ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดบ้านมรดกโลกแดนมังกร-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 930 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สถาปนิกสมัยใหม่ผุดแนวคิดบรรเจิดที่ได้แรงบันดาลใจจาก ถู่โหลว หรือบ้านตระกูลแซ่เก่าแก่ในเมืองจีน

การนับจำนวน ถู่โหลว แรกเริ่มก็เหมือนการเล่นเกม  ผมนั่งนับสิ่งปลูกสร้างหน้าตาเหมือนป้อมปราการแปลกๆที่เห็นตอนนั่งรถมาว่าจะมีมากแค่ไหน  อาคารเหล่านี้มีขนาดใหญ่มากจนเหมือนยานอวกาศตั้งตระหง่านอยู่ในแถบชนบทของมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ทุกหมู่บ้านดูเหมือนจะมีถู่โหลว (tulou) อย่างน้อยหนึ่งหลัง สองหลัง หรือมากกว่านั้น

ในหมู่บ้านเหอเคิงที่มีลูกบ้านอยู่หลายร้อยคน ผมนับถู่โหลวได้ 13 หลัง (คำว่า ถู่โหลว หมายถึง “อาคารดิน” ในภาษาจีนกลาง ซึ่งเป็นคำนิยามที่ดูต้อยต่ำมาก อุปมาเหมือนเรียกสนามกีฬาทรงกลมขนาดใหญ่แบบโคลอสเซียมว่า สิ่งก่อสร้างทรงกลมทำด้วยหิน) อาคารเหล่านี้ดูเก่าคร่ำคร่า ผนังสูงสีน้ำตาลเหมือนสีโคลน มีหน้าต่างบานเล็กๆอยู่ชั้นบนสุด และมักมีประตูไม้หุ้มแผ่นเหล็กเพียงบานเดียวสำหรับเข้าไปข้างใน

ในไม่ช้า การชื่นชมจากภายนอกเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอสำหรับผมในการดื่มด่ำกับถู่โหลวหลากรูปทรง (ส่วนใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือวงกลม) ผมอดใจไว้ไม่ไหวต้องเข้าไปในถู่โหลวทุกหลังที่เห็น ซึ่งประตูหน้ามักเปิดอยู่ ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมพบ

อย่างแรกคือ ภาพที่เห็นภายนอกทำให้เราไม่ทันตั้งตัว เมื่อพบกับสิ่งที่อยู่ภายใน ด้านนอกอาคารอันทึบทึมอาจดูคล้ายเรือนจำ แต่ภายในกลับคล้ายโรงอุปรากร โถงทำจากไม้ซุงซึ่งสูงตระหง่านขึ้นไปได้มากถึงห้าชั้นล้อมรอบลานตรงกลางที่มีไฟส่องสว่าง แต่ละชั้นสร้างจากไม้สีเข้ม ซอยเป็นห้องเล็กๆติดๆกัน ขนาดเท่ากันหมด เหมือนท่วงทำนองเพลงทางสถาปัตยกรรม ทางเดินแต่ละชั้นหักมุมหรือไม่ก็คดโค้ง

ในลานกลางแจ้งพื้นปูหินตะปุ่มตะป่ำมักมีบ่อน้ำหนึ่งหรือสองบ่อ รวมทั้งบริเวณเล็กๆที่กั้นไว้และตกแต่งอย่างสวยงามสำหรับกราบไหว้บรรพบุรุษ การจัดวางพื้นที่เช่นนี้ทำให้เราต้องหมุนตัวไปรอบๆเพื่อชื่นชมห้องต่างๆที่เรียงรายเป็นแนววนขึ้นไปด้านบน มองเห็นท้องฟ้ากับภูเขาอยู่เหนือศีรษะ และทึ่งไปกับความกล้าหาญในการออกแบบอาคารหลังโตและแข็งแกร่งดุจภูผาที่โอบอุ้มชุมชนไว้ภายใน

แม้จะมีการกล่าวอ้างถึงถู่โหลวที่เก่าแก่กว่าอีกมาก แต่หลักฐานที่บันทึกไว้ระบุว่า ถู่โหลวที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนกลับไปถึงปี 1558 หวางฮั่นหมิง สถาปนิกผู้เขียนเรื่องราวของถู่โหลวไว้อย่างละเอียด บอกเช่นนั้น การก่อสร้างถู่โหลวหลังแรกเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับสงครามแย่งชิงดินแดนระหว่างชาวฮากกา (Hakka) หรือชาวจีนแคะ ซึ่งอพยพมาจากที่ราบทางตอนเหนือของจีนกับชาวบ้านที่ตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคนี้มาช้านาน

แทบทุกคนที่ผมพบในเหอเคิงมีนามสกุลจาง หมู่บ้านต่างๆในพื้นที่สูงของมณฑลฝูเจี้ยนล้วนแต่เป็นชุมชนของ คนที่เป็นเครือญาติกัน ใช้นามสกุลเดียวกัน เหอเคิงเป็นหมู่บ้านตระกูลจาง นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านอื่นๆ เช่น หมู่บ้านตระกูลซู หมู่บ้านตระกูลหลี่ และหมู่บ้านตระกูลเจี่ยน

เพื่อตอบสนองความจำเป็นของชุมชนอันแน่นแฟ้นเหล่านี้ ถู่โหลวจึงกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สาแหรกตระกูลทั้งหมดซึ่งมักมีจำนวนหลายร้อยคน สามารถอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ นับเป็นการออกแบบที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน

พื้นที่อยู่อาศัยภายในถู่โหลวจัดแบ่งตามแนวตั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นในภูมิภาคอันเต็มไปด้วยภูเขาและพื้นที่ราบ  มีจำกัด แต่ละครอบครัวอาจเป็นเจ้าของเสี้ยวหนึ่งของถู่โหลวหรือมากกว่านั้น ชั้นล่างที่เปิดออกสู่ลานตรงกลางเป็นครัวและห้องรับประทานอาหาร ชั้นสองเป็นห้องเก็บของ ชั้นสามและชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปเป็นห้องนอน

ทุกคนใช้ทางเดินและบันไดส่วนกลาง มีระเบียบปฏิบัติ (รักษาความสะอาด เคารพผู้อาวุโส มีส่วนร่วมในเทศกาลต่างๆ) ติดประกาศไว้ภายในตรงทางเข้า เนื่องจากเป็นชุมชนเสมอภาคเต็มรูปแบบ ห้องหับต่างๆจึงมีขนาดเท่ากันและตกแต่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องของหัวหน้าตระกูลชาวฮากกาหรือห้องของคนเลี้ยงหมูธรรมดาๆ

โลกภายนอกรวมถึงชาวจีนในเมืองไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าถู่โหลวมีอยู่จริง กระทั่งล่วงเข้าทศวรรษ 1950 แล้ว และกว่าถู่โหลวที่อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนจะเป็นที่รู้จัก เวลาก็ล่วงเลยมาอีกสามทศวรรษให้หลัง

ความห่างไกลของภูมิภาคแถบนี้ ถนนหนทางสภาพย่ำแย่ และหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้าง (ชาวฮากกาจำนวนมากอพยพไปไต้หวัน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆในเอเชีย) ทำให้สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เป็นความลับมาเนิ่นนาน

“คนอื่นๆไปไหนกันหมดครับ” นี่คือปฏิกิริยาของผมแทบทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปในถู่โหลว ในสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับคนหลายร้อยชีวิต แต่กลับมีคนอยู่เพียงห้าหรือหกคนเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงและอยู่ กันตามลำพัง

ผู้คนทยอยย้ายออกไปจากถู่โหลวอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 ปีแล้ว ตั้งแต่เศรษฐกิจของจีนขยายตัวและเกิดสังคมบริโภคนิยม ไม่มีใครอยากอยู่กันอย่างแออัดในอาคารที่ไม่มีน้ำประปา

“ความรู้สึกนึกคิดของคนสมัยนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ” หลินอี้โหมวบอก เขาพาผมไปดูเอ้อร์อี๋โหลวซึ่งในยุครุ่งเรืองเป็นถู่โหลวที่ตกแต่งอย่างงดงามและมีผู้อยู่อาศัยถึง 400 คน แต่ทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ห้องส่วนใหญ่ลั่นกุญแจเอาไว้

“สมัยก่อนตอนตระกูลใหญ่ๆเป็นเจ้าของถู่โหลว แต่ละครอบครัวจะจ่ายเงินสำหรับซ่อมบำรุงอาคาร แต่ตอนนี้พวกเขาไม่อยากเสียเงินไปกับสิ่งที่เป็นของบรรพบุรุษอีกแล้วครับ” หลินเล่า

มีเพียงวันหยุดราชการเท่านั้นที่ถู่โหลวจะกลับมาคึกคักแบบวันคืนเก่าๆ สมาชิกในครอบครัวซึ่งจากบ้านไปนานจะกลับมาเยี่ยมญาติ ร่วมงานแต่งงาน และพักในห้องที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเรียกว่าบ้าน

ถู่โหลวจะไม่หายไปไหน ผนังสร้างขึ้นให้คงอยู่ได้หลายร้อยปี ด้วยการออกแบบที่เหมาะกับการใช้งานจริงถู่โหลวอาจจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็ได้ วิศวกรและสถาปนิกหลายคนซึ่งศึกษางานก่อสร้างแบบดินอัดมองว่า ถู่โหลวเป็นต้นแบบของอาคาร “สีเขียว” เพราะประหยัดพลังงาน กลมกลืนกับภูมิทัศน์ และสร้างจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น

นอกเมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ติดกัน สถาปนิกจากบริษัทเออร์บานัสประสบความสำเร็จในการออกแบบถู่โหลวฉบับสมัยใหม่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวน 278 ครอบครัว

เรื่องโดย ทอม โอนีล
เมษายน 2558