ผู้เขียน หัวข้อ: 'ฆราวาสธรรม' จาก พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)  (อ่าน 1184 ครั้ง)

knife05

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 60
    • ดูรายละเอียด
การบวชเรียนหนึ่งพรรษายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ฆราวาสที่มีภาระมากจะนำธรรมะมาใช้อย่างไรในวันที่ทุกอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ...พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) จะมาให้วิสัชนาธรรม

การบวชเรียนหนึ่งพรรษายังจำเป็นอยู่หรือไม่ ฆราวาสที่มีภาระมากจะนำธรรมะมาใช้อย่างไรในวันที่ทุกอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ...พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) จะมาให้วิสัชนาธรรม


พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
ในวัฒนธรรมชาวพุทธ ถ้าได้บวชลูกชายเสมือนได้เกาะชายจีวร เชื่อกันว่าแม่พ่อจะได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น นี่คือการพัฒนาที่ดีที่สุดคือของชีวิตในช่วงการเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีครอบครัวไปสู่ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่

ฟันเฟืองของสังคมที่มีค่าดังกล่าว วันนี้ยังศักดิ์สิทธิอยู่หรือไม่ การเว้นวรรคชีวิตทางโลก เพื่อมุ่งในการศึกษาเล่าเรียนกายใจตนเองไปสู่จุดหมายปลายทางคือ 'พระนิพพาน' ยังเหลืออยู่ในจิตใจของชายไทยหรือไม่ คำตอบนี้อาจพบได้ที่สวนโมกข์ ซึ่งได้จัดอุปสมบทหมู่อีกครั้งเป็นจำนวน 13 รูป หลังจากเว้นช่วงมากว่า 20 ปี

วันนี้ พระ 13 รูป กำลังลาสิขาบท หลังจากเข้าบวชเมื่อพรรษาที่ผ่านมา ออกพรรษาแล้วต่างคนต่างมีภารกิจชีวิตที่ต้องกระทำ สามเดือนในร่มกาสาวพัสตร์แห่งสวนป่าอันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ ย่อมนำความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างใหญ่หลวงมาให้สำหรับผู้ที่ลาสิกขา สามารถนำหลักใจไปใช้ในชีวิตของฆราวาสต่อไป

พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ให้หลักใจว่าด้วยเรื่อง การบวชเรียนในช่วงเวลาหนึ่งพรรษายังจำเป็นอยู่หรือไม่ อย่างไรในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน และความเร็วจะนำเราไปสู่อะไรหากไม่มีอะไรมาติดเบรกความคิด การกระทำเราไว้บ้าง ที่สำคัญคือ ฆราวาสที่มีภาระมากจะนำธรรมะมาใช้อย่างไรในวันที่ทุกอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ

เหตุผลของการจัดบวชพระนวกะที่สวนโมกข์คืออะไร

การบวชเป็นเรื่องใหญ่ สวนโมกข์ไม่ได้บวชพระมานานแล้ว ทำให้เราไม่มีลูกศิษย์โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นพระที่บวชมาจากวัดต่างๆ การที่ไม่เป็นลูกศิษย์ไม่เป็นอาจารย์กัน การเรียกใช้ต่างๆ ก็เกรงใจ เราก็อยากจะมีลูกศิษย์ที่นี่โดยเฉพาะเลยปรึกษากับคุณนิคม เจตน์เจริญรักษ์ และอีกหลายๆ คน ก็ไม่คิดว่าจะได้มากขนาดนี้ คือ 13 คน บวชเข้ามาแล้ว ก็มาศึกษาธรรมวินัยกันให้เต็มที่ เรามีกิจกรรมตลอด 3 เดือน เป็นการบังคับจิตใจตนเอง ฝึกจิตใจตามระบบสวนโมกข์ที่เคยปฏิบัติกันมา


การบวชในวงการพระพุทธศาสนาสำคัญมาก ต้องพูดในวงกว้างก่อน แล้วค่อยพูดถึงการบวชในแบบสวนโมกข์
การบวชขึ้นในโลกมีมานานแล้วก่อนพุทธกาล มีนักบวชนอกพุทธศาสนามากมาย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วเริ่มประกาศธรรม ก็เป็นเหตุให้กุลบุตรที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าศรัทธาแล้วออกบวช

พระสงฆ์ในครั้งพุทธกาลที่ออกบวช มาจากวรรณะต่างๆ ตั้งแต่วรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าออกบวชมาก วรรณะพราหมณ์ก็มาบวชมาก พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระมหากัสสัปปะ ฯลฯ และคนทั่วไปก็มาบวช
สมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงบวชเอง บวชครั้งแรกเรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา บวชอย่างนี้ไม่ยุ่งยากอะไร เอหิภิกขุ ซึ่งแปลว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่ดีที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบเถิด ตรัสเท่านี้ ก็เป็นภิกษุแล้ว บวชไม่ยาก พระองค์เพียงแค่บอกว่า มา มา มาประพฤติพรหมจรรย์ มาบวชเพื่อทำที่สุดแห่งความทุกข์ให้สิ้นไป

หลังจากนั้นมีคนอยากมาบวชมาก เลยให้ผู้บวชถือไตรสรณคมน์ เรียกว่า ไตรสรณคมนอุปสัมปทา แปลว่า การอุปสมบทด้วยการเข้าถึงไตรสรณะ หมายถึงการบวช ถือเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ต่อมาพระสงฆ์มีปึกแผ่นมั่นคง ก็อาศัยคณะสงฆ์ มีพระอุปัชฌาย์ และพระกรรมวาจา ต้องมีพระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป ขึ้นไป เรียกว่าญัตติจตุตถกรรมวาจา

การพ้นทุกข์จนถึงนิพพาน จำเป็นไหมต้องออกบวช

ในเพศฆราวาส การปฏิบัติธรรมะชั้นสูงที่จะทำให้จิตขาวสะอาดมันทำได้ยาก ไม่เหมือนนักบวช ที่ไปไหนก็มีปีกเหมือนนก คือเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดคือครอบครัว ไม่มีภาระก็เหมือนนกที่บินไป


ประเพณีการบวชในเมืองไทย ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาล ในสมัยพุทธกาล บวชกันแล้วน้อยมากที่จะสึกออกมา ปัจจุบันบวชไม่กี่วันก็สึก ประเพณีเราไม่เคร่งครัด ไม่เหมือนกับในพม่า ศรีลังกา เขาบวชแล้วไม่ค่อยสึกกัน
วัฒนธรรมไทยสมัยก่อนบวชอย่างน้อย 3 ปี ผู้ชายที่เขาเตรียมจะแต่งงาน เขาจะติดต่อผู้หญิงที่เชาหมั้นไว้แล้ว และขออนุญาตไปบวชก่อน 3 ปี ผู้ชายแบบนี้สึกออกมาครองเรือนแล้ว บ้านเมืองไม่มีปัญหา เพราะมีความอดกลั้น อดทน ดีกว่าคนที่ไม่ได้บวชคนที่บวชแล้วมีความมั่นคงทางศีลธรรมในจิตใจมากขึ้น ประเพณีบวช มีประโยชน์ ถ้ามาอยู่ก็จะได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้มีศีลธรรม ถ้าสึกออกมาก็เป็นฆราวาสที่ดี ประสบความสำเร็จทางโลก

เดี๋ยวนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วไม่บวช มีแต่ความรู้ พอแต่งงานมีครอบครัวอยู่กันไม่เท่าไหร่ ก็เลิกรากันไป ขาดการบังคับจิตใจ ดังนั้นประเพณีบวชมีประโยชน์ ได้ศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาสอนประชาชน ให้คนมีศีลธรรม
เมื่อสึกออกมาเป็นฆราวาสก็เป็นฆราวาสที่ดี ทำให้ประสบความสำเร็จทั้งสามโลก คือ 1.โลกนี้ ฆราวาสธรรม 4 ประกอบด้วย สัจจะ ทมะ (ฝึกตน ข่มจิต รักษาใจ) ขันติ จาคะ (ความเสียสละ) ยังไม่พอ ต้องมีคุณธรรม และจิตใจเหมือนอยู่ในสวรรค์ เป็นข้อ 2. คือ โลกหน้า พุทธศาสนาสอนว่า ธรรมะสำหรับคู่ชีวิตคือ ให้มีศรัทธา ศีล จาคะ และมีปัญญา จะได้ไม่ไปเบียดเบียนกันและกัน ยิ่งถ้ามี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 ก็เหมือนกับอยู่ในพรหมโลก

และ 3. อยู่เหนือโลก คือเหนือทุกข์ เหนือทุกข์คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ที่ล้วนแต่ผ่านโลกมาแล้ว รวมทั้งสังขารนี้มันก็เตรียมแก่เฒ่า ชรา และตายไปในวันหนึ่ง

การบวชทั่วๆ ไปในสังคมไทยเดี๋ยวนี้ มักบวชตามประเพณี 10 วัน 15 วัน บางทีเดือนหนึ่ง บางทีก็ไม่ค่อยได้ฝึกสิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ก็ได้แค่ประกันประเพณีไว้ มันไม่ได้ประโยชน์ที่มาบวชกันที่สวนโมกข์ ไม่น้อยกว่า 70% ได้รับประโยชน์ ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น คุณหมอประยูร คงวิเชียรวัฒนะ บวชแล้วสึกไปมีครอบครัว ก็เป็นคนมีธรรมะ สอนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะจนตายเลย

ยุคนี้การสอนธรรมะยากกว่าสมัยก่อนอย่างไร

ปัจจุบันหนังสือหนังหาธรรมะมีเยอะมาก สมัยนั้นไม่มี ท่านอาจารย์พุทธทาสตั้งใจบรรยายแล้วพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเยอะ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็มีมากมาย และยังอีกหลายๆ ครูบาอาจารย์ แต่สิ่งที่ขาดคือ การปฏิบัติ

สวนโมกข์เราเน้นภาคปฏิบัติ หลายๆ แห่งก็ปฏิบัติกัน ถูกหรือผิด เราก็รู้ไม่ได้ แต่สวนโมกข์มีวิธีปฏิบัติ การปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ กิเลสมันลดลง ให้ทุกข์มันลดลง ถ้าการปฏิบัติไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ลดลง มันก็ยังไม่ได้ผล
คนเราบางคนไม่ยอมที่จะให้ทุกข์ปรากฏออกมา ไม่รู้จักทุกข์แล้วก็ไปฆ่าตัวตาย ก็ต้องกลับมาหาสิ่งที่ถูกต้อง คือ รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และหนทางในการดับทุกข์ คืออริยสัจสี่ ทำไมคนทั่วโลกถึงหันมาหาพุทธศาสนากัน เพราะว่า ความก้าวไกลทางเทคโนโลยี ทางวิทยาศาสตร์มากมายแต่เขาก็แก้ไขจิตใจเขาไม่ได้

อาตมาคิดว่า การเจริญทางวัตถุ การติดต่อสื่อสารมันเร็วมาก ถ้ามองในแง่ดี มันมีดี ใช้ให้เป็นประโยชน์ก็เกิดประโยชน์ ใช้ไม่เป็นก็เกิดโทษ

สรุปแล้วทั้งหมดในโลกนี้ไม่มีอะไร มีอยู่สองอย่างคือ พระกับมาร มารก็คือกิเลส คือความทุกข์ ทางที่จะดับทุกข์ ปู่ย่าตายายท่านพูดไว้ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร แต่เดี๋ยวนี้มันแพ้แก่มารไปหมด เครื่องมืออะไรมันก็ไปทางมาร นำไปสร้างปัญหามาก

คนที่ไม่มีปัญหา คือ ไม่จมไปกับปัญหา คนที่บอกว่า การเมืองมีปัญหา ถ้าเราไม่ไปเล่นการเมือง ไม่ไปยุ่งกับการเมือง การเมืองก็ไม่เป็นปัญหากับเรา

ในปีต่อๆ ไปจะมีการบวชแบบสวนโมกข์ไหม

อาตมาคิดว่า ถ้ามีประโยชน์ ปีหน้าก็มีอีก ปีต่อไปก็มี เพราะการบวชแบบนี้ เบากายสบายใจ เจ้าภาพไม่ต้องเดือดร้อนอะไร บาตรจีวรทางวัดเตรียมให้หมดเลย การไปบวชตามประเพณีบางทีมันเสียเงินเสียทองเยอะ แต่ที่นี่เราจัดบวชจริง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย พระครูศรีปริยัติชยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเวียง เจ้าคณะอำเภอไชยาก็เอื้อเฟื้อมาเป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อไปเราอยากให้ผู้เตรียมบวชมาอยู่ปฏิบัติอย่างน้อย 6 เดือนก่อน มีการฝึกก่อนที่จะบวช ยกตัวอย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็บวชตามประเพณี 3 เดือน แต่พอบวชเข้ามาแล้วมีประโยชน์ก็บวชต่อ ไม่สึกเลย อาตมาก็เหมือนกัน บวชครั้งแรก ก็ไม่รู้ว่าจะบวชทำไม พอบวชมาแล้วก็ได้ฝึกภาวนากรรมฐาน ทำให้ใจสงบกว่าที่เราไม่ฝึก ก็เลยคิดว่า อยู่อย่างนี้ดีกว่า

รวมทั้งการอบรมชาวต่างชาติที่สวนโมกข์นานาชาติก็ช่วยทำให้เห็นว่า การภาวนามีประโยชน์ต่อโลกมาก มีชาวต่างชาติมาปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนอาตมาเคยมีเป้าหมายว่าคอร์สละ 60 คน ตอนนี้มากขึ้น มกราคม กุมภาพันธ์มากันเยอะบางทีเป็นร้อย สองร้อยคนก็มี เมืองไทยมีของดีคือพุทธศาสนา เป็นของดีมาก แต่คนไทยชอบของเทียม

ธรรมะข้อใดจะช่วยฆราวาสพ้นทุกข์ได้ในยุคปัจุบัน

วัฒนธรรมไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานพุทธศาสนา ถ้าไม่มีพุทธศาสนา ก็ไม่มีวัฒนธรรม ที่เราขาดกันตอนนี้ คือขาดการปฏิบัติ ไม่ได้ขาดความรู้ทางปริยัติ คนพูดธรรมะเยอะมาก แต่คนปฏิบัติมีน้อย
ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ประโยคนี้ไม่ยาว แต่เราเข้าใจจริงๆ ไหม ถ้ากระทบกับกับอารมณ์แล้วเรายังหวั่นไหวไหม ภูเขาที่มีต้นไม้หนาทึบ ลมพัดมาทั้งสี่ทิศจะพัดภูเขาให้มันกระเทือนไม่ได้ อารมณ์ในโลก ไม่ว่าเป็นอารมณ์ชนิดไหน ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง ก็ไม่กระเทือน

หัวใจของพุทธศาสนาคือความไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวตนจะไปกระทบใครเล่า แต่มันไม่ง่าย มันเข้าใจยาก เพราะขาดการปฏิบัติ ดังนั้น จะให้เข้าถึงจริงๆ ฆราวาสเขาต้องหาครูอาจารย์สอนปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสิ่งนี้

โดย : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  11 พฤศจิกายน 2555