ผู้เขียน หัวข้อ: เล็งเปิด “อำเภอสุขภาพดี” สางปัญหาสุขภาพชาวเหนือ  (อ่าน 1056 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
 กรมอนามัย เตรียมเดินหน้า “อำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว” แก้ปัญหาสาธารณสุข 10 อันดับ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ครอบคลุมทุกกลุ่มวัย มีสุขภาพที่ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
       
       วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบโล่และเกียรติบัตรบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ว่า พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ และน่าน ประสบปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ 10 อันดับ ได้แก่ โรคเบาหวาน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อย อัตรามารดาตายสูง การดูแลผู้สูงอายุ ผลกระทบจากภาวะหมอกควัน ปัญหาการสุขาภิบาลอาหารและน้ำ การจัดการขยะภาวะโลกร้อน และฟันผุในเด็ก โดยในปี 2556 กรมอนามัยเตรียมจะแก้ปัญหาสุขภาพดังกล่าวด้วยการดำเนินงาน “โครงการอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว” ให้เป็นอำเภอที่มีการวางรากฐานของระบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานต่างๆ ของกรมอนามัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีทักษะในการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
       
       “ในส่วนของสถานบริการสาธารณสุข มีมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นร่มใหญ่ และมีมาตรฐานย่อยเป็นองค์ประกอบ เช่น GREEN & CLEAN Hospital โรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว คลินิกบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น คลินิกคนไทยไร้พุง (DPAC) เป็นต้น ส่วนสังคมชุมชนมีมาตรฐานตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ทำงาน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน วัด และชุมชน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เป็นร่มใหญ่และมีมาตรฐานต่างๆ ของกรมอนามัย เช่น ร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย ตลาดสด น่าซื้อ สวนสาธารณะน่ารื่นรมย์ สุขาสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย (HAS) เพื่อส่งเสริมสุขภาพตามประเด็นปัญหา ได้แก่ โภชนาการ การออกกำลังกาย ทันตสุขภาพ อนามัยการเจริญพันธุ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีระบบเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
       นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า การดำเนินงานดังกล่าวกรมอนามัยได้กำหนดตัวชี้วัดในการเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพแต่ละกลุ่มวัย เริ่มตั้งแต่กลุ่มแม่และเด็ก อาทิ การขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิดไม่เกิน 30 ต่อพันการเกิดมีชีพ ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมไม่เกินร้อยละ 7 ให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 อัตราการตายของมารดาไม่เกิน 18 ต่อแสนการเกิดมีชีพ เด็ก 0-5 ปี มีพัฒนาการทางสติปัญญาสมวัย ร้อยละ 90 เด็กอายุ 3 ปี ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่าร้อยละ 41 สำหรับในกลุ่มวันเรียนวัยรุ่น มีการเฝ้าระวังนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ขึ้นไป ให้มีส่วนสูงตามเกณฑ์ร้อยละ 80 มีรูปร่างสมส่วนร้อยละ 77 นักเรียน อายุ 12 ปีขึ้นไป ปราศจากโรคฟันผุไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 และให้สัดส่วนแม่อายุน้อยกว่า 20 ปีที่คลอดบุตรลดลง และกลุ่มสุดท้ายคือวัยทำงาน กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีรอบเอวปกติในผู้ชายร้อยละ 80 ผู้หญิงร้อยละ 50 กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานป่วยเป็นเบาหวานไม่เกินร้อยละ 5 และผู้สูงอายุมีฟันใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 52” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
       นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนให้เกิดอำเภอสุขภาพดี 80 ปี ยังแจ๋ว สาธารณสุขอำเภอนับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะประยุกต์กลวิธีในการขับเคลื่อนให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพของประชาชนในอำเภอทุกกลุ่มวัย เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยตั้งแต่แรกเกิด จนถึงผู้สูงอายุ มีทักษะในการสร้างเสริมให้ตนเองมีสุขภาพดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป



 ASTVผู้จัดการออนไลน์   9 พฤศจิกายน 2555 14:12 น