ผู้เขียน หัวข้อ: ลี้ลับ ลึกล้ำ เร้าใจ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1386 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ชาวสวิสมีเทือกเขา พวกเขาจึงออกไปปีนป่าย ส่วนชาวออสเตรเลียมีแคนยอนหรือหุบผาชัน พวกเขาจึงออกไปปีนหุบผา (canyoneering) นี่คือความกล้าบ้าบิ่นอันเป็นลูกผสมระหว่างการไต่เขากับการสำรวจถ้ำ เพียงแต่งานนี้คุณต้องไต่ลงแทนที่จะไต่ขึ้น และบ่อยครั้งที่ต้องปีนป่ายไปตามอุโมงค์ชุ่มโชกและซอกเขาแคบๆ ทุกวันนี้ อาจมีชาวออสเตรเลียหลายพันคนนิยมการปีนหุบผา หลายร้อยคนใช้เชือกโรยตัวลงสู่หุบผา แต่คงมีเพียงแค่หยิบมือที่ได้สำรวจหุบผาใหม่ๆ นักสำรวจไฟแรงเหล่านี้มักจะมีท่อนขาแข็งแรงแบบนักรักบี้ หัวเข่าเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นนับไม่ถ้วน ความอึดต่อน้ำเย็นเยือกราวกับนกเพนกวิน ลีลากระโดดข้ามโขดหินอย่างแคล่วคล่องราวตัววอลลาบี และเต็มใจที่จะคืบคลานเข้าหลุมมืดชื้นแฉะราวกับตัวตุ่น เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาออกค้นหาแคนยอนที่ห่างไกลและเข้าถึงยากสุดๆ เดฟ โนเบิล นักสำรวจหุบผาผู้มากประสบการณ์ของออสเตรเลีย บอกว่า “ยิ่งมืด ยิ่งแคบ ยิ่งลดเลี้ยวเคี้ยวคดเท่าไหร่ก็ยิ่งดีครับ” โนเบิล วัย 57 ปี เป็นคนแหวกแนว เขาไม่เคยขับรถยนต์ และขี่จักรยานวันละเกือบ 30 กิโลเมตรผ่านเขตชานเมืองของซิดนีย์เพื่อไปสอนวิชาฟิสิกส์ในโรงเรียนมัธยม แม้ว่าเขาจะทำแผนที่ภูมิประเทศของแคนยอนต่างๆที่ได้สำรวจพร้อมคำอธิบายไว้อย่างละเอียด รวมทั้งตั้งชื่อให้ด้วย ทั้งยังได้นำภาพถ่ายขึ้นเว็บไซต์ของตนเอง แต่ไม่ยอมบอกใครว่าแคนยอนเหล่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง ด้วยเหตุผลว่า “นี่เป็นจรรยาบรรณของพวกเราครับ แคนยอนที่เข้าไม่ถึงเหล่านี้สมควรถูกปล่อยไว้เพื่อให้คงความบริสุทธิ์ และเป็นความท้าทายให้นักสำรวจอื่นๆได้ออกค้นหาด้วยตนเอง” การปีนหุบผาของพวกคนผิวขาวตัวเกรียมแดดเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 แต่กว่าที่กลุ่มหุบผาขนาดใหญ่ที่สุดจะได้รับการสำรวจก็ล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 1960 เมื่อมีการนำเชือกและอุปกรณ์ปีนเขาสมัยใหม่มาใช้งาน ดานาอีบรูกแคนยอนที่ซ่อนตัวอยู่ในเขาวงกตใจกลางทิวเขาบลูเมาน์เทนส์ ได้ชื่อว่าเป็นหุบผาที่พิชิตยากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะนักปีนหุบผาต้องใช้เชือกโรยตัวอย่างยากลำบากถึงเก้าช่วงหรือมากกว่านั้น ผมนัดพบกับจอห์น โรเบนส์ ชายนักปีนหุบผาร่างผอมแกร่งที่บ้านของเขาในซิดนีย์ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โรเบนส์ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์อิสระวัย 39 ปี ใช้เวลาสุดสัปดาห์ส่วนใหญ่หลีกหนีจากเมืองไปปีนหุบผากลางป่า โรเบนส์กับผมขับรถไปทางตะวันตกของซิดนีย์เป็นเวลาสี่ชั่วโมง ตั้งแคมป์กันในอุทยานแห่งชาติคานันกรา-บอยด์ และออกเดินย่ำไปตามแนวเส้นทางกันไฟของเมานต์ทูแรตในช่วงย่ำรุ่ง เรามีชุดดำน้ำ เชือก และอาหารกลางวันพร้อมอยู่ในเป้ หลังจากข้ามลำธารคานันกรา เราเดิมดุ่มไปตามป่าชัฏที่ไม่มีทางเดินชัดเจน อาศัยแผนที่และจีพีเอสนำทาง นักปีนหุบผามีพรสวรรค์ในการแทรกตัวผ่านพุ่มไม้หนาทึบได้อย่างง่ายดาย โรเบนส์พลิ้วตัวแทรกผ่านพุ่มไม้ทึบเหล่านี้อย่างคล่องแคล่วจนผมตามแทบไม่ทัน ไม่ถึงชั่วโมงดี โรเบนส์ก็พาเรามาถึงยอดน้ำตกดานาอีได้อย่างแม่นยำ ทั้งๆที่ไม่เคยมาที่นี่เลย สายน้ำไหลรี่ไปจนสุดทางก่อนจะทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่าง “เราจะเริ่มโรยตัวกันตรงนั้น” โรเบนส์บอก พลางชี้ไปยังต้นไม้ที่ทอดตัวยื่นไปอย่างหมิ่นเหม่เหนือหน้าผา เราจัดแจงสวมชุดดำน้ำที่เหนียวหนืดติดตัว ใส่หมวกนิรภัย ผูกโยงเชือกเข้ากับลำตัว ก่อนจะทิ้งตัวลงสู่ความเวิ้งว้างเบื้องล่าง เมื่อถึงจุดโรยตัวช่วงที่สาม เราอยู่ในร่องหินลึกอันมืดมิด พยายามทรงตัวเหนือชะง่อนหินลื่นๆ ท่ามกลางสายน้ำตกที่ถั่งโถมลงมา ผนังหินช่วงนี้ปกคลุมไปด้วยมอสส์ การแทรกตัวเข้าสู่ด้านในของก้อนหินใหญ่กลายเป็นเหมือนการเบียดตัวเข้าช่องลิฟต์แคบๆที่สูงร่วมสิบชั้นท่ามกลางสายน้ำที่เทลงมาไม่ขาดสาย การโรยตัวอีกสามช่วงที่ตามมาน่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน และพาเรามาสู่แอ่งน้ำเล็กๆที่เย็นเฉียบกลางชะง่อนผา ราวกับสระว่ายน้ำที่ผุดขึ้นตรงกลางตึกระฟ้าไม่มีผิด หลังจากนั้นเป็นการโรยตัวสั้นๆหลายช่วง ตามด้วยการกระโดดยาวๆอีกสองครั้ง โรเบนส์ทิ้งตัวจากก้อนหินส่งเสียงก้องอย่างเบิกบานใจ กางแขนขากว้างกลางอากาศ ก่อนจะหุบเข้าราวผีเสื้อเตรียมร่อนลงสัมผัสผืนน้ำที่อยู่ต่ำลงไปราวหกเมตร เมื่อมาถึงจุดที่ดานาอีบรูกบรรจบกับลำธารคานันกรา การไต่ลงสู่หุบผาของเราก็สิ้นสุดลง แต่เรายังไม่สามารถเฉลิมฉลองได้ นักปีนเขาไต่ขึ้นไปถึงยอดแล้วต้องกลับลงมาฉันใด นักปีนหุบผาเมื่อลงมาแล้วก็ต้องไต่กลับขึ้นไปฉันนั้น เราเดินข้ามลำธาร หยุดพักราวสิบนาที ก่อนจะเริ่มไต่ฝ่าดงไม้ขึ้นไปอย่างลำบากยากเย็น ทางที่ปีนขึ้นตัดตรงตั้งฉากเสียจนเราต้องดึงตัวเองขึ้นไปตามกิ่งไม้ทีละกิ่ง เนื้อตัวเราชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อตอนที่มาถึงที่ราบ ตรงปลายแหลมของทิวเขาแกงเกอแรง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับดานาอีบรูกแคนยอนพอดี จากจุดนี้เราสามารถเดินตามเส้นทางคิลแพทริกคอสเวย์ ซึ่งเดินง่ายทีเดียว ระหว่างที่เดินทอดน่องกันมา พระอาทิตย์ส่องแสงไล่หลังเรา ผมทั้งร้อนและเหนื่อย แต่ร่างกายและห้วงคำนึงกลับได้รับการชำระล้างจากการไต่ลงดานาอีบรูก แคนยอน แล้วผมก็เห็นโรเบนส์บ่ายหน้าเข้าไปในทุ่งข้างทาง “จะให้ดูอะไรหน่อย” เขาตะโกนมาโดยไม่เหลียวหลัง เราเดินอ้อมปุ่มหินทรายที่ยื่นจากชะง่อนผา ทันใดนั้น สิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าเราคือศิลปะบนผนังหินของชาวอะบอริจิน เป็นภาพโครงร่างมนุษย์สีแดงอมส้ม เห็นชัดว่านุ่งลมห่มฟ้า กางแขนกางขา แลดูเบิกบานกันถ้วนหน้า

มกราคม 2555