ผู้เขียน หัวข้อ: "ลูกควายโคลนนิ่ง" ตัวแรกของเมืองไทย ความสำเร็จโดยสัตวแพทย์ จุฬาฯ  (อ่าน 1292 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเป็นครั้งที่ 2 ของโลก ในการโคลนนิ่งควาย ได้ลูกควายเพศผู้ น้ำหนัก 40 กิโลกรัม
       
       ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า การโคลนนิ่งควายเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยนี้ เป็นการนำเซลล์ต้นแบบจากใบหูของ “พญาควาย” จาก จ.พิษณุโลก อายุประมาณ 5 ปี มาเลี้ยงเป็นเซลล์ต้นแบบในหลอดทดลอง และนำเซลล์ดังกล่าวมาฝากในเซลล์ไข่อ่อนควายที่นำเอาสารพันธุกรรมออก โดยเชื่อมติดเซลล์ต้นแบบกับเซลล์ไข่ด้วยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หลังจากนั้นจึงเลี้ยงโคลนตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซีส นำตัวอ่อนระยะบลาสโตซีส จำนวน 2ตัวอ่อนไปย้ายฝากในมดลูกของแม่ควายปลัก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553เมื่อตรวจระดับฮอร์โมนและล้วงตรวจจึงพบว่าตั้งท้อง รวมระยะเวลาตั้งท้อง 326 วัน
       
       "ลูกควายจากการโคลนนิ่งมีลักษณะเหมือนพ่อควาย ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ “หน้าดอก หางแบน ข้อเท้าค่าง ปากคาบแก้ว เท้าขุนนาง” กล่าวคือ บริเวณหน้าผากช่วงระหว่างเขาจะปรากฏเป็นโพธิ์สีขาวหรือ “หน้าดอก” ส่วนหางจะแบบคลี่คล้ายพัดและมีสีขาว ข้อเท้าทั้งสี่ตั้งแต่ใต้เข่าลงไปจะเป็นสีขาวเหมือนกับใส่ถุงน่อง ส่วนปากจะมีสีขาวนับตั้งแต่เหนือจมูกลงไป ปลายลิ้นมีปื้นสีดำ สำหรับกีบเท้าทั้ง 4ขาจะยาวออกมาอย่างชัดเจน ควายที่มีลักษณะเช่นนี้พบน้อยมากจนแทบสูญพันธุ์"
       
       สำหรับความสำเร็จครั้งสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ไทยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการโคลนนิ่งควายในครั้งนี้จะนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุ์ควายที่ดีของประเทศไทยต่อไป ทีมงานวิจัยจากศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประกอบด้วย นายเกรียงศักดิ์ ทาศรีภู น.ส.วรรณวิภา สุทธิไกร น.ส.ราตรี จินตนา น.ส.กิติยา ศรีศักดิ์วัฒนะ โดยมี รศ.สพญ.ดร.อนงค์ บิณฑวิหค เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ เป็นที่ปรึกษาและผู้ริเริ่มโครงการ “โคลนนิ่งควายปลัก” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2541

ASTVผู้จัดการออนไลน์    18 พฤศจิกายน 2554