ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่าประสบการณ์จูงใจคนได้ดีกว่าข้อเท็จจริง เมื่อถกเถียงกันเรื่องการเมือง  (อ่าน 309 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
ปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยแทบจะไม่มีกรณีใดเลยที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ แม้จะหยิบยกเอาข้อเท็จจริงมาถกกันซึ่งหน้าก็ตาม ทำให้เกิดคำถามว่าสิ่งใดหรือการใช้เหตุผลแบบไหนกันแน่ ที่จะสร้างความความเข้าอกเข้าใจให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันได้

ผลวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (PNAS) ชี้ว่า ผู้คนจะเคารพความเห็นทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามมากกว่า หากเป็นการโต้แย้งด้วยเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรง ส่วนการถกเถียงด้วยข้อเท็จจริงนั้นไม่สู้จะได้ผลมากนัก

ดร. เคิร์ต เกรย์ นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อความเข้าใจทางศีลธรรม ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ บอกว่า "สำหรับการถกเถียงเรื่องอะไรถูกอะไรผิดทางการเมืองแล้ว ประสบการณ์ตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์เรื่องที่ถูกกดขี่ข่มเหง ฟังดูเป็นเรื่องจริงและเชื่อถือได้กับฝ่ายตรงข้ามมากเสียยิ่งกว่าการอ้างข้อเท็จจริง"

ก่อนหน้านี้ ดร. เกรย์และคณะทำการทดลองที่แตกต่างกันถึง 15 ครั้ง เพื่อค้นหาว่าการถกเถียงแบบไหนจึงจะเอาชนะใจฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองได้ ซึ่งพวกเขาพบว่าแม้แทบจะไม่มีโอกาสเปลี่ยนใจอีกฝ่ายได้เลยก็ตาม แต่มีบางสิ่งที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรับฟังและเคารพความคิดเห็นของตนมากขึ้นได้

มีการทดลองให้อาสาสมัครเกือบ 860 คน จินตนาการว่ากำลังถกเถียงกับผู้มีความเห็นทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับตน 2 คน ซึ่งคนหนึ่งโต้แย้งโดยใช้ข้อเท็จจริง แต่อีกคนใช้ประสบการณ์ส่วนบุคคลมาโต้เถียงด้วย ซึ่งผลการทดลองปรากฎว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่ให้คะแนนชื่นชอบคนที่โต้แย้งโดยใช้ข้อเท็จจริงมากกว่า

แต่ทว่าเมื่อทีมวิจัยติดตามทำการทดลองแบบใหม่ ๆ กับอาสาสมัครกลุ่มนี้ซ้ำอีก พบว่าทัศนคติที่แท้จริงของพวกเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยในการทดลองให้ร่วมฟังการปราศรัยของนักรณรงค์ต่อต้านอาวุธปืน รวมทั้งการทดลองให้อ่านบทความหนังสือพิมพ์และชมบทสัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ ความเห็นของอาสาสมัครที่แสดงออกมาหลังจากนั้นส่วนใหญ่ชี้ว่า ฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้ามกับตนแต่ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว ดูจะมีเหตุผลและน่าเคารพยกย่องมากกว่าคนที่พูดถึงแต่ข้อเท็จจริง

ทีมผู้วิจัยยังได้สำรวจความคิดเห็นจำนวน 300,978 ข้อความ จากคลิปวิดีโอประเด็นการทำแท้งเสรี 194 คลิปบนเว็บไซต์ยูทิวบ์ด้วย ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่จะเคารพและเห็นอกเห็นใจผู้ที่ถกเถียงด้วยประสบการณ์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับอันตรายจากเหตุการณ์นั้น

"ในการทะเลาะถกเถียงเรื่องการเมือง แม้จะหาจุดร่วมระหว่างกันแทบไม่ได้เลย แต่เรายังสามารถเคารพอีกฝ่ายได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สามารถรับฟังพวกเขาและเข้าอกเข้าใจที่มาของความเห็นต่างนั้นได้" ดร. เกรย์กล่าวทิ้งท้าย

29 มกราคม 2021
https://www.bbc.com/thai/international-55853936