ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่อง (ไม่ลับ) ในวงหวย-สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก  (อ่าน 986 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ชีวิตและความหวัง (ลมๆแล้งๆ) ของผู้คนมากมายฝากไว้กับตัวเลข ย้อนรอยเส้นทางสีเทาของหวยในฐานะการพนันถูกกฎหมาย

ตามที่มีบันทึก หวยบนแผ่นดินสยามมาจากกับคนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งเล่นมาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่ประเทศจีน เป็นการพนันทายป้ายแผ่นไม้ บนนั้นเขียนเป็นรูปดอกไม้ชนิดต่างๆ เลยเรียกกันว่า “ฮวยหวย” แปลว่า “ชุมนุมดอกไม้”) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอยและนำเงินไปซ่อนในไหฝังดิน รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงหวยขึ้นในเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกราบบังคมทูลของคหบดีจีนรายหนึ่ง โรงหวยยุคนั้นออกรางวัลโดยใช้แผ่นป้ายเขียนอักษรไทย 34 ตัว  เรียกว่าหวย ก.ข. ออกวันละหนึ่งครั้ง  โรงหวยสร้างรายได้ให้รัฐมากพอๆ กับสร้างนักพนันหวยซึ่งติดกันงอมแงม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐบาลทดลองตั้งโรงหวยตามต่างจังหวัด แต่ต่อมาไม่นานก็ปิดลงหลังพบว่าชาวบ้านยากจนลง จนล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 จึงเริ่มทยอยยกเลิกอากรทั้ง “บ่อน” และตามมาด้วยยกเลิกอากร “โรงหวย”

ช่วงรอยต่อก่อนจะสิ้นยุคโรงหวย เป็นห้วงเวลาของอิทธิพลตะวันตกบนแผ่นดินสยาม และเป็นครั้งแรกของการออกสลากกินแบ่ง เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ข้าราชการอังกฤษในราชสำนักไทย ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฝ่ายทหารมหาดเล็กได้เชื้อเชิญบรรดาพ่อค้าฝรั่งให้นำสินค้าหรือข้าวของแปลกๆ มาจัดแสดงนิทรรศการ “โรงมุเซียม” ระหว่างการขนส่งเกิดมีสินค้าแตกหักหลายชิ้น ทางฝ่ายผู้จัดงานนึกเห็นใจ จึงเปิดโอกาสให้พ่อค้าฝรั่งเหล่านั้นออกตั๋ว “ลอตเตอรี่” ตามแบบยุโรป เพื่อให้คนซื้อได้เสี่ยงโชครับเป็นของหรือเงินรางวัล

                นับจากนั้นธรรมเนียมการออกสลากกินแบ่งก็ดำเนินมาเรื่อยๆ ในแวดวงสังคมชนชั้นสูงสยาม ส่วนมากเพื่อระดมทุนให้สาธารณกุศล ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกสลากเสือป่าล้านบาท ราคาใบละ 1 บาทจำนวนล้านฉบับ  ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยามชดเชยกับรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายลดเงินรัชชูปการ (เงินที่จ่ายเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) สลากกินแบ่งทำหน้าที่ระดมทุนได้ดี จนกระทั่งรัฐบาลเห็นชอบก่อตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปีพ.ศ.2482 เพื่อระดมเงินจากการออกสลากเป็นรายได้รัฐบาลอีกทางหนึ่ง

 

ตลาดลอตเตอรี่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เช้าวันที่ 21 ตรงกับวันศุกร์และวันพระ ลานจอดรถละลานตาด้วยรถยนต์สารพัดชนิด (หนักไปทางรถยนต์เอนกประสงค์และรถปิกอัพ) ใต้โรงเรือนหลังคาสูงตรงนั้น  มีความจอแจแบบเดียวกับตลาดสดที่คึกคักที่สุดควรจะมี  นั่นคือผู้คนเบียดเสียด ต่อราคาเสียงดัง เงิน และถุงพลาสติก หากแต่สินค้าบนแผงนั้นล้วนแต่เป็นลอตเตอรี่ทั้งนั้น ลอตเตอรี่ทั้งเป็นเล่ม (100 คู่) และแยกขาย ในราคาขายส่งสำหรับให้พ่อค้าแม่ขายรายย่อยที่มาจับจ่ายเพื่อนำไปขายต่อ

                ตลาดแห่งนี้จะคึกคักทุกวันที่ 4-6 และ 19-21 ของทุกเดือน แม่ค้าพ่อค้าลอตเตอรี่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ มาขายที่นี่ด้วยตัวเอง และหลังจากนั้นตลาดจะเงียบเหงาลง ตลาดค้าส่งแบบนี้นอกจากแถวสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี และสี่แยกคอกวัว ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งที่ใหม่และที่เดิมแล้ว ก็มีที่อำเภอวังสะพุงนี้ที่เดียว ที่เป็นแหล่งกระจายลอตเตอรี่มายังภูมิภาค

                เลขเด็ดงวดนี้ได้แก่ 87 และ 88 เลขพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ราคาอยู่ที่ 10 ใบ 700 บาท หรือตกคู่ละ 140 ส่วนอีกเลขเป็นเลขเครื่องของเฮลิคอปเตอร์ที่เพิ่งตก และมีนายทหารเสียชีวิตเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันก่อน ราคาเกินกว่าร้อยเหมือนกัน “เห็นไหมคะ ราคาที่ตลาดขายส่งก็มาเกินราคาแล้ว” แม่ค้าคนหนึ่งสวมเสื้อแจ็คเก็ตเขียนว่า “จันทบุรี” บอก “แล้วจะให้เราขายต่ำกว่านี้ได้ยังไงคะ”

                ลอตเตอรี่เกินราคาเป็นความจริงที่แก้ไม่ตก แม้เราจะเชื่อว่าการซื้อลอตเตอรี่เกินราคา เป็นกำไรเล็กๆ น้อยๆ สำหรับ “ช่วย” คนขายรายย่อยที่นั่งตากแดดมาทั้งวัน แต่อันที่จริงวงจรสลากเกินราคาสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำและความเอารัดเอาเปรียบ

                แม้จะมีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นต้นธาร แต่อันที่จริงวงจรลอตเตอรี่อยู่ภายใต้เงาสีเทาที่คนขายทุกคนเรียกกันว่า “5 เสือ” เป็นบริษัทนิติบุคคล “ระดับบิ๊ก” 5 แห่ง มีหน้าที่รับลอตเตอรี่จากสำนักงานสลากฯ แล้วกระจายลงไปให้ผู้ค้ารายย่อยตามลำดับเมื่อมีลอตเตอรี่จำนวนมากอยู่ในมือจนกลายเป็นกึ่งผูกขาด พวกเขาจึงสามารถสลับและจัดเป็นชุดได้แทบจะตามอำเภอใจ แน่นอนว่าเลขบนลอตเตอรี่แต่ละงวดมีทั้งเลขที่ขายไม่ค่อยได้ (อย่างเลขที่ติดเลข 0 เลขที่เพิ่งออกรางวัล หรือเลขเบิ้ล) ไปจนถึงเลขยอดนิยม วิธีกระจายเลขพวกนี้คือจัดชุดให้คละกัน แล้วส่งต่อไปยังยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือจะกี่ปั๊วก็ตามแต่จนถึงพ่อค้าแม่ขายรายย่อย นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าระบบกระจายลอตเตอรี่โดยให้นิติบุคคล แค่ไม่กี่รายรับไป ทำให้ลูกค้าที่มาซื้อต่อ ไม่มีสิทธิเลือกตัวเลข เป็นการผลักภาระให้ผู้ขายรายย่อย

                ลอตเตอรี่งวดหนึ่งพิมพ์ประมาณ 74 ล้านฉบับ สมมติถ้ามูลค่าเพิ่มแค่ใบละ 5 บาท ยี่ปั๊วจะได้เงินนอนกินเปล่าๆ 370 ล้านบาท แต่ที่จริงมูลค่าเพิ่มลอตเตอรี่จากพวกเขามากกว่านั้น และอาจไปได้เกิน 10 บาท ผลสำรวจหนึ่งเร็วๆ นี้ชี้ว่า กว่าจะมาถึงมือนักเสี่ยงโชค ผู้ซื้อลอตเตอรี่ต้องจ่ายค่าส่วนเกินเหล่านี้ รวมประมาณ 17,000 ล้านบาทต่อปี และเงินมหาศาลนี้ตกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ

 

อันที่จริงวัตถุประสงค์ของการออกลอตเตอรี่ในประเทศต่างๆทั่วโลก มักเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมที่งบประมาณรัฐลงไปไม่ถึง แต่บ่อยครั้งที่ลอตเตอรี่ในประเทศไทยถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะในภาคการเมือง รัฐบาลยุคหนึ่งเคยนำหวย “ใต้ดิน” ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” นัยหนึ่งคือนำเงินนอกระบบมาเป็นรายได้ให้รัฐบาล และอีกนัยหนึ่งคือทอนกำลังพวกนอกกฎหมายและทลายอิทธิพล

                เงินจากหวยบนดินในรัฐบาลยุคนั้นไม่ต้องผ่านระบบคลัง รัฐบาลจึงสามารถนำเงินมาใช้จ่ายโครงการต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว โดยส่วนมากเน้นไปทางกองทุนการศึกษาและพัฒนาชนบท ซึ่งก็สร้างความนิยมในชนบทไปในตัว ทว่านโยบายนั้นก็มีอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกฝ่ายคัดค้านชี้ว่าเป็นการนำเงินจาก “อบายมุข” ไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง อีกทั้งเงินนั้นเอื้อต่อการทุจริตได้ง่าย และทำให้วินัยการคลังเสีย เรื่องราวใหญ่โตถึงศาลจนบั่นคอรัฐบาลชุดนั้น ปิดฉากหวยบนดิน และกลายเป็นของร้อนที่ไม่มีใครกล้ายุ่งขิงอีก (แม้หลายรัฐบาลจะอยากทำใจจะขาด)

                ทุกวันนี้รัฐบาลได้รายได้จากลอตเตอรี่งวดละประมาณ 1,657 ล้านบาท เงินก้อนนี้วิ่งเข้าไปรวมกับเงินอื่นๆ ในคลังก่อน แล้วค่อยนำไปจัดสรรตามลำดับความสำคัญของนโยบายแต่ละรัฐบาล แต่ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วยและชี้ว่า ระบบนี้ทำให้กองทุนต่างๆ ในสังคมที่ควรได้รับงบประมาณมากขึ้น เช่น เรื่องวัฒนธรรม คนชรา กีฬา ผู้พิการ และเหล่าคนเปราะบางทางสังคม ไม่มีโอกาสได้รับงบประมาณที่ควรจะได้ เงินจากสลากฯ ซึ่งเป็นเงินสีเทาจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่มาจากคนยากคนจน ควรย้อนกลับไปให้สังคมอย่างแท้จริง “เราอยากให้เป็นสลากเพื่อสังคมค่ะ ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ให้รัฐบาล”

                ขณะที่หวยใต้ดินเป็นเหมือนวิญญาณอมตะ วงการหวยใต้ดินมีเงินหมุนเวียนกว่า 1 แสนล้านบาท มีคนเล่นมากกว่า 20 ล้านคน และมีสารพัดกลเกมให้ได้ลุ้น ทั้งการลุ้นเลขสามตัวหน้ารางวัลที่ 1 การแทงเลขเดี่ยว การให้เครดิตแทงก่อนแล้วจ่ายสิ้นเดือน ไปจนถึงโปรโมชั่นลดราคา หวยใต้ดินเป็นระบบการพนันแบบอัตราต่อรอง ซึ่งเจ้ามือจะมีความเสี่ยงระหว่าง “รวยไปเลย” กับ “เจ๊งไปเลย”

                ผลสำรวจหนึ่งจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า คนไทยเกินกว่าครึ่งซื้อลอตเตอรี่ค่อนข้างบ่อย (เกือบทุกงวด) โดยให้เหตุผลว่า “หวังรวย” การสำรวจทำนองคล้ายๆ กันในปีพ.ศ.2556 ชี้ว่าคนไทยเล่นทั้งหวยใต้ดินและลอตเตอรี่มายาวนานติดกันเฉลี่ยถึง 12 ปี คนที่เล่นหวยส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท และคนที่เล่นหวยมากที่สุดมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท นั่นคือคนยากจน “ถ้าคนจนหวังรวยจากหวย ก็ตีความได้เลยค่ะว่า เค้าไม่คิดเลยว่าชีวิตเค้าจะพลิกได้ด้วยอาชีพการงาน รู้สึกสลดนะคะ ที่ประเทศเราไม่มีความหวังสำหรับคนจนเลยหรือ” ดร.นวลน้อย บอก

                นักวิชาการแนะวิธีเลิกหวยที่น่าสนใจคือ “แทงตัวเอง” คือหากระป๋องมาหนึ่งใบสำหรับใส่เงิน แล้วแทงเลขไปตามใจแต่ละงวด ถ้าเสียก็ใส่เงินในกระป๋องทบไปเรื่อยๆ หากถูกรางวัลก็เอาเงินจากกระป๋องออกมาตามอัตราต่อรองแบบใต้ดิน ดร.นวลน้อย บอกว่า “เผลอๆ เค้าได้เงินออมอีกค่ะ”

เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิริ
มีนาคม 2558