ผู้เขียน หัวข้อ: การแต่งงาน ถุงยางและกระรอกเห็นโพรงไม่ต้องชี้ ... คุยเรื่องเพศวิถีกับชลิดาภรณ์  (อ่าน 1093 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
"เราต้องเข้าใจธรรมชาติของความรักว่า มันเกิดได้ คลายได้ และดับได้ และถึงแม้ว่าเรารักคู่ของเรา แต่ความสัมพันธ์มันก็ต้องดำเนินไปตามกาลเวลา แล้วเราก็จะพบว่า ในความสัมพันธ์มีปัญหาเยอะมาก เช่น พูดกันไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันในเรื่องเล็กๆน้อยๆ คู่รักหลายคู่ต้องกลับมาถามตัวเองอย่างหนักว่า "เคยคิดจะลงทุนกับความรักหรือไม่"

"เราเป็นคนชอบผู้หญิงผมสั้น แล้วก็เลยจินตนาการไปว่า ผู้หญิงคนนั้นจะต้องเป็นคนกระฉับกระเฉง ทันต่อโลก มีมาดนักธุรกิจ แต่พอชวนกันไปกินข้าว รู้จักกันมากขึ้น คบไปคบมา ไปทำความรู้จักซึ่งกันและกัน เราก็เห็นว่า เขาเป็นคนอารมณ์ศิลปิน เดินช้าๆ เรียบง่าย แล้วเราก็รู้สึกผิดหวังในตัวเขา เลยไปโทษเขาว่า เธอน่ะเปลี่ยนไป คุ้นๆไหมวลีแบบนี้ เขาน่ะไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะเขาก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาเป็น ตัวตนของเขาต่างหากที่ไม่สอดคล้องกับจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมา"

"กระรอกมันไม่ได้โง่ มันเห็นโพรงเองอยู่แล้วไม่ต้องไปชี้ มันเป็นสัญชาตญาณของกระรอกที่ต้องทำโพรง เหมือนกับมนุษย์นั่นแหละ เพศสัมพันธ์ก็เป็นสัญชาตญาณของสัตว์โลก ในเมื่อมันเป็นแบบนั้นก็ควรจะสอนว่า ควรจะมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัยจากปัญหาที่จะตามมาไม่ดีกว่าหรือ  บางทีถ้ากระทรวงศึกษาธิการเลิกคิดเรื่องโพรงเรื่องกระรอกบ้างระบบการศึกษาอาจจะดีขึ้นก็ได้"

"สังคมไปสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้หญิง ว่าผู้หญิงที่ดีต้องไร้เดียงสาหรือไม่รู้เรื่องเพศ แล้วภาพลักษณ์นี้มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมหรือโรคภัยอื่นๆได้ ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องจริงจังในการสอนให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใช้ถุงยางอนามัยเป็น"

เอาให้ชัดว่า "รักเดียวใจเดียว" กับ "คนที่ใช่" สุดท้ายแล้วไปด้วยกันได้หรือไม่

การผูกความรักเข้ากับความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงานจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แล้วสุดท้าย กระรอกจะไม่สามารถเข้าโพรงได้เลยหรือหากไม่มีคนมาชี้ให้เห็น

ไม่สามารถหาฟังได้ในสื่อ (ออนไลน์) อื่น ๆ

ไม่มีเซ็นเซอร์ แค่ติดเรท น. 20 - "อายุต่ำกว่า 20 ต้องรับชมและแนะนำให้ผู้ปกครองมาดูด้วยกัน"

มาทำความเข้าใจกับความรักกันต่อเถอะครับ
---
ชลิดาภรณ์พูดถึงการคุยเรื่องความรักที่ถูกผูกมัดไว้ว่า

"เราต้องเอามนุษย์เป็นตัวตั้ง เวลาที่เรารู้สึกรักใครสักคน มันจะมีหลายสิ่งอย่างผูกติดไว้กับมันเยอะ เช่น ความรู้สึกต้องการเป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน ความรู้สึกอยากให้เห็นและรักฉันแต่เพียงผู้เดียว แลกเปลี่ยนแง่มุมน่ารัก หาคำที่ใช้เรียกแทนกันและกันซึ่งเป็นที่รู้กันเองสองคน แสดงความ"พิเศษ" กว่าคนอื่น สักพักพอเรามารู้หรือจับได้ว่า คนรักของเราไปมีความรักกับคนอีกคนหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า คู่รักของเราเอาบางสิ่งที่เคยเป็นของเราคนเดียวไปแชร์กับคนอื่นด้วย เราจึงเสียใจเพราะไปยึดติดกับมัน ผูกมัดมันไว้ด้วยเชือกที่เราทำขึ้นเอง ยิ่งแน่นเท่าไรยิ่งเจ็บปวดต่อตนเองเท่านั้น"

งั้นแปลว่า มนุษย์อาจจะต้องทำความเข้าใจความรักใหม่หมดว่า สุดท้ายแล้ว "รักเดียวใจเดียว" โกหกทั้งเพ?
"ไม่ถึงขนาดต้องเข้าใจความรักกันใหม่หมด แต่เราต้องเข้าใจธรรมชาติของความรักว่า มันเกิดได้ คลายได้ และดับได้ และถึงแม้ว่าเรารักคู่ของเรา แต่ความสัมพันธ์มันก็ต้องดำเนินไปตามกาลเวลา เราก็จะพบว่า ในความสัมพันธ์นั้นปัญหามันเยอะมาก เช่น พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันในเรื่องเล็กๆ  มีคู่รักหลายคู่มากที่ต้องถามตัวเองอย่างหนักว่า เคยคิดจะลงทุนกับความรักหรือไม่"

อาจารย์ชลิดาภรณ์ตั้งข้อสังเกตกับคำว่า "คนที่ใช่" ไว้อย่างน่าสนใจ
"ทุกคนมักคิดว่า ถ้าเราเจอคนที่ใช่แล้ว มันจะต้องดี ถ้าระยะเวลาผ่านไปแล้ว มีเรื่องทะเลาะกัน หรือทำนิสัยบางอย่างที่เราไม่ชอบ แปลว่าคนที่เราคบอยู่น่ะไม่ใช่คู่แท้ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่เข้าใจความรักได้อย่างคลาดเคลื่อนมาก ถ้ามนุษย์ให้ความหมายกับคำว่า คนที่ใช่คือคนที่ทำนิสัยถูกใจเรา เป็นคนดี ดีในความหมายของเราเอง ชาตินี้ก็คงหากันไปกันทั้งชาติ (ลากเสียงยาว)"

ชลิดาภรณ์กล่าวต่อว่า "คนที่ใช่" ไม่ได้หมายความว่า เจอกันปุ๊ป ปิ้งกันแล้วก็รักกันเพราะมีนิสัยตรงกัน แต่เราต้องเข้าใจว่า โลกหมุนรอบตัวเอง ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็เช่นกัน

"มนุษย์ก็ต้องเปลี่ยนไปในช่วงเวลาหนึ่ง เราก็ต้องเปลี่ยนไป คู่รักเราก็ต้องเปลี่ยนไป ถ้าเราต้องการให้ความสัมพันธ์สามารถดำเนินต่อไปพร้อมกันทั้งสองคน เราและคู่รักของเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปได้ นี่จึงเป็นคำถามว่า สุดท้ายแล้วคู่รักคู่ไหนบ้างที่ "ลงทุน" ให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปตลอดชีวิต ดังนั้นในอีกแง่หนึ่ง ถ้าคู่ของเราเปลี่ยนไป ตัวเราเองก็เปลี่ยนไป เราอาจจะยังรักคู่รักของเราอยู่ แต่ยิ่งดำเนินความสัมพันธ์ไปด้วยกันความสัมพันธ์มันก็มีปัญหา พอเราไปเจอคนอีกคนหนึ่งซึ่งมันไม่มีปัญหาเหมือนที่เราเจอกับคู่รักของเรา และคน ๆ นั้นอาจจะตอบโจทย์บางสิ่งบางอย่างที่เราอยากได้จากคู่รักของเราแต่เขาให้ไม่ได้ มันจึงเกิดความสัมพันธ์ซ้อนความสัมพันธ์กันขึ้นมา นี่แหละที่มาของการ "นอกใจ" แล้วที่นอกใจเพราะมนุษย์มีความคาดหวัง มีจินตนาการของความรักที่แบกเอาไว้อยู่"

"ความสัมพันธ์ซ้อนความสัมพันธ์เกิดจากการที่เราคาดหวังกับความสัมพันธ์ของความรักไว้มาก พอเรามีความสัมพันธ์กับคู่รักของเราก็ปรากฎว่า ความสัมพันธ์มันไม่เท่ากับที่คาดหวังไว้ เราจึงต้องไปหาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆเพื่อให้บรรลุความสัมพันธ์ที่เราคาดหวังเอาไว้มาก เราแบกความคาดหวังไว้ชุดหนึ่งไปหาคู่รักของเรา ดังนั้น กว่าเราจะรู้ว่าเราแบกความหวังกับความสัมพันธ์ไว้จำนวนมากก็อาจจะต้องมีแฟนมาแล้วกว่า 15 คนก็เป็นได้ ซึ่งตอนนั้นอาจจะอายุสัก 35 ปี แล้ว ซึ่งนี้โชคดีแล้วนะ (หัวเราะ) เพราะคนส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่า ต้องการหรือคาดหวังอะไรกับความรักก็ดันผูกมัดความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน ที่นี่มันก็ยิ่งผูกมัดความสัมพันธ์กับคู่รักไว่แน่นขึ้น" ชลิดาภรณ์กล่าว

อะไรคือจินตนาการของความรัก
"สมมติว่า เราไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งแล้วเกิดความรู้สึกตกหลุมรัก อยากเข้าไปคุยด้วย แต่เราไม่รู้จักเขามาก่อน แล้วเราไปตกหลุมรักเขาเพราะไปเห็นแง่มุมอะไรบางอย่างในตัวเขา แล้วเราก็ไปเพ่งอยู่ตรงจุดที่เราสนใจในตัวเขาเพียงจุดเดียว ไม่ได้ดูที่ภาพรวมทั้งหมดของตัวเขา แล้วการที่เราสนใจเพียงจุดบางจุด เราก็เลยสร้างจินตนการอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเขาขึ้นมา นั่นแหละคือสิ่งที่เราคาดหวังจากความรัก มันจะสะท้อนออกมาเป็นตัวตนของเขาที่เกิดจากจินตนาการของเรา ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ตัวเขาเป็น ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนชอบผู้หญิงผมสั้น แล้วก็เลยจินตนาการไปว่า ผู้หญิงคนนั้นจะต้องเป็นคนกระฉับกระเฉง ทันต่อโลก มีมาดนักธุรกิจ แต่พอชวนกันไปกินข้าว รู้จักกันมากขึ้น คบไปคบมา ไปทำความรู้จักซึ่งกันและกัน เราก็เห็นว่า เขานั้นเป็นคนที่มีอารมณ์ศิลปิน เดินช้าๆ เรียบง่าย แล้วเราก็รู้สึกผิดหวังในตัวเขา ไปโทษเขาว่า เธอน่ะเปลี่ยนไป คุ้นๆไหมวลีแบบนี้  เขาน่ะไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะเขาก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขาเป็น ตัวตนของเขาต่างหากที่ไม่สอดคล้องกับจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมา  ความรักมันจึงค่อยๆเต็มร้อยแล้วก็ลดลง ซึ่งถ้าแนวโน้มความรักมาในรูปทางแบบนี้มันจึงมีแต่จะคลายลง"

พูดถึงการแต่งงานกับข้อผูกมัด ชลิดาภรณ์ตั้งข้อสังเกตการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก และการแต่งงานไว้ว่า

"การแต่งงานคือความสมบูรณ์แบบของความรักตามจินตนาการ เป็นความสมบูรณ์สุขของชีวิตที่ทุกคนใฝ่ฝัน ดังนั้นเราไปผูกมัดความรักด้วยการแต่งงาน เหตุผลการแต่งงานของคนโดยเฉพาะชนชั้นกลางส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความรักเพียงอย่างเดียว แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ความรักมันอายุสั้น โดยเฉพาะช่วงความสุขจากความรักมันมีอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งคือ ช่วงที่หลงใหลหรือช่วงที่กำลังจีบกันนั่นเอง ซึ่งที่เราหลงใหลกับความรักเพราะจินตนาการของเราที่มีต่อคนที่เรารัก ไม่ได้เกิดจากการที่รักเพราะรู้จักกันหรือเป็นเพื่อนคู่คิดกัน"

แต่การแต่งงานก็เป็นจุดหมายหนึ่งของคู่รักมิใช่หรือ
"รู้ไหมว่าหลังจากแต่งงานสิ่งที่ตามมาคือปัญหา ประเด็นคือคู่รักแต่ละคู่จะมองออกกันหรือไม่ว่า ชีวิตหลังแต่งงานคือการเจอปัญหาร่วมกันเพราะการแต่งงานมันไม่ได้มีข้อผูกมัดในเรื่องของความรักเพียงอย่างเดียวแต่มันคือการดำเนินชีวิตร่วมกัน เป็นหุ้นส่วนกันในทางกฎหมาย ดังนั้นถ้าคู่รักไหนแต่งงานกันด้วยความรักเพียงอย่างเดียว แล้วไม่หาความรู้สึกหรือเหตุผลบางอย่างมาแทนที่ความรักที่มันมีแต่จะค่อยๆคลายตัวลงไป ประเด็นเรื่องการหย่าร้างก็อาจจะตามมาได้"

แล้วคู่รักที่ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรละ
"(หัวเราะ) เรามีจินตนาการเกี่ยวกับความรักที่สมบูรณ์ได้ด้วยการแต่งงาน แต่เอาเข้าจริงเราเองกลับไม่เคยไปถามคนเฒ่าคนแก่เลยว่า ที่อยู่กินกันได้นั้นมันมีปัจจัยอะไรอื่นใดอีกบ้าง แต่เนื่องจากเรามีจินตนาการเกี่ยวการแต่งงานว่าต้องเกิดจากความรัก เราจึงทึกทักเอาเองว่าที่เขาถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรเพราะความรักเพียวอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ แน่นอนว่าการแต่งงานมันแยกไม่ออกกับความต้องการมีเพศสัมพันธ์ แต่มันก็มีปัจจัยอื่นๆด้วยเช่น การสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติเพื่อเป็นพันธมิตรทางการเมืองหรือทางธุรกิจ การแต่งงานกันเองในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ไว้ นี่คือเหตุผลการแต่งงานของคนชนชั้นสูง อย่างสังคมเกษตรก็มีเหตุผลในการแต่งงานเพราะต้องการแรงงานในการผลิต ทำนาทำสวน เพราะฉะนั้นการแต่งงานแบบที่กล่าวมาความสัมพันธ์จึงแน่นหนา มันมีผลประโยชน์ประกอบความสัมพันธ์ด้วย ไม่โรแมนติกอย่างเดียวต้องมีเหตุผลอื่นๆคอยทดแทนไปด้วย ความสัมพันธ์จึงจะอยู่ยาว"

ย้อนกลับไปถามถึงประเด็นเรื่องผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยถุงยางอนามัยยี่ห้อหนึ่ง อาจารย์มองสังคมไทยกับถุงยางอนามัยอย่างไร

"สังคมไทยมีความเชื่อที่ทำให้ผู้ชายไม่ใช่ถุงยางอนามัยอยู่สองอย่างคือ 1.การใช้ถุงยางอนามัยทำให้รสชาติของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง 2. การไม่ใช่ถุงยางอนามัยกับสามี-ภรรยา แฟนหรือคนที่เรารู้ที่มาที่ไป ในส่วนของข้อแรกอาจจะมาจากจินตนาการด้วยก็ได้ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงว่า การใช้ถุงยางอนามัยทำให้รสชาติของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อาจจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนหรือชนิดของถุงยางอนามัยประกอบกัน ว่ามันส่งผลต่อความรู้สึกถึงรสชาติของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง ส่วนในข้อสองส่งผลมาจากกรอบความคิดรักเดียวใจเดียวเลย เนื่องจากเราคิดว่าเมื่อเรารักเขาคนเดียวเขาก็รักเราคนเดียว การมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องระหว่างเราสองคน แต่ถามกันจริงๆว่า เราจะบอกคู่รักเราตรงๆหรือไม่ในขณะที่เรากำลังมีเพศสัมพันธ์กันว่า เมื่อคืนฉันไปนอนกับโสเภณี ไปนอนกับผู้ชายอื่นมา"

ชลิดาภรณ์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาของการไม่ใช้หรือขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากในสังคมไทยที่พยายามทำให้การสอนวิธีการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องลามก ไม่ควรทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งมันส่งผลหลายอย่าง เช่น ผู้ชายไทยส่วนใหญ่ใช้ถุงยางอนามัยผิดไซส์เพราะไม่รู้ว่าถุงยางอนามัยก็มีขนาด ข้อที่สองคือ คนใส่ถุงยางอนามัยไม่เป็น เรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะผู้หญิง ถ้าเกิดมีอุบัติเหตุหรือเราเกิดมีความรู้สึกทางเพศขึ้นมา ผู้หญิงคนไหนคำนึงถึงถุงยางอนามัยมันจะช่วยตัดปัญหาที่จะตามมาได้เยอะมาก เช่น ท้องไม่พร้อม โรคภัยต่างๆ แต่ปัญหาคือ "สังคมไปสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้หญิง ว่าผู้หญิงที่ดีต้องไม่รู้จักหรือต้องไร้เดียงสาในเรื่องเพศ ซึ่งภาพลักษณ์นี้มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมหรือโรคภัยอื่นๆ ดังนั้นสถาบันการศึกษาต้องจริงจังในเรื่องการสอนให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงใช้ถุงยางอนามัยให้เป็น"

สังคมก็จะบอกว่า ชี้โพรงให้กระรอก
"กระรอกมันไม่ได้โง่ มันเห็นโพรงเองอยู่แล้วไม่ต้องไปชี้ มันเป็นสัญชาตญาณของกระรอกที่ต้องทำโพรง เหมือนกับมนุษย์นั่นแหละเพศสัมพันธ์ก็เป็นสัญชาตญาณของสัตว์โลก ในเมื่อมันเป็นแบบนั้นก็ควรจะสอนว่า ควรจะมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัยจากปัญหาที่จะตามมาไม่ดีกว่าหรือ มีมนุษย์คนไหนบ้างที่มีเพศสัมพันธ์เพราะเกิดจากการสอนในโรงเรียน เพศสัมพันธ์แบบเรียนรู้ด้วยตัวเองมันจึงมีปัญหาตามมา กว่าจะแก้ปัญหาต่างๆได้ต้องผ่านประสบการณ์ทั้งที่ดีและไม่ดีมามากแค่ไหน ดังนั้นจะไม่ดีกว่าหรือถ้าให้มีการสอนเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา การใช้ถุงยางอนามัย วิธีคุมกำเนิด จะได้ไม่ต้องให้พวกเขาไปลองด้วยตัวเองแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องประสบพบเจอแต่เรื่องแย่บ้างดีบ้าง บางคนเจอแต่เรื่องแย่ๆเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์เลยพาลไม่ศรัทธาในความรักไปเลย บางทีกระทรวงศึกษาธิการถ้าเลิกคิดเรื่องโพรงเรื่องกระรอกบ้างอาจจะทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้นก็ได้ "
---
ตอนแรกคิดว่าจะสามารถจบซีรี่ส์ "เรื่องเพศวิถีกับชลิดาภรณ์" ลงได้ในสองตอน

แต่ปรากฎว่า มีประเด็นบางอย่างที่ทิ้งไม่ได้ ต้องกลับมาเล่าใหม่

โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านตอนที่สองนี้จบลง

เมื่ออาจารย์ชลิดาภรณ์พูดถึงแนวคิดเรื่อง "จินตนาการของชนชั้นกลาง"

น่าสนใจเป็นยิ่งนักเพราะนอกจากมันจะเกี่ยวข้องกับความรักโดยตรงแล้ว

มันยังสะท้อนไปถึงวัฒนธรรมความเป็นหญิง-ชาย ในกรอบความคิดกระแสหลักเรื่องเพศวิถี

เช่น ในพฤติกรรมเดียวกัน สังคมกลับให้คุณค่ากับชายหญิงต่างกัน

เช่น ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเยอะๆ แสดงว่า หล่อ เท่ ลีลาดี ดูมี "ความเป็นชาย" แต่ถ้าผู้หญิงถ้ามีพฤติกรรมเดียวกันกลับถูกมองว่า "ส่ำสอนทางเพศ"

เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะไม่เคยมีสื่อไหนกล้านำเสนอหรือพูดคุยกันในที่สาธารณะ

รวมถึงประเด็นสำคัญสุดคือ ผลสำรวจเรื่องพฤติกรรมชาย-หญิงไทยนอกใจติด 1 ใน 3 ของโลก ส่งผลต่อแนวคิดรักเดียวใจเดียวอย่างไร

และทำไมจึงเกิดปฎิกิริยา "ไม่เชื่อ รับไม่ได้ ผิดจากสิ่งที่จินตนาการไว้"

หรือความเป็นจริงแล้ว กรอบแนวคิดต่างๆที่สังคมเชื่อว่าดีนั้นกลับย้อนแย้งกับพฤติกรรมมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

ย้อนแย้งกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทว่ามันก็ยังสามารถทำงานได้ดี

แล้วผลสำรวจนี้มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างไร

มติชนออนไลน์  29 ธันวาคม พ.ศ. 2554