ผู้เขียน หัวข้อ: เวียดนามล้มเขื่อนกว่า 300 แห่ง พบทำลายป่ากระทบสิ่งแวดล้อมสาหัส  (อ่าน 921 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งของประเทศลงพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดเวลาหลายเดือนมานี้และได้สรุปผลการศึกษาต่อกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมระบุว่า เขื่อน 2 แห่งล่าสุดที่ถูกกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าล้มเลิกไปนี้กำลังจะทำลายผืนป่าล้ำค่าของประเทศกับสภาพความสมบูรณ์ทางชีวะนานาพันธุ์ที่หาได้ยากให้หมดสิ้นไปอย่างไม่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ คอมมิวนิสต์เวียดนามอยู่ระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกโลก เพิ่งจะมีการเปิดเผยว่าทางการได้ล้มโครงการเขื่อนใหญ่น้อยไปแล้วกว่า 300 โครงการ เนื่องจากทำลายสภาพแวดล้อม ถึงแม้ว่าประเทศนี้จะยังผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอใช้ก็ตาม.
       
เวียดนามซึ่งในปัจจุบันยังผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอใช้ ได้ตัดสินใจล้มเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอื้อฉาวอีก 2 แห่ง ทางตอนเหนือของนครโฮจิมินห์ หลังจากผลการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมชี้ชัดเขื่อนจะทำลายผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและ ข้ออ้างที่ระบุว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
       
       ขณะเดียวกัน เพิ่งจะมีการเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ตกลงกับทางการท้องถิ่นต่างๆ จำนวน 20 ท้องถิ่นทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ในการล้มเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนรวม 338 แห่ง รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,088.9 เมกะวัตต์ ในนั้นเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง และกระทรวงฯ ยังสั่งยุติการสำรวจศึกษาเขื่อนขนาดเล็ก จำนวน 169 แห่ง รวมกำลังผลิต 362.5 เมกะวัตต์อีกด้วย
       
       กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศได้ยืนยันในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับการล้มเลิกโครงการเขื่อนใน จ.โด่งนาย (Dong Nai) หลังจากองค์การอนุรักษนิยมทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ รวมทั้งองค์การยูเนสโก ต่างคัดค้านมาเป็นเวลาข้ามปี และนายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) สั่งการสัปดาห์ปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงอุตสาหกรรมฯ กลับไปทบทวน
       
       รัฐบาลเวียดนามตั้งเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 5 ข้อ ในการพิจารณาก่อสร้างเขื่อน คือ มีอ่างเก็บน้ำที่มั่นคงปลอดภัย ทำลายป่าไม้น้อยที่สุด ส่งผลกระทบให้ต้องอพยพโยกย้ายราษฎรจำนวนน้อยที่สุด ไม่กระทบต่อความมั่นคงกับสภาพแวดล้อม และมีผลดีทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าหากไม่เข้าเกณฑ์ครบทั้ง 5 ข้อ รัฐบาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการ นอกจากจะก่อสร้างด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ และยังจะต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาอีกด้วย
       
       “โครงการใดที่เข้าเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อสามารถดำเนินการต่อไปได้เต็มกำลัง โครงการใดที่ขัดต่อเกณฑ์ก็ไม่ต้องทำ” และรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมฯ ไปดำเนินการตามนี้ นายหวูดึ๊กดัม (Vu Duc Dam) เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋เมื่อเร็วๆ นี้
       
       สองโครงการที่ถูกล้มเลิกล่าสุด คือ เขื่อนโด่งนาย 6 กับโด่งนาย 6A ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโด่งนาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าระบบรวมกันเป็นปริมาณ 929 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยจำหน่ายให้แก่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนาม นอกจากนั้น บริษัทเอกชนเจ้าของสัมปทานจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลปีละ 300,000 ล้านด่ง (กว่า 14,280,000 ดอลลาร์)
       
       แต่ผลการศึกษาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินการโดยสถาบันชั้นนำหลายแห่งได้พบว่า เขื่อนโด่งนาย 6 กับโด่งนาย 6A จะทำลายผืนป่าอันอุดมอย่างถาวร จำนวน 327.23 เฮกตาร์ (2,045 ไร่เศษ) ดูเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ในนั้น 128.37 (802 ไร่เศษ) เป็นจุดใจกลางของเขตป่าอันอุดมของเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าก๊าตเตียน (Cat Tien) ซึ่งเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในนั้นหลายชนิดเป็นสัตว์ป่าหายากที่อยู่ในบัญชีแดง และยังเป็นผืนป่าที่อาศัยของแรดพันธุ์ชวานอเดียวตัวสุดท้ายที่พบในเวียดนาม ก่อนถูกพรานป่ายิงตายเมื่อปี 2553 อีกด้วย
       
       เขื่อนทั้ง 2 แห่งยังจะทำลายเขตป่าชุ่มน้ำ (Ramsar) เบิ่วเซิว (Bau Sau) ที่ขนานไปกับริมน้ำตลอดระยะ 55 กม. ผลการศึกษาระบุ
       .


ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าก๊าตเตียน (Cat Tien) จ.โด่งนาย (Dong Nai) ทางตอนเหนือนครโฮจิมินห์ บริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนโด่งนาย 6 กับ โด่งนาย 6A ที่อยู่ถัดกันไป ที่นี่มีความสมบูรณ์ทางชีวะนานาพันธุ์มากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเวียดนาม เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิดในนั้นหลายชนิดอยู่ใน "บัญชีแดง" ใกล้สูญพันธุ์จากโลก แรดนอเดียวพันธุ์ชวาตัวสุดท้ายที่พบในเวียดนามก็อาศัยในผืนป่าแห่งนี้ก่อนถูกพรานป่าลักลอบล่ายิงตายในปี 2553. -- ภาพ: TTO
       


อ่างเก็บน้ำ 1 ใน 2 แห่งใน จ.เหงะอาน (Nge An) ถูกกระแสน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในคืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา พังทลายลงซ้ำเติมภาวะอุทกภัยให้แก่ประชาชนหลายพันครอบครัวที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแห่งนี้ จนถึงวันพุธ 2 ต.ค.นี้พบชาวเวียดนามเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 9 รายจากไต้ฝุ่นหวูติ๊บ (Wutip) ซึ่งทำลายบ้านเรือนอีกกว่า 250,000 หลัง ทรัพย์สินของเอกชนและสาธารณสมบัติเสียหายเหลือคณานับ ผลการศึกษาพบว่าเขื่อนกับอ่างเก็บน้ำพวกนี้ไม่อาจช่วยป้องกันอุทกภัยได้.
       .
       ถึงแม้ว่าการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ผลในเบื้องต้นก็บ่งชี้ว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะส่งผลกระทบต่อผืนป่าและกระทบต่อสภาพชีวนานาพันธุ์อันสมบูรณ์ของเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าก๊าตเตียน กับเขตที่ราบน้ำท่วมถึงที่อยู่ใต้ลงไป ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความสมดุลทางนิเวศเฉพาะในท้องถิ่นอย่างไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก
       
       ทางการเวียดนามอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนเขตป่าสงวนแห่งชาติก๊าตเตียน ทั้งหมดเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโกที่ได้เข้าร่วมรณรงค์ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่สาธารณชนทั่วไป และต่อต้านแผนการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่งด้วย
       
       การศึกษาของสถาบันการศึกษาชั้นนำยังได้ผลสรุปว่า การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำตลอดเวลากว่า 20 ปีมานี้ ไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ และโครงการเขื่อนจำนวนไม่น้อยได้ทำลายผืนป่าอย่างไม่สามารถจะปลูกขึ้นใหม่ หรือสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ นอกจากนั้น ยังพบเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับบริษัทเอกชนบางแห่งได้ขายสัมปทานการก่อสร้างเขื่อนไปให้ผู้อื่นดำเนินการหลังจากตัดป่า และจำหน่ายไม้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เตื่อยแจ๋กล่าว
       
       การก่อสร้างเขื่อนใหญ่น้อยหลายสิบแห่งในเขตที่ราบสูงภาคกลางของประเทศในช่วงกว่า 20 ปีมานี้ ไม่สามารถช่วยลดการเกิดอุกภัยในภูมิภาคนี้ลงได้ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเสรย์ปก (Srey Pok) จำนวน 4 แห่งใน จ.ดั๊กลัก (Dak Lak) ไม่สามารถป้องกันอุทกภัยในลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ และในฤดูน้ำหลากของทุกปี เมื่อมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนไปตามลำน้ำสายนี้ยังทำให้น้ำเกิดน้ำท่วมที่ปลายน้ำในดินแดนกัมพูชาเป็นประจำทุกปีอีกด้วย
       
       ปัจจุบัน ทั่วเวียดนามไม่มีทำเลสำหรับก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้อีกแล้ว จึงเหลือเพียงเขื่อนขนาดกลาง และขนาดเล็กซึ่งทั้งหมดถูกขบวนการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็กจำนวนมากย่อมหมายถึงการทำลายป่าอย่างกระจัดกระจายครอบคลุมหลายพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมยิ่งกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วไปเสียอีก หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาเวียดนาม “บ๋าวเดิ๊ตเหวียด” รายงาน
       
       ไต้ฝุ่นหวูติ๊บ (Wutip) พัดเข้าจังหวัดภาคกลางเวียดนามคืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง รวมทั้งทำให้เขื่อนอเนกประสงค์แห่งหนึ่ง กับเขื่อนชลประทานอีก 1 แห่งใน จ.เหงะอาน (Nge An) พังทลายลงเพราะไม่สามารถรับปริมาณน้ำมหาศาลจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักวัดได้กว่า 400 มิลลิเมตร เขื่อนทั้ง 2 แห่งได้ซ้ำเติมประชาชนผู้ประสบอุทกภัยที่อาศัยอยู่ใต้ลำน้ำลงไป บ้านเรือนราษฎร จำนวน 5 หมู่บ้าน ในท้องที่ อ.หว่างมาย (Hoang Mai) ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นหนักหน่วงที่สุด ถูกน้ำท่วมถึงหลังคา
       
       จนถึงวันพุธที่ 2 ต.ค.นี้ พบมีราษฎรเสียชีวิตจากไต้ฝุ่นลูกนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ลมแรงจัดกับฝนที่ตกหนักยังสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน และสาธารณชนสุดคณานับ รวมทั้งสวนยางพาราหลายหมื่นไร่ในเขตภาคกลางตอนบนของประเทศอีกด้วย สื่อของทางการกล่าว.


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 ตุลาคม 2556