ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสตร์และศิลป์แห่งแผนที่-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 799 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สารคดีพิเศษร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งแผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

พิกัดสำนักงานนักภูมิศาสตร์ประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก คือ 38°54’19” เหนือ, 77°2’16” ตะวันตก

            คงพอจะพูดได้ว่าควน จูเซ บาลเดส ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในปัจจุบัน รู้ตำแหน่งแห่งที่ของเขาอย่างแม่นยำ แต่ขอบเขตการทำงานของสำนักงานในความรับผิดชอบของเขาหรือแผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งฉลองครบ 100 ปีในปีนี้ ไม่เพียงครอบคลุมพิกัดที่ว่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ ถนน แนวปะการัง ฟยอร์ด เกาะ ทะเลใน ธารน้ำแข็ง มหาสมุทร ดาวเคราะห์ ดาราจักร และระบบสุริยะ หรือพูดง่ายๆก็คือลักษณะทางกายภาพใดๆที่ปรากฏบนพื้นดิน  ผืนน้ำ และแผ่นฟ้านั่นเอง

            ขณะที่เขียนเรื่องนี้ (สถิติจะล้าสมัยทันทีที่รวมตัวเลขเสร็จ) แผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ผลิตแผนที่แถม 438 ชุด  แผนที่โลก 10 ฉบับ  ลูกโลกหลายสิบแบบ  แผนที่ประกอบสารคดีในนิตยสารอีกราว 3,000 ชิ้นและอีกมากมายในรูปแบบดิจิทัล

            แผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แตกต่างจากแผนที่ทั่วไปอย่างไรน่ะหรือ ที่แน่ๆคือความเที่ยงตรงแม่นยำและความใส่ใจในรายละเอียด แผนที่ดวงจันทร์ฉบับปี 1969 ระบุจุดลงจอดของยานสำรวจไร้มนุษย์เกือบครบทั้ง 23 ลำบนพื้นผิวดวงจันทร์  ขาดเพียงลำเดียว (เนื่องจากจุดตกของยานออร์บิเทอร์ 4 ยังไม่ทราบแน่ชัด)

            แต่ความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแผนกที่บรรณาธิการเต็มเวลาคนแรกของนิตยสาร กิลเบิร์ต เอช. โกรฟเนอร์ ก่อตั้งขึ้น คือการไม่หยุดคิดค้นสิ่งใหม่ๆและจะยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ นักทำแผนที่ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกคนแรกอย่างอัลเบิร์ต เอช. บัมสเตด (หัวหน้าแผนก, 1915-1939) กรุยทางด้วยการประดิษฐ์เข็มทิศนาฬิกาแดดซึ่งริชาร์ด อี. เบิร์ด ใช้ในเที่ยวบินสู่ขั้วโลกเหนือเมื่อปี 1926 (เพราะเข็มทิศแม่เหล็กใช้ไม่ได้ในแถบขั้วโลก) เช่นเดียวกับเครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสงที่ได้รับการตั้งชื่อตามเขา

            ในปี 1957 แผนกแผนที่ได้ทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์สร้างอุปกรณ์ติดตามดาวเทียมแบบพกพาให้โครงการอวกาศของสหรัฐฯ  เวลแมน แชมเบอร์ลิน (หัวหน้าแผนก, 1964-1971) ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวยังออกแบบมาตรเรขาคณิตซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใสที่ทาบลงบนลูกโลกเพื่อวัดระยะทางด้วย

            เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น จังหวะก้าวของคนทำแผนที่ก็ต้องเร็วตามไปด้วย จอห์น บี. การ์เวอร์ (หัวหน้าแผนก, 1982-1991) ดูแลการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ไซเท็กซ์ที่ใหญ่โตจนต้องมีห้องควบคุมอุณหภูมิเฉพาะ ระบบดังกล่าวช่วยให้กระบวนการผลิตแผนที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  แอลเลน แคร์รอลล์ (หัวหน้าแผนก, 1998-2010) เปิดตัวแม็ปแมชชีน (MapMachine) ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นบริการแผนที่แบบอินเทอร์แอ๊กทีฟชุดแรกของสมาคมบนเว็บไซต์

            ในอดีต การสร้างแผนที่สักฉบับต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ในยุคดิจิทัลที่ก้าวล้ำ การสร้างแผนที่บางฉบับที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ความเที่ยงตรงแม่นยำยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

            อะไรรอคอยอยู่เบื้องหน้า  เมื่อแผนกแผนที่ของเราก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สองแห่งการก่อตั้ง       

            “การทำแผนที่โดยอาศัยข้อมูลจากสาธารณชนจะเอื้อให้ใครๆก็สามารถสร้างแผนที่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น” ควน บาลเดส บอก “เมื่ออุปกรณ์ต่างๆเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ผู้ใช้จะสามารถระบุพิกัดและทำแผนที่สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่นาฬิกาและแว่นอัจฉริยะช่วยให้เก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ได้ดีขึ้น”

 เรื่องโดย แคที นิวแมน
เมษายน 2558