ผู้เขียน หัวข้อ: โต้แย้ง คตร. (มุมข้าราชการ)  (อ่าน 1184 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
โต้แย้ง คตร. (มุมข้าราชการ)
« เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2015, 10:40:24 »
ตลอดสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราวผลการตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ดำเนินการ

ผลการตรวจสอบของ คตร. ที่มี พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานในกรณีดังกล่าวพบความผิดพลาดบกพร่องมากมายทั้งในส่วนของ สำนักงาน สปสช. และ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว

กระบวนการต่อจากนั้นยังมีความพยายามในการหักล้างรายงานของ คตร.ขึ้นมาอีกโดย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมาโดยมี นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ เป็นประธาน และก็ได้ผลการตรวจสอบออกมาแล้ว

เรื่องทั้งหมดนี้มิได้เขียนขึ้นมาลอยๆแต่เป็นการเก็บความมาจากเอกสารที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงาน สปสช.นำมาเผยแพร่ให้ทราบ

บัดนี้เมื่อรายงานของ คตร.ชุดที่ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน กับรายงานของคณะกรรมการชุดที่ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล เป็นประธาน ได้ส่งถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏว่า

ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2558 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว ชุดเดียวกับข้าราชการกระทรวงอื่นๆอีกหลายสิบคน

ตรงนี้พอจะพิสูจน์ได้ไหมว่ารายงานของชุดไหนมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน

แต่สำหรับเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังทากาวเหนียวแน่นไม่มีสัญญาณการแสดงสปิริตพิจารณาตัวเองหรือถูกปรับออกนั่นไม่เป็นไร

สิ่งที่น่าหนักใจในขณะนี้คือความพยายามของ กลุ่มคุณหมอคนดี ที่ดิ้นรนหาทางแก้ไขกฎระเบียบให้สิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดไปแล้วให้กลายเป็นเรื่องถูกต้องเสียยังงั้น

อย่างเช่นเรื่องการใช้เงินกองทุนแจกจ่ายให้กับ หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ และ บุคคล กันอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกโดยอ้างการ สนับสนุนส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข กันดื้อๆแบบศรีธนญชัย

พวกที่รับเงินอุดหนุนดังกล่าวก็จัดกิจกรรมบังหน้าพอเป็นพิธี

มีใครติดตามตรวจสอบบ้างไหม วันหลังจะเอาชื่อมาเป็นตัวอย่างให้รับรู้แล้วจะตกใจ

ส่วนเนื้อหาสาระของการตรวจสอบดังกล่าวมีผลออกมาอย่างไรว่างๆจะเอามาเปรียบเทียบให้ดูกันชัดๆทีละประเด็นดีไหม.



โดย ซี.12
https://www.thairath.co.th/content/511039  13 ก.ค. 2558
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 กรกฎาคม 2015, 10:42:48 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
โต้แย้ง คตร. 2 (มุมข้าราชการ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 16 กรกฎาคม 2015, 10:41:50 »
วันนี้จะยกตัวอย่างบางประเด็นของการตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี

กับรายงานผลการตรวจติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ของคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มี นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการเป็นประธานที่ตั้งขึ้นมาภายหลังและรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเช่นกัน

รายงานทั้งสองมองเรื่องเดียวแตกต่างกันไปจึงเป็นสิทธิของสาธารณชนจะได้พิจารณาว่ารายงานอันไหนที่รักษาประโยชน์ของแผ่นดินมากกว่ากัน

ในประเด็น บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย

คตร. ชุดที่พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ตรวจพบว่า สปสช.ได้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายแก่หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ และบุคคลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แต่ คณะกรรมการชุดที่นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล เป็นประธาน เห็นว่า การสนับสนุนเงินกองทุนให้แก่ หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ และบุคคล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มิได้เป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการนั้น เป็นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 38 และข้อบัญญัติในมาตรา 18 (4) และ (9) ประกอบมาตรา 40 และ 47

มีการฟันธงว่า จึงไม่เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

แล้วมีการหยอดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 47 ให้สอดคล้องกับข้อความในมาตรา 18 (9) จะทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

ก็ถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างที่ สปสช.ทำลงไปมันถูกต้องเป๊ะอยู่แล้วจะไปเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ยุ่งยากอีกทำไม

หรือว่าพวกศรีธนญชัยทั้งหลายเห็นภัยเข้ามาใกล้ตัวต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น

นี่เป็นเพียงประเด็นการใช้จ่ายเงินแบบอีลุ่ยฉุยแฉกแจกเงินกองทุนให้กับเครือข่ายที่เป็นสมัครพรรคพวกซึ่งจะเป็นองค์กร มูลนิธิ อะไรบ้างนั้นวันหลังจะเอารายชื่อมาให้ดู

แล้วพรุ่งนี้เป็นประเด็นของการใช้เงินในสำนักงานสาขาของ สปสช.ในจังหวัดต่างๆที่จะเปรียบเทียบผลการตรวจสอบให้เห็นอีกรายการ.


โดย ซี.12
http://www.thairath.co.th/content/511489    15 ก.ค. 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9789
    • ดูรายละเอียด
โต้แย้ง คตร.3 (มุมข้าราชการ)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 02 สิงหาคม 2015, 18:56:44 »
ประเด็นของการตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.นั้น

การตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร.ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน กับรายงานผลการตรวจติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ของคณะกรรมการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มี นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการเป็นประธาน ยังมีอีกที่เห็นไม่ตรงกัน

ประเด็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบบริการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานสาขาจังหวัด (สสจ.) ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย

ทาง คตร.ตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมิได้ใช้อำนาจตามมาตรา 18 (3) เพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่ได้มีการประกาศกำหนดให้นำกฎหรือระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ประเด็นนี้คณะกรรมการชุดหลัง เห็นว่า สปสช.จะดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้อำนาจตาม มาตรา 18 (3) เพื่อกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ชัดเจนโดยเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นนี้

นี่แปลว่ากำลังจะทำให้ถูกโดยเร็ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ถูกอยู่ใช่ไหม

อีกประเด็นหนึ่ง จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐานของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ คตร. พบว่ามีการนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆหลายรายการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนและประชาชนเสียโอกาส ที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทางการแพทย์

แต่คณะกรรมการชุดหลังเห็นว่า การจ่ายเงินงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการพื้นฐานของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข เมื่อ สปสช.จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขแก่หน่วยบริการแล้ว เงินดังกล่าวย่อมถูกโอนเข้าบัญชีเงินบำรุงหรือบัญชีเงินรายรับของหน่วยบริการ และการใช้จ่ายเงินเหมาจ่ายดังกล่าว ก็จะเป็นไปตามกฎ ระเบียบภายในของส่วนราชการต้นสังกัดนั้นๆจะกำหนดได้

ดังนั้น คณะกรรมการฯจึงเห็นว่า การที่หน่วยบริการนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆหลายรายการตามระเบียบเงินบำรุงจึงสามารถดำเนินการได้ และไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน หรือทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทางการแพทย์แต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้เข้าใจว่าสิ่งที่ คตร.ตรวจพบและระบุว่าเกิดความเสียหายนั้นไม่เป็นไร เพราะมีระเบียบภายในที่ คุณหมอคนดี จะช่วยกันกำหนดอย่างไรก็ได้กระนั้นหรือ

ลงว่าให้คนที่ไว้ใจได้ลงไปตรวจพบความผิดแล้วยังมาตั้งกรรมการตรวจใหม่ให้ไม่ผิดกันจนได้อย่างนี้ เพราะรัฐบาลไม่อาจจะจัดการอย่างตรงไปตรงมาได้ละก็เห็นจะสิ้นหวังกันแล้วกระมังสำหรับการปฏิรูปปฏิสังขรณ์อะไรนั่น.

โดย ซี.12
http://www.thairath.co.th/content/512015 17 ก.ค. 2558