ผู้เขียน หัวข้อ: ดันสร้างร.พ.เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ภูเก็ตต่อ พร้อมหาตลาดใหม่ให้พ่อค้า  (อ่าน 906 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
เดินหน้าผลักดันโครงการสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี ต.ฉลอง ต่อ พร้อมแก้ปัญหาพ่อค้า-แม่ค้าตลาดเกษตรห้าแยกได้รับผลกระทบ ให้เทศบาลจัดหาสถานที่สร้างตลาดใหม่รองรับ

       เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (17 ต.ค.) ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีพ่อค้าแม่ค่าตลาดเกษตรห้าแยกฉลอง ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขอให้พิจารณาทบทวนการใช้พื้นที่ตลาดเกษตรก่อสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี ต.ฉลอง โดยผู้ร้องอ้างว่า พ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว
       
       โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลฉลอง นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต ปลัดอำเภอเมืองภูเก็ต ผู้แทนจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นายสมใจ อารีรอบ ทายาทเจ้าของที่ดินที่บริจาคให้สร้างสถานีอนามัย และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลฉลองเข้าร่วมประชุม อย่างไรก้ตาม ในการประชุมครั้งนี้ไม่มีผู้แทนจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าตลาดเกษตรห้าแยกเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด
       
       สำหรับการประชุมได้มีการพิจารณาถึงปัญหาการร้องเรียนของพ่อค้าแม่ค้า และการเดินหน้าในเรื่องของการสร้างโรงพยาบาล ซึ่งในที่ประชุมมีมติที่จะให้โครงการนี้เดินหน้าต่อ ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ และการหาสถานที่สำหรับการสร้างตลาดแห่งใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

นายสำราญ จินดาพล นากยเทศมนตรีตำบลฉลอง
       โดยนายสำราญ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คือ เรื่องของการเดินหน้าในการสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต บนเนื้อ 10 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ซึ่งบริจาคโดยนายกาว อารีรอบ ซึ่งมีเจตนาในการบริจาคที่ดินให้สร้างสถานีอนามัยในสมัยปี 2483 และมอบหมายให้ทางสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตชี้แจงทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเกษตรห้าแยก ในการผลักดันโครงการสร้างโรงพยาบาล ขณะที่ในส่วนเทศบาลตำบลฉลองประสานในเรื่องของการจัดหาตลาดให้แก่พ่อค้าแม่ค้าเพื่อย้ายตลาดไปรองรับพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดเกษตรห้าแยก นอกจากนั้น ยังขอให้มีการเร่งผลักดันขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลในปี 2557 ขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตนั้น ให้รายงานผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป
       
       นายสำราญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ ต.ฉลองนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา และลดการเสียชีวิตของประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ต.ฉลอง ต.กะรน ต.ราไวย์ และ ต.วิชิต บางส่วน เพราะการส่งผู้ป่วย หรือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุต่างๆ จากพื้นที่ดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจะต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ก็จะลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน และนักท่องเที่ยวไปได้อย่างแน่นอน ซึ่งการสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี ต.ฉลอง จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 340 ล้านบาท
       
       ส่วนปัญหาความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้านั้น ทางเทศบาลก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดคุยกันไปแล้วบางส่วน แต่วันนี้ทางผู้ร้องเรียนไม่ได้เข้าร่วมประชุม ในการแก้ไขปัญหานั้นได้มองสถานที่ในการสร้างตลาดแห่งใหม่ไว้แล้ว โดยคาดว่าน่าจะอยู่ที่บริเวณด้านหน้าหมู่บ้านคันทรีโฮม ม.4 ต.ฉลอง ซึ่งทางเทศบาลจะเป็นผู้เช่าที่บริเวณนั้นในการดำเนินการเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาจำหน่ายสินค้า

นายสมใจ อารีรอบ ทายาทเจ้าของที่ดินที่บริจาคสร้างโรงพยาบาล
       ด้านนายสมใจ อารีรอบ ทายาทเจ้าของที่ดินที่บริจาคให้สร้างสถานีอนามัย และที่ดินที่จะสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินวมินทราชินี ต.ฉลอง กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกาว อารีรอบ และครอบครัวอารีรอบได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างสถานที่ราชการหลายแห่งแล้ว ซึ่งในส่วนของที่ดินบริเวณที่จะมีการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น นายกาว อารีรอบ ได้บริจาคเมื่อปี 2483 จำนวน 10 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท โดยระบุวัตถุประสงค์ในการบริจาคว่าให้สร้างสถานีอนามัยฉลอง เพื่อดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย แต่เมื่อมีการพัฒนา มีการเจริญเติบโตก็เห็นด้วยที่จะมีการสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าว เพราะยังตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
       
       ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลที่จะมีการก่อสร้างนั้น จะมีการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารหลัก ในวงเงิน 186 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารอำนวยการขนาด 120 เตียง 1 อาคาร วงเงิน 102 ล้านบาท อาคารผู้ป่วย 30 เตียง 1 อาคาร วงเงิน 45 ล้านบาท อาคารบริการ 2 ชั้น 1 อาคาร วงเงิน 12 ล้านบาท อาคารที่พักแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ 6 ชั้น 1 อาคาร วงเงิน 27 ล้านบาท ระยะที่ 2 ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 61 ล้านบาท และระยะที่ 3 ก่อสร้างอาคารบ้านพัก และระบบสนับสนุน วงเงิน 43 ล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตาม ในส่วนของครุภัณฑ์ที่จะนำมาใช้นั้นจะต้องใช้วงเงินประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้จะเป็นเงินจากการบริจาค และเงินสนับสนุนต่างๆ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ตุลาคม 2555