ผู้เขียน หัวข้อ: พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1089 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
หนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 400 ปีก่อนมีส่วนในการหล่อหลอมภาษาอังกฤษ ค้ำจุนบรรดาผู้อยู่ในอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็ยกย่องเทิดทูนแนวคิดว่าด้วยอิสรภาพหรือเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคล ยากนักที่จะหาหนังสือเล่มใดในโลกหล้าที่มีคุณูปการต่อโลกแห่งภาษาอังกฤษได้เสมอเหมือน หน้าคอกม้าในไร่ปศุสัตว์แห่งหนึ่งไม่ไกลจากดินแดนกึ่งปกครองตนเองชนพื้นเมืองอเมริกันเผ่านาวาโฮ (Navajo Reservation) ในรัฐนิวเม็กซิโก โรม เวเจอร์ ยืนอยู่กลางวงล้อมของกลุ่มโคบาลหนุ่มที่มารวมตัวกันเพื่อฝึกซ้อมช่วงกลางอาทิตย์ เขาชูพระคริสตธรรมคัมภีร์ขึ้น ขณะที่เหล่าโคบาลหนุ่มถอดหมวกออก คุกเข่าลงข้างหนึ่งและวางหมวกไว้บนเข่าข้างที่ชันขึ้น “เรื่องของผมมักเริ่มต้นต่างกันไป” ภราดาโรมกล่าวกับโคบาลหนุ่มที่คุกเข่าอยู่บนพื้นฝุ่นเขรอะ “แต่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเติมเครื่องหมายวรรคตอนให้ผมเสมอ” ทุกวันนี้ เวเจอร์เป็นศิษยาภิบาลหรือนักเทศน์ในนิกายแบปติสต์ เดิมเคยเป็นนักขี่วัวพยศและม้าป่าสวมอานระดับมืออาชีพ วาจาที่บุรุษผู้นี้เอ่ยเอื้อนเบาๆกับเหล่าโคบาลหนุ่มที่ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจนั้น หาใช่คำพูดที่มาจากบ้านป่าแดนเถื่อนทางตะวันตกของอเมริกาอย่างในแถบนี้ หากข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศอังกฤษ เป็นวลีที่ได้รับการแปลโดยกลุ่มนักบวชในชุดเสื้อคลุมดำเมื่อ 400 ปีมาแล้ว นี่คือความมหัศจรรย์ของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์ (King James Bible) ซึ่งเป็นถ้อยคำจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถึงสองชั้น เพราะนี่ไม่ใช่เอกสารต้นฉบับดั้งเดิม แต่เป็นฉบับแปลที่ทำขึ้นเมื่อหลายศตวรรษมาแล้วจากสถานที่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร โดยแปลจากบันทึกที่คัดลอกด้วยมือเป็นภาษากรีกและฮีบรูโบราณ และเดินทางมาถึงมุมที่เปรอะไปด้วยฝุ่นในซีกโลกใหม่แห่งนี้ และยังคงความหมายตามเจตนารมณ์เมื่อแรกแปลไว้ได้ คือยิ่งใหญ่ทว่าอ่อนโยน เป็นเสียงแห่งสากลจักรวาลที่เข้าถึงจิตใจผู้คนได้อย่างประหลาด แม้จะไม่ได้เป็นชาวคริสต์ แต่เราก็อาจสัมผัสถึงพลังแห่งถ้อยคำเหล่านั้นได้ เพราะเป็นถ้อยคำที่ใช้ศัพท์ง่ายๆ สื่อความหมายเป็นสากล มีจังหวะจะโคนสง่างาม และสัมผัสอารมณ์ได้ลึกซึ้งกินใจ พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์ได้หยั่งรากลึกอยู่ในสายใยที่ถักทอร้อยรัดของภาษาอังกฤษ สำนวนภาษาอังกฤษ เช่น haves and have-nots (คนมั่งมีกับคนยากจน) heads on plates (เห็นได้ชัดว่ามีความผิด เปรียบเหมือนการตัดศีรษะวางบนถาดแล้วนำมาให้) thieves in the night (คนเจ้าเล่ห์เพทุบาย) scum of the earth (คนต่ำช้าสามานย์) best until last (เก็บชิ้นที่ดีที่สุดไว้หลังสุด) sackcloth and ashes (เสื้อผ้าที่เก่าโทรมที่สุด) streets paved in gold (ดินแดนแห่งความมั่งคั่ง) และ the skin of one’s teeth (รอดเส้นยาแดง ผ่าแปด) ล้วนถ่ายทอดมาสู่เราโดยบรรดานักแปลผู้ทำหน้าที่อย่างยอดเยี่ยมเมื่อ 400 ปีก่อนทั้งสิ้น เรื่องราวความสำเร็จอันน่าพิศวงของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่มีการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1603 หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่หนึ่ง ผู้ทรงครองราชย์ในฐานะพระประมุขแห่งอังกฤษมายาวนานเสด็จสวรรคต นี่เป็นโอกาสอันเฝ้ารอของพระเจ้าเจมส์ที่หก กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ ผู้ทรงเป็นพระญาติและรัชทายาทผู้สืบราชบัลลังก์ ความที่สกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ขณะที่อังกฤษนั้น รุ่มรวยด้วยอารยธรรม ทั้งยังอุดมสมบูรณ์และมั่งคั่งกว่า เมื่อทรงทราบว่าพระองค์จะได้สืบราชบัลลังก์อังกฤษในที่สุด ถึงกับมีผู้เปรียบเปรยว่า พระเจ้าเจมส์ทรงไม่ต่างจาก “ยาจก...ที่ได้มาถึงดินแดนแห่งพันธสัญญา” เลยทีเดียว ตลอดช่วงศตวรรษที่สิบหก การปฏิรูปทางศาสนา (Reformation) ของอังกฤษอยู่ในสภาพคล้ายลูกดิ่งที่ขึ้นลงตาม รัชสมัยของกษัตริย์แต่ละพระองค์ โดยมีทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านนิกายโปรเตสแตนต์ ผลก็คืออังกฤษมีพระคริสตธรรมคัมภีร์สองฉบับที่มีข้อความต่างกัน ได้แก่ พระคริสตธรรมคัมภีร์เจนีวา (Geneva Bible) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1560 โดยกลุ่มชาวสกอตและชาวอังกฤษกลุ่มเล็กๆที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายคาลวินในเจนีวา โดยอิงจากต้นฉบับแปลรุ่นบุกเบิกของ วิลเลียม ทินเดล ผู้ถูกลงโทษประหารชีวิตในปี 1536 โทษฐานเป็นคนนอกรีต พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับนี้เป็นที่นิยมของพวกพิวริตัน แต่มีข้อความหลายแห่งในอรรถาธิบายตรงขอบหน้าหนังสือ (marginal note) ที่มีนัยต่อต้านราชวงศ์ พระเจ้าเจมส์เองทรงโปรดฉบับเจนีวาเพราะทรงชื่นชมในความถูกต้องและความลึกซึ้งของเนื้อหา แต่ไม่โปรดส่วนที่ต่อต้านราชวงศ์ เพื่อเป็นการต่อต้านพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับเจนีวา คริสตจักรสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาอเบทที่หนึ่งจึงตีพิมพ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับสังฆราช (Bishops’ Bible) ขึ้นในปี 1568 โดยเป็นการแปลอย่างค่อนข้างเร่งด่วนของสังฆราชหรือบิชอปราว 12 องค์ และเชิญพระสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่หนึ่งมาพิมพ์ไว้ที่หน้าปกใน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับนี้สนับสนุนราชวงศ์ แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครใช้ เพราะบรรดาสังฆราชเลือกใช้คำโบราณหรูหราแทนภาษาเรียบง่ายแบบของฉบับเจนีวา นี่คือมรดกของการแบ่งแยกที่พระเจ้าเจมส์ทรงมุ่งหวังจะแก้ไข และการจัดพิมพ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับใหม่ก็ดูจะเป็นทางออกที่ดี ดังนั้นพอถึงปี 1604 จึงมีการวางกรอบกฎเกณฑ์เบื้องต้นร่วมกันว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับใหม่ต้องไม่มีอรรถาธิบายที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจยาก เนื้อหาต้องมีความถูกต้องแม่นยำโดยผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างลุ่มลึกจนปราศจากข้อสงสัยใดๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ พระเจ้าเจมส์โปรดเกล้าให้ตั้งคณะกรรมการแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์คณะใหญ่ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้รู้ 54 คนจากกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์เป็นผลิตผลของประเทศอังกฤษสมัยต้นศตวรรษที่สิบเจ็ดอย่างแน่แท้ แต่คงไม่มีที่ใดที่เราจะสัมผัสถึงความเชื่อมโยงที่ว่านี้ได้ชัดเจนเท่ากับห้องทำงานชุดหนึ่งใจกลางกรุงลอนดอน ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งป็นมหาวิหารหลวงของราชวงศ์อังกฤษ เราได้พบกับสาธุคุณ ดร.จอห์น ฮอลล์ เจ้าคณะในห้องทำงานที่กรุผนังด้วยไม้สีเข้มและปูพรม ในห้องทำงานเหล่านี้เองที่แลนเซอลอต แอนดรูว์ส เจ้าคณะในสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ด เคยนั่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการผู้แปลพระธรรมบทห้าเล่มแรกของพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม และที่นี่เองที่ประโยคแรกสุดของพระคัมภีร์ที่ว่า “ในเริ่มแรกนั้นพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดินโลก” ปรากฏให้ได้ยินเป็นครั้งแรก สาธุคุณจอห์น ฮอลล์ เป็นผู้ประกอบพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียมกับเคต มิดเดิลตัน ที่มหาวิหารแห่งนี้เมื่อตอนต้นปี นี่คืออีกมุมหนึ่งของโลกที่โรม เวเจอร์ เทศนาให้เหล่าโคบาลฟังบนผืนดินฝุ่นฟุ้งในรัฐนิวเม็กซิโก แต่สำหรับสาธุคุณฮอลล์แล้ว พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์นี้มีบางสิ่งที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกอันห่างไกลทั้งสองท่านอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับนี้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก และกลับไปอ่านใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ท่านสาธุคุณบอกว่า “หลายครั้งถ้อยคำจับใจผมจนน้ำตาซึม ผมชอบเรื่องราวหลังจากพระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนและกลับฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมา ก่อนจะปรากฏพระองค์ให้สาวกที่กำลังเดินทางไปเมืองเอ็มมาอุสเห็น พวกเขาไม่ทราบว่าพระองค์เป็นใคร แต่ก็เดินคุยกันไปตลอดทางจนเย็นย่ำ แล้วพวกเขาก็บอกพระองค์ว่า ‘เชิญหยุดพักกับเรา เพราะว่าจวนเย็นแล้ว และวันก็ล่วงไปมาก’ (Abide with us, for it is toward evening, and the day is far spent.’) ถ้อยคำง่ายๆตรงไปตรงมาและมีพลังเช่นนี้มีความหมายกับผมมากเหลือเกินตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นภาษาที่ลึกลับน่าค้นหาและสง่างาม ขณะเดียวกันก็เป็นภาษาแห่งความเมตตาอาทร และนี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ของหนังสือเล่มนี้”

มกราคม 2555