ผู้เขียน หัวข้อ: ๑๕๐ ปี กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (อ่าน 1403 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
๑๕๐ ปี กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
« เมื่อ: 07 มิถุนายน 2012, 23:31:14 »
"พ่อยังมีลูกศิษย์และเพื่อนฝูงมากทั่วพระราชอาณาจักร

เขาไม่มาหาก็ดูเป็นอกตัญญู  ถ้ามาก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเจ้า

เราให้สุขเขาไม่ได้ก็อย่าให้ทุกข์เขา ไปเสียให้พ้นดีกว่า เราก็สบายเขาก็สบาย"

– ความตอนหนึ่งจาก ชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

                                                                                                โดย หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

อาจเป็นเพราะเหตุผลข้างต้น เพียงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตัดสินพระทัยลี้ภัยไปยังปีนัง ขณะนั้นมีพระชันษา ๗๑ ปี นับเป็นช่วงสนธยาแห่งชีวิต การเดินทางในครั้งนั้นไม่มีใครล่วงรู้ว่า พระองค์จะได้เสด็จนิวัตคืนสู่แผ่นดินแม่อีกครั้งหรือไม่ แม้หนังสือเกี่ยวกับพระประวัติหลายเล่มจะระบุตรงกันว่า นี่คือช่วงชีวิตที่ทรงตกทุกข์ได้ยากมากที่สุด กระนั้นกลับเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ที่ก่อเกิดผลงานพระนิพนธ์ทรงคุณค่าหลายชิ้น ไม่เพียงสร้างองค์ความรู้มหาศาล หากยังบ่มเพาะความทรงจำทางสังคมที่เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ย้อนหลังไป ๑๕๐ ปีก่อน   ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ พระเจ้าลูกเธอ    พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ประสูติในพระบรมมหาราชวัง   ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗     ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาชุ่ม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าถึงพระประวัติของพระองค์ไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ความทรงจำ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรักในความรู้เริ่มขึ้นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในขณะนั้นการศึกษาแผนใหม่ยังไม่เริ่มขึ้นในประเทศสยาม  จึงทรงเล่าเรียนเขียนอ่านชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง   เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต พระองค์เจริญพระชันษาเพียง ๗ ปี แม้จะไม่ทรงได้รับความเอาใจใส่จากเจ้านายและขุนนางชั้นผู้ใหญ่เหมือนเช่นเคย แต่พระองค์ก็ทรงเรียนรู้เรื่องราวต่างๆด้วยพระองค์เองนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยทรงซักถามเรื่องราวต่างๆจากผู้รู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช

แม้จะไม่ได้เสด็จไปศึกษาในประเทศยุโรปเหมือนเจ้านายหลายพระองค์ในรัชกาลที่ ๕ แต่พระองค์ก็ทรงเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างประเทศ คือ ยอร์ช ฟรานซิส แพตเตอร์สัน  จนเป็นที่รักและสนิทสนมของครู ด้วยความใฝ่ใจเป็นพิเศษจึงทรงใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งการพูด การอ่าน และการเขียน นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทรงเข้าใจวิทยาการต่างๆ จากโลกตะวันตก และทรงเล็งเห็นถึงความทันสมัยที่กำลังคืบคลานเข้าสู่สยามในเวลานั้น ดังที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า "วิชาความรู้ย่อมเกิดขึ้นใหม่และเจริญขึ้นเสมอ"

รากฐานสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ คือการจัดการศึกษาแผนใหม่เพื่อสร้างคนเข้าทำงานในระบบราชการ         สมเด็จฯ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงริเริ่มจัดการศึกษาโดยขอพระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบ และจัดตั้งเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือนแห่งแรก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  ระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ บางครั้งทรงสอนเอง เพราะครูยังหายาก และในเวลานั้นไม่มีใครเข้าใจคำว่า “หลักสูตร” การสอบไล่ก็เพิ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงร่างข้อสอบ และทำประกาศนียบัตรด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงขยายการศึกษาไปสู่ราษฎร โดยอาศัยวัดเป็นพื้นฐาน โรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่ทรงตั้งขึ้นคือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม

การวางรากฐานระบบการศึกษาเป็นงานที่ทรงรัก เพราะทรงริเริ่มมาตั้งแต่ต้น ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการพระองค์แรก และคราวที่เสด็จเยือนยุโรป ทรงศึกษาการจัดการศึกษาในประเทศรัสเซีย และประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาปรับเข้ากับระบบการศึกษาของสยาม แต่หลังจากเสด็จนิวัตพระนครได้เพียง ๗ วัน สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมีรับสั่งให้ทรงย้ายไปช่วยงานกระทรวงมหาดไทย แม้จะทรงอาลัยงานด้านการศึกษาที่ทรงริเริ่ม แต่ก็ทรงจนด้วยเหตุผลที่ว่า"กรมดำรง ฉันเชื่อว่าเธอจะทำการศึกษาได้สำเร็จ แต่บัดนี้บ้านเมืองอยู่ในอันตราย ถ้าเราตกไปเป็นข้าเขาอื่น การศึกษาที่เธอรักจะอยู่ที่ไหน ใครเขาเป็นนาย เขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพอใจเขา เรามาช่วยกันรักษาชีวิตของประเทศไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเธอติดขัดอย่างไร ก็มาปรึกษาฉันได้"

                ขณะทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเจริญพระชันษา ๓๐ ปี แม้จะเปี่ยมด้วยพระกำลังวังชาและพระสติปัญญา ทว่ายังทรงขาดประสบการณ์ด้านการปกครองอยู่มาก จึงทรงดำริว่าจะต้อง "ออกไปเที่ยวดูตามหัวเมืองเอง" ซึ่งไม่เพียงเป็นการบุกเบิกงานด้านการปฏิรูปการปกครองเท่านั้น ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่ทรงตรวจเยี่ยมหัวเมืองต่างๆ ยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้พระองค์ทรงรู้จักสยามมากที่สุด   และกลายเป็น “วัตถุดิบ” ที่ทรงใช้ในงานพระนิพนธ์ตลอดพระชนม์ชีพ

                สำหรับนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี การเดินทางออกไปเที่ยวดูหัวเมืองต่างๆ ในเวลานั้นคงเป็นเรื่องน่าสนุกอยู่ไม่น้อย หาใช่เพราะการเดินทางที่ดูราวกับการผจญภัย ซึ่งต้องบุกป่าฝ่าดง ด้วยช้าง ม้า วัว เกวียน หากแต่เป็นเพราะร่องรอยหลักฐานต่างๆระหว่างสองข้างทาง ยังไม่มีผู้ใดศึกษามาก่อน ดังที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงการติดตามพระบิดาในการเสด็จตรวจหัวเมืองไว้อย่างน่าติดตามว่า

                "บางครั้งกำลังวิ่งม้าไปในป่า ถ้าเจอะแผ่นหิน เป็นรอยเกลี้ยงเกลา ต้องหยุดม้าลงแงะงัดขึ้นดูว่ามีตัวอักษรหรือไม่ เราได้พบศิลาจารึกหลายแผ่น ถ้าพบแล้วต้องยกขึ้นล้างถูด้วยแปรง จนดินที่อุดอยู่ในรอยต่างๆ นั้นออกหมด... สิ่งแรกที่ตรัสถามโปรเฟสเซอร์เซเดส์ก็คือ หลักศิลานั้นๆ อายุเท่าไร ภาษาอะไร เรื่องอะไร เพราะโปรเฟสเซอร์ผู้นี้แกอ่านภาษาขอม มอญ บาลี สันสกฤต ไทย ได้ดี ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องค้นต่อ ก็ม้วนใส่กลักสังกะสีเอากลับมาแปลในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเคยช่วย เขาล้างเช็ดหลักศิลามาหลายอัน เวลาไปเห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์ จึงรู้สึกรักและคุ้นเคยกันมานาน บางคราวพอยกหินขึ้นจากดิน งูสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมก็วิ่งปรูดปราดออกมา ทำเอาเรากระโดดไปพักหนึ่ง หมอบอกข้าพเจ้าว่า ฝ่าบาทหัดฉีดยาเสียหน่อยไม่ดีรึ"

*****************************

                        ฉันเกิดในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีจอ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕

ประเพณีในราชสกุลสมัยนั้น เมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นพระองค์ชาย

ได้พระราชทานพระขรรค์เล่ม ๑ กับปืนพกกระบอก ๑... เมื่อประสูติแล้วได้ ๓ วัน

มีการพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จลงประทับเป็นประธาน ทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมพระราชทาน ฉันได้เฝ้า

"ทูลกระหม่อม" สมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันเป็นครั้งแรกในวันนั้น...

                ยิ่งไกลจากบ้าน ความทรงจำกลับยิ่งแจ่มชัด พระนิพนธ์เรื่อง "ความทรงจำ" ดูเหมือนจะเป็นข้อเขียนเพียงชิ้นเดียว ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ทรงเริ่มนิพนธ์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากทรงลี้ภัยทางการเมืองออกจากพระนคร "ความทรงจำ" จึงเป็นเสมือนการหวนคำนึงถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาจวบจนเข้าสู่ปัจฉิมวัย แม้พระนิพนธ์ชิ้นนี้จะได้รับการยกย่องว่าจับใจผู้อ่านมากยิ่งกว่าพระนิพนธ์เรื่องอื่นใดที่เคยตีพิมพ์มา หากแต่ผู้นิพนธ์กลับทรงประพันธ์ค้างไว้เพียง ๕ ตอน ด้วยเหตุผลที่ว่า "เป็นจะเขียนต่อไป ไม่ได้เสียแล้ว เพราะรู้สึกเหมือนลอกหนังกำพร้าของตัวเอง... เพราะผลบางอย่าง ต้องเล่าถึงเหตุ และเหตุนั้นต้องพาดพิงไปถึงเรื่องของผู้อื่นด้วย" บางคราความทรงจำที่ขาดหาย จึงมิได้เกิดจากการหลงลืม หากเป็นเพราะผู้นิพนธ์ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นได้จดจำ

พุทธศักราช ๒๔๘๕ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังไม่สงบ นายทหารญี่ปุ่นนำเรือจากปีนังผ่านสะเดา มาลงเรือ วลัย ที่สงขลา ถึงท่าเกษมลงเรือพายถึงพระตำหนักในวังวรดิศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จคืนสู่นิวาสสถานที่ทรงจากไปนานเกือบสิบปี พระวรกายที่ทรุดโทรมด้วยโรคพระหทัยพิการ ดูราวกับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

                ล่วงถึงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เพียงหนึ่งปีหลังเสด็จนิวัตพระนคร  หลังเสด็จเข้าบรรทมก็ไม่ทรงตื่นขึ้นอีกเลย ฉากชีวิตของเจ้านายผู้เป็นที่รักยิ่งพระองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์จักรีได้จบลงแล้วอย่างสมบูรณ์

                "ความทรงจำ" ที่ทรงนิพนธ์ค้างไว้ กลับชวนให้เรารำลึกถึงพระองค์ได้อย่างแจ่มชัด ราวกับอนุสาวรีย์แห่งความรำลึกถึงที่ยืนหยัดท้ากาลเวลา 

 มิถุนายน 2555