ผู้เขียน หัวข้อ: ดร.สุรพล โพสต์ 101 วัน รพ.ธรรมศาสตร์ วิกฤตหนัก! “เราอาจแพ้ศึกและล้มลง”  (อ่าน 309 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
ประธานฯ รพ.ธรรมศาสตร์ โพสต์ 101 วัน รพ.ธรรมศาสตร์ วิกฤตหนัก! เตียงเต็มเอี้ยด ทั้งในรพ.และรพ.สนาม  ต้องปล่อยให้นอนรอรับการรักษา หวั่นเป็นจุดกระจายเชื้อ ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวัน ลุ้นระบบ  Home Isolation ยันสถานการณ์ไปได้ 2-3 เดือน ตั้งคำถาม “ประเทศของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร!!?”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Surapon Niti เกี่ยวกับสถานการณ์การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ว่า วานนี้(20 ก.ค.64) วันที่หนึ่งร้อยหนึ่งของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ และวันที่สี่สิบสามของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต ในการดำเนินตั้งรพ.สนาม และรับรักษาผู้ป่วยโควิด

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เราตรวจ Swab ไป 216 คน พบว่าเป็นผลบวก 33 ราย ที่ผลบวกน้อยกว่า 20% นี้ก็คงเป็นเพราะเป็นบุคลากรของ รพ.ธรรมศาสตร์เองเป็นหลัก ในจำนวนนั้นก็มีบุคลากรของเราที่มีผลบวกเพิ่มอีก 3 ราย ทำให้จำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่ติดเชื้อโควิดสะสม เพิ่มไปเป็น 75 คนแล้ว

ทั้งนี้ยังไม่นับจำนวนกักตัวที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ที่มีสะสมรวมกันไม่น้อยกว่าห้าร้อยรายด้วยและยังเหลือสักร้อยคนในขณะนี้ที่ต้องถูกกักตัวต่อไปจนครบอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ที่ยังไม่มีโอกาสกลับมาทำงาน

ผู้เสียชีวิตเพิ่มแทบทุกวัน
เมื่อวานมีผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตในโรงพยาบาลอีกหนึ่งคน ถ้าจะดูความรุนแรงของการระบาดและผลต่อผู้ป่วย ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะบอกได้ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้เพียงเดือนเดียว เราแทบไม่มีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเลย หรือมีเพียงเดือนละ 3-4คนเท่านั้น

” แต่ขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิตแทบทุกวันจากเคสโควิด บางวันอาจมีหลายคนด้วยซ้ำ อันนี้ก็คงเป็นผลมาจากการที่เตียงผู้ป่วยวิกฤตของพวกเราเต็มทั้งหมดในจำนวนราว 50 เตียงที่มีอยู่ มาสามสี่วันแล้วนั่นเอง”

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
ศ.ดร.สุรพ กล่าวว่า ถึงวันนี้ คงต้องยอมรับกันตรงไปตรงมาในระดับประเทศได้แล้วว่า โรงพยาบาลทั้งหมดที่มีอยู่ของเรา ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่ที่มีอัตราการเพิ่มสูงระดับวันละกว่าหมื่นคนเช่นนี้ได้ และถ้ายังมีผู้ป่วยอาการไม่ดี สีเหลือง สีแดง เพิ่มเข้ามาที่โรงพยาบาลอีก (แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดมากขึ้น เพราะผู้ป่วยสีเขียวต้องรอหลายวันจึงจะเข้ารับการดูแลใน รพ.ได้และจะมีอาการเลวร้ายลง )

แต่เมื่อ รพ.ไม่มีเตียง ไม่มีวอร์ดที่จะส่งผู้ป่วยเหล่านี้ขึ้นไปต่อได้ การนอนรอรับการรักษาอยู่ที่ห้องฉุกเฉินจึงเป็นทางเดียวที่ระบบโรงพยาบาลจะทำให้ได้ และถ้าจะเป็นเหตุให้มีโอกาสกระจายเชื้อไปยังผู้ป่วยอื่น หรือถ้าพื้นที่ในห้องฉุกเฉินเต็มแล้ว

ต้องวางเตียงผู้ป่วย ไว้หน้าห้องฉุกเฉิน-พื้นที่ใกล้เคียง
การวางเตียงผู้ป่วยไว้หน้าห้องฉุกเฉิน ข้างห้องฉุกเฉินหรือพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่มีอยู่และเท่าที่จะทำได้ ก็จะเป็นปรากฎการณ์ที่พวกเราจะได้เห็นจากหลายโรงพยาบาล และจะชินตาไปเองในที่สุด โดยที่เราไม่ตระหนักว่า นั่นอาจจะเป็นผู้ป่วยโควิด เป็นผู้ป่วยทางเดินหายใจร้ายแรงที่สามารถแพร่เชื้อแก่ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาได้

” เราเข้าใจความจำเป็นและเห็นใจสถานการณ์ของเพื่อนร่วมรบของเรา ที่จะต้องทำเช่นนั้น เพื่อช่วยดูแลชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุดที่จะทำได้ และเราก็ตระหนักดีว่า อีกไม่นาน สถานการณ์และความจำเป็นเช่นนั้นก็คงเกิดกับพวกเราด้วยเช่นกัน

“ประเทศและระบบสาธารณสุขของเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรนะ?⁉️” ศ.ดร.สุรพ ตั้งคำถาม

ภาพประกอบข่าว© Matichon ภาพประกอบข่าว
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.เราฉีดวัคซีน AZ(แอสตร้า) ที่ยิม 4 ให้กับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนจองไว้ได้อีก 2,082 คน อีกสองวันที่เหลือก่อนปิดศูนย์รับวัคซีน เราเชื่อว่าเราจะไปที่เป้าหมายสะสม 80,000 คนได้

สำหรับที่ รพ.สนาม วันนี้แม้เราจะขอหยุดรับ refer ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลภายนอกแล้ว แต่จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ส่งต่อมาจากรพ.ธรรมศาสตร์เองก็ยังสูง อยู่ที่ 29 ราย ขณะที่เราส่งผู้ป่วยที่หายแล้วกลับบ้านได้ 21 ราย จำนวนผู้ป่วยสุทธิที่อยู่กับเราคืนนี้จึงมี 407 คน ไม่นับผู้ที่ต้องกักตัวเป็น PUIอีกเกือบสามสิบห้องของ รพ.สนาม

เรากลับมารับผิดชอบภารกิจหลัก คือรับผู้ป่วยอาการน้อยออกจาก รพ.ธรรมศาสตร์แล้ว เนื่องจากถ้าไม่มีเตียงที่นี่ ผู้ป่วยใหม่ที่ตรวจพบในรพธรรมศาสตร์วันละ 30-40 คนก็จะไปไหนไม่ได้เลยเนื่องจากทุกโรงพยาบาลเตียงเต็มหมดแล้ว

“ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เกินหมื่นคนมาห้าวันติดกันแล้วนี้ คงหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ยากลำบากจริงๆ คงเหลือเพียงแต่ว่า เหตุการณ์อย่างนั้นจะเกิดที่ รพ ของเราวันไหน ในไม่ช้านี้ เท่านั้นแหละ

“จริงๆนะ ทำไมประเทศของเราถึงมาถึงจุดนี้ได้นะ” ศ.ดร.สุรพ ตั้งคำถามอีกครั้ง และว่า

เชื่ออีกไม่นานอาจแพ้ศึก
ดูสถานการณ์แล้ว อีกไม่นานวันนัก เราก็จะแพ้ศึกคราวนี้ แต่ว่าสงครามโควิดก็คงจะยังไม่จบ และโรคร้ายนี้ก็คงจะคุกคามพวกเราทั้งประเทศอย่างรุนแรงต่อไปอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation อาจจะทำให้เรารบแบบยันสถานการณ์ไปได้อีกสักสองสามเดือน แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นห้า หรือสองหมื่นคนก็ตาม ถ้าระบบนี้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าไว้วางใจ

เราเริ่มบริหารจัดการระบบ Home isolation นี้มามากกว่าสองสัปดาห์แล้วโดยมีผู้ป่วยที่เข้าโครงการในจำนวนเตียงน้อยกว่า30 คนในสัปดาห์แรก โดยใช้ผู้ป่วยโควิดที่เป็นบุคลากรของเราเองเป็นกลุ่มเริ่มต้น เพื่อจะได้สื่อสารได้ตรง และเห็นปัญหาข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ

เราจัดระบบแพทย์พยาบาลผู้รับผิดชอบโครงการ พัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มการดูแลผู้ป่วย จัดระบบการสื่อสารกับผู้ป่วยโดยตรงป่านแอปณในมือถือ จัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตลอดทั้งยาที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ที่บ้าน วางระบบและจัดตารางแพทย์พยาบาลที่จะต้องส่งต่อการดูแลผู้ป่วยให้ได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

เกือบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก้าวข้ามปัญหาหลักของการจัดการโครงการนี้ไปแล้วอย่างน้อยสามเรื่องใหญ่

-เรื่องแรกคือการจัดการกับกฎกติกาที่มีอยู่เดิม จนทำให้สามารถส่งยาต้านไวรัสฟาริพิลาเวียร์ให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ยานี้ให้สามารถนำยาไปใช้นอกโรงพยาบาลได้
-เรื่องที่สอง การวางระบบโลจิสติกส์ที่ทำให้เราสามารถจัดหาและส่งอาหารถึงบ้านผู้ป่วยได้ทั้งสามมื้อ หรือส่งยาให้ด้วยหากมีความจำเป็นเช่นนั้น
-เรื่องที่สาม เราสามารถจัดให้มีทีมแพทย์และพยาบาลที่จะสามารถติดตามการรายงานอาการของผู้ป่วยได้ทุกวัน และสื่อสารกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยมีปัญหา หรือต้องการปรึกษาแพทย์

อีกสองเรื่องที่เรากำลังจัดการอยู่ในขณะนี้ก็คือการวางระบบรับเข้าและการกำหนดหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะต้องรับผิดชอบนำผู้ป่วยกลับเข้าดูแลใน รพ.เมื่ออาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือสีแดง กับในเรื่องระบบการประมวลข้อมูล การจำแนกกลุ่มผู้ป่วย และการสื่อสารกับผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะรองรับผู้ป่วยในระดับหนึ่งพันถึงสองพันคน และสามารถประมวลผลข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆเช่น สถิติ การเงิน เวชระเบียนและการรวบรวมประวัติของผู้ป่วยเข้าสู่ฐานข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลให้ได้ในคราวเดียวกันด้วย

ทั้งสองเรื่องที่เหลืออยู่นี้ เราทำอยู่ในสัปดาห์นี้และคิดว่า จะเสร็จสิ้นในวันสองวันนี้ แล้วหลังจากนี้เราคงขยายโครงการนี้ออกไปเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มทั้งประเทศมากกว่าวันละหมื่นคน และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในโครงการ #เตียงทิพย์ ของเราที่มีสะสมอยู่ราว 300คนในขณะนี้ ให้กลายเป็น 500และ 1,000คนในสัปดาห์ต่อไปให้ได้

“สัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า พวกเราอาจจะแพ้ศึกและล้มลงได้ โดยที่ระบบโรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดรายใหม่เข้าดูแลรักษาได้อีกเลย แต่พวกเราตั้งใจ และตั้งปฏิญาณว่า พวกเราจะยืนหยัด จะรวบรวมพลกำลังมาตั้งรับในแนวรับใหม่อีกครั้ง เพื่อจะช่วยไม่ให้ประเทศและประชาชนของเราต้องแพ้สงครามนี้” ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กล่าว

21 กค 2564
ประชาชาติธุรกิจ