข้อมูล การจัดบริการ การกำหนดความสำเร็จของงาน และตัวชี้วัดที่เชื่อมกัน ตรงนี้ต้องคุยกันเป็นภาพใหญ่ ไม่ใช่คุยกันเล็กๆ แล้วแยกส่วนกัน คิดว่าเป็นเวลาที่จะต้องมาทบทวนระบบของการทำงาน ไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำงานแยกส่วน และทำให้พื้นที่ต้องมาคิดหาวิธีเชื่อมโยงกันเอาเอง เป็นการบริหารจัดการแบบแยกส่วน ไม่ใช่ unity ของประเทศ

“เราทำงานกันมาแล้ว 10 ปี ควรมีการสรุป ทบทวนและปรับแต่ง เพื่อให้ระบบนั้นเหมาะสมยิ่งขึ้นกับสภาวะต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และเงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีที่จะต้องมีการทำงานร่วมกัน ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เป็นบทบาทที่ต้องทบทวน เพราะบทบาทของเราคือการเป็น สสจ. ในส่วนของการเกี่ยวข้องกัน สปสช.เราอย่าเพิ่งพูดว่าตรงนี้จะเป็นอย่างไร”

คิดอย่างไรเกี่ยวกับกรณีที่สธ.จะยกเลิกให้ สสจ.เป็น ผอ. ?

อันนี้คิดว่างานที่เราต้องทำก็ต้องทำ การจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกก็ไม่ขอให้ความเห็น แต่เราสามารถทำงานได้ทั้ง 2 แบบ เพราะไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ทำงานตามหน้าที่อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นผอ.หรือไม่ ทั้งการเงินการคลังของในจังหวัด การจัดการ ทางด้านการเงินการคลังของจังหวัดเป็นไปได้ด้วยดี สามารถอยู่กันได้ของสถานพยาบาลทั้งหมด ไม่ให้ปล่อยให้แต่ละแห่งจัดการตัวใครตัวมัน เราอยู่จังหวัดเดียวกันเราต้องทำงานใกล้เคียงกัน ช่วยกันทำงาน การอยู่ด้วยกันก็ต้องมีกติกา เรื่องฐานะการเงินการคลังในหน่วยบริการซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าหน่วยบริการในระดับจังหวัดไม่สามารถยืนอยู่เพียงลำพังได้ ไม่เชื่อมโยงกัน ไม่พึ่งพาอาศัยกันเป็นไปไม่ได้เลย หรือแม้แต่ระหว่างจังหวัด เราถึงออกมาเป็นเขตบริการสุขภาพ เพื่อดูแลภาพรวมให้ภาพรวมของประเทศ แม้แต่ สปสช.เองก็เป็น 12 เขต เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงถือว่าเป็นแนวคิดการทำงาน การจัดการที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับแต่งให้มีความสอดคล้อง ใกล้เคียงกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ชัดเจนแต่ละระดับๆ สปสช.มีระดับเขต เวลาที่สธ.มีระดับเขตก็ต้องเป็นระดับเขตกับระดับเขตคุยกัน จะมาคุยกับระดับอำเภอได้อย่างไรแต่ในเรื่องของการติดตาม ควบคุมกำกับก็มีทางออก ก็ทำเป็นชั้นๆ ตรงนี้มีภาพของการจัดการที่เป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับระดับประเทศไปด้วยกันด้วย

หากเปลี่ยนการบริหารตรงนี้ไปจะเกิดผลกระทบอย่างไร ?

ก็ต้องให้สธ.กับ สปสช. คุยกันก่อนว่าตรงนี้เป็นอย่างไร เพราะในหลักการทั้งหมดเราไม่ได้ทำเพื่อเอาชนะกัน แต่เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่เหมาะสม วันนี้เมื่อสรุปว่าการบริหารจัดการที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดผลกระทบอะไร อาจจะมีการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง คือการบริหารการเงินการคลังก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม การจัดบริการก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม การกำกับติดตามก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นแนวคิดที่ต้องมาคุยและต้องมาปรับระบบ เพราะที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาเรื่องในระบบการทำงานนี้อยู่ เช่น เรื่องกองทุนย่อย การจัดการบางเรื่องบางอย่างที่แยกส่วน บทบาทของแต่ละระดับที่ต้องชัดเจน ตรงนี้เป็นเรื่องหลักการ สรุปแล้ว ตกผลึกแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เราไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของคนที่ทะเลาะกัน เราอยู่บนพื้นฐานของคนที่จะมาปรับปรุงระบบเพื่อให้การทำงานดีขึ้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มารับบริการให้มากขึ้น เราต้องมองตรงนี้ก่อน และตรงนี้ต้องทำให้ผู้คนทั้งหลายมีความสุขทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ 

ก่อนหน้านี้สปสช.ออกมาบอกว่าไม่ให้สสจ.เป็น ผอ.สปสช.จังหวัดก็ได้ จะเอาเงินไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ถ้าเงินเปลี่ยนมือไปอย่างนี้จะมีผลอย่างไรหรือไม่ ?

เราอย่าคุยกันด้วยอารมณ์ แต่คุยด้วยเหตุผลว่าตรงนี้เป็นอย่างไร คิดว่าต้องบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระบบ เงินจะอยู่ตรงไหนเราไม่ได้มายด์ เพราะสุดท้ายเงินจะตกอยู่กับระบบบริการ เพราะหลักการของเรื่องนี้คือการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการ ในส่วนของ สสจ.ก็จะเป็นผู้ที่จะช่วยดูแลผู้ให้บริการ ซึ่งตรงนี้จะมีเงินมาให้เราถือหรือไม่มีให้เราถือเราก็ต้องทำงานตรงนี้ ในเรื่องของการทำงานก็อยู่ภายใต้การกำกับของเราอยู่แล้ว วันนี้เรื่องการเงิน การคลัง ในเรื่องระบบการจัดการตอนนี้ง่ายมาก เพราะระบบธนาคารระบบการตัดโอนเงิน อยู่ที่ส่วนกลาง อยู่ที่สธ.ยังได้เลย ไม่ต้องมาตั้งสำนักงานใหม่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าเซ็นแล้วสรุปข้อมูลไป จะจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการอย่างไรก็จ่ายมา ไม่ต้องส่งเงินมาให้เราถือก็ได้ เพราะว่าส่งเงินมาให้เราถือก็ไม่ใช่ว่าเราจะใช้เงินได้ตามอำเภอใจ คือเราอย่าเพิ่งไปคิดเรื่องยุบนั่น ยุบนี่ เพราะการทำงานมันต้องปรับให้มีความเหมาะสม ถ้ายึดติดก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง ในสังคม

“เราไม่ได้คิดว่าตรงนี้จะเป็นการสูญเสียอะไร และไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ บทบาทและภารกิจชัดเจนในตัวของมัน การบริหารงาน การเงินการคลังก็มีความชัดเจนของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ดูให้มันเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจหลัก และต้องมีการปรับภารกิจหลักของสธ. ของ สปสช.ด้วย บทบาทของแต่ละส่วนเป็นอย่างไร นี่สำคัญกว่าการที่ สสจ.จะเป็นผอ.สปสช.จังหวัดหรือไม่เป็นด้วยซ้ำไป”

เมื่อหลาย 10 ปีก่อนก็เคยมีการต่อสู้กันเรื่องนี้ ที่ไม่ให้เอาเงินลงไปบริหารจัดการแบบนั้น เพราะลงไปแล้วการบริหารจะยิ่งยาก ?

อย่าเพิ่งพูดว่าเป็นเงินของใคร และนี่ไม่ใช่เงินของท้องถิ่น การตั้งกองทุนต่างๆ ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องมาดูรายละเอียด และต้องมาทบทวนในเรื่องของการเรื่องบริหารจัดการ ไม่อย่างนั้นจะมีการตั้งกองทุนย่อยๆ ไปหมด ทั้งนี้ก็ต้องถามท้องถิ่นด้วยว่าเวลาเอาเงินผ่านท้องถิ่นมาแล้ว แต่ท้องถิ่นไม่ได้เป็นหน่วยบริการเพราะฉะนั้นท้องถิ่นก็เอาไปใช้ตามอำเภอใจไม่ได้อยู่ดี ต้องส่งเข้าหน่วยบริการ เงินตรงนี้ใครเป็นคนส่ง เรามองว่าตรงนี้เราไม่ได้มาคุมเรื่องการบริหารจัดการที่เหมาะสม ที่สำคัญคือการวางบทบาทระหว่าง สปสช.กับ สธ.ให้ชัดเจน เมื่อวางบทบาทให้ชัดเจนแล้ว เรื่องการจัดการก็ต้องมาคุยกันว่าระหว่าง สธ. กับ สปสช. ระหว่าง เขต และ จังหวัด หน่วยบริการจะพูดอะไรกันแค่ไหน ในเรื่องภารกิจการทำงาน เรื่องการที่จ่ายเงินลงมา การจ่ายเงินลงมาเป็นสิ่งที่ต้องมีกฎมีระเบียบต่างๆ ที่จะรองรับ และกฎระเบียบต่างๆ ก็ต้องดูภาพรวมของโรงพยาบาลด้วย ไม่ใช่เป็นตามอัธยาศัย ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาการจัดการภายในของโรงพยาบาล ยอมรับกลไกการเงินการคลัง จริงๆ ต้องใช้หลายๆ อย่างมาประกอบกัน จะใช้การเงินการคลังอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้การเงินการคลังมีอิทธิพลมากจนเกิดการบิดเบี้ยวหลายเรื่อง จึงต้องมานั่งทบทวนกันว่าเราใช้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร สธ.ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นหน่วยงานที่มีสถานบริการรายใหญ่ของประเทศ เมื่อมีปัญหาต้องทบทวน ทุกฝ่ายก็ต้องเข้าใจที่ต้องทบทวน   

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การแยกผู้ซื้อผู้ขายออกจากกัน ?

หลักคือการแยกผู้ซื้อ ผู้ให้บริการ แต่ต้องมาดูว่าจะแยกที่ระดับไหน เรามองว่าต้องแยกที่ระดับเขต แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องเอาเงินมาให้ที่ระดับเขต เพราะวันนี้เงินอยู่ที่ระดับเขตของ สปสช. ซึ่งคิดว่าเพียงพออยู่แล้ว ในการที่จะส่งมาให้กับหน่วยบริการนั้นก็ใช้กลไกของการบริหารจัดการที่ระดับจังหวัดและระดับเขต ในการกำหนดเม็ดเงินว่าจะวางอยู่ตรงไหน เท่าไหร่ ก็ต้องมาคุยกันในเรื่องหลักเกณฑ์ กติกา ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดอีกแบบแล้วมาบอกว่าฉันดีกว่าเธอ เธอดีกว่าฉัน อย่าตั้งแง่กัน เราคนทำงานทำได้ทั้งนั้นแต่ต้องชัดเจน ไม่เป็นข้อครหา

ทางออกของเรื่องนี้น่าจะเป็นอย่างไร ?

คุยกันหาทางออกที่เหมาะสม ถ้าระเบียบไม่ดีก็แก้ระเบียบ ถ้าพูดว่าบริหารจัดการไม่ดีก็แก้ไขที่การบริการจัดการต่างๆ เหล่านี้มีวิธีการจะวิเคราะห์ ขอให้มีความตั้งใจมาช่วยกันให้ระบบสุขภาพของประเทศดีขึ้น ทำให้ระบบสุขภาพดี ประชาชนมีความสุข รพ.อยู่รอด  balance ทุกอย่างให้เหมาะสม วันนี้ทำงานมา 10 ปี รู้แล้วว่าบางอย่างไม่เหมาะสมก็ปรับหน่อยหนึ่ง ไม่เห็นยาก

http://www.hfocus.org/content/2014/05/7114