ผู้เขียน หัวข้อ: วิจัยพบเด็กไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น จี้เข็นร่าง กม.คุมยาสูบฉบับใหม่  (อ่าน 457 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
 วิจัยพบเยาวชนไทยสูบบุหรี่เพิ่ม เริ่มสูบอายุน้อยลงเรื่อยๆ ห่วงกฎหมายเดิมมีช่องโหว่ ทำเด็กไทยตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ จี้เข็นร่าง กม.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ออกบังคับใช้

        วันนี้ (4 ม.ค.) ดร.ศรัณญา เบญจกุล หัวหน้าโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในระดับโลก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการประมวลสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2534-2554) พบว่าอัตราการสูบของคนไทยลดลงจากร้อยละ 32.0 เหลือร้อยละ 21.4 จำนวนผู้สูบบุหรี่โดยรวมลดลงจาก 12.26 ล้านคน เป็น 11.51 ล้านคน แต่ในช่วง 5 ปีสุดท้าย (พ.ศ.2549-2554) ผลการสำรวจกลับพบว่า อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลงช้าๆ จากร้อยละ 21.9 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 21.4 ในปี 2554 โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชนที่มีแนวโน้มการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากไม่มีมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เด็ก และเยาวชนไทยจะติดบุหรี่เพิ่มขึ้น
       
       “จากการวิจัยพบว่า อายุที่เด็กไทยเริ่มสูบบุหรี่ลดลงจาก 18.5 ปี เป็น 17.4 ปี และมีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ติดบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 4.4 แสนคนในปี 2552 เป็น 5.6 แสนคนในปี 2554 โดยเด็กกลุ่มนี้เมื่อติดบุหรี่เป็นประจำแล้วจะติดยาวนานถึง 31 ปี ซึ่งนานกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของคนไทยที่อยู่ที่ 20 ปี และจะมีเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้น ที่สามารถเลิกได้สำเร็จ” ดร.ศรัณญา กล่าว
       
       ดร.ศรัณญา กล่าวต่อว่า ยิ่งกว่านั้นผลการสำรวจนี้ยังพบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี เคยเห็นการโฆษณาส่งเสริมการขายบุหรี่ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบสูงกว่าประชากรที่มีอายุมากกว่า และเด็กกลุ่มนี้สังเกตเห็นการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 34.2 ในปี 2554 ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ของวัตถุประสงค์การโฆษณาส่งเสริมการขายใดๆ ก็คือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีบุหรี่ที่บริษัทบุหรี่จำเป็นต้องหาลูกค้าใหม่มาทดแทนลูกค้าเก่าที่เลิกบุหรี่ ทั้งกลุ่มที่เสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ หรือกลุ่มที่สามารถเลิกได้ก่อนที่จะป่วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้ให้ครอบคลุมถึงการห้ามการโฆษณาทางอ้อม เช่น การใช้สื่อบุคคล “พริตตี้” การเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในทุกสื่อ เป็นต้น จึงนับเป็นมาตรการที่มีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการปกป้องเด็ก และเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต มิให้ตกเป็นเหยื่อของบริษัท 22 บุหรี่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 มกราคม 2558