ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25-30 มิ.ย.2555  (อ่าน 972 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25-30 มิ.ย.2555
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2012, 18:19:24 »
1. ครม. ถอย ยอมนำเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเข้าสภา ด้านนาซาประกาศถอนตัว-ไม่สัญญา ปีหน้ามาอีก!

       ความคืบหน้ากรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซา) ขอเข้าใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรีในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ โดยอ้างว่าเพื่อดำเนินกิจกรรมสำรวจเมฆสำหรับใช้ในการพยากรณ์อากาศ แต่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะสหรัฐฯ อาจมีเป้าหมายทางทหารเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ดังนั้นการจะอนุญาตให้นาซาเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขณะที่แกนนำในรัฐบาลหลายคน อ้างว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แค่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติก็เพียงพอ โดยเตรียมดันเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 26 มิ.ย. เนื่องจากทางนาซาประกาศว่า หากรัฐบาลไทยให้คำตอบไม่ทันวันที่ 26 มิ.ย. นาซาคงต้องถอนตัว เพราะไม่สามารถขนอุปกรณ์มาเตรียมพร้อมได้ทัน
       
       ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะเปิดประชุมในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 พร้อมมอบหมายให้นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศ อธิบายให้ทางสหรัฐฯ เข้าใจ
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 190 แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงจากหน่วยงานที่ตรวจสอบและฝ่ายค้าน จึงควรใช้กลไกของรัฐสภาในการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การที่รัฐบาลจะนำเรื่องนาซาเข้าที่ประชุมรัฐสภาตามมาตรา 179 ถือว่าไม่เกี่ยวอะไรกับมาตรา 190 เพราะแม้รัฐบาลจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 179 แต่ถ้าต่อไปมีการไปทำความตกลงก็ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อยู่ดี
       
       ทั้งนี้ หลัง ครม.มีมติให้นำเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเข้าที่ประชุมรัฐสภาในเดือน ส.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้โทรศัพท์รายงานผลให้นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยทราบ และให้ช่วยแจ้งนาซาฝ่ายไทยด้วย พร้อมหวังว่านาซาจะเข้าใจและกลับมาสำรวจวิจัยตามโครงการดังกล่าวที่ประเทศไทยในปีหน้า นายสุรพงษ์ ยังโยนความผิดให้พรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า “ถ้าปีนี้น้ำท่วมหนัก ฝ่ายค้านต้องเป็นผู้รับผิดชอบที่นำเรื่องนาซามาเป็นประเด็นทางการเมือง จนทำให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาส”
       
       ด้านนายวอลเตอร์ บราโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ว่า นาซาไม่สามารถรอการตัดสินใจของฝ่ายไทยได้ เนื่องจากการศึกษาสภาพอากาศต้องทำในเดือน ส.ค.และ ก.ย.เท่านั้น ส่วนจะกลับมาดำเนินโครงการนี้อีกครั้งในปีหน้าหรือไม่นั้น ยังเร็วเกินไปที่จะพูด นายวอลเตอร์ ยังบอกด้วยว่า “เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โอกาสสำคัญของนักวิทยาศาสตร์จากทั้งนาซาและฝ่ายไทยจะได้ร่วมงานกัน เพื่อจัดเก็บข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ต้องสูญเสียไป เพราะโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญต่อทั้งไทย สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย”
       
       หลังนาซายกเลิกใช้สนามบินอู่ตะเภา แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้ประกาศจะฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอ้างว่า พรรคประชาธิปัตย์พยายามขัดขวางไม่ให้นาซาเข้าใช้สนามบินอู่ตะเภา พร้อมชี้ว่า โครงการร่วมมือระหว่างนาซากับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) หรือจิสด้า มีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แล้ว แต่กลับไม่มีการนำเรื่องเข้า ครม. ถือว่านายอภิสิทธิ์และคุณหญิงกัลยาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้นตนจะยื่นฟ้องในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง
       
       ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาท้าให้นายพร้อมพงศ์รีบแจ้งความดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และคุณหญิงกัลยา พรรคจะได้แจ้งความกลับนายพร้อมพงศ์ ฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท ถือเป็นการแลกกันคนละหมัด
       
       ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้ สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรทั่วไป ไม่มีการพูดถึงการตรวจสภาพอากาศโดยการใช้สนามบินอู่ตะเภาแต่อย่างใด ดังนั้นความล้มเหลวที่เกิดขึ้นต้องโทษรัฐบาลนี้ ไม่ใช่มาโยนความผิดให้ฝ่ายค้าน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นาซาจะยกเลิกการขอใช้สนามบินอู่ตะเภาแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันจะนำเรื่องนาซาเข้าที่ประชุมรัฐสภาในเดือน ส.ค. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าการอนุมัติให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภานั้น ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาหรือแค่ ครม.เห็นชอบก็พอ จะได้นำไปเป็นข้อมูลหากนาซามาขอใช้สนามบินอีก
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงความหวังเช่นกันว่าปีหน้านาซาจะมาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาอีก พร้อมชี้ การที่รัฐบาลไม่สามารถให้นาซาใช้สนามบินในปีนี้ได้ เพราะคนในชาติบางส่วนพยายามไม่เข้าใจ “ผมเชื่อว่าทุกคนหวังดีกับประเทศชาติ วันที่ประชุมหารือกัน นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพก็อยู่ด้วย ได้ข้อสรุปว่าถ้าดีก็นำไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือการนำเข้า ครม.แล้วทำข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคนในชาติบางส่วนพยายามไม่เข้าใจ จึงทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ลำบาก...”
       
       2. “จตุพร” บุกศาล รธน.ยื่นหนังสือจี้ชี้แจง พร้อมขู่ หากถูกถอนประกัน จะอดข้าวประท้วง ด้าน “เสื้อแดง” ฮึ่ม ชุมนุมใหญ่!

       ความคืบหน้ากรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ไม่พอใจที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้เพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุพร หลังขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.โดยกล่าวหาโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจรับคำร้องเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 พร้อมกันนี้นายจตุพร ยังประกาศจะแจ้งความเอาผิดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยื่นถอนประกันตนด้วย ขณะที่มีข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะออกเอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าวในวันที่ 25 มิ.ย.นั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(25 มิ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นถอนประกันนายจตุพรแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ปรากฏอยู่ในคำร้องแล้ว และศาลอาญาได้มีคำสั่งนัดสอบถามจำเลยในวันที่ 23 ก.ค. เมื่อคำร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงของดให้ความเห็นกรณีดังกล่าว เพื่อไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล และให้การพิจารณาเป็นไปตามกฎหมาย
       
       ด้านนายจตุพร ประกาศ จะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 มิ.ย. เพื่อสอบถามเรื่องที่ยื่นถอนประกันตน รวมทั้งกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนได้แจ้งความดำเนินคดีตนข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2553 โดยที่ตนไม่รู้มาก่อน เมื่อตุลาการเป็นคู่ฟ้องกับตน จะทำให้การยื่นถอนประกันตนไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ดักคอนายจตุพรว่า จะไปศาลรัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ควรใช้วิธีเอามวลชนไปกดดันข่มขู่ศาล พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีความพยายามจะลากศาลมาเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลและกลุ่ม นปช.เพื่อปูทางนำไปสู่การลดอำนาจตุลาการ เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “หากเราให้ศาล ซึ่งเป็นองค์กรอยู่เหนือการเมือง ถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้ง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมขาดที่พึ่ง และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้”
       
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(26 มิ.ย.) นายจตุพรได้เดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคนเสื้อแดงนับร้อยคน จากนั้นได้ยื่นหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงการยื่นถอนประกันตน
       
       นายจตุพร เผยด้วยว่า ได้ขอให้ศาลตอบข้อสงสัยต่อไปนี้ 1.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใดในการยื่นคำร้องถอนประกันตน 2.มีข้อความใดของตนที่เป็นการข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยแจ้งความดำเนินคดีตน โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน นายจตุพร ยังประกาศด้วยว่า หากผมถูกจองจำโดยไม่ได้กระทำผิด ผมจะเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อที่จะมาขึ้นรถของกรมราชทัณฑ์ที่ศาลอาญา และจะอดข้าวตั้งแต่วันแรกที่ถูกจองจำ ซึ่งมีทางเดียวที่จะเอาผมออกจากเรือนจำได้ คือร่างที่ไร้วิญญาณ ผมยอมยกอิสรภาพ แต่ไม่ยอมที่จะยกความเป็นมนุษย์ให้”
       
       ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ออกมาชี้แจงหรือตอบโต้นายจตุพรแต่อย่างใด ขณะที่นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ โฆษกกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธาน นปช.ได้ออกมาขู่ศาลอาญาว่า หากมีการถอนประกันนายจตุพรเมื่อไหร่ กลุ่มคนเสื้อแดงพร้อมจะออกมารวมตัวครั้งใหญ่ เพื่อถามหาความเป็นธรรมและความถูกต้องให้กับนายจตุพรแน่นอน “ผมมองว่าขณะนี้เริ่มมีกระบวนการจ้องล้มรัฐบาล เริ่มจากกระบวนการถอนประกันนายจตุพรก่อน ซึ่งต้องไม่ลืมว่า นายจตุพรเป็นเหมือนกล่องดวงใจและเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันคนสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง ...หากนายจตุพรถูกถอนประกันจริง สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะส่อเค้าบานปลายได้”
       
      3. “ขุนค้อน” เสนอถอน กม.ปรองดอง หวั่นวุ่นหลังเปิดสภา ด้าน “อภิสิทธิ์” รีบหนุน ขณะที่ “บิ๊กบัง-ชุมพล” ส่งสัญญาณเห็นด้วย!

       เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงกรณีที่วงเสวนาของอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ระบุว่า หลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.สถานการณ์การเมืองจะรุนแรงขึ้นว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติบรรจุอยู่ในวาระการประชุมวาระแรก ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ควรนำเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ ควรยื้อออกไปก่อน เพราะอยากให้มีการประชาเสวนาสักระยะหนึ่ง ส่วนจะถอนร่างดังกล่าวออกไปก่อนหรือไม่นั้น นายสมศักดิ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับสมาชิกในที่ประชุมจะพูดคุยกัน ซึ่งน่าจะคุยกันได้ และว่า ตนได้คุยเรื่องนี้กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ บ้างแล้ว
       
       ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงแนวคิดของนายสมศักดิ์ที่เห็นว่าควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกไปก่อน ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า เป็นเรื่องของสภา คงต้องให้สภาเป็นผู้พิจารณา ขณะที่ พล.อ.สนธิ บอกว่า ยังไม่ได้คุยกับประธานสภาฯ เรื่องการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ คุยกันแค่ว่า หากจะให้กฎหมายปรองดองเดินหน้าได้ ต้องเป็นไปตามแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอให้จัดเสวนาหรือทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อน เพื่อดูการตอบรับของสาธารณชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ว่าตามนั้น พล.อ.สนธิ ยังเชื่อด้วยว่า “หากเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.มีแนวโน้มสูงที่จะเลื่อนกฎหมายปรองดองออกไป แต่ต้องพูดคุยกับผู้ร่วมเสนอกฎหมายปรองดองก่อน”
       
       ด้านนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บอกว่า การถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ออกจากวาระการประชุมสภา ไม่สามารถทำได้ทันที ต้องฟังเสียงที่ประชุมว่าจะถอนหรือเลื่อนร่างดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแกนนำ นปช. บอกว่า ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้มีการหารือเรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แต่ส่วนตัวแล้วได้ทั้ง 2 แบบ จะให้ถอนหรือไม่ถอนก็ได้
       
       ส่วนท่าทีของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรค บอกว่า เรื่องปรองดองไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เปิดสภาแล้วยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ ควรทำประชาเสวนาตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าก่อน
       
       เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ออกมาสนับสนุนและขอบคุณที่ประธานสภาเห็นว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต่อไปจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ควรใช้เวลาทบทวนเพื่อให้เกิดการพูดคุยในสังคมก่อน
       
       ขณะที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) บอกว่า เรื่องร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ ส.ส.ต้องไปคุยกันเอง การจะถอนหรือไม่ถอนร่างฯ ขึ้นอยู่กับเจ้าของร่างทั้ง 4 ฉบับ ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าวิปรัฐบาลจะหารือเรื่องดังกล่าว
       
      4. ศาลแพ่ง ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว “จอดำ” หวั่น “ยูฟ่า” ระงับสัญญาณช่อง 3-5-9 ทำคนทั้ง ปท.อดดูยูโร!


       เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ศาลแพ่งได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวคดีที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรทัศน์ระบบฟรีทีวี ระบบเคเบิล ระบบดาวเทียม และกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บีอีซี-เทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของทีวีสีช่อง 3 ,กองทัพบก เจ้าของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ,บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เจ้าของโมเดิร์นไนน์ทีวี และบริษัท จีเอ็มเอ็ม จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องละเมิดและผิดสัญญา พร้อมขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2012 (ฟุตบอลยูโร) ทันทีจนกว่าจะหมดรายการในวันที่ 2 ก.ค.
       
       ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น นอกจากศาลจะต้องพิจารณาประโยชน์ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ยังต้องพิจารณาประโยชน์และความเสียหายของผู้บริโภคอื่นหรือผลกระทบต่อสวนรวมอย่างรอบด้านด้วย ดังนั้นการมีคำสั่งใดใดของศาล จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และสิทธิของผู้บริโภคทั่วไปกับประโยชน์และสิทธิของปัจเจกชนในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการจำหน่าย จ่ายโอน หรือกันสิทธิของตนด้วย
       
       และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลเห็นว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังสามารถรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ,5 และ 9 ได้โดยผ่านสายอากาศรับสัญญาณทั่วไป หรือโดยช่องทางอื่น เช่น อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวในส่วนของจำเลยที่ 1-3 ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป(ยูฟ่า) ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลไทย อาจใช้เป็นข้ออ้างเรื่องลิขสิทธิ์ให้บริษัท จีเอ็มเอ็มระงับการส่งสัญญาณให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ,5 และ 9 ได้ ซึ่งจะเกิดความเสียหายมากกว่า เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ ไม่ใช่แค่โจทก์ทั้งห้า และผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรทัศน์ทำนองเดียวกับโจทก์ทั้งห้า เท่านั้นที่จะไม่ได้ดูการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว แต่ยังจะลุกลามไปถึงผู้บริโภคทั้งประเทศที่อาจจะอดดูเช่นกัน
       
       ไม่เท่านั้น ยังจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาประชาคมโลก เรื่องการรับรองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และอาจส่งผลไปถึงการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬารายการอื่นๆ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคตด้วย ซึ่งยากที่จะเยียวยาแก้ไข
       
       เมื่อศาลพิเคราะห์ผลได้ผลเสียของผู้บริโภคโดยรวมและความเสียหายที่จะเกิดกับจำเลยทั้งสี่ แล้วเห็นว่า ยังไม่สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวระหว่างการพิจารณา จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ทั้งห้า
       
      5. ไทย-กัมพูชา ตกลงถอนทหารพ้นพระวิหาร เพื่อเปิดทางให้อาเซียนเข้าสังเกตการณ์ตามคำสั่งศาลโลกแล้ว!

       เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานจากกรุงพนมเปญว่า พล.อ.เนียง พัท เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารของไทย ได้เปิดแถลงร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการหารือของคณะทำงานร่วมที่กรุงพนมเปญ โดย พล.อ.เนียง พัท บอกว่า การประชุมเป็นไปอย่างฉันมิตร และได้ข้อสรุปที่ดี โดยทั้งไทยและกัมพูชาตกลงที่จะถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีเจ) เพื่อเปิดทางให้ทีมสังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าไปประจำการในพื้นที่ดังกล่าว
       
        อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีการถอนทหาร จะให้ศูนย์ปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิดทั้งของไทยและกัมพูชาประชุมร่วมกันที่กรุงเทพฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค.เพื่อหารือและวางมาตรการร่วมกันในการเก็บกู้กับระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวภายใน 30 วัน ก่อนจะมีการถอนกำลังทหารออกมา
       
        ด้าน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสนาธิการทหารของไทย พูดถึงผลการหารือกับ พล.อ.เนียง พัท ว่า เป็นไปด้วยดี และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ดีระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กรกฎาคม 2555