ผู้เขียน หัวข้อ: ฟ้าหลังฝนในลิเบีย-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1057 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ท่ามกลางความมืดมิดของห้องเก็บของภายในพิพิธภัณฑ์  รูปหล่อสำริดของจักรพรรดิเซปติมีอัส เซเวอรัส ศัตรูตัวฉกาจของกัดดาฟีนอนหงายอยู่ในลังไม้ พระองค์ก็ไม่ต่างจากกัดดาฟีตรงที่ทรงมาจากดินแดนที่เป็นประเทศลิเบียในปัจจุบัน  และทรงปกครองจักรวรรดิโรมันอยู่นาน 18 ปีในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่สองกับสาม สถานที่ประสูติของพระองค์คือ เลปติสแมกนา (Leptis Magna) เมืองการค้าซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก 130 กิโลเมตรจากเมืองที่ชาวฟินิเชียเคยเรียกกันว่า อีอา (Oea) หรือกรุงตริโปลีในปัจจุบัน เมืองนี้รุ่งเรืองในหลายด้านจนได้รับการขนานนามว่า  กรุงโรมแห่งที่สอง กว่า 1,700 ปีหลังจักรพรรดิเซเวอรัสสิ้นพระชนม์ เจ้าอาณานิคมชาวอิตาลีที่ยึดครองลิเบียอยู่ในขณะนั้นได้สดุดีพระเกียรติของพระองค์ด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ของจักรพรรดิผู้ทรงน่าเกรงขาม  พระพักตร์โดดเด่นด้วยพระทาฐิกะ (เครา) และพระกรขวาถือคบเพลิง พระรูปหล่อของพระองค์ประดิษฐานเหนือจัตุรัสหลักของกรุงตริโปลี (หรือจัตุรัสวีรชนในปัจจุบัน) ล่วงถึงปี 1933 อนุสาวรีย์ของพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ ณ จัตุรัสแห่งนี้มานานครึ่งศตวรรษ กลับกลายเป็นที่ขวางหูขวางตาของผู้นำลิเบียอีกคนหนึ่ง

ไม่ผิดเลยที่กัดดาฟีมองอนุสาวรีย์จักรพรรดิเซเวอรัสเป็นภัยคุกคาม พระองค์ทรงเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจให้ผู้คนหวนคิดถึงสิ่งที่ครั้งหนึ่งลิเบียเคยเป็น    นั่นคือดินแดนอันมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   ทั้งยังเป็นเส้นทางหลักของการค้าและศิลปะ   ภูมิภาคตริโปลีตาเนียซึ่งประกอบด้วยเมืองเลปติสแมกนา ซาบราตาห์ และอีอา เคยเป็นแหล่งส่งออกข้าวสาลีและมะกอกให้ชาวโรมันโบราณ

แต่กัดดาฟีกลับทำให้ข้อได้เปรียบของประเทศต้องสูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งทางใต้ของอิตาลีและกรีซซึ่งทำให้ลิเบียเป็นเหมือนประตูบานหนึ่งของแอฟริกาที่เปิดสู่ยุโรป  จำนวนประชากรที่ไม่มากจนเกินไป หรือแหล่งน้ำมันสำรองปริมาณมหาศาล กัดดาฟีบดขยี้ความคิดสร้างสรรค์และเสรีภาพในการแสดงออก สำหรับเด็กนักเรียนที่ต้องท่องจำปรัชญาอันน่าสับสนของกัดดาฟีที่บันทึกอยู่ใน สมุดปกเขียว (Green Book) ประวัติศาสตร์ของลิเบียมีเพียงสองบทคือ     ช่วงยุคมืดที่อยู่ภายใต้การกดขี่ของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกกับช่วงแห่งความรุ่งเรืองภายใต้การปกครองของกัดดาฟี

ทุกวันนี้ ทั้งกัดดาฟีและวิสัยทัศน์ที่บิดเบี้ยวของเขาล้วนกลายเป็นอดีตไปแล้ว ลิเบียกำลังอยู่ในช่วงสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่เส้นทางแห่งการค้นพบเพิ่งจะเริ่มขึ้น ช่วงเวลาเช่นนี้น่ากลัวกว่ายุคสงครามในหลายแง่มุม เรือนจำชั่วคราวแน่นขนัดไปด้วยผู้ที่จงรักภักดีต่อกัดดาฟีหลายพันคน กองกำลังติดอาวุธควบคุมพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ แม้ปืนผาหน้าไม้จะมีให้เห็นน้อยกว่าในช่วงสงคราม แต่นั่นหมายความว่า คนหลายแสนคนที่มีอาวุธในครอบครองต่างเรียนรู้ที่จะเก็บซ่อนไว้ให้ไกลหูไกลตา ทางหลวงในชนบทยังไร้เงาตำรวจ คนใกล้ชิดคนสำคัญๆของกัดดาฟี รวมถึงภรรยาและลูกบางคนยังลอยนวล รัฐมนตรีใหม่หลายคนเริ่มคอร์รัปชันแล้ว

เหตุโจมตีสถานกงสุลสหรัฐฯในเมืองเบงกาซีโดยฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สะท้อนภาพของประเทศที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ระส่ำระสายอย่างไม่ต้องสงสัย      แต่แม้จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งและดิ้นรนต่อสู้ ลิเบียก็ยังห่างไกลจากความเป็นอนาธิปไตยไร้ขื่อแป สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยกำลังดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงตริโปลีสงบเรียบร้อย  ตึกรามบ้านช่องประดับประดาด้วยป้ายผ้าหรือไม่ก็พ่นรูปธงชาติลิเบียสีแดง ดำ และเขียวไว้ตามกำแพง ธงชาติรุ่นเก่านี้ถูกกัดดาฟีสั่งห้ามอยู่นานถึง 42 ปี เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับกษัตริย์อิดริสซึ่งถูกโค่นอำนาจในการปฏิวัติปี 1969 ป้ายโฆษณาและโปสเตอร์มีภาพของฝ่ายกบฏหลายคนที่เสียชีวิตในการสู้รบพร้อมข้อความทำนอง “เราพลีชีพเพื่ออิสรภาพของลิเบีย จงช่วยกันรักษาเสรีภาพ นี้ไว้!” หรือ “เก็บอาวุธให้หมด!” คนที่เดินผ่านไปผ่านมาบนท้องถนนตะโกนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ยินดีต้อนรับสู่ลิเบียยุคใหม่!”

แม้จะถูกครอบงำด้วยบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอน แต่นี่คือชาติที่กระตือรือร้นราวกับคนหนุ่มสาว         ผู้กระหายอยากกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสรีอีกครั้ง ทว่าบนหนทางอันยากลำบากไปสู่การค้นพบตัวเองอีกครั้ง  ธงชาติที่โบกสะบัดคงเป็นได้แค่ภาพลวงตาว่าจะพบเส้นทางลัด เหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมาเป็นเหมือนเงามืดที่คุกคามความพยายามของลิเบียในการส่งเสริมเสถียรภาพและฟื้นฟู          การปกครอง ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า การที่ชาวลิเบีย 30,000 คนออกมาประท้วงต่อต้านกลุ่มติดอาวุธหลังเกิดเหตุได้ 10 วัน บ่งบอกถึงอนาคตที่สดใสกว่าเดิมของลิเบียหรือไม่ การตกอยู่ใต้เงื้อมมือของอดีตผู้นำเผด็จการมายาวนานเป็นเหมือนม่านบังตาที่ทำให้ลิเบียไม่อาจมองเห็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

เมื่อมองไปยังอนาคตของลิเบีย    ผมหวนนึกถึงชายวัย 61 ปีที่พบในตลาดเก่าแห่งหนึ่งของเมืองเบงกาซี มุสฏอฟา ฆอร์ฆูม หาเช้ากินค่ำด้วยการขายภาพถ่ายเก่าๆของเมืองเบงกาซี   ทุกวันคนกลุ่มเล็กๆจะผลัดกันมามุงดูภาพถ่ายที่ทำให้หวนคิดถึงอดีต เช่น ภาพฝูงล่อบรรทุกเหยือกน้ำมันมะกอกเดินไปตามตรอก หรืออาคารรัฐสภาสถาปัตยกรรมอิตาลีซึ่งกัดดาฟีสั่งให้ทุบทิ้ง และทุกวันนี้กลายเป็นลานจอดรถ  

แกเลอรีข้างถนนของฆอร์ฆูมยังมีโปสเตอร์ที่เขาจงใจเขียนข้อความยั่วยุ เป็นต้นว่า “ผู้ที่สละเสรีภาพเพื่อแลกกับสวัสดิภาพไม่คู่ควรจะได้ทั้งสองอย่าง” หรือ “จิตวิญญาณเสรีแห่งอเมริกาและยุโรป ท่านทำให้เราผิดหวังเสมอ”  เมื่อการชุมนุมประท้วงอย่างสงบครั้งแรกๆ เริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฆอร์ฆูมปิดแกลเลอรีและเข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่นานก็กลับมาบ้าน แปดเดือนต่อมา ในวันที่กัดดาฟีถูกสังหาร เขากลับมาที่ตลาดพร้อมกับภาพถ่าย ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายปกติที่เขานำมาจัดแสดงเท่านั้น แต่ยังมีภาพถ่ายของศิลปิน ปัญญาชน และทหารที่เคย   ท้าทายอดีตผู้นำเผด็จการรายนี้และถูกประหารชีวิต นอกจากนี้ ยังมีภาพวาดที่เขาวาดขึ้นเมื่อปี 1996 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาจัดแสดงภาพถ่ายและคำขวัญเชิงเสียดสีต่อสาธารณชนในเมืองเบงกาซี ภาพวาดนี้เป็นภาพด้านหลังของคนคนหนึ่ง ในมือชูคบเพลิงอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ทั้งๆที่ฆอร์ฆูมตั้งใจวาดรูปตัวเอง แต่เขากลับวาดออกมาเหมือนรูปหล่อของจักรพรรดิเซปติมีอัส เซเวอรัส โดยไม่รู้ตัว

ในยุคเสรีภาพแบ่งบานอย่างทุกวันนี้ ฆอร์ฆูมวางภาพวาดนี้ไว้บนขาตั้ง และสะบัดปลายพู่กันลงบนภาพ เพื่อวาดภาพรางๆ ของฝูงชนเพิ่มเข้าไปในฉากหลัง จากนั้นเขาก็พยักหน้าด้วยความพอใจกับผลงานที่ออกมา เป็นภาพเหมือนของประเทศที่ยังก่อร่างสร้างไม่เสร็จ ประชาชนยืนรวมกันในตอนเย็นหลังการปฏิวัติ สายตาพร่า            จากแสงสว่างของคบเพลิง และกำลังรอคอยนิมิตใหม่ให้แทรกผ่านความมืดมิด

กุมภาพันธ์ 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มีนาคม 2013, 22:04:57 โดย pani »