ผู้เขียน หัวข้อ: ผลตรวจเชื้อยัน นักท่องเที่ยวตายภูเก็ตไม่เอี่ยว “อีโบลา”  (อ่าน 595 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สธ. ยืนยันผลตรวจชิ้นเนื้อ - เลือดนักท่องเที่ยวอังกฤษตายในคอนโดหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ไม่พบเชื้ออีโบลา ยันตรวจชิ้นเนื้อจากศพเป็นแนวทางปฏิบัติจากองค์การอนามัยโลก ให้ผลไม่ต่างจากตรวจเลือด ผู้เชี่ยวชาญไวรัสห่วงตรวจพิสูจน์ศพมือเปล่า เสี่ยงรับเชื้อ ด้านกรมควบคุมโรคยันตำรวจ - จนท.สาธารณสุข มีมาตรฐานการตรวจ สวมถุงมือป้องกันการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง

        วันนี้ (26 ต.ค.) นพ.อภิชัย มงคล กล่าวถึงผลการตรวจเชื้ออีโบลานักท่องเที่ยวชายชาวอังกฤษที่เสียชีวิตภายในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในพื้นที่หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากมีประวัติเดินทางมาจากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา แม้ผลการชันสูตรจากแพทย์นิติเวชจะวินิจฉัยเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวก็ตาม ว่า กรมฯได้ทำการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้ม ตับ และช่องทวารหนักมาตรวจสอบ ไม่พบเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มาตรฐานองค์การอนามัยโลกจะใช้เลือดทำการตรวจวิเคราะห์ ทำให้ผลตรวจสอบที่ออกมานั้นยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ เพราะเป็นการตรวจชิ้นเนื้อที่มาจากศพ ซึ่งยังไม่มีแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ได้แจ้งผลการตรวจทั้งหมดไปยังกรมควบคุมโรค (คร.) แล้ว โดยให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาตีความหมายอีกครั้งหนึ่ง
       
       ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบ 3 ประเภท คือ 1. การตรวจด้วยวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ 2. การตรวจสอบยืนยันผลซ้ำซึ่งครอบคลุมความผันแปรของรหัสพันธุกรรม เพื่อหาเชื้อไวรัสอีโบลา เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก และเชื้อไวรัสในตระกูลเดียวกัน และ 3. ตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) พบว่า ให้ผลเป็นลบทั้ง 3 ประเภท คือไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลาหรือเชื้อมาร์บวร์ก ส่วนเลือดที่ได้จากศพ ซึ่งเสียชีวิตมาแล้วหลายวันนั้น ไม่มั่นใจว่ามีผลกับผลวิเคราะห์หรือไม่ จึงยังน่าเป็นห่วง ต้องเฝ้าระวังโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ ต่อไป
       
       “การตรวจศพที่ต้องสงสัยว่ามีเชื้อไวรัสอีโบลา ไม่ว่าจะมีเชื้อหรือไม่มีต้องระมัดระวังเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด จะต้องเข้มงวดเรื่องการสัมผัสศะให้มาก เพราะแม้จะไม่ใช่เชื้อไวรัสอีโบลาก็อาจเป็นไวรัสตัวอื่นได้ ซึ่งผมได้หารือเรื่องนี้กับ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องกำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเรื่องการเตรียมความพร้อมป้องกันตัวเองเต็มที่” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
       
       ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ผลการตรวจเชื้ออีโบลาจากชิ้นเนื้อให้ผลที่ถูกต้องไม่ต่างจากตรวจสอบจากเลือด ซึ่งตามมาตรฐานแนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกก็ชัดเจนว่าหากตรวจสอบเชื้ออีโบลาจากศพ ก็จะใช้ชิ้นเนื้อจากศพในการตรวจสอบอยู่แล้ว ซึ่งการตรวจสอบชิ้นเนื้อของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษรายนี้ก็ถือว่าใช้ชิ้นเนื้อหลายส่วนค่อนข้างมาก ผลตรวจที่ได้ถือว่าถูกต้องตามมาตรฐาน
       
       นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประเด็นความสะเพร่าของเจ้าหน้าที่ในการตรวจศพผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาโดยไม่มีการป้องกันนั้น เนื่องจากตอนเข้าไปตรวจสอบศพครั้งแรกไม่ทราบว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร จึงไม่ทราบว่าเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง แต่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ก็ทำถูกต้องตามมาตรฐาน คือ มีการสวมถุงมือ สวมอุปกรณ์ป้องกัน และไม่สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งโดยตรง เพราะโรคนี้ติดต่อแบบเดียวกันกับโรคเอดส์
       
       สำหรับมาตรการการเฝ้าระวังโรคอีโบลานั้น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. จะยังคงมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาในผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวดทุกวัน ทั้งผู้เดินทางโดยเครื่องบิน ทางเรือ และทางรถยนต์ ที่ผ่านช่องทางเข้าออกประเทศทุกแห่ง ตามมาตรการที่กระทรวงกำหนดไว้ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการตรวจจับการนำเชื้ออีโบลาเข้าประเทศ ส่วนความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้กล่าวได้ว่าการเตรียมความพร้อมมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสนามบินนานาชาติ หรือมีช่องทางเข้าออกประเทศ จำนวน 30 จังหวัด หากพบผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายสงสัยจะสามารถรับตัวไว้ดูแลตามแนวทางได้ทันที
       
       นพ.โสภณ กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดโรคอีโบลาจนถึงวันนี้ ยอดสะสมทั้งหมด 2,444 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 26 คน ร้อยละ 96 เดินทางมาโดยเครื่องบิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใน กทม. และจังหวัดต่างๆ จะเฝ้าระวังติดตามอาการผู้เดินทางเหล่านี้ทุกวัน ประชาชนไทยสามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ต้องวิตกกังวล ผู้ป่วยโรคนี้จะแพร่เชื้อได้ เฉพาะเมื่อมีอาการป่วยแล้ว โดยอาการสำคัญคือ มีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย หรือมีเลือดออก ในขณะนี้ยังไม่พบ ผู้ติดเชื้ออีโบลาในประเทศไทย ส่วนการป้องกันโรคอีโบลา ขอให้ประชาชนไทยหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางไปพื้นที่ระบาดออกไปก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
       
       สำหรับสถานการณ์โรคอีโบลา ล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยรวม 10,141 ราย เสียชีวิต 4,922 ราย มีรายงานผู้ป่วยใน 8 ประเทศ ได้แก่
1. กินี ป่วย 1,553 ราย เสียชีวิต 926 ราย
2. ไลบิเรีย ป่วย 4,665 ราย เสียชีวิต 2,705 ราย
3. เซียร์ราลีโอน ป่วย 3,896 ราย เสียชีวิต 1,281 ราย
4. มาลี ป่วยและเสียชีวิต 1 ราย
5. ไนจีเรีย ป่วย 20 ราย เสียชีวิต 2 ราย
6. เซเนกัล ป่วย 1 ราย
7. สเปน ป่วย 1 ราย และ
8. สหรัฐอเมริกา ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย
โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้ประเทศเซเนกัล และไนจีเรีย เป็นพื้นที่ปลอดโรคอีโบลา เมื่อวันที่ 17 และ 20 ตุลาคม 2557 ตามลำดับ เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน เป็นเวลา 42 วัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 ตุลาคม 2557