ผู้เขียน หัวข้อ: อลังการเสาของทราจัน-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 805 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สถาปัตยกรรมสูง 38 เมตร พร้อมภาพจำหลักที่ยืนยงมากว่า 1,900 ปีสดุดีพระเกียรติจักรพรรดิแห่งโรม ผู้มีชัยเหนืออริราชศัตรูที่น่าครั่นคร้าม

ในการศึกที่แทบไม่เว้นว่างระหว่าง ค.ศ 101 ถึง 106 จักรพรรดิทราจันทรงรวบรวมทหารโรมันหลายหมื่นนาย ข้ามแม่น้ำดานูบด้วยสะพานที่ยาวที่สุดสองแห่งในโลกยุคโบราณ  เพื่อยาตราทัพไปปราบจักรวรรดิอนารยชนที่ยิ่งใหญ่ถึงดินแดนแห่งขุนเขาของศัตรูถึงสองครั้งสองครา ก่อนจะทรงลบชื่อจักรวรรดิแห่งนี้ไปจากหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปโดยสิ้นเชิง

ศึกสงครามระหว่างจักรพรรดิทราจันกับชนเผ่าดาเชียน  ผู้ก่อร่างสร้างอารยธรรมขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญแห่งรัชสมัยอันยาวนาน 19 ปีของพระองค์  สมบัติที่ทรงยึดมาได้นั้นมากมายมหาศาล นักบันทึกจดหมายเหตุร่วมสมัยคนหนึ่งโอ่ว่า ชัยชนะของพระองค์ทำให้โรมได้ทองคำน้ำหนักเกือบ 250,000 กิโลกรัม และแร่เงินอีกเกือบ 500,000 กิโลกรัม  ยังไม่นับมณฑลใหม่ที่อุดมสมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งด้วย

ความมั่งคั่งเหล่านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าของโรม จักรพรรดิทราจันทรงมีบัญชาให้สร้างลานประชาคม (forum) ขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะ ประกอบด้วยลานกว้างใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยนางจรัล (colonnade) หรือเสาระเบียง หอสมุดสองแห่ง และอาคารศาลาประชาคมขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในนาม บาสิลิกาอุลเปีย (Basilica Ulpia)  ลานประชาคมแห่งนี้เป็น “หนึ่งเดียวในใต้หล้า” ตามที่นักประวัติศาสตร์ยุคแรกๆคนหนึ่งบันทึกไว้ด้วยความตื่นใจ

สิ่งที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือลานประชาคม คือเสาหินสูง 38 เมตร ส่วนยอดประดับด้วยรูปหล่อสัมฤทธิ์ของจักรพรรดิผู้พิชิต มีภาพสลักบรรยายการทำศึกกับพวกดาเชียนพันรอบเสาในลักษณะเวียนขึ้น ประกอบด้วยภาพทหารโรมันและทหารดาเชียนหลายพันนายที่สลักเสลาอย่างละเอียดพิสดารกำลังเดินทัพ ก่อสร้าง สู้รบ แล่นเรือ หลบหนี เจรจาต่อรอง อ้อนวอน และล้มตายอยู่ในฉากต่างๆ รวมทั้งสิ้น 155 ฉาก  เสานี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 113 และยืนยงมานานกว่า 1,900 ปี

ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวพากันแหงนคอตั้งชมเสา ขณะมัคคุเทศก์เล่าความเป็นมาให้ฟัง ภาพสลักสองสามชั้นแรกสึกกร่อนจนมองแทบไม่ออก  ซากปรักที่เกลื่อนกล่นไปทั่วบริเวณ  ทั้งฐานรองเสาอันว่างเปล่า  หินแผ่นแตกๆ  เสาหักๆ  และประติมากรรมที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ล้วนบอกเป็นนัยถึงอดีตอันโอ่อ่าอลังการของลานประชาคมแห่งทราจัน และเป็นประจักษ์พยานแห่งความรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมันในอดีต

เสานี้เป็นประติมากรรมอันโดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งยืนหยัดผ่านการล่มสลายของโรมมาได้ เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่นักวิชาการด้านกรีกและโรมันถือว่า  ภาพสลักที่ปรากฏคือบันทึกประวัติศาสตร์แห่งสงครามที่มองเห็นและจับต้องได้ โดยมีจักรพรรดิทราจันทรงเป็นวีรบุรุษ  และเดเชบาลุส ราชาแห่งชาวดาเชียน เป็นอริราชศัตรูผู้ทัดเทียม นักโบราณคดีวิเคราะห์ภาพสลักเหล่านี้เพื่อศึกษาเครื่องแบบ อาวุธ เครื่องมือ และยุทธวิธีของกองทัพโรมัน

 และเนื่องจากจักรพรรดิทราจันทรงทิ้งอาณาจักรดาเชียให้เหลือแต่ซาก ชาวโรมาเนียในปัจจุบันจึงถือว่าเสาและรูปสลักทหารพ่ายศึกที่หลงเหลืออยู่  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดับอยู่ ณ ลานประชาคมแห่งนี้  เป็นเบาะแสอันล้ำค่าว่า  บรรพบุรุษชาวดาเชียนของพวกเขามีรูปร่างหน้าตาและการแต่งกายเป็นอย่างไร

เสานี้มีอิทธิพลอย่างมาก โดยเป็นแรงบันดาลใจให้อนุสาวรีย์หลายแห่งในยุคต่อๆมา ทั้งในกรุงโรมและทั่วจักรวรรดิโรมัน  ตลอดหลายศตวรรษ ขณะที่สิ่งก่อสร้างสำคัญๆของกรุงโรมผุพังไปตามกาลเวลา เสาของทราจันยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจและความพิศวงให้ผู้คนได้เสมอมา  พระสันตะปาปาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาพระองค์หนึ่งทรงนำรูปสลักของนักบุญเปโตร (ปีเตอร์) ขึ้นไปประดิษฐานแทนพระรูปของจักรพรรดิทราจัน นัยว่าเพื่อให้เสาโบราณต้นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์  เหล่าศิลปินใช้วิธีนั่งในตะกร้าแล้วหย่อนตัวลงมาจากยอดเสาเพื่อศึกษาภาพสลักอย่างละเอียด ต่อมาในศตวรรษที่สิบหก เริ่มมีการนำปูนปลาสเตอร์มาฉาบเสาเพื่ออนุรักษ์รายละเอียดต่างๆที่ถูกฝนกรดและมลภาวะต่างๆกัดกร่อนจนเสียหาย

ยังมีการถกเถียงในประเด็นเรื่องการก่อสร้าง ความหมาย และที่สำคัญที่สุดคือความถูกต้องตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ จนบางครั้งดูเหมือนมีการตีความหลากหลายพอๆ กับจำนวนภาพสลักบุคคลที่มีถึง 2,662 ภาพ

ฟิลิปโป โกอาเรลลี  นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอิตาลีในวัย 70 เศษ เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ “เสานี้เป็นผลงานมหัศจรรย์ครับ” เขาว่าพลางพลิกหน้าหนังสือที่มีภาพถ่ายขาวดำของภาพสลัก “สตรีชาวดาเชียนทรมานทหารโรมันงั้นหรือ ชาวดาเชียนที่ร่ำไห้กินยาพิษเพื่อหนีจากการถูกจับเป็นเชลยหรือ  เหมือนละครทีวีเลยนะครับนี่”

หรือจะเป็นอย่างที่โกอาเรลลีบอกว่า  เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำของจักรพรรดิทราจัน  ตอนที่สร้างขึ้น เสาตั้งอยู่ระหว่างหอสมุดสองแห่งซึ่งอาจเป็นสถานที่เก็บบันทึกเรื่องราวการสงครามของจักรพรรดินักรบพระองค์นี้  เขามองว่าภาพสลักเป็นเหมือนม้วนภาพ และน่าจะเป็นรูปแบบของบันทึกเรื่องราวการทำสงครามของจักรพรรดิทราจัน “เหล่าศิลปินซึ่งในเวลานั้นไม่มีอิสระในการสร้างงานตามใจชอบ  คงต้องทำตามพระประสงค์ขององค์จักรพรรดิ” เขาว่า

โกอาเรลลีเสริมว่า  เหล่าประติมากรทำงานภายใต้การควบคุมของนายช่างผู้ชำนาญหนึ่งคน ตามแผนงานเพื่อสร้างม้วนภาพฉบับทราจันที่สูงเสียดฟ้าด้วยบล็อกหินอ่อนเนื้องามที่สุด 17 ชิ้นจากเมืองการ์รารา

จักรพรรดิทรงเป็นตัวเอกของเรื่อง ปรากฏพระองค์ 58 ครั้งในคราบของผู้บังคับบัญชาที่หลักแหลม รัฐบุรุษที่ประสบความสำเร็จ และผู้ปกครองที่เปี่ยมศรัทธา  ตรงนี้เป็นภาพทรงให้โอวาทแก่กองทหาร ตรงนั้นเป็นภาพทรงประชุมอย่างเคร่งเครียดกับคณะที่ปรึกษา ตรงโน้นเป็นภาพทรงเป็นประธานในพิธีบูชายัญแด่ทวยเทพ “เป็นความพยายามของพระองค์ที่จะแสดงให้เห็นว่า  ไม่ได้ทรงเป็นเพียงผู้นำทางทหาร  หากยังเป็นผู้รู้รอบอีกด้วยครับ ” โกอาเรลลี กล่าว

จอน โคลสตัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรูปเคารพ  อาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวโรมัน จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ส ในสกอตแลนด์ ใช้เวลาศึกษาเสาต้นนี้อย่างละเอียดนานนับเดือน เขาเขียนปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยเสาอันโดดเด่นต้นนี้  และยังคงหมกมุ่นศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งเป็นผู้คัดค้านฝีปากกล้า โดยบอกว่า “คนอยากเปรียบเสานี้กับการนำเสนอข่าวสารสมัยใหม่และภาพยนตร์เสียเหลือเกิน พวกเขากำลังตีความเกินจริง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ  เป็นเรื่องธรรมดาคุณเชื่อคำพูดพวกนี้ไม่ได้หรอกครับ”

โคลสตันแย้งว่า ไม่มีใครวางแผนหรือบงการอยู่เบื้องหลังการสลักภาพเหล่านี้  แนวทางการทำงานที่แตกต่างกันเล็กๆน้อยๆ กับความผิดพลาดที่เห็นได้ชัด   อย่างเช่นช่องหน้าต่างที่โผล่ขึ้นมาขัดจังหวะภาพ  และภาพที่มีความสูงต่ำไม่เสมอกัน ทำให้เขาเชื่อว่า เหล่าประติมากรสลักภาพกันแบบด้นสดหรือทำไปตามใจนึก โดยอาศัยสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับสงคราม “แทนที่จะมีสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะโปรดปราน นั่นคือการมีนายช่างหรือศิลปินใหญ่ผู้เชี่ยวชาญและเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์อยู่เบื้องหลัง  เอาเข้าจริงกลับเป็นคนงานธรรมดาๆ ที่ทำงานอยู่กับแผ่นหินตรงหน้า  ไม่ใช่บนโต๊ะเขียนแบบในสตูดิโอ” เขาว่า

เขามองว่า งานศิลปะชิ้นนี้เป็นเรื่องของ “การได้รับแรงบันดาลใจ” มากกว่าจะเป็น  “การอ้างอิงจากเรื่องจริง” อย่างเช่นเรื่องที่เป็นใจความสำคัญของเสา  ไม่ค่อยมีภาพการสู้รบในสงครามทั้งสองครั้ง   ภาพสลักที่เป็นฉากสงครามหรือการปิดล้อมเมืองมีน้อยกว่าหนึ่งในสี่จากทั้งหมด  พระรูปของจักรพรรดิทราจันเองก็ไม่เคยปรากฏในการสู้รบ

เรื่องโดย แอนดรูว์ เคอร์รี
เมษายน 2558