ผู้เขียน หัวข้อ: ที่มาของ ‘ฉายา’ แต่ละสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ  (อ่าน 6681 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกีฬาที่บ่งบอกเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หรือเมือง ศาสนา การเมือง ไปจนถึงผู้คน ด้วยความที่ประเทศอังกฤษเป็นต้นกำเนิดกีฬาหลาย ๆ ชนิด รวมถึงฟุตบอล ทำให้ชื่อของสโมสรแต่ละแห่งล้วนอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราว อีกทั้งความสำคัญของชื่อสโมสรยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นมาตราฐานเดียวกันทั้งโลก

บ่อยครั้งชื่อและฉายาสโมสรถูกแทนด้วยชื่อของเมืองหรือย่านนั้น ๆ แต่ก็มีบางสโมสรที่ใช้ชื่อด้วยที่มาอื่น ๆ bearttai BUZZ จะพาไปทำความรู้จักแต่ละสโมสรในศึก ‘พรีเมียร์ลีก’ ฤดูกาล 2021-22 ด้วยชื่อและฉายาที่ถูกตั้งให้ ไปจนถึงทีมที่ตั้งฉายาเองเอาไว้ข่มขวัญคู่แข่ง หากคุณเป็นแฟนบอลของสโมสรเหล่านี้ มาลองทายกันดูซิว่าชื่อที่พวกเราเรียก ๆ กันมีที่มาจากอะไร เรียงลำดับตามตัวอักษร A-Z ไม่ใช่ตารางคะแนน..โปรดอย่าตกใจ

1. อาร์เซนอล (Arsenal)

Arsenal© Beartai Arsenal
สโมสรอาร์เซนอลมีฉายาว่า ‘เดอะกันเนอร์ส’ หรือ ‘ปืนใหญ่’ ตามโลโก้ของสโมสร ซึ่งอาร์เซนอลแทบจะเป็นเพียงไม่กี่ทีมในอังกฤษที่ไม่ได้ตั้งชื่อสโมสรตามชื่อเมืองหรือย่านนั้น ๆ แต่เป็นกลุ่มคนงานของโรงงานผลิตอาวุธ ‘รอยัล อาร์เซนอล (Royal Arsenal)’ ในย่านวูลิชของกรุงลอนดอน  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสถานีรถไฟใต้ดิน ‘อาร์เซนอล สเตชัน’ เป็นสถานีเดียวในอังกฤษที่ตั้งชื่อตามสโมสรฟุตบอล โดยเปลี่ยนจากชื่อเก่าคือสถานีกิลเลสพี โร้ด สเตชัน (Gillespie road station) นั่นเอง

2. แอสตัน วิลล่า (Aston Villa)

Aston Villa© Beartai Aston Villa
แอสตัน วิลล่ามีฉายาหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ‘เดอะไลออนส์’ หรือ ‘วิลล่า’ ไปจนถึง ‘เดอะคลาเรต แอนด์ บลูอาร์มี (The Claret and Blue Army)’ แต่แฟนคลับในไทยเรียกกันติดปากว่า ‘สิงห์ผงาด’ หรือ ‘สิงห์ผยอง’ ไปจนถึง ‘วิลล่า’ เช่นเดียวกับชื่อสนามเหย้า

3. เบรนท์ฟอร์ด (Brentford)

Brentford© Beartai Brentford
เบรนท์ฟอร์ด มีฉายาว่า ‘เดอะ บีส์’ หรือ ‘ผึ้งพิฆาต’ และ ‘ผึ้งน้อย’ ในชื่อที่คนไทยคุ้นเคย เบรนท์ฟอร์ดกำลังจะได้กลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกอีกครั้งในฤดูกาล 2021-22 ในรอบ 74 ปี หลังจากล่าสุดตกชั้นไปเมื่อปี 1947 คงต้องมาดูกันว่าผึ้งพิฆาตจะสามารถอาละวาดศึกพรีเมียร์ลีกได้นานแค่ไหน

4. ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน (Brighton & Hove Albion)

Brighton & Hove Albion© Beartai Brighton & Hove Albion
ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน มีฉายาว่า ‘เดอะซีกัลส์’ หรือนกนางนวล มีที่มาจากตราสโมสร โดยอ้างอิงมาจากเมืองไบรท์ตันเป็นเมืองชายทะเลและเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่านกนางนวล จึงนำลักษณะท้องถิ่นมาใช้เป็นชื่อเรียกสโมสรเช่นกัน

5. เบิร์นลีย์ (Burnley)

Burnley© Beartai Burnley
แต่เดิมเบิร์นลีย์ใช้ชื่อว่า ‘เบิร์นลีย์ โรเวอร์ส’ ต่อมาได้ตัดชื่อพยางค์หลังออกเหลือแค่ ‘เบิร์นลีย์’ และตามมาด้วยฉายา ‘เดอะคลาเร็ตส์ (The Clarets)​’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘เหล้าองุ่น’

6. เชลซี (Chelsea)

Chelsea© Beartai Chelsea
เชลซีมีฉายาว่า ‘เดอะบลูส์’ แต่คนไทยจะคุ้นเคยในชื่อ ‘สิงโตน้ำเงินคราม’ และ ‘สิงห์บลู’ เชลซีเปลี่ยนชื่อสโมสรมาแล้วหลายครั้ง แรกสุดใช้ชื่อว่าสโมสร ‘ฟูแล่มเอฟซี’ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เคนชิงตันเอฟซี’ ตามมาด้วย ‘สแตมฟอร์ดบริดจ์เอฟซี’ (ชื่อสนาม) จนสุดท้ายกลายมาเป็น ‘ลอนดอน เอฟซี’ หรือ ‘เชลซี’ จนถึงทุกวันนี้

7. คริสตัล พาเลซ (Crystal Palace)

Crystal Palace© Beartai Crystal Palace
คริสตัล พาเลซมีฉายาว่า ‘ดิอีเกิลส์’ และ ‘เดอะ กลาเซียร์ส’ ที่อ้างอิงมาจากตราสโมสรเป็นรูปปราสาทและมีนกอินทรีอยู่ด้านบน คนไทยจะคุ้นเคยในชื่อ ‘ปราสาทเรือนแก้ว’ มากกว่า

8. เอฟเวอร์ตัน (Everton)

Everton© Beartai Everton
เอฟเวอร์ตันมีฉายาว่า ‘เดอะบลูส์’ และ ‘เดอะทอฟฟี’ ที่คนไทยเรียกติดปากว่าสโมสร ‘ทอฟฟีสีน้ำเงิน’ ส่วนที่มาของคำว่า ทอฟฟีนั้นต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนที่เอฟเวอร์ตันยังเป็นเมืองโรงงานทำทอฟฟี่อยู่ โดยเจ้าของโรงงานนั้นคือมา บูเชล (Ma Bushell) ที่เจ้าตัวจะนำลูกอมและทอฟฟีต่าง ๆ มาแจกกองเชียร์ก่อนเข้าสนาม จึงทำให้ภาพความน่ารักเหล่านี้กลายมาเป็นฉายาสร้างภาพจำให้สโมสรในที่สุด 

9. ลีดส์ ยูไนเต็ด (Leed United)

Leeds United© Beartai Leeds United
ลีดส์ ยูไนเต็ดมีฉายาว่า ‘เดอะ ไวท์ส’ และ ‘เดอะ พีค็อกส์’ หรือ ‘ยูงทอง’ ที่คนไทยคุ้นเคย ลีดส์ ยูไนเต็ดเป็นหนึ่งในทีมที่กลับขึ้นมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้อีกครั้งในรอบ 16 ปี คำถามที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือแล้ว ‘ยูงทอง’ หรือนกยูงมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ตราประจำเมืองลีดส์เป็นรูปนกฮูกเสียด้วยซ้ำ คำตอบคือในช่วงปี 80s สโมสลีดส์ ยูไนเต็ด ได้ปรับเปลี่ยนตราสโมสรจากเดิมที่เคยเป็นรูปวงกลมมาเป็นรำแพนของนกยูง ก่อนที่จะใส่ตัวนกยูงเข้าไปเสียเลย จึงมาพร้อมฉายา ‘ยูงทอง’ ที่คนไทยเรียกกันติดปาก ถึงแม้ว่าภายหลังลีดส์ ยูไนเต็ดจะเปลี่ยนโลโก้เป็นสัญลักษณ์ของแคว้นยอร์คเชียร์คือ ดอกกุหลาบขาวแห่งยอร์คแล้วก็ตาม แต่ชื่อของ ‘ยูงทอง’ ก็ยังติดปากคนไทยมาตั้งแต่นั้น

10. เลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City)

Leicester City© Beartai Leicester City
เลสเตอร์ ซิตี้มีฉายาว่า ‘เดอะฟ็อกซ์’ หรือ ‘จิ้งจอกสีน้ำเงิน’ ในภาษาไทย หลังจากคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา เข้าไปเทกโอเวอร์สโมสร คนไทยจึงเปลี่ยนมาเรียกเป็น ‘จิ้งจอกสยาม’ ที่สามารถกอบโกยถ้วยแชมป์มาได้หมาด ๆ ฉายาจิ้งจอกนี้ก็มีที่มาจากในอดีตเมืองเลสเตอร์เป็นเมืองที่นิยมล่าจิ้งจอก จนถึงขนาดกลายเป็นประเพณีประจำเมืองที่จะมีขึ้นปีละครั้งเลยทีเดียว

11. ลิเวอร์พูล (Liverpool)

Liverpool© Beartai Liverpool
แม้คนไทยจะเรียกกันติดปากว่า ‘หงส์แดง’ แต่จริง ๆ แล้วลิเวอร์พูลมีฉายาว่า ‘เดอะเรดส์’ ทั้งนี้แม้คนไทยจะเรียกว่าหงส์แดง แต่นกที่อยู่บนตราสโมสรเองก็ไม่ใช่หงส์ แต่คือนกลิเวอร์เบิร์ด (Liver Bird) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองลิเวอร์พูลที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่ามาก่อนด้วย

12. แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City)

Manchester City© Beartai Manchester City
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีฉายาหลากหลายไม่แพ้กัน ตั้งแต่ ‘ซิตี้’, ‘ซิตีเซนส์’ หรือ ‘เดอะ สกาย บลูส์’ แต่ชื่อเหล่านี้ไม่คุ้นหูเท่า ‘เรือใบสีฟ้า’ ที่คนไทยเรียกกันตามโลโก้สโมสร เนื่องจากแมนเชสเตอร์เป็นเมืองท่าเช่นเดียวกันกับทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงใช้สีในการแยกระหว่างทั้งสองทีมแทน

13. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United)

Manchester United© Beartai Manchester United
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้ชื่อฉายาว่า ‘เดอะ เรด เดวิลส์’ ที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ปีศาจแดง’ หรือ ‘ผีแดง’ เป็นฉายาที่ถูกแต่งตั้งมาข่มขวัญทีมคู่แข่งโดยเซอร์ แมตต์ บัสบี้ (Matt Busby) ในปี 1973 จึงนำสัญลักษณ์ของปีศาจถือตรีศูลมาปรากฏอยู่โลโก้สโมสรนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่แฟน ๆ อาจลืมไปคือแมนเชสเตอร์เป็นเมืองท่าเช่นเดียวกับทีมคู่อริอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จึงมีสัญลักษณ์ของเรือใบปรากฏอยู่ตราสโมสรด้วยเช่นกัน

14. นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (Newcastle United)

Newcastle United© Beartai Newcastle United
นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ใช้ฉายาว่า ‘เดอะแม็กพายส์ (The Magpies)’ และ ‘เดอะทูน’ แต่คนไทยเรียกกันว่า ‘สาลิกาดง’ ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ของนกในภาษาไทยในเอง นกแม็กพายส์หรือนกสาลิปากดำพบได้ทั้งในทวีปยุโรป แอฟริกาและเอเชีย มีสีขาวดำเช่นเดียวกับสีเสื้อของเหล่าสาลิกาดงนั่นเอง

15. นอริช ซิตี้ (Norwich City)

Norwich City© Beartai Norwich City
นอริช ซิตี้ ใช้ฉายาว่า ‘เดอะคานารีส์’ และ ‘เยลโลว์ส’ ซึ่งรู้จักกันในชื่อเรียกว่า ‘นกขมิ้นเหลืองอ่อน’ ที่อ้างอิงมาจากพันธ์ุนกและสีเหลืองของตราสโมสรโดยตรง

16. เซาแธมป์ตัน (Southampton)

Southampton© Beartai Southampton
เซาแธมป์ตัน มีฉายาว่า ‘เดอะเซนต์ส’ หรือ ‘นักบุญ’ ในภาษาไทย ซึ่งนักบุญที่ว่านี้มาจากเซาแธมป์ตันเป็นทีมของคริตจักรที่ก่อตั้งโบสถ์เซนต์แมรีนั่นเอง จึงนำชื่อเหล่านั้นมาตั้งเป็นฉายาสโมสรจนถึงทุกวันนี้

17. ทอตแนม ฮอตสเปอร์ (Tottenham Hotspur)

Tottenham Hotspur© Beartai Tottenham Hotspur
ทอตแนม ฮอตสเปอร์ มีฉายาว่า ‘เดอะ ลิลลีไวทส์’ แต่ในไทยเราเรียก ‘ไก่เดือยทอง’ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกับฉายาดั้งเดิมเลย แต่อ้างอิงมาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งสโมสรคือแฮร์รี เพอร์ซี ฮอตสเปอร์ (Harry Percy Hotspur) และชื่อสโมสรเดิมอย่าง ‘ฮอตสเปอร์ เอฟซี’ ซึ่งมาเปลี่ยนเป็น ทอตแนม ฮอตสเปอร์ ในปี 1949 พร้อมด้วยการใส่ตราสัญลักษณ์รูปไก่ตัวผู้ที่มีเดือยกำลังเหยียบลูกบอลเข้าไปด้วย จนกลายเป็นฉายาสุดแปลก แต่ก็มีเท่ไปอีกแบบ

18. วัตฟอร์ด (Watford)

Watford© Beartai Watford
วัตฟอร์ด กลับมาสู่พรีเมียร์ลีกได้อีกครั้ง พร้อมทั้งพาฉายา ‘เดอะฮอร์เนตส์’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘แตนอาละวาด’ แต่ดันสวนทางกับตราสโมสรที่เป็นรูปกวางเอาดื้อ ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่ารูปกวางเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสรวัตฟอร์ด ส่วนฉายาแตนอาละวาดนั้นมาจากสีเสื้อเหลืองและดำที่ดันไปคล้ายคลึงกับสีของแตนนั่นเอง

19. เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (Westham United)

Westham United© Beartai Westham United
เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ใช้ฉายาว่า ‘เดอะแฮมเมอร์ส’ ซึ่งเป็นที่มาให้คนไทยเรียกกันว่า ‘ขุนค้อน’ ซึ่งอ้างอิงมาจากตราสโมสรเป็นรูปปราสาทและค้อน ซึ่งภาพแทนของอุตสาหกรรมต่อเรือที่เฟืองฟูในยุค 70s – 80s โดยในปี 1895 เวสต์แฮมที่ประกอบด้วยคนงานอู่ต่อเรือจากบริษัท Thames Ironworks จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งฉายาให้กับเหล่าขุนค้อนว่า ‘ดิไอรอนส์’

20. วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส (Wolverhampton Wanderers)

Wolverhampton Wanderers© Beartai Wolverhampton Wanderers
วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ใช้ฉายาว่า ‘วูล์ฟ’ และ ‘เดอะ วันเดอร์เรอร์ส’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘หมาป่า’ เช่นเดียวกับตราสโมสรที่เป็นรูปหมาป่าล้อมกรอบสีเหลืองดำนั่นเอง

อ้างอิง football-stadiums, thechamplair
https://www.msn.com/th-th/news/other/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%A9/ar-AAKwwOP?ocid=msedgntp