ผู้เขียน หัวข้อ: มหาสมุทรร้อนขึ้นในอัตราเทียบเท่าระเบิดปรมาณูถล่ม 5 ลูกต่อวินาที  (อ่าน 324 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเผยผลการศึกษาเรื่องระดับอุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลก ในรายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ฉบับล่าสุด โดยชี้ว่าในปี 2019 มหาสมุทรร้อนขึ้นในอัตราที่น่าตกใจยิ่งกว่าเดิม โดยพลังงานความร้อนที่เพิ่มขึ้น เทียบได้กับระเบิดปรมาณูแบบที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น ซึ่งถูกทำให้ระเบิดขึ้นเป็นจำนวน 5 ลูกต่อวินาทีอยู่ตลอดเวลา

มีการวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ของช่วงทศวรรษ 1950 มาจนถึงปี 2019 โดยพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.075 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับของช่วงปี 1981-2010

แม้จะดูเหมือนว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่หากคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มหาสมุทรกว้างใหญ่และมีปริมาณน้ำอยู่มหาศาล การทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นนิดหน่อยก็ยังจะต้องใช้พลังงานความร้อนสูงมากในระดับที่เหลือเชื่อ เช่นในกรณีล่าสุดนี้ ทีมผู้วิจัยประมาณการว่าต้องใช้พลังงานถึง 228 เซกซ์ทิลเลียนจูล (Sextillion Joules ) จึงจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นตามระดับที่รายงานได้

เพื่อให้คนทั่วไปมองเห็นภาพรวมและจินตนาการถึงพลังงานความร้อนระดับมหาศาลดังกล่าวได้ ทีมผู้วิจัยจึงได้คำนวณเปรียบเทียบกับพลังงานความร้อนที่ปลดปล่อยจากระเบิดปรมาณู ซึ่งสหรัฐฯใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945

"ระเบิดปรมาณู 1 ลูก ปลดปล่อยพลังงานราว 63 ล้านล้านจูล" ดร. เจิ้ง ลี่จิง จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) หนึ่งในทีมผู้วิจัยอธิบาย "พลังงานความร้อนที่เราใส่เพิ่มเข้าไปในมหาสมุทรตลอด 25 ปีที่ผ่านมา เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3.6 พันล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 4 ลูก ในทุก 1 วินาที"

"แต่ในปี 2019 อัตราการเพิ่มขึ้นของพลังงานความร้อนนี้กลับสูงขึ้นอีก เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 5 ลูก ในทุก 1 วินาทีอยู่ตลอดเวลา"

ศาสตราจารย์จอห์น อับราแฮม จากมหาวิทยาลัยเซนต์โทมัสในรัฐมินนิโซตาของสหรัฐฯ หนึ่งในทีมผู้วิจัยกล่าวเสริมว่า "ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ให้ลองเปรียบเทียบกับการที่คนบนโลกนี้ทุกคน ใช้ไดร์เป่าผมคนละ 100 ตัว เป่าลมร้อนจ่อไปยังมหาสมุทรพร้อมกันก็ได้"

การที่มหาสมุทรร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัตว์ทะเลหลายชนิดรวมทั้งโลมาต้องตายลง เพราะไม่สามารถปรับตัวตามทันความเปลี่ยนแปลงนี้ได้

"แม้แต่การที่มีไอน้ำระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ก็ยังส่งผลทางลบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยทำให้ฝนตกหนักมากขึ้นและเกิดพายุทรงพลังรุนแรงมากขึ้นทุกที" ศ. อับราแฮมกล่าว

15 มกราคม 2020
https://www.bbc.com/thai/features-51121325