ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์ชี้อากาศแปรปรวน ปีหน้า “ไข้เลือดออก”ระบาดหนัก  (อ่าน 822 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   1 มกราคม 2556 09:06 น.   

   


   

       แพทย์เผยศักราชใหม่ปี 56 "โรคไข้เลือดออก" จะระบาดมากสุด คาดยอดป่วยพุ่งแตะหลักแสนมากกว่าปี 55 หนึ่งเท่าตัว พร้อมจับตาโรคอุบัติใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะโคโรนาไวรัส 2012 หวั่นเชื้อเข้าไทย ส่วนโรคไม่ติดต่อ "อุบัติเหตุ" จะรั้งเจ็บตายอันดับหนึ่งเหมือนเดิม ขณะที่ "โรคอ้วน" น่ากังวลสุด เหตุเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอื่นๆ
       
       นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโรคติดต่อที่มีแนวโน้มการระบาดสูงในช่วงปี 2556 ว่า จากการสังเกตสภาพอากาศของปี 2555 แล้วพบว่า อากาศร้อนขึ้นและมีฝนตกมาก ทำให้ในปี 2556 น่าจะมีโรคติดต่อระบาดมากขึ้น 3 โรคด้วยกัน ได้แก่ 1.โรคไข้เลือดออก ซึ่งปกติแล้วยอดผู้ป่วยสะสมตลอดปีของโรคไข้เลือดออกจะอยู่ที่หลักหมื่นเท่านั้น เช่น ปี 2555 ยอดผู้ป่วยอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นราย แต่ในปี 2556 จะมีผู้ป่วยมากเกินกว่าแสนราย เท่ากับมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว 2.โรคทางเดินอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อาหารบูดเน่าและเสียได้ง่าย เอื้อต่อการป่วยโรคทางเดินอาหาร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมียอดผู้ป่วยสะสมตลอดปีมากเกินกว่าหนึ่งล้านคน และ 3.โรคมือเท้าปาก จากเดิมปี 2555 มีผู้ป่วยราว 3-4 หมื่นคน ก็จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
       
       นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่คาดว่ายอดผู้ป่วยสะสมระหว่างปี 2555 และ 2556 จะไม่แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นราย ขณะที่โรคติดต่ออื่นๆยังทรงตัวเช่นกัน การระบาดไม่รุนแรงขึ้นหรือลดน้อยลง ส่วนโรคอุบัติใหม่ทางกรมควบคุมโรคก็มีการจับตาอยู่หลายโรค เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโรคที่ระบาดอยู่ในต่างประเทศ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 ซึ่งมีลักษณะคล้ายโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 2 ราย แม้จะยังไม่พบการระบาดเป็นวงกว้าง แต่ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือและเฝ้าระวังไม่ให้มีการเข้ามาระบาดในประเทศไทย เป็นต้น
       
       "ส่วนโรคที่อาจมีการระบาดเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากคือ โรคหัด และโรคคอตีบ เนื่องจากอาจมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวมาก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโรคต่างๆจะมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้นหรือลดลง แต่ประชาชนควรดูแลสุขอนามัยของตัวเอง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย อย่างโรคไข้เลือดออกก็ควรระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด โรคทางเดินอาหารก็ควรยึดหลักเดิมที่ สธ.รณรงค์คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ขณะที่โรคมือเท้าปากก็ต้องดูแลสุขอนามัยให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็กเล็ก เน้นการไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน ก็สามารถช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง" ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าว
       
       ด้าน ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อที่คนไทยมีแนวโน้มป่วยมากขึ้นในปี 2556 นั้นไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าโรคใดจะมีความรุนแรงเป็นพิเศษเหมือนโรคติดต่อ ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าปีใดโรคอะไรจะมีแนวโน้มการระบาดอย่างรุนแรง เช่น ปีนี้โรคซาร์สจะระบาดรุนแรง หรือปีหน้าโรคคอตีบจะกลับมาระบาดอีก เป็นต้น เนื่องจากโรคไม่ติดต่อมักเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งมีการป่วยแบบระยะยาว จึงไม่มีการมองหรือคาดการณ์เป็นรายปี แต่ต้องคาดการณ์กันเป็น 10 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโรคไม่ติดต่อเกิดจากหลายปัจจัย
       
       "อย่างไรก็ตาม โรคไม่ติดต่อที่พบบ่อยและมีแนวโน้มการตายสูงเป็นอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นโรคอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความประมาท การขาดความระมัดระวัง การไม่รักษาวินัย หรือระบบจราจรที่ไม่ชัดเจน แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ รองลงมาเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง ส่วนโรคไม่ติดต่อที่เป็นแต่ไม่ตายและมีความรุนแรงสูง 4 อันดับคือ การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน" ปธ.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ กล่าว
       
       ศ.นพ.เกรียง กล่าวอีกว่า สำหรับโรคอ้วนถือว่ามีความน่ากังวลมากกว่าโรคอื่น เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันนำมาซึ่งโรคเรื้อรังอื่นๆ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคไตด้วย โดยขณะนี้ประชากรไทยวัยผู้ใหญ่มากกว่า 20% มีปัญหาโรคอ้วน และกำลังคุกคามประชากรวัยเด็กมากขึ้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยขาเข้ามาก แต่ขาออกน้อย นั่นคือ รับประทานอาหารมากกว่าที่ควร โดยเฉพาะประเภทหวาน มัน เค็ม และขนมขบเคี้ยว แต่มีการออกกำลังกายน้อย และที่สำคัญคือประชาชนยังขาดความตระหนักเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นความรุนแรงหรืออันตรายที่เกิดขึ้นจากโรคเรื้อรังเหมือนโรคติดต่อที่บางโรคเป็นแล้วตาย ทำให้ไม่เชื่อฟังแพทย์ในการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับโรคที่เป็น ไม่มีวินัยในการรักษาหรือทานยา เป็นต้น
       
       ศ.นพ.เกรียง กล่าวด้วยว่า ปัญหานี้แพทย์ต้องพยายามชี้นำให้ประชาชนเห็นถึงอันตรายและมีความตระหนักต่อโรคเรื้อรัง เพราะโรคดังกล่าวจะต้องแก้ที่พฤติกรรมผู้ป่วยเอง เนื่องจากปัจจัยสำคัญมาจากการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากประชาชนอยากมีสุขภาพที่ดีจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง พร้อมศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆเพิ่มเติม และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ