ผู้เขียน หัวข้อ: ปลูกถ่ายอวัยวะอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย!!  (อ่าน 592 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
       
       กลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาทันที กับกรณีสื่อกัมพูชารายงานข่าวจับกุมนายหน้าขายไตได้ โดยมีการระบุซัดทอดมาว่าส่งมาเปลี่ยนอวัยวะ หรือปลูกถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย โดยส่งตรงไปยัง รพ. เอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งล่าสุด รพ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งมีชื่อปรากฏตามข่าว ก็ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า รายชื่อผู้บริจาคไตตามข่าวที่ปรากฏนั้น ไม่มีในเวชระเบียนของโรงพยาบาลแต่อย่างใด
   
       ขณะที่แพทยสภาและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็เตรียมที่จะตรวจสอบเรื่องราวนี้ให้ชัดเจนและโปร่งใส โดยจะตรวจสอบ รพ. เอกชนแห่งนี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจริงหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนถ่าย ตัวอวัยวะนั้นมีแหล่งที่มาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบแพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายด้วย
       
       คำถามคือ การปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย ไม่คาบเกี่ยวกับกรณีการซื้อขายอวัยวะให้แก่กัน เพื่อนำอวัยวะจากผู้ขายนั้นมาต่อชีวิตให้กับผู้ที่เฝ้ารออย่างมีความหวัง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการตลาดมืดค้าอวัยวะเพื่อนำมาใช้ในกรณีเช่นนี้มันมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ และผู้ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นอันดับต้นๆ เห็นจะไม่พ้นแพทย์ผู้ทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะว่า มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะอย่างที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวไว้ คือ ผู้บริจาคไตและผู้รับบริจาค ต้องผ่านกระบวนการตรวจเลือด ตรวจเนื้อเยื่ออวัยวะ เพื่อหาความเข้ากันได้ของอวัยวะ และต้องทำการตรวจในโรงพยาบาลที่จะทำการเปลี่ยนไตให้ เรียกได้ว่าแพทย์เป็นบุคคลหนึ่งที่อนู่ในทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
       
       เพราะหากอวัยวะเข้ากันไม่ได้กับร่างกายของผู้รับบริจาค สุดท้ายก็จะเป็นอันตรายต่อตัวผู้บริจาคเอง!!
       
       เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เรื่องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของแพทย์นั้นถูกต้องทั้งในแง่กฎหมายและจริยธรรม เมื่อมาดูข้อบังคับของแพทยสภาแล้วก็พบว่ามีบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เช่นกัน โดยข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 หมวด 10 การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ระบุไว้ว่า
       
       ข้อ 52 การปลูกถ่ายอวัยวะที่ผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคอวัยวะขณะที่ยังมีชีวิต ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ต่อไปนี้
       
       1. ผู้บริจาคต้องเป็นญาติโดยสายเลือด หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกับผู้รับอวัยวะมาแล้วอย่างน้อยสามปีเท่านั้น ยกเว้นกรณีเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่เป็นผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในเกณฑ์สมองตายตามประกาศแพทยสภา
       
       2. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำการตรวจสอบ และรวบรวมหลักฐานที่แสดงว่า ผู้บริจาคเป็นญาติโดยสายเลือด หรือเป็นคู่สมรสกับผู้รับอวัยวะ โดยต้องเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ในรายงานผู้ป่วยของผู้รับอวัยวะ
       
       3. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ ต้องอธิบายให้ผู้บริจาคเข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่างๆ แก่ผู้บริจาคทั้งจากการผ่าตัด หรือหลังการผ่าตัดอวัยวะที่บริจาคออกแล้วเมื่อผู้บริจาคเข้าใจและเต็มใจที่จะบริจาคแล้ว จึงลงนามแสดงความยินยอมบริจาคอวัยวะไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (Informed consent form)
       
       4. ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อแสดงว่าไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเป็นค่าอวัยวะ
       
       5. ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพสมบูรณ์เหมาะสมที่จะบริจาคอวัยวะได้

ปลูกถ่ายอวัยวะอย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย!!
   
       ข้อ 53 การปลูกถ่ายอวัยวะที่ใช้อวัยวะจากผู้ที่สมองตายต้องดำเนินการตามเกณฑ์ต่อไปนี้
       
       53.1 ผู้ที่สมองตายตามเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทยสภาเท่านั้น ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะนำเอาอวัยวะไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่สมองตายดังกล่าวต้องไม่มีภาวะดังต่อไปนี้ มะเร็งทุกชนิด ยกเว้นมะเร็งสมองชนิดปฐมภูมิ, ติดเชื้อทั่วไป และโลหิตเป็นพิษ, การทดสอบเอชไอวี (HIV) ให้ผลบวก, ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองอักเสบเฉียบพลัน หรือไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน หรือปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอน, ผู้ป่วยที่เป็นโรควัวบ้า (Creutzfuldt Jacob disease) หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน
       
       53.2 การขอบริจาคอวัยวะจากญาติผู้เสียชีวิตตามเกณฑ์สมองตายของแพทยสภาต้องดำเนินการโดยคณะแพทย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากคณะแพทย์เท่านั้น สำหรับการริเริ่มขอบริจาคคณะแพทย์ หรือพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยที่เสียชีวิตควรเป็นผู้ริเริ่ม
       
       53.3 ญาติผู้ตายที่จะบริจาคอวัยวะต้องเป็นทายาท หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตาย และจะเป็นผู้ลงนามบริจาคอวัยวะเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งมีพยานลงนามรับรองไม่น้อยกว่าสองคน
       
       53.4 ญาติผู้ตายที่บริจาคต้องทำคำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่รับสิ่งตอบแทนเป็นค่าอวัยวะโดยเด็ดขาด
       
       53.5 ในกรณีที่ผู้ตายได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และมีบัตรประจำตัวผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะดังกล่าว ถ้าไม่สามารถติดตามหาญาติผู้ตายในข้อ 53.3 ได้ ให้ถือว่าเอกสารแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะที่ผู้บริจาคอวัยวะให้ไว้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เป็นเอกสารที่ใช้แทนเอกสารในข้อ 53.3
       
       53.6 ก่อนที่จะเอาอวัยวะออกจากผู้ที่สมองตาย ซึ่งต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายต้องแจ้งให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทราบก่อน และศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดอวัยวะจากศพต้องบันทึกการนำอวัยวะออกไปจากศพนั้นไว้ในเวชระเบียนของผู้ตายด้วย
       
       ข้อ 54 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ ต้องเป็นศัลยแพทย์ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา
       
       ข้อ 55 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะต้องกระทำการปลูกถ่ายอวัยวะในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งเป็นสมาชิกของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
       
       เห็นได้ว่าตามข้อบังคับนี้มีความครอบคลุมชัดเจน โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติในเรื่องของการบริจาคที่ต้องไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคหรือญาติ เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการซื้อขายอวัยวะ แต่กับกรณีที่เกิดขึ้นตามข่าว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้รับบริจาคติดต่อกับนายหน้าขายไตเอง โดยที่แพทย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเพียงเหยื่อของธุรกิจค้าอวัยวะ และเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยบนกำไรของคนบาป ซึ่งแพทยสภาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้ความกระจ่างแก่เรื่องนี้อย่างชัดเจน
       
       อ้างอิงข้อบังคับแพทยสภาจากเว็บไซต์แพทยสภา http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กรกฎาคม 2557